“เท่าเทียมทุกชาติ” ไม่เลือกปฏิบัติ จีนเปิดประเทศ มาตรการไทยรับนักท่องเที่ยว

“เท่าเทียมทุกชาติ” ไม่เลือกปฏิบัติ จีนเปิดประเทศ มาตรการไทยรับนักท่องเที่ยว

8 ม.ค.2566 จีนเปิดประเทศ  บางประเทศมีการขยับเพิ่มมาตรการเฉพาะคนเดินทางออกจากจีน ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับ “Geopolitics” หรือไม่ แต่สำหรับประเทศไทย หากจะปรับมาตรการจะดำเนินการ ”เท่าเทียมกันทุกประเทศ” ไม่เลือกปฏิบัติ

     เบื้องต้นอาจออกข้อแนะนำให้นักท่องเที่ยวจากทุกประเทศ ซื้อประกันสุขภาพครอบคลุมการรักษาโควิด-19 ก่อนเข้าประเทศ  โดย กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) หารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 5 ม.ค.2566 ที่ทำเนียบรัฐบาลอีกครั้ง นอกจากนี้ ศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข(EOC) กรมควบคุมโรค(คร.) จะมีการติดตามสถานการณ์จากนักท่องเที่ยวทุกชาติ เพื่อเปรียบเทียบจำนวนการติดเชื้อ และสายพันธุ์กับประเทศไทย
      “อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังประชุมผู้บริหารระดับสูง กระทรวงสาธารณสุข(สธ.)ว่า มาตรการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว ใช้หลักการแพทย์ และสาธารณสุขในการวางมาตรการ  ทั้งนี้ คณะกรรมการด้านวิชาการตามพ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 มีการประชุม และเห็นว่าสำหรับประเทศไทยนั้น การปฏิบัติต่อนักท่องเที่ยวต่างประเทศทั่วโลก ควรใช้มาตรฐานเดียวกัน ไม่มีการแบ่งแยก จำเพาะเจาะจง

“เมื่อไทยมีนโยบายเปิดประเทศ รับนักท่องเที่ยวเข้ามา เพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจให้กับประเทศไทย  กรมควบคุมโรคก็มีการวางมาตรการต่างๆ โดยปราศจากความกดดันใดๆ ไม่ใช่ถูกฝ่ายรัฐบาลหรือรัฐมนตรีกดดันให้คำนึงถึงเศรษฐกิจอย่างเดียวโดยไม่คำนึงถึงเรื่องอื่นเลย แต่ให้กรมเสนอมาตรการที่เกิดประสิทธิภาพสูงสุดทั้งต่อเศรษฐกิจและการดูแลสุขภาพของประชาชนอยู่ในระดับปลอดภัย”อนุทินกล่าว 

     ที่ผ่านมา คณะกรรมการด้านวิชาการฯ ผู้ทรงคุณวุฒิ และอาจารย์ที่เกี่ยวข้องกับโรคระบาด ให้ความเห็นสอดคล้องกันว่า ไทยยังสามารถบริหารจัดการสถานการณ์โควิด-19ได้  เพื่อไม่ให้เป็นประเด็นอ่อนไหวในทุกๆด้าน และพิจารณาจากข้อเท็จจริงต่างๆ ในการรับนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกเข้ามาในประเทศ

       “ไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่จะปฏิบัติแตกต่างกันในแต่ละประเทศที่จะทำให้เกิดความยุ่งยาก ยังเชื่อมั่นว่าใครก็ตามที่เข้ามา ก็ใช้มาตรการเดียวคือ มาตรฐานของประเทศไทย ซึ่งถือว่าเป็นต้นแบบให้กับประเทศอื่นๆ ไม่ใช่ทำตามข้างนอก มาตรฐานการแพทย์ สาธารณสุขไทย ถือว่าเป็นมาตรฐานที่เป็นแบบอย่างด้วยซ้ำ ต้องมั่นใจในเรื่องเหล่านี้ ” อนุทิน กล่าว 

  ทั้งนี้ หากพิจารณาจากข้อมูลข้อเท็จจริงประเมินระดับความเสี่ยงประเทศจีนกับประเทศอื่น ในส่วนของสายพันธุ์ไม่มีอะไรแตกต่างเป็นโอมิครอน เรื่องภูมิคุ้มกันที่ประชาชนในประเทศได้ก็ไม่แตกต่าง จำนวนผู้ติดเชื้อซึ่งมีผู้ติดเชื้อจำนวนมากระดับเดียวกับคนไทยที่มีทั้งภูมิคุ้มกันจากวัคซีน และจากการติดเชื้อโดยธรรมชาติ ไม่แตกต่างจากเชื้อที่มาจากภูมิภาคอื่นๆ ของโลก และเป็นสายพันธุ์ที่วัคซีนครอบคลุมอยู่ และการติดเชื้อของประเทศไทย ก็ยังอยู่ในสายพันธุ์โอมิครอน

