เจาะปัญหากำลังคน ก่อนถึงจุด 'แพทย์ลาออก'

เจาะปัญหากำลังคน ก่อนถึงจุด 'แพทย์ลาออก'

เจาะปัญหากำลังคนด้านแพทย์ สัดส่วนแพทย์สธ.ต่อประชากรไทยอยู่ที่  1 ต่อ 2,000 คน ยังห่างมาตรฐานโลก 6 เท่า ภาระงานนอกเวลาหนัก 65 แห่ง  มากกว่าประเทศพัฒนาแล้วสูงสุดกว่า 20 ชั่วโมง แพทย์ลาออกเฉลี่ยปีละ 455 คน มุ่ง 4 เรื่องคงคนไว้ระบบ ไม่อยากลดบริการประชาชน

     เมื่อวันที่ 6 มิ.ย.2566 ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน  รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) แถลงข่าวปัญหากำลังคนด้านแพทย์ว่า  

  • ปัจจุบันแพทย์ทั้งหมดในประเทศไทยราว 50,000-60,000 คน
  • ในจำนวนนี้อยู่ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) 24,649  คน  คิดเป็น 48 % 
  • ขณะที่มีภาระงานรองรับในการดูแลประชาการ 75-80 % ของประชากรทั้งประเทศ โดยเฉพาะผู้มีสิทธิในหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า(UC)ที่มีกว่า 45 ล้านคน
            ก็จะเห็นถึงภาระงาน สัดส่วนแพทย์สังกัดสธ.ต่อประชากรอยู่ที่ 1 ต่อ 2,000 คน ขณะที่มาตรฐานโลกอยู่ที่ 3 ต่อ  1,000  คน ยังขาดอยู่อีกมาก
           ซึ่งประเทศไทยในทุกสังกัดทั้งกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย(กสพท.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรรม(อว.) และสธ.สามารถผลิตแพทย์รวมกันได้ทั้งหมดราว 3,000 คนต่อปี 
    การจัดสรรแพทย์ 

       เมื่อสามารถผลิตแพทย์ได้ในแต่ละปีจะมีการจัดสรรแพทย์ไปยังสังกัดต่างๆโดยมีคณะกรรมการพิจารณาจัดสรรนักศึกษาแพทย์ผู้ทำสัญญาการเป็นนักศึกษาแพทย์ ยกตัวอย่าง แพทย์ที่จบการศึกษาในปี 2566 ไม่รวมที่จบจากภาคเอกชนและต่างประเทศ ราว 2,759 คน แยกการจัดสรรเป็น

1.อาจารย์แพทย์ในสาขาปรีคลินิก 87 คน

2.อาจารย์แพทย์ที่เป็นโรงเรียนแพทย์เปิดใหม่ทางคลินิก 86 แห่ง

3.สธ. 2,034 คน เพื่อให้รพ.ส่วนภูมิภาคของสธ.และกระทรวงกลาโหมคิดเป็น 80 %จากที่เหลือจัดสรรในข้อ 1 และ 2 โดยให้สธ. 1,960 คน กระทรวงกลาโหม 74 คน  

 และ 4.ที่เหลือจากการจัดสรรข้อ 1 และ 2 อีก 20 % จำนวน 552 คน  12 % ให้คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยในภูมิภาค 6 แห่ง และ 8 % จัดสรรให้ส่วนราชการ/หน่วยงาน พิจารณาตามลำดับจำเป็น 
 

    “ในส่วนของสธ.มีการวิจัยประเมินว่าจะต้องได้รับจัดสรรอย่างน้อยปีละ 2,055 คน ถึงจะพอรองรับระบบ  แต่จากข้อมูลย้อนหลัง 5 ปี ตั้งแต่ 2561 – 2565 พบว่า ปี 2561 ได้รับ 2,016 คน ปี 2562 ได้รับ  2,044 คน ปี  2563 ได้รับ 2,039 คน ปี  2564 ได้รับ 2,021 คน และปี  2565 ได้รับ 1,850 คน จะเห็นได้ว่าเมื่อมีแพทย์น้อย แต่มีประชากรที่ต้องดูแลมาก ภาระงานย่อมมาก”นพ.ทวีศิลป์กล่าว 
เจาะปัญหากำลังคน ก่อนถึงจุด 'แพทย์ลาออก'

 แพทย์Internต่ำกว่าต้องการ
          นพ.ทวีศิลป์ กล่าวอีกว่า  ตามข้อกำหนดของแพทยสภา กำหนดให้แพทย์ที่สำเร็จการศึกษาแพทยศาสตร์บัณฑิต 6 ปีแล้วจะต้องเพิ่มพูนทักษะอย่างน้อย 1 ปี เพื่อให้แพทย์มีทักษะเพียงพอมากขึ้น เรียกว่าแพทย์ Intern โดยมาอยู่ในรพ.ของสธ.ที่เป็นรพ.ศูนย์/รพ.ทั่วไป 117 แห่ง  แต่ละปีจำนวนแพทย์ที่เพิ่มพูนทักษะมีจำนวนต่ำกว่าศักยภาพที่รพ.แต่ละแห่งรองรับได้ ทำให้จำนวนขาดทุกแห่ง ซึ่งปี  2565

