ท้องตอนอายุเยอะ 35++ ดูแลอย่างไร? ไม่ให้เสี่ยง

ท้องตอนอายุเยอะ 35++ ดูแลอย่างไร? ไม่ให้เสี่ยง

“การแต่งงาน”อาจจะไม่ใช่จุดหมายปลายทางของผู้หญิงในยุคปัจจุบัน ทำให้ผู้หญิงหลายคนแม้จะมีแฟนตั้งแต่อายุน้อยๆ แต่กว่าจะแต่งงานนั้นอายุปาไปกว่า 35++ ... เมื่อแต่งงานช้ากว่าจะมีลูกก็ย่อมช้าลงไปด้วย

ปัจจุบันจะเห็นผู้หญิงอายุมากกว่า 35+ ตั้งครรภ์จำนวนมาก และเด็กที่เกิดจากคุณแม่ที่มีอายุมากถึงแม้ส่วนใหญ่จะเป็นปกติดี  แต่ยังคงมีบางกลุ่มที่อาจต้องเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ ได้ ถึงท้องตอนอายุมากไม่ใช่เรื่องแย่เสมอไป  แต่มีเรื่องที่ควรต้องใส่ใจให้มากขึ้น

อย่างที่ทราบกันดีว่า ช่วงอายุที่เหมาะสมแก่กันการตั้งครรภ์มากที่สุด คือ อายุ 20-35 ปี และช่วงอายุ 20-29 ปี เป็นช่วงที่ผู้หญิงจะมีโอกาสตั้งครรภ์สูงสุด หลังจากนั้นจะลดลงอย่างชัดเจน ยิ่งหลังอายุ 35-37ปี  และช่วงอายุ 40 มีโอกาสตั้งครรภ์น้อยกว่า 5 %ต่อเดือน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

"อาหารคนท้อง" เลือกอย่างไร ให้เหมาะสมตามช่วง "อายุครรภ์"

12 วิธีปฏิบัติ คุณแม่ตั้งครรภ์ห่างไกล COVID-19

"คุณแม่ป้ายแดงต้องรู้"....ฝากครรภ์ครั้งแรกต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง?

ผลักดันสิทธิ์ "รักษาผู้มีบุตรยาก" ฟรี ครอบคลุมถึงการทำ “เด็กหลอดแก้ว”

 

ท้องตอนอายุมาก เพิ่มความเสี่ยงทั้งแม่และลูก

การที่ผู้หญิงท้องตอนอายุมากนั้น มีโอกาสที่จะเพิ่มความเสี่ยงต่างๆ ได้ทั้งคุณแม่และคุณลูก

พบว่าคนท้องที่มีอายุมากกว่า 35 ปี จะเกิดโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงระหว่างตั้งครรภ์ได้สูงกว่าคนทั่วไปถึง 2 เท่าเมื่อเทียบกับคนอายุ 20 ปี

ขณะที่ลูกน้อย อาจมีความเสี่ยงต่อการเกิดดาวน์ซินโดรม เนื่องจากดาวน์ซินโดรมมีความสัมพันธ์กับอายุของคุณแม่ที่มากขึ้น ยิ่งคุณแม่มีอายุมากขึ้นเท่าไหร่ ลูกจะมีโอกาสเสี่ยงมากขึ้นเท่านั้น 

เรืออากาศเอกหญิง พญ.ภัทรพร ภู่ทอง แพทย์ประจำสาขาเวชศาสตร์ครอบครัว โรงพยาบาลสมิติเวช กล่าวว่าในผู้หญิงอายุ 25 ปี จะพบการคลอดเด็กดาวน์ซินโดรม 1 ราย จากการคลอดปกติจำนวน 1,250 ราย แต่เมื่ออายุ 40 ปี จะพบเด็กดาวน์ซินโดรม 1 ราย จากการคลอดจำนวน 106 ราย ซึ่งเป็นตัวเลขที่น่าใจหาย

สำหรับคุณแม่ที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป (นับอายุถึงวันคลอด) ควรได้รับการตรวจคัดกรองกลุ่มอาการดาวน์ซินโดรม ซึ่งสามารถทำได้โดยการตรวจเลือดเมื่ออายุครรภ์ 10 สัปดาห์ขึ้นไป หรือการตรวจน้ำคร่ำโดยจะทำในช่วงที่อายุครรภ์ประมาณ 15-18 สัปดาห์ เพื่อเป็นการตรวจดูว่าเด็กมีกลุ่มอาการดาวน์ซินโดรมหรือมีความผิดปกติทางโครโมโซมอื่นๆ หรือไม่ หากพบว่าเด็กมีอาการดาวน์ซินโดรมคุณแม่สามารถยุติการตั้งครรภ์ได้

 

