"หญิงตั้งครรภ์"มี "กิจกรรมทางกาย" อันตรายน้อยกว่าคนท้องนิ่งเฉย

"หญิงตั้งครรภ์"มี "กิจกรรมทางกาย" อันตรายน้อยกว่าคนท้องนิ่งเฉย

คณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นเห็นชอบ “แผนปฏิบัติการระดับชาติ พ.ศ.2560-2570” ขณะที่กรมอนามัยและภาคีเครือข่าย เดินหน้าขับเคลื่อนแนวปฏิบัติการส่งเสริมกิจกรรมทางกายสำหรับหญิงตั้งครรภ์และหลังคลอด มุ่งส่งเสริมสุขภาพมารดาและทารก

     ในการประชุมคณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น เมื่อวันที่ 26 ธ.ค.2565 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข ในฐานะประธานกล่าวว่า  ผลการดำเนินงานด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นมีความคืบหน้าอย่างมาก โดยในปี 2564

  • อัตราคลอดในวัยรุ่นอายุ 10-14 ปี อยู่ในระดับคงที่  0.9 ต่อพันประชากร
  • อัตราคลอดในวัยรุ่นอายุ 15-19 ปี มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง เหลือ 24.4 ต่อพันประชากร
  • อัตราการคลอดซ้ำในวัยรุ่นอายุ 15-19 ปี ลดลงต่อเนื่องเช่นกัน เหลือ 7.7 %
  • การคุมกำเนิดด้วยวิธีสมัยใหม่ในหญิงอายุน้อยกว่า 20 ปี มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

        ที่ประชุมได้เห็นชอบกำหนดค่าเป้าหมายใหม่ในการลดอัตราคลอดในวัยรุ่น ช่วง พ.ศ. 2566-2570 โดยอัตราคลอดในวัยรุ่นอายุ 15 - 19 ปี จากเดิมไม่เกิน 25 ต่อพันประชากร ภายในปี 2569 ลดลงเป็น ไม่เกิน 15 ต่อพันประชากร ภายในปี 2570 และให้คงค่าเป้าหมายอัตราคลอดในวัยรุ่นอายุ 10 - 14 ปี ตามเดิม คือ ไม่เกิน 0.5 ต่อพันประชากร ภายในปี 2570 เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาและอนุมัติต่อไป

     นอกจากนี้ ยังเห็นชอบในหลักการ (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นระดับชาติ พ.ศ. 2560 – 2570 (ฉบับทบทวน พ.ศ. 2565) ภายใต้วิสัยทัศน์ วัยรุ่นมีความรู้ด้านเพศวิถีศึกษา มีทักษะชีวิตที่ดีสามารถเข้าถึงบริการอนามัยการเจริญพันธุ์ที่เป็นมิตรเป็นส่วนตัว รักษาความลับ และได้รับสวัสดิการสังคมอย่างเสมอภาค พร้อมกำหนดพันธกิจ และประเด็นการพัฒนายุทธศาสตร์ 5 ประเด็น คือ

1.การพัฒนาระบบการศึกษาที่ส่งเสริมการเรียนรู้ด้านเพศวิถีศึกษา และทักษะชีวิตที่มีคุณภาพและมีระบบการดูแลช่วยเหลือที่เหมาะสม

2.การส่งเสริมบทบาทครอบครัว ชุมชน และสถานประกอบกิจการในการสื่อสารด้านสุขภาวะทางเพศของวัยรุ่น การเลี้ยงดูบุตรหลาน และการสร้างสัมพันธภาพ 3.การพัฒนาระบบบริการสุขภาพทางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์ที่มีคุณภาพและเป็นมิตร

4.การพัฒนาระบบการดูแลช่วยเหลือ การคุ้มครองสิทธิอนามัยการเจริญพันธุ์ และการจัดสวัสดิการสังคมในกลุ่มวัยรุ่น 

5.การบูรณาการฐานข้อมูล การวิจัย การจัดการความรู้ และนวัตกรรมด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น

โดยมอบหมายให้กระทรวงที่เป็นเจ้าภาพยุทธศาสตร์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทบทวนร่างเนื้อหา และส่งกลับมายังฝ่ายเลขานุการ เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป

