Co-Payment ทางออกปัญหาหมอลาออกและปัญหาสาธารณสุขทั้งระบบ

Co-Payment ทางออกปัญหาหมอลาออกและปัญหาสาธารณสุขทั้งระบบ

ข่าวใหญ่ แพทย์รุ่นใหม่กว่า 50% ตัดสินใจยื่นใบลาออก หนีไปอยู่โรงพยาบาลเอกชนกลายเป็นประเด็นร้อนที่ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขออกมายอมรับว่า มีปัญหา ทั้งที่ปัญหานี้ มีมานานหลายสิบปีแล้ว แต่ไม่ได้รับการแก้ไข วันนี้ ผมมีวิธีแก้ปัญหาครับ

ผมเพิ่งโทรศัพท์ไปถามที่ปรึกษาการเงิน (Financial advisor) ในสิงคโปร์ เกี่ยวกับสวัสดิการที่รัฐบาลจัดให้ประชาชน Mr. Allen Lim กูรูเกี่ยวกับการวางแผนการเงินในสิงคโปร์ ได้ให้ข้อมูลว่า

ในสิงคโปร์ มีการประกันสุขภาพโดยรัฐบาล ที่เรียกว่า Medisave เป็นโครงการที่บังคับประชาชนทุกคนต้องทำประกันสุขภาพกับรัฐบาล ด้วยเบี้ยประกันที่แตกต่างกันในแต่ละคน ตามอายุ เพศ เช่น คนอายุ 55 ปี ต้องจ่ายเบี้ยประกัน 500 เหรียญสิงคโปร์หรือ 12,500 บาทต่อปี (สามารถจ่ายสูงกว่านั้นเพื่อการออมได้)

แต่ถ้าประชาชนเข้าโรงพยาบาลของรัฐ รัฐบาลจะออกค่ารักษาให้ตั้งแต่เหรียญแรก โดยประชาชนยังต้องร่วมจ่ายค่ารักษา 20% หรือ Co-Payment ที่คนไข้ต้องร่วมรับผิดชอบค่ารักษาพยาบาลด้วย

ผมจึงถามว่า ถ้าประชาชนคนนั้นไม่มีเงินจริงๆ จะทำอย่างไร ท่านตอบว่า รัฐบาลจะมีกองทุนที่มาจ่ายให้ โดยต้องมีการสอบสวนถึงรายได้และตรวจสอบสมาชิกในครอบครัวว่า มีฐานะที่จะช่วยจ่ายให้ได้หรือไม่ 

พวกเราอาจสงสัยว่า เมื่อประชาชนร่วมจ่ายเบี้ยประกันให้รัฐบาลรับประกันแล้ว ทำไมยังต้องให้ประชาชนร่วมจ่ายค่ารักษาที่เกิดขึ้นอีกถึง 20%  Mr. Allen ตอบว่า ถ้าให้ประชาชนเบิกค่ารักษาฟรีได้ทุกอย่าง จะเกิดสิ่งที่เรียกว่า Buffet syndrome หรือ นิสัยบุฟเฟต์ ตักไม่อั้น

การทานบุฟเฟต์ ไม่เพียงแต่ทำให้คนทานอาหารมากกว่าปกติ ยังกินทิ้งกินขว้าง ทำให้เกิดภาระตามมา ไม่ว่า ต้องมีคนเตรียมอาหารมากขึ้น คนล้างจานมากขึ้น ต้องเตรียมโต๊ะเก้าอี้มากขึ้น เพราะคนมักจะนั่งแช่ กินให้นานที่สุดถ้าไม่มีกำหนดเวลา

Mr. Allen จึงสรุปว่า ระบบสาธารณสุขที่ให้เบิกค่ารักษาพยาบาลได้ 100% นั้นจะทำให้มีการใช้ทรัพยากรแบบไม่ยั้งคิด สุรุ่ยสุร่าย และจะเป็นภาระรัฐบาลเพิ่มขึ้นทุกปี เพราะประชาชนมีอายุมากขึ้น 

ดังนั้น ในสิงคโปร์จึงมีกฎหมายบังคับให้ทุกคนต้องร่วมจ่ายเบี้ยประกัน Medisave นี้ ไม่ว่าจะเป็นข้าราชการหรือแม้แต่รัฐมนตรี ก็ต้องจ่ายเบี้ยประกันในอัตราที่เท่ากัน หากมีอายุและเพศเดียวกัน

แต่สิทธิ Medisave นี้ ใช้เฉพาะการรักษาตัวในโรงพยาบาลของรัฐ ถ้าใครอยากไปรักษาที่ รพ.เอกชน ก็จ่ายเบี้ยประกันเพิ่ม โปะเข้าไป (top up) จะมีสิทธิเข้ารับการรักษาในรพ.เอกชนได้ ตามแผนที่ตกลงกันไว้

ในเว็บไซต์ของกระทรวงสาธารณสุขสิงคโปร์ มีสถิติแสดงให้เห็นว่า แผนประกันสุขภาพใดๆที่ให้เบิกค่ารักษาได้ทั้งหมด จะมีอัตราการเพิ่มขึ้นของต้นทุนสูงถึง 15% ทุกปีแบบทบต้น 

ในขณะที่ประกันสุขภาพแบบที่ให้ประชาชนร่วมจ่ายนั้น ต้นทุนจะคงที่ แทบไม่เพิ่มขึ้นเลย เพราะประชาชนจะร่วมกันตรวจสอบค่ารักษาพยาบาลที่แพทย์จ่ายเกินความจำเป็น(หรือเกินงบในกระเป๋าตนเอง)