         “ไม่ว่าสายพันธุ์จะมาจากไหนจาก จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ กัมพูชา เวียดนาม หรือตะวันตก ยุโรป อเมริกา ตะวันออกกลาง สิงคโปร์ ไต้หวัน ฮ่องกง ก็อยู่บนพื้นฐานเดียวกัน สิ่งสำคัญคือ ทุกคนรับวัคซีนไว้ ถ้ามีการติดเชื้อก็มีสถานพยาบาล มียารักษาโรค มีแพทย์ที่ให้คำแนะนำ และคอยดูแล” อนุทิน กล่าว

       สำหรับการซื้อประกันสุขภาพนั้น  เป็นคำแนะนำให้ซื้อประกันสุขภาพเหมือนคนไทยไปเที่ยวต่างประเทศ ถ้าซื้อประกันสุขภาพก็สบายใจระดับหนึ่ง หากเข้าโรงพยาบาลก็มีคนคอยดูแล ซึ่งนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศก็คงคิดเช่นนั้น อย่างไรก็ตาม จะมีการหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในวันที่ 5 ม.ค.2565 ที่ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งหากมีมาตรการอย่างใดก็จะดำเนินการเหมือนกัน เท่าเทียมกันทุกประเทศ

    ส่วนมาตรการที่นักท่องเที่ยวจากทุกประเทศที่เข้าไทยต้องดำเนินการคือ การฉีดวัคซีน แนะนำให้มีประกันสุขภาพ แนะนำให้มารับวัคซีนในประเทศไทย ถ้ามีความประสงค์ ก็จะให้บริการไม่ว่าใครฉีดวัคซีนก็จะเป็นการเสริมภูมิคุ้มกัน ถ้าไม่ใช่คนไทยก็จะเสียค่าบริการเอง เพราะไทยใช้งบประมาณในการจัดซื้อมา

     การรับวัคซีนโควิด-19 ของคนไทยในปี 2566 ขณะนี้ยังเหมือนเดิม คนไทยควรได้รับเข็มกระตุ้น เพื่อป้องกันการเจ็บป่วยที่มีอาการรุนแรง ป้องกันการเสียชีวิต ส่วนวัคซีน 2 สายพันธุ์(bivalent)ไทยได้รับบริจาคจากประเทศที่มีความสัมพันธ์ที่ดี ส่วนของประเทศไทย มีการยืนยันว่าวัคซีนที่ไทยใช้อยู่ ยังมีประสิทธิภาพประสิทธิผลเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ไม่แตกต่างจากวัคซีน bivalent อย่างไรก็ตาม เมื่อมีความต้องการวัคซีนชนิดใหม่ๆ มีสายพันธุ์ใหม่มีวัคซีนที่ครอบคลุมป้องกันสายพันธุ์ได้มากกว่าที่มีในปัจจุบัน ก็พร้อมจะซื้อจัดหาเข้ามา