  •  เขตสุขภาพที่ 1 รับได้ 303 คน  เข้าร่วม 214  คน 
  • เขตสุขภาพที่ 2 รับได้ 216 คน เข้าร่วม 132 คน
  • เขตสุขภาพที่ 3 รับได้ 148 คน เข้าร่วม 122 คน
  • เขตสุขภาพที่ 4 รับได้ 246 คน เข้าร่วม 168 คน
  • เขตสุขภาพที่ 5 รับได้ 404 คน เข้าร่วม 253 คน 
  • เขตสุขภาพที่ 6 รับได้ 341 คน เข้าร่วม 248  คน
  • เขตสุขภาพที่ 7 รับได้ 163 คน เข้าร่วม 137 คน
  • เขตสุขภาพที่ 8 รับได้ 234 คน เข้าร่วม 151 คน
  • เขตสุขภาพที่ 9 รับได้ 327 คน เข้าร่วม 220 คน
  • เขตสุขภาพที่ 10 รับได้ 218 คน เข้าร่วม 136 คน
  • เขตสุขภาพที่ 11 รับได้  273 คน เข้าร่วม177 คน
  • และเขตสุขภาพที่ 12 รับได้ 255 คน เข้าร่วม 192 คน  

 65 แห่งภาระงานมากกว่า 40 ชั่วโมง/สัปดาห์

        ผลการสำรวจระหว่างวันที่ 15-30 พ.ย.2565

  • รพ.ที่ปฏิบัติงานนอกเวลาเกิน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์(มาตรฐานประเทศที่พัฒนาแล้ว) มี 65 แห่ง แยกเป็น
  • มากกว่า 64 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ 9 แห่ง
  • มากกว่า 59-63 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ 4 แห่ง
  • มากกว่า 52-58 ชั่วโมงต่อสัปดาห์  11 แห่ง 
  • มากกว่า 46-52 ชั่วโมงต่อสัปดาห์18 แห่ง
  • และมากกว่า 40-46 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ 23 แห่ง 
            ซึ่งเบื้องต้นได้มีการแก้ปัญหาในการปรับแก้ไขเรื่องการอยู่เวร มีแผนดำเนินการตั้งแต่ 3 เดือน – 1 ปี  ทำให้สามารถแก้ปัญหากได้ระดับหนึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการประเมินผล 
    เจาะปัญหากำลังคน ก่อนถึงจุด 'แพทย์ลาออก'

 บัตรทองเข้าถึงบริการได้ตลอดเวลา
     “ด้วยระบบของไทยเน้นให้ประชาชนเข้าถึงบริการได้มากที่สุด โดยภาระงานส่วนของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ที่คนไม่มีนัด ก็เข้ามารับบริการได้ทั่วถึงและเข้าถึงได้ตลอดเวลา ทำให้มีปัญหาเรื่อง work load แพทย์ราว 25,000 คน รับผิดชอบประชากร 75 % ของประเทศ ซึ่งประเทศไทยที่พัฒนาแล้วแพทย์ทำงานนอกเวลา 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ แต่เขามีแพทย์ในระบบเป็นแสนคน และมีระบบการคัดกรองหลายขั้นตอนก่อนได้พบแพทย์ หรือหากมีอาการไม่มากต้องการพบแพทย์ก็ต้องเสียเงินเอง ในส่วนของไทยก็ต้องพยายามเติมแพทย์เข้าไป เพราะไม่ต้องการเลือกใช้วิธีลดบริการ”นพ.ทวีศิลป์กล่าว
 แพทย์ลาออกเฉลี่ยปีละ 455 คน  

        ข้อมูลการลาออกของแพทย์ 10 ปี ย้อนหลัง ตั้งแต่ปี  2556-2565 ข้อมูล ณ  1 พ.ย.2565  มีแพทย์บรรจุรวม 19,355  คน 

  • แพทย์ใช้ทุนปี  1 ลาออก 226 คน  คิดเป็น 1.2 % เฉลี่ยปีละ 23 คน
  •  แพทย์ใช้ทุนปีที่ 2 ลาออก 1,875 คน  คิดเป็น 9.69 %  เฉลี่ยปีละ 188 คน 
  • แพทย์ใช้ทุนปีที่ 3 ลาออก 858 คน คิดเป็น 4.4 % เฉลี่ยปีละ 86 คน 
  • แพทย์ลาออกหลังพ้นภาระชดใช้ทุน 1,578 คน คิดเป็น 8.1 % เฉลี่ยปีละ 158 คน 
    ภาพรวมเฉลี่ยลาออกปีละ 455 คนและเกษียณปีละ 150-200 คน รวมหลุดออกจากระบบประมาณปีละ 655 คน 
           ทั้งนี้ การคงอยู่ของแพทย์ที่เรียนคณะแพทยศาสตร์ในโครงการผลิตแพทย์เพื่อชาวชนบท(CPIRD)อยู่ที่ 80-90 %  ส่วนเข้าเรียนผ่านกลุ่มกสพท.คงอยู่กว่า 70 %