โรคพันธุกรรม และความเสี่ยงที่ต้องใส่ใจ

นอกจากกลุ่มอาการดาวน์ซินโดรมที่มีโอกาสเสี่ยงเป็นเพิ่มมากขึ้นผันตามอายุของคุณแม่แล้ว ยังมีโรคทางพันธุกรรมอย่างธาลัสซีเมีย ที่คุณพ่อคุณแม่สามารถถ่ายทอดไปยังลูกได้ ที่ไม่ควรมองข้ามเด็ดขาด ตามสถิติพบว่า 1 ใน 3 ของคนไทย มีภาวะแฝงของโรคธาลัสซีเมีย ซึ่งถ้าผู้ที่มีภาวะแฝงแต่งงานกับผู้ที่มีภาวะแฝงด้วยกัน ลูกที่เกิดมาจะมีโอกาสเป็นโรค 25% เป็นพาหะ 50% ปกติ 25% การตรวจสุขภาพก่อนแต่งงาน จึงถือเป็นตัวช่วยวางแผนรับมือให้กับคนที่กำลังจะเป็นคุณพ่อคุณแม่ในอนาคต

นพ.อดิศร อักษรภูษิตพงศ์ สูติแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ ศูนย์สุขภาพหญิง โรงพยาบาลพญาไท3 กล่าวว่า เพราะการตั้งครรภ์และคลอดลูกที่ปกติแข็งแรงเป็นสิ่งที่แม่ทุกคนต้องการ การที่คุณแม่มีอายุมากไม่ได้เป็นข้อห้ามสำหรับการตั้งครรภ์ แต่คุณแม่จะต้องรู้และเตรียมความพร้อมเพื่อให้การตั้งครรภ์ของคุณแม่มีคุณภาพดีที่สุด

ความสามารถในการตั้งครรภ์ของผู้หญิงจะเริ่มลดลงหลังอายุ 32 ปี และจะลดลงอย่างมากหลังอายุ 37 ปี เนื่องจากปริมาณและคุณภาพของไข่ที่ปฏิสนธิได้ลดลงตามอายุที่มากขึ้น โรคบางอย่างก็มีผลต่อความสามารถในการตั้งครรภ์และมักพบเมื่ออายุมากขึ้น เช่น เนื้องอกมดลูก, เยื่อบุมดลูกเจริญผิดที่, ช็อกโกแลตซิสต์ เป็นต้น นอกจากนั้นระหว่างการตั้งครรภ์ทั้งคุณแม่และลูกในครรภ์ก็มีความเสี่ยงบางอย่างที่ต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด

นอกจากนั้น คุณแม่ที่อายุมากมีโอกาสตั้งครรภ์แฝดได้เองมากขึ้น นอกเหนือจากนั้น การใช้เทคโนโลยีช่วยการมีบุตร เช่น การทำเด็กหลอดแก้ว ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งของการตั้งครรภ์แฝด

ทว่าการตั้งครรภ์แฝดก็มีความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนระหว่างการตั้งครรภ์หลายอย่าง เช่น การคลอดก่อนกำหนด, ครรภ์เป็นพิษ, ทารกโตช้าในครรภ์, เบาหวานระหว่างการตั้งครรภ์ เป็นต้น ซึ่งต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดโดยสูติแพทย์เฉพาะทาง

ตรวจคัดกรองครรภ์ จำเป็นอย่างไร?

คุณแม่ตั้งครรภ์ทุกคนควรได้รับการตรวจคัดกรองภาวะครรภ์เสี่ยงจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์  (MFM: Maternal Fetal Medicine) ด้วยโปรแกรมการตรวจเลือดในระดับโครโมโซม และการตรวจด้วยเครื่องอัลตราซาวด์โหมดพิเศษ Doppler (Doppler Ultrasound) กับการตรวจหาความผิดปกติของทารกในครรภ์ในช่วงอายุครรภ์ 16-22 สัปดาห์ และช่วง 32-34 สัปดาห์

โดยมีความสำคัญ ดังนี้

  • เพื่อช่วยดูแลคุณแม่และทารกในครรภ์ได้ในเชิงลึกควบคู่กับสูตินรีแพทย์ตลอดระยะเวลาการตั้งครรภ์
  • เพื่อยืนยันว่าการตั้งครรภ์มีความปลอดภัยหรือมีภาวะผิดปกติมีความเสี่ยงในกรณีใดหรือไม่
  • ดูแลรักษาคุณแม่ครรภ์เสี่ยงสูง เฝ้าระวังและติดตามสุขภาพของทารกในครรภ์ที่มีความผิดปกติ ที่สามารถรักษาได้ตั้งแต่อยู่ในครรภ์ เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนต่อทารก ซึ่งบางครั้งอาจหมายถึงการเสียชีวิตของลูกในครรภ์ได้

ความเสี่ยงต่อทารก...ตรวจพบเร็ว รักษาได้

  • ทารกมีภาวะโลหิตจาง สามารถให้เลือดกับทารกในครรภ์ผ่านการเจาะหน้าท้องคุณแม่ผ่านไปยังสายสะดือของทารก
  • ทารกแฝด ทารกในครรภ์อาจมีการแย่งเลือดกันเอง ในกรณีที่ใช้รกร่วมกัน สามารถรักษาด้วยการส่องกล้องผ่านหน้าท้องและยิงเลเซอร์ไปยังรกเพื่อรักษา
  • เนื้องอกที่รก ซึ่งจะไปแย่งเลือดจากทารก แพทย์จะรักษาด้วยการส่องกล้องและจี้ทำลายก้อนเนื้อที่รกออก

