5 กรณี"ยุติการตั้งครรภ์"ได้ถูกกฎหมาย และทางเลือกหากต้องการท้องจนคลอด

5 กรณี"ยุติการตั้งครรภ์"ได้ถูกกฎหมาย และทางเลือกหากต้องการท้องจนคลอด

ประเทศไทยสามารถยุติการตั้งครรภ์ได้อย่างถูกกฎหมาย แต่จะต้องเป็นไปตามแนวทางที่กำหนด  มีกระบวนการให้คำปรึกษาก่อนการดำเนินการ  เพื่อเป็นทางเลือกกรณ๊ไม่สามารถตั้งครรภ์ต่อได้ ให้ได้รับบริการที่ปลอดภัย ลดอันตรายจากการลักลอบทำแท้งเถื่อน

      “เจตนารมย์กฎหมายไม่ได้ยุยงให้คนทำแท้ง แต่เป็นช่องทางอันนึงสำหรับผู้หญิงกลุ่มหนึ่งที่ไม่สามารถตั้งครรภ์ต่อไปได้” ศ.คลินิกเกียรติคุณ พญ.วิบูลพรรณ ฐิตะดิลก

   ปลายปี 2564 องค์การอนามัยโลก (WHO) มีรายงานว่า 6 ใน 10 ของผู้ที่ท้องไม่พร้อม จะมีการยุติการตั้งครรภ์ ในจำนวนนี้ 45% ที่มีการยุติการตั้งครรภ์ที่ไม่ปลอดภัย และจากข้อมูลสายด่วน 1663 ให้บริการปรึกษาปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พร้อมในประเทศไทย พบว่าระหว่างเดือนก.ย. 2564 – ส.ค. 2565 มีผู้โทรปรึกษาและต้องการยุติการตั้งครรภ์ 30,766 คน

      ประเทศไทยมีการกำหนดเกณฑ์ให้ผู้หญิงสามารถยุติการตั้งครรภ์ได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายในกรณี ดังนี้

1.การตั้งครรภ์นั้นส่งผลเสียต่อสุขภาพทางกายหรือจิตใจของผู้หญิง

2.ทารกในครรภ์มีความผิดปกติถึงขนาดทุพพลภาพอย่างร้ายแรง

3.การตั้งครรภ์ที่เกิดจากการถูกข่มขืนกระทำชำเรา

 4.การตั้งครรภ์จากบุคคลที่ไม่ใช่สามี ในกรณีหญิงที่อายุไม่เกิน 15 ปี  

5.การตั้งครรภ์มาจากเหตุล่อลวง บังคับ หรือข่มขู่ เพื่อทำอนาจาร สนองความใคร่

 และล่าสุด เมื่อวันที่ 26 ก.ย.2565 ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง การตรวจและรับคำปรึกษาทางเลือกในการยุติการตั้งครรภ์ตามาตรา 305(5) แห่งประมวลกฎหมายอาญาพ.ศ.2565 ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา

 “ยุติการตั้งครรภ์” สุขภาวะและสิทธิมนุษยชน ที่กำลังถูกกดทับด้วยมุมมอง “ศีลธรรม”

     นพ.พีรยุทธ สานุกูล ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมสุขภาพ กรมอนามัย อธิบายว่า  ประเด็นสำคัญ คือ กรณีอายุครรภ์มากกว่า 12 สัปดาห์แต่ไม่เกิน 20 สัปดาห์ ที่จะยุติการตั้งครรภ์ต้องมีการปรึกษาแพทย์และมีทางเลือกให้มารดาว่าจะทำหรือตั้งครรภ์ต่อ มีการคุยถึงวิธีการทำ และการดูแลหลังการทำ ขณะที่ส่วนของแพทย์ ไม่ได้มีการบังคับว่าจะต้องทำการยุติการตั้งครรภ์ให้ตามที่มีการร้องขอ โดยแพทย์สามารถปฏิเสธที่จะไม่ทำได้

   แต่ต้องดำเนินการส่งต่อ หากไม่ส่งต่ออาจจะมีความผิดตามข้อบังคับของแพทยสภา เพราะรู้ว่าหากปล่อยผู้ป่วยออกไปเช่นนั้นอาจะเลือกยุติการตั้งครรภ์แบบผิดกฎหมาย ซึ่งอันตราย