4 เรื่องคงคนไว้ในระบบ
        นพ.ทวีศิลป์ กล่าวอีกว่า จากการสำรวจพบว่าค่าตอบแทนไม่ใช่ปัจจัยหลักที่ทำให้ลาออกจากระบบ สิ่งที่ต้องการมากที่สุด คือ Work Life Balance ต้องการลดภาระงาน สธ.จึงการดูแลบุคลากรทั้งระบบของสธ.เน้น 4 เรื่องหลัก ได้แก่ 

1.เพิ่มค่าตอบแทน เพิ่มให้สอดคล้องกับภาระงาน เศรษฐกิจ อย่างช่วงโควิด-19 ได้อัตราข้าราชการเพิ่ม 30,000 กว่าคนแต่ยังไม่เพียงพอ และกรมบัญชีกลางก็อนุมัติให้ค่าตอบแทนเพิ่ม 2.สวัสดิการ  ให้ใช้เงินบำรุงรพ.ที่มีเหลือหลังจากโควิด-19 ในการปรับปรุงบ้านพัก หอพักที่เก่า ทรุดโทรม เพราะที่ผ่านมาเมื่อสธ.ของบประมาณก็จะถูกตัดส่วนนี้ออกเนื่องจากถูกมองว่างบประมาณไม่ถึงผู้ป่วย

เจาะปัญหากำลังคน ก่อนถึงจุด 'แพทย์ลาออก'
3.ความก้าวหน้า เช่น การให้ศึกษาต่อ การเลื่อนระดับ และการกำหนดตำแหน่งสูงขึ้น  เช่น พยาบาลควรได้ชำนาญการพิเศษ ก็มีการหารือก.พ.ตลอด  

และ4.ภาระงาน  สธ.มีแผนผลิตแพทย์ในช่วงปี  2561-2570 เพิ่มจำนวนราว 11,000 คน รวมถึงเรื่องอัตรากำลังมีการหารือกับก.พ. ได้แนะนำให้หาวิธีการจ้างแพทย์หลากหลายรูปแบบ เช่น แซนด์บ็อกซ์ที่จ้างแพทย์จบจากเอกชนหรือต่างประเทศ มาบรรจุข้าราชการ เพราะไม่ได้ติดปัญหาเรื่องการใช้ทุน  เป็นต้น  

       “อีกส่วนของการแก้ปัญหาหากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.)ที่ดูแลระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นหลัก สามารถดึงภาคเอกชนเข้ามาร่วมให้บริการประชาชนได้มากขึ้น ก็จะเป็นส่วนหนึ่งของการแบ่งเบาภาระงานในระบบราชการ”นพ.ทวีศิลป์กล่าว 

กำหนดชม.ทำงานแพทย์อาจมีปัญหา
     ผู้สื่อข่าวถามว่าในการแก้ปัญหาสามารถเพิ่มการผลิตแพทย์ให้เพียงพอกับความต้องการในแต่ละปีได้หรือไม่ เช่น ต้องการปีละ 5,000คนก็ผลิตเท่านี้ นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า การผลิตแพทย์ไม่ได้ทำได้ง่ายตามต้องการ โดยแพทยสภากำกับคุณภาพไว้สูง จะเปิดรับปีละ 5,000-6,000 คนนั้น จะต้องบาลานซ์คุณภาพและปริมาณด้วย

     ถามต่อว่าสามารถออกประกาศกำหนดชั่วโมงทำงานนอกเวลาแพทย์ 40 หรือ 60 ชั่วโมงต่อสัปดาห์เพื่อลดภาระงานได้เลยหรือไม่ นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า  การจะออกประกาศกำหนดจำนวนชั่วโมงการทำงานอกเวลาของแพทย์เลย ทุกอย่างก็จะแน่นเกินไป เพราะแต่ละพื้นที่การให้บริการก็ไม่เหมือนกัน  การกำหนด One Fit For All อาจจะสร้างปัญหาขึ้นได้
รับมีปัญหาความสัมพันธ์กับStaff
     ผู้สื่อข่าวถามถึงปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์Intern กับอาจารย์แพทย์หรือStaff  นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า  แพทยสภากำลังประเมินว่าที่ไหนมีประเด็นปัญหาเรื่องนี้และต้องแก้ไขอย่างไร จากนั้นจะแชร์ให้ผู้บริการแต่ละสถานพยาบาลรับทราบ และจากการสอบถามแพทย์ Intern จำนวนมากบอกว่างานหนักไม่ว่าแต่ช่วงแรกขอให้มีรุ่นพี่หรืออาจารย์แพทย์ประกบก่อน เพื่อที่จะสร้างความมั่นใจมากขึ้นเมื่อเจอเคสผู้ป่วย