อีกทั้งมีสถิติในสิงคโปร์พบว่า ค่ารักษาพยาบาลสำหรับลูกค้าที่ทำประกันสุขภาพแบบเบิกได้ 100% นั้น จะมีอัตราสูงกว่าลูกค้าที่รักษาโรคเดียวกันแต่ลูกค้าต้องร่วมจ่ายด้วย แตกต่างกันถึง 30%

มันเป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่า มีการโก่งราคาและยัดเยียดการรักษาพยาบาลที่เกินความจำเป็นเข้ามา เพราะถือว่ายังไงบริษัทประกันชีวิตหรือรัฐบาลก็ต้องรับผิดชอบตามวงเงินเหมาจ่ายที่ลูกค้าทำไว้

รัฐบาลสิงคโปร์จึงเริ่มมีนโยบาย ที่จะบังคับให้ทุกบริษัทประกันชีวิตออกแบบผลิตภัณฑ์ประกันสุขภาพ ที่กำหนดให้ลูกค้ามีส่วนร่วมในการออกค่ารักษาพยาบาลในลักษณะ Co-Payment ด้วยเสมอ เพื่อเป็นการประหยัดทรัพยากรของชาติ

ผมจึงมีข้อเสนอให้กระทรวงสาธารณสุขไทย ประกาศปรับสิทธิค่ารักษาพยาบาลฟรี ที่มีอยู่ทุกสิทธิ์ ไม่ว่าข้าราชการ พนักงานรัฐวิสากิจ หรือสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สิทธิบัตรทอง) ต้องให้ทุกคนมีส่วนร่วมจ่ายเสมอ

โดยให้เริ่มต้นที่อัตรา 10% ตั้งแต่บาทแรก แต่มีเพดานร่วมจ่ายสูงสุดไม่เกิน 50,000 บาท ยกตัวอย่างเช่น ไปถอนฟัน ค่ารักษา 500 บาท คนไข้ต้องร่วมจ่าย 50 บาท แต่ถ้าผ่าตัดสมอง มีค่าใช้จ่าย 1 ล้านบาท คนไข้จะจ่ายเพียง 50,000 บาท

ข้อดีของระบบการให้ประชาชนร่วมจ่ายค่ารักษาพยาบาล

1.    ประชาชนไม่ไปโรงพยาบาลแบบพร่ำเพรื่อ เลือกไปรักษากรณีที่จำเป็นจริงๆ
2.    ประชาชนร่วมตรวจสอบการรักษาหรือจ่ายยาที่เกินจำเป็นของแพทย์
3.    ลดการเบิกยาที่ไม่จำเป็น โดยคนไข้จะปฏิเสธการรับยาที่คิดว่าตนไม่ทานแน่นอน(จากปัจจุบัน ที่รับมาแต่โยนทิ้ง เพราะไม่อยากกิน)
4.    คนไข้น่าจะลดลง 10% แต่งบประมาณที่ใช้อาจจะลดไปถึง 20%
5.    บุคลากรทางการแพทย์มีเวลาพักผ่อนมากขึ้น
6.    คนที่มีกำลังจะได้ร่วมจ่ายบ้าง ขณะที่คนที่ไม่มีกำลังจ่าย ก็มีช่องทางลดหย่อน (แต่มีระบบตรวจสอบที่เข้มข้น)
7.    ลดการนำเข้ายาและอุปกรณ์ทางการแพทย์จากต่างประเทศ
8.    นำงบประมาณที่เหลือไปปรับปรุงรายได้และสวัสดิการของบุคลากรทางการแพทย์

ถามว่า ไปลดสิทธิ์ของข้าราชการหรือพนักงานรัฐวิสาหกิจ แล้วเราจะชดเชยอะไรให้กับเขาแทน คำตอบคือนำค่าใช้จ่ายที่ลดได้ ไปปรับเพิ่มเป็นเงินเดือนข้าราชการ หรือไม่ก็สิทธิประโยชน์ของประชาชนในเรื่องอื่น ซึ่งก็สอดคล้องกับที่พรรคการเมืองทุกพรรคหาเสียงจะปรับเพิ่มประโยชน์ให้กับประชาชนอยู่แล้ว คราวนี้ก็จะมีช่องทางลดงบประมาณเพื่อมาใช้จ่ายในเรื่องนี้พอดี

ถึงเวลาแล้ว ที่เราจะยอมรับความจริงว่า รัฐบาลไม่มีงบประมาณเพียงพอ ที่จะอุดหนุนค่ารักษาพยาบาลฟรีให้กับคนไทยได้ไปตลอด ขนาดประเทศสิงคโปร์ที่ร่ำรวยกว่าเรามากมาย ยังต้องให้ประชาชนร่วมจ่ายค่ารักษาพยาบาล มิหนำซ้ำยังเก็บเบี้ยประกันสุขภาพทุกปีด้วย 

ประชาชนคนไทยจึงต้องมีส่วนร่วมในการออกค่าใช้จ่ายบางส่วน ซึ่งถือว่าน้อยมากเพราะรัฐบาลยังออกให้ถึง 90% และเราไม่ต้องจ่ายเบี้ยประกันให้รัฐเหมือนที่สิงคโปร์ หากไม่เริ่มในวันนี้ และยังคงปล่อยให้ระบบล้มเหลวอยู่แบบนี้ ระวังโรงพยาบาลของรัฐจะร้าง ไม่มีหมออยู่ประจำเลยครับ.