   วันเดียวกัน ในส่วนของ หญิงตั้งครรภ์ทั่วไป กรมอนามัย ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) และราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย ร่วมกันขับเคลื่อนแนวปฏิบัติการส่งเสริมกิจกรรมทางกายสำหรับหญิงตั้งครรภ์และหญิงหลังคลอด เพื่อส่งเสริมกิจกรรมทางกายสำหรับหญิงตั้งครรภ์ และหญิงหลังคลอดที่เพียงพอจะทำให้มีสุขภาพดีทั้งตนเองและทารกในครรภ์

      สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข(รมช.สธ.) กล่าวในการเป็นประธานลงนามความร่วมมือ (MOU) ขับเคลื่อนแนวปฏิบัติการส่งเสริมกิจกรรมทางกายสำหรับหญิงตั้งครรภ์และหญิงหลังคลอดว่า ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ยุทธศาสตร์ที่ 3 ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ มีเป้าหมายการพัฒนาที่สำคัญ เพื่อพัฒนาคนในทุกมิติและในทุกช่วงวัยให้เป็นคนดี คนเก่ง และมีคุณภาพ โดยคนไทยมีความพร้อม ทั้งกาย ใจ สติปัญญา มีพัฒนาการที่ดีรอบด้านและมีสุขภาวะที่ดี

       การจะบรรลุเป้าหมายดังกล่าว ต้องเริ่มตั้งแต่ทารกในครรภ์มารดา ด้วยการส่งเสริมสุขภาพหญิงตั้งครรภ์ให้มีสุขภาพแข็งแรง มีความรอบรู้ด้านสุขภาพ ตามหลัก 3 อ. อาหาร ออกกำลังกาย อารมณ์ ลดการเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรังที่จะส่งผลกระทบกับการเจริญเติบโตและพัฒนาการสมวัยของทารกในครรภ์ และลดความเสี่ยงการคลอดก่อนกำหนด การพิการหรือเสียชีวิต  สธ.จึงมีนโยบายส่งเสริมกิจกรรมทางกายของประเทศไทย

ข้อดีกิจกรรมทางกายขณะตั้งครรภ์

  นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากการศึกษาวิจัยหลายฉบับ ยืนยันว่าการมีกิจกรรมทางกาย อย่างสม่ำเสมอในระยะตั้งครรภ์ ช่วยส่งเสริมให้หญิงตั้งครรภ์มีสุขภาพที่ดี ช่วยเตรียมความพร้อมทางด้านร่างกาย เพื่อเข้าสู่ระยะคลอด ทำให้การคลอดง่ายขึ้น ส่งผลให้ความเจ็บปวดระหว่างการคลอดลดลง ระยะหลังคลอด ยังส่งเสริมให้น้ำหนักตัวลดลงสู่ระดับปกติได้อย่างรวดเร็ว

        และด้านจิตใจ พบว่า ลดภาวะซึมเศร้าในสัปดาห์แรกหลังคลอด ทำให้เกิดความรู้สึกมีคุณค่าในตนเอง และมีความพึงพอใจในภาพลักษณ์ของตนเองสูงขึ้น นอกจากนี้ยังส่งผลดีต่อทารก โดยพบว่าความยาวของลำตัวและน้ำหนักทารกแรกเกิด จะมีมากกว่า หญิงตั้งครรภ์ที่ไม่มีกิจกรรมทางกาย 

          ทั้งนี้ สธ.ร่วมกับ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.)กำหนดการฝากครรภ์คุณภาพ ร่วมมือกับราชวิทยาลัยสูติฯ และ สสส. เน้นให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องแก่บุคลากรสาธารณสุข ว่ากิจกรรมทางกาย ทานอาหาร ทำอารมณ์ให้แจ่มใส การเข้ารับบริการต้องถูกต้อง และทำความเข้าใจประชาชน ที่ยังมีความเข้าใจผิดๆ

ไม่ออกกำลังกายเสี่ยงอันตราย

         ขณะที่  ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.วิทยา ถิฐาพันธ์ ประธานราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่ามีความเชื่อผิดๆ ว่า เมื่อตั้งครรภ์อย่าออกกำลังกายจะเกิดอันตรายต่อลูกเป็นความเข้าใจที่ผิด ซึ่งการรับประทานอาหารมาก พักมากทำให้อ้วน แต่การออกกำลังกายจะช่วยให้น้ำหนักตัวมารดาไม่มากเกินไป