 การช่วยเหลือหากไม่ยุติการตั้งครรภ์

   ทั้งนี้ กรณีผู้ที่เปลี่ยนใจและไม่ยุติการตั้งครรภ์ ซึ่งพบว่าเมื่อเข้าสู่กระบวนการให้คำปรึกษากว่า 50% เลือกที่จะตั้งครรภ์ต่อจนคลอด ก็จะมีการดูแลต่อ  เช่น เด็กท้องต้องได้เรียน ที่กระทรวงศึกษาธิการได้ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งต้องมีระบบทำให้เด็กจบตามกำหนด ไปจนถึงความร่วมมือกับกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ที่จะเข้ามาดูแลเด็กเดือนละ 2 พันบาท เป็นต้น

 “ที่ผ่านมาการยุติการตั้งครรภ์ในประเทศไทยมีมาก แต่มักทำใต้ดิน  ซึ่งอันตราย อย่างไรก็ตาม ผู้ที่จะยุติตั้งครรภ์ ต้องได้รับคำแนะนำทางเลือก ได้คำปรึกษาจากผู้ที่ถูกกำหนด เช่น พยาบาล นักสังคมสงเคราะห์ก่อนจึงจะเข้าสู่กระบวนยุติการตั้งครรภ์ได้  โดยคนไข้ 80% ที่ยุติการตั้งครรภ์ จะมาก่อนอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ ส่วนอีก 20% ที่มาหลังอายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ ส่วนใหญ่ตอนแรกตั้งใจจะตั้งครรภ์ แต่เปลี่ยนใจ เช่น สามีทิ้งไปตอนอายุครรภ์ 3-4 เดือนแล้ว เป็นต้น”นพ.พีรยุทธ

5 กรณี\"ยุติการตั้งครรภ์\"ได้ถูกกฎหมาย และทางเลือกหากต้องการท้องจนคลอด

 

กฎหมายไม่ได้ยุยงยุติการตั้งครรภ์

      ศ.คลินิกเกียรติคุณ พญ.วิบูลพรรณ ฐิตะดิลก อดีตประธานราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย และกรรมการแพทยสภา ให้มุมมองว่า อยากให้ทุกคนเข้าใจตรงกัน เจตนารมย์ของกฎหมายไม่ได้ยุยงให้คนยุติการตั้งครรภ์หรือทำแท้ง แต่เป็นช่องทางอันนึงสำหรับผู้หญิงกลุ่มหนึ่งที่ไม่มีทางไปหรือไม่สามารถที่จะตั้งครรภ์ต่อไปได้  จึงต้องเป็นสวัสดิการอย่างหนึ่งที่รัฐต้องจัดให้  กฎหมายเรื่องนี้จึงต้องการช่วยเหลือผู้หญิงกลุ่มนี้ 

       การที่กฎหมายกำหนดให้สามารถดำเนินการได้ในอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ไม่เกิน 20สัปดาห์นั้น  ก่อนที่จะมีการออกกฎหมายได้มีการหารือกำหนดช่วยอายุครรภ์ เนื่องจากหากนำเด็กออกมาตอนอายุครรภ์มากมีโอกาสที่เด็กจะเลี้ยงรอดก็จะไม่เหมาะ

    แต่บางครั้งหญิงที่ไม่พร้อมอาจจะมารู้อีกทีเมื่ออายุครรภ์มากแล้ว จึงกำหนดที่ครึ่งทาง 20 สัปดาห์เป็นจุดสูงสุด จากการตั้งครรภ์ครั้งละ 40 สัปดาห์ เว้นแต่มีบางกรณีทางการแพทย์เมื่อดูแลคนฝากครรภ์แล้วเห็นว่าไม่มีหัว แต่รู้ตอนอายุครรภ์ 26 สัปดาห์ ก็จะมีการพิจารณาเป็นกรณี  

       “หญิงที่ตั้งครรภ์ไม่พร้อมไม่ว่าจะอายุครรภ์เท่าไหร่ อยากให้เข้าหาหน่วยบริการเพื่อรับการปรึกษาทางเลือก หมายความสามารถที่จะเลือกตั้งครรภ์ต่อ ไม่ยุติการตั้งครรภ์ก็ได้ เพราะยังมีความช่วยเหลือด้านอื่นๆ" ศ.คลินิกเกียรติคุณ พญ.วิบูลพรรณกล่าว

      บางคนไม่พร้อมจะท้องจากการที่เลี้ยงลูกไม่ได้ การเข้ามารับคำปรึกษาก็จะทำให้รู้ว่ารัฐมีความช่วยเหลือในเรื่องนี้ หรือท้องแล้วคลอดมาไม่เลี้ยงเอง รัฐก็หาแม่บุญธรรมให้ได้เป็นทางเลือก ก็อาจจะเปลี่ยนใจไม่ยุติการตั้งครรภ์ได้