     “ปัจจุบันมีของดีอยู่แล้ว ได้ผลอยู่แล้ว สังเกตจากสถานการณ์ปัจจุบันที่เราควบคุมได้ก็ต้องใช้ของที่มีอยู่ให้คุ้มค่า ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ประหยัดงบประมาณเอาไปใช้พัฒนาบ้านเมืองเรื่องอื่นๆ” อนุทิน กล่าว 
       ขณะที่  นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ตั้งแต่เดือนม.ค.เป็นต้นไป EOC กรมควบคุมโรค(คร.)จะติดตามสถานการณ์จากนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาจากทุกประเทศเพิ่มขึ้น เพื่อให้ได้ข้อมูลผู้ติดเชื้อมากขึ้น และมีการเปลี่ยนแปลงของสายพันธุ์หรือไม่ เพื่อนำมาใช้พิจารณาทบทวนมาตรการ รวมถึง การเฝ้าระวังเชื้อไวรัสในน้ำเสียจากเครื่องบิน และประสานสถานพยาบาลเอกชนในการรายงานผู้ป่วยต่างชาติที่เข้ารับการรักษาด้วย จะดำเนินการทุกสัปดาห์ นอกจากนี้ กรมจะเปิด รพ.บางรักเพื่อเป็นศูนย์ฉีดวัคซีนแบบไม่ฟรี แก่นักท่องเที่ยวต่างชาติที่ต้องการฉีดเข็มกระตุ้นด้วย
        นพ.ธเรศ กล่าวอีกว่า การท่องเที่ยวมีการประเมินว่าในไตรมาสแรกของปี 2566 จะมีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้ามาประเทศไทยราว 3 แสนคน คิดเป็น 5% ของนักท่องเที่ยวทั้งหมดของไทย โดย ม.ค.ราว 6 หมื่นคน ก.พ. 9 หมื่นคน และมี.ค. 1.5 แสนคน ซึ่งจำนวนผู้ติดเชื้อของประเทศจีน ที่องค์การอนามัยโลก(WHO)แสดง ไม่ได้แตกต่างจากชาติอื่น การรับวัคซีนของประชาชนจีนครอบคลุม 90%  อีกทั้ง ช่วงแรกจีนยังไม่ได้อนุญาตให้มีการเดินทางเป็นกรุ๊ปใหญ่ ยังเป็นเดินทางเพื่อธุรกิจ เยี่ยมญาติ หรือศึกษา 
       อนึ่ง คณะกรรมการวิชาการฯ มีข้อเสนอแนะแนวทาง และมาตรการป้องกันควบคุมโรคโควิด-19 เพื่อเตรียมรับผู้เดินทางจากประเทศจีน ดังนี้ 1. การตรวจเอกสารรับรองการได้รับวัคซีนโควิด-19 และกำหนดให้ผู้เดินทางซื้อประกันสุขภาพเดินทางระยะสั้นที่ครอบคลุมการรักษาโรคโควิด-19 ก่อนเดินทางเข้าประเทศไทย  2. สื่อสารประชาสัมพันธ์ถึงมาตรการของไทย และคำแนะนำต่างๆ ให้กับผู้เดินทางก่อนเดินทางเข้าประเทศไทย
        3.เสริมสร้างความเชื่อมั่นในระบบการป้องกันควบคุมโรคโควิด-19 ของประเทศไทย โดยเฉพาะระบบเฝ้าระวังในผู้เดินทางเข้าประเทศที่ช่องทางเข้าออกประเทศ โดยการสุ่มตัวอย่างตรวจสายพันธุ์ (ปัจจุบันสายพันธุ์ที่พบในจีนไม่แตกต่างจากที่เคยมีรายงาน) และประเมินสถานการณ์เป็นระยะ เพื่อนำไปพิจารณากำหนดมาตรการที่เหมาะสม 4. เตรียมความพร้อมระบบบริการสาธารณสุขให้รองรับผู้ป่วยชาวต่างชาติได้มากขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดท่องเที่ยว

         5. สื่อสารเน้นย้ำมาตรการป้องกันตนเองตลอดระยะเวลาที่ผู้เดินทางท่องเที่ยวอยู่ในประเทศไทย เช่น การสวมหน้ากากอนามัย การล้างมือด้วยแอลกอฮอล์เจล และจัดบริการสายด่วนสำหรับนักท่องเที่ยว 6. ด้านผู้ประกอบการและร้านค้า ดำเนินการตามแนวทาง SHA, SHA Plus 7. ภาคสาธารณสุข กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงคมนาคม สื่อสารไปยังผู้ประกอบกิจการ หรือผู้ที่ให้บริการนักท่องเที่ยวให้ได้รับวัคซีนโควิด-19  ครบ 4 เข็ม โดยทางภาคสาธารณสุขจะมีการเตรียมวัคซีนให้กับแรงงาน  ภาคธุรกิจท่องเที่ยว และภาคการคมนาคม เพื่อการกระตุ้นภูมิคุ้มกันโรค รวมถึงประชาชนคนไทยทุกคนให้ได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 จำนวนรวม 4 เข็ม เพื่อลดการป่วยหนัก และลดการเสียชีวิต

       จากการประเมินสถานการณ์รอบด้าน ในขณะนี้ยังไม่มีความจำเป็นต้องกำหนดให้ตรวจหาเชื้อก่อโรคโควิด-19 ในผู้เดินทางจากประเทศจีน สอดคล้องกับแนวปฏิบัติของ European CDC แต่หากมีข้อมูลการเฝ้าระวังสายพันธุ์หรือสถานการณ์ระบาดที่เปลี่ยนแปลง จะพิจารณาความจำเป็นของการตรวจหาเชื้อโควิดก่อนเดินทางเข้าประเทศไทยอีกครั้ง
 

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์