         โดยหากมารดาน้ำหนักตัวมาก จะมีปัญหาไม่กระฉับกระเฉง แบกรับน้ำหนักตัวเอง เกิดการปวดหลังได้ง่าย และอาจจะเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์หรือครรภ์เป็นพิษได้ และทำให้ปัสสาวะเล็ดได้ เนื่องจากมีการยืดขยายของช่องทางคลอด การไม่ออกกำลังกายทำให้เกิดการยืดได้ง่ายและไม่คืนรูป อีกทั้ง ลูกจะตัวใหญ่ น้ำหนักมาก คลอดยาก

    “หญิงตั้งครรภ์ควรออกกำลังกายจะเกิดประโยชน์ทั้งมารดาขณะตั้งครรภ์และหลังคลอด  และลูกมีคุณภาพ คลอดไม่ยาก แต่หากไม่ออกกำลังกาย ทำให้หลังคลอด แม่เปลี่ยนสภาพจากร่างกายสวยๆ รูปร่างเพรียว กลายเป็นผู้หญิงที่อ้วน  เพราะมีน้ำหนักเกิน และก่อให้เกิดโรคเรื้อรังตามมาภายหลัง เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ซึ่งแม่ที่เป็นเบาหวานน้ำตาลสูงมากๆ ลูกจะได้รับน้ำตาลตลอดเวลา  เมื่อคลอดแล้วตัดสายสะดือ น้ำตาลจะขาดทันที เด็กจะชักได้ บางคนจะตัวเหลืองมีปัญหาตามมา" ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.วิทยากล่าว

กิจกรรมทางกายหญิงตั้งครรภ์-หลังคลอด

      นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า การออกกำลังกายในหญิงตั้งครรภ์ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 150 นาทีโดยเฉลี่ย หรือแต่ละวันประมาณ 30 นาทีต่อวัน แต่ลักษณะการออกกำลังกายในหญิงตั้งครรภ์ต้องเหมาะสมตามช่วงอายุครรภ์และตามลักษณะของการตั้งครรภ์ เช่น การเดิน สควอต ขี่จักรยานอยู่กับที่ แต่ที่ดีคือการออกกำลังกายในน้ำจะช่วยพยุง เป็นต้น
     สำหรับกิจกรรมทางกายสำหรับหญิงตั้งครรภ์และหลังคลอด พิจารณาตามไตรมาส ประกอบด้วย

      ไตรมาสที่ 1 ซักผ้า กวาดบ้าน เดิน  แบบแอโรบิกเริ่มจากช้าไปเร็ว เบาไปหนัก กิจกรรมระดับปานกลาง 150นาทีต่อสัปดาห์ หรือระดับหนัก 75 นาทีต่อสัปดาห์  แบ่งทำเป็นช่วง ไม่หักโหม ไม่ทำกิจกรรมที่มีแรงกระแทกสูง

         ไตรมาสที่ 2 ปั่นจักรยาน วิ่ง ยกของเบา เดิน ว่ายน้ำ โยคะ แบบแอโรบิค ทำกิจกรรมได้เหมือนผู้ใหญ่ปกติ กิจกรรมระดับปานกลาง 150นาทีต่อสัปดาห์ หรือระดับหนัก 75 นาทีต่อสัปดาห์  แบ่งทำเป็นช่วง ไม่หักโหม
          ไตรมาสที่ 3 เดิน ว่ายน้ำ โยคะ แบบแอโรบิค ระวังการหกล้ม การกระแทกที่ท้อง กิจกรรมระดับปานกลาง 150นาทีต่อสัปดาห์ หรือระดับหนัก 75 นาทีต่อสัปดาห์  แบ่งทำเป็นช่วง ไม่หักโหม ไม่ทำกิจกรรมที่มีแรงกระแทกสูง

       กิจกรรมทางกายหลังคลอด ดันพื้น ยกน้ำหนัก วิ่ง ยืดเหยียดร่างกาย เดิน ปั่นจักรยาน ว่ายน้ำ แบบแอโรบิค ทำกิจกรรมได้เหมือนผู้ใหญ่ปกติ มีกิจกรรมทางกายให้เร็วที่สุด(2-3วัน หลังคลอด)

         บริหารอุ้งเชิงกรานโดยการขมิบช่องคลอด  ส่วนกิจกรรมแบบสร้างความแข็งแรง ความทนทาน และความอ่อนตัวของกล้ามเนื้อ ดันพื้น โยคะ ยกน้ำหนักอย่างน้อย 2 ครั้งต่อสัปดาห์ ระหว่างทำให้หายใจเข้าออกเป็นปกติ ไม่กลั้นหายใจ ไม่ออกแรงเบ่ง