        ข้อบังคับแพทยสภาหรือความเห็นทางการแพทย์จึงออกมาบอกว่า ถ้าหญิงตั้งครรภ์ที่ท้องไม่พร้อมเดินเข้าหาหน่วยบริการ ขอให้ช่วยเหลือถ้าเป็นไปตามกฎหมาย แต่แพทย์บางคนอาจจะไม่ประสงค์จะดำเนินการเอง ก็ขอให้ดำเนินการระบบส่งต่อไปให้แพทย์ที่ดำเนินการ จะต้องไม่เมินเฉย  แต่ยอมรับว่าระบบบริการปัจจุบันยังไม่มีความพร้อมในเรื่องการให้บริการยุติการตั้งครรภ์ตามกฎหมาย  ยังมีเพียงแพทย์กลุ่มหนึ่ง คือ RSA ที่ดำเนินการ 

         กระทรวงสาธารณสุข(สธ.)จึงพยายามออกประกาศให้ทุกจังหวัดพยายามจัดหารัฐสวัสดิการในเรื่องนี้ แต่คงจะอีกไกล อย่างไรก็ตาม หากเป็นในส่วนของการขอรับปรึกษาทางเลือก หญิงตั้งครรภ์สามารถเข้ารับบริการได้ที่หน่วยบริการสาธารณสุขใกล้บ้าน สายด่วนสปสช.1330 หรือสายด่วนปรึกษาเอดส์และท้องไม่พร้อม 1663  จะมีบุคลากรให้คำปรึกษา

 ยายุติการตั้งครรภ์ไม่ได้ให้ขายอิสระ 

      ศ.คลินิกเกียรติคุณ พญ.วิบูลพรรณ บอกว่า  สำหรับในประเทศไทย ยายุติการตั้งครรภ์ยังไม่ได้ให้ขายอิสระ ยังเป็นยาที่กรมอนามัยควบคุมอยู่ จะต้องรู้การใช้  โดยรพ.ทั้งรัฐและเอกชนสามารถซื้อยานี้ได้ ภายใต้การติดตามของกรมอนามัย ซึ่งรพ.แต่ละแห่งจะต้องแจ้งจำนวนการใช้

     ดังนั้น หญิงตั้งครรภ์จะไปซื้อยาเองไม่ได้ อาจจะได้เป็นยาเถื่อนที่ไม่ทราบคุณสมบัติ  อีกทั้ง ยานี้ไม่ได้กินแล้วแท้งทันที ต้องรอเวลา ซึ่งหากไม่ได้รับคำแนะนำหรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ อาจเกิดอันตรายมดลูกแตก แท้งค้าง

       “อยากให้คนไข้ที่ตั้งครรภ์ไม่พร้อมและมีความคิดที่จะยุติการตั้งครรภ์ เข้าหาระบบรับคำปรึกษาของหน่วยบริการทางการแพทย์  ไม่ไปลักลอบทำแท้งเถื่อน" ศ.คลินิกเกียรติคุณ พญ.วิบูลพรรณ กล่าว 

       เพราะการยุติการตั้งครรภ์ที่ถูกกฎหมายนั้น ไม่ใช่แค่การนำเด็กออกมา แต่ต้องเลือกว่าใช้วิธีไหน ทำถูกวิธีหรือไม่แล้วออกจริงหรือไม่  เพราะไม่ใช่ทุกรายที่ใช้ยาหรือดูดออกมาแล้วจะแท้งครบ อาจไม่สมบูรณ์แท้งค้างอยู่ก็ได้ ซึ่งหากเข้าหาหน่วยบริการจะมีการติดตามหลังการยุติ1-2สัปดาห์หลังให้ยา นอกจากนี้ ดูแลด้านจิตใจด้วย และตามด้วยบริการคุมกำเนิดไม่ให้กลับมาท้องไม่พร้อมซ้ำ ซึ่งนักเรียนราว 60 % ไม่ได้คุมกำเนิด

         ท้ายที่สุด ศ.คลินิกเกียรติคุณ พญ.วิบูลพรรณ ฝากว่า ผู้หญิงต้องใส่ใจประจำเดือนของตนเอง ต้องตระหนักว่าอยู่ในวัยเจริญพันธุ์ มีโอกาสตั้งครรภ์ได้ จึงควรจดบันทึกประจำเดือนของตนเองทุกเดือน ถ้าพบว่าประจำเดือนหายไป ก็รีบพบแพทย์ เพราะหากหญิงตั้งครรภ์ต้องการยุติการตั้งครรภ์ในช่วงอายุครรภ์น้อย ก็จะมีภาวะแทรกซ้อนน้อยลง เอาออกง่าย และแท้งสมบูรณ์