"โควิด" เหมือนไข้หวัดใหญ่ ไทยพร้อมรับนักท่องเที่ยว

"โควิด" เหมือนไข้หวัดใหญ่ ไทยพร้อมรับนักท่องเที่ยว

แม้ว่านักท่องเที่ยวจากต่างชาติโดยเฉพาะประเทศจีน จะเป็นหนึ่งในปัจจัยหลักในการกระตุ้นเศรษฐกิจไทยจากการท่องเที่ยว แต่การระบาดของโควิดก็ยังคงอยู่ ดังนั้นไทยเองจำเป็นต้องมีมาตรการดูแลด้านสุขภาพของนักท่องเที่ยวต่างชาติอย่างเท่าเทียมกัน รวมถึงให้คนในประเทศที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงได้วัคซีนเข็มกระตุ้น

เป็นเวลา 1 ปีแล้ว ที่สายพันธุ์หลัก โควิด 19 ยังเป็น “โอมิครอน” แม้จะมีการกลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์ย่อยๆ แต่ก็ยังเป็นลูกหลานของโอมิครอน รวมถึง สายพันธุ์ BF.7 ที่แพร่ระบาดใน “ประเทศจีน” ตอนนี้ก็เป็นโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย เช่นเดียวกับสายพันธุ์ย่อยอื่นๆของโอมิครอน ที่เคยทำให้มีการติดเชื้อมากขึ้นในประเทศอื่นๆทั่วโลกมาแล้ว  ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข (สธ.)ไทยคาดการณ์ว่า ในปี 2566 โควิด-19 จะกลายเป็นโรคตามฤดูกาลเหมือนไข้หวัดใหญ่ เนื่องจากเชื้อน่าจะมีความอ่อนแรงลง ซึ่งจะมีอัตราป่วยตายราว 1 %

ขณะที่กรมควบคุมโรค สำรวจพบว่าคนไทยมีภูมิคุ้มกันแล้วประมาณ 80 % ทั้งจากการติดเชื้อโดยธรรมชาติและการรับวัคซีน

ซึ่งมีการฉีดไปแล้วราว 150 ล้านโดส  ช่วย “การป้องกันป่วยหนักและเสียชีวิต” แต่หากฉีดวัคซีนไปแล้วนานเกิน 3-4 เดือน โดยเฉพาะคนกลุ่มเสี่ยง 608 ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว และหญิงตั้งครรภ์ ที่มีอยู่ราว 2 ล้านคน ต้องฉีดเข็มกระตุ้น เพื่อป้องกันการเจ็บป่วยรุนแรงหากมีการติดเชื้อ ที่อาจจะเกิดขึ้นเพราะไทยมีนโยบายเปิดประเทศ รับนักท่องเที่ยวเพื่อเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจ

เวลานี้คณะกรรมการด้านวิชาการตาม พรบ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 มีความเห็นว่า ประเทศไทยยังสามารถบริหารจัดการสถานการณ์โควิด-19 ได้ ซึ่งถือว่าเป็นต้นแบบให้กับประเทศอื่นๆ และจะใช้มาตรฐานการปฏิบัติต่อนักท่องเที่ยวต่างประเทศทั่วโลกเดียวกัน อย่างเท่าเที่ยม ไม่มีการเลือกปฏิบัติไม่ว่านักท่องเที่ยวจะเดินทางมาจากประเทศไหนๆ ไม่มีการแบ่งแยก หรือ จำเพาะเจาะจง เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อเศรษฐกิจ ควบคู่ไปพร้อมกับการดูแลความปลอดภัยสุขภาพของประชาชนตามมาตรฐานของประเทศ

มาตรการ “เท่าเทียมกันทุกประเทศ” ไม่เลือกปฏิบัติ เบื้องต้นอาจออกข้อแนะนำให้นักท่องเที่ยวจากทุกประเทศ ซื้อประกันสุขภาพครอบคลุมการรักษาโควิด-19 ก่อนเข้าประเทศ เพราะไม่ว่านักท่องเที่ยวจะมาจากประเทศไหน หากมีการติดเชื้อก็จะเป็นสายพันธุ์ “โอมิครอน”สามารถเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลได้ ซึ่งการท่องเที่ยวมีการประเมินว่าในไตรมาสแรกของปี 2566 จะมีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้ามาประเทศไทยราว 3 แสนคน คิดเป็น 5 % ของนักท่องเที่ยวทั้งหมดของไทย โดย ม.ค.ราว 6 หมื่นคน ก.พ. 9 หมื่นคน และ มี.ค. 1.5 แสนคน ซึ่งช่วงแรกจีนยังไม่ได้อนุญาตให้มีการเดินทางเป็นกรุ๊ปใหญ่ ยังเป็นเดินทางเพื่อธุรกิจ เยี่ยมญาติ หรือศึกษา

อย่างไรก็ตามกระทรวงสาธารณสุขจะมีการเฝ้าระวังเชื้อไวรัสในน้ำเสียจากเครื่องบิน ติดตามข้อมูลนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาจากทุกประเทศ เพื่อให้ได้ข้อมูลหากมีการเปลี่ยนแปลงของสายพันธุ์ และประสานสถานพยาบาลเอกชนในการรายงานผู้ป่วยต่างชาติที่เข้ารับการรักษา เพื่อนำมาใช้พิจารณาทบทวนมาตรการ พร้อมเปิดศูนฉีดวัคซีนแบบไม่ฟรี ที่รพ.บางรัก ให้บริการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นแก่นักท่องเที่ยวต่างชาติ ในเมื่อภาครัฐเตรียมรับนักท่องเที่ยว ผู้ประกอบการดำเนินการตามแนวทาง SHA, SHA Plus ประชาชนคนไทยก็ควรพร้อมด้วยรับวัคซีนโควิด-19 เข็มกระตุ้น เพื่อรับนักท่องเที่ยวและเศรษฐกิจที่จะฟื้นตัวด้วยเช่นกัน