เตรียมตัวให้พร้อม ตั้งครรภ์ปลอดภัย

  1. ตรวจสุขภาพก่อนการมีบุตร
  2. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์
  3. รับประทานโฟลิคอย่างน้อย 0.4 มิลลิกรัมต่อวัน อย่างน้อย 1 เดือนก่อนการตั้งครรภ์ และระหว่างการตั้งครรภ์
  4. ควรหลีกเลี่ยง ช็อกโกแลต คาเฟอีน บุหรี่ แอลกฮอล์ ชา กาแฟ ควรหลีกเลี่ยงอย่างยิ่ง งดได้ควรงด นอกจากจะทำให้นอนไม่หลับแล้ว ปัญหาท้องผูกก็ตามมาด้วย รวมไปถึงการปัสสาวะบ่อยขึ้น ทำให้ขับร่างกายขับน้ำออกมามากเช่นกัน
  5. ออกกำลังกาย คุณแม่ที่ตั้งครรภ์สามารถออกกำลังกายได้ แต่ห้ามหักโหม และต้องอยู่ในคำแนะนำของแพทย์เท่านั้น นอกจากจะช่วยให้ร่างกายแข็งแรงแล้ว ยังช่วยลดความเครียด ย่อยอาหารได้ง่ายขึ้น ควบคุมน้ำหนักและช่วยให้นอนหลับสบาย
  6. ระวังการกินยาหรืออาหารเสริม ควรขอคำแนะนำจากแพทย์ก่อนทุกครั้ง เนื่องจากยาบางชนิดอาจส่งผลข้างเคียงกับทารกในครรภ์ได้
  7. พักผ่อนให้เพียงพอ  ควรนอนให้เต็มอิ่มอย่างน้อย 8 ชั่วโมงเพื่อสุขภาพที่ดีของเจ้าตัวน้อยและคุณแม่
  8. ควบคุมน้ำหนัก ตลอดการตั้งครรภ์นั้นน้ำหนักตัวของคุณแม่จะเพิ่มขึ้นมากกว่าปกติ 10 -12 กิโลกรัม บางรายอาจจะเพิ่มมากขึ้นอีก เนื่องจากความอ้วนจะนำไปสู่โรคและอาการแทรกซ้อนอย่าง เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หรือครรภ์เป็นพิษได้
  9. ผ่อนคลาย ห้ามเครียด อ่านหนังสือที่ชอบหรือทำกิจกรรมที่ผ่อนคลาย เพื่อลดภาวะความกังวลจากการตั้งครรภ์
  10. หลีกเลี่ยงการสัมผัสสารเคมีที่อาจมีผลต่อการตั้งครรภ์
  11. เมื่อตั้งครรภ์แล้ว ให้ฝากครรภ์อย่างสม่ำเสมอ และปฏิบัติตามที่แพทย์แนะนำ

ตรวจสุขภาพก่อนแต่งงานสำคัญที่สุด

คู่ที่กำลังจะแต่งงานส่วนใหญ่คงวุ่นวายไปกับเรื่องของชำร่วย สถานที่ เสื้อผ้าหน้าผม จนอาจมองข้ามเรื่องสุขภาพของคนทั้งสองไป และหลายคนอาจคิดว่าไม่จำเป็น แต่จริงๆ แล้วการตรวจสุขภาพก่อนแต่งงานเป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม เพราะเชื้อโรคหรือพาหะต่างๆ ที่แฝงอยู่ในร่างกายคนเรานั้นมีมากมาย การตรวจสุขภาพจะเป็นการเช็คความพร้อมและความสมบูรณ์ของร่างกาย เพื่อป้องกันโรคที่สามารถติดต่อกันได้จากคู่สมรสและป้องกันการแพร่เชื้อไปสู่ลูกน้อยที่จะถือกำเนิดขึ้นมาในอนาคต ซึ่งมีพ่อแม่บางคนอาจจะเป็นพาหะนำโรคอยู่โดยที่ไม่รู้ตัว

ส่วนมากประกอบด้วย การตรวจเลือดทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิง การตรวจร่างกายโดยแพทย์ทั่วไป และในฝ่ายหญิงอาจต้องตรวจภายในเพิ่ม เพื่อตรวจมะเร็งปากมดลูก อัลตราซาวด์ช่องท้องส่วนล่างเพื่อประเมินมดลูกและปีกมดลูกตามแต่แพทย์จะเห็นสมควร

“การตั้งครรภ์ตอนอายุมาก อาจมีภาวะเสี่ยงต่างๆ เกิดขึ้นได้ก็จริง แต่หากมีการวางแผนที่ดี เตรียมความพร้อมด้านสุขภาพของคุณแม่ให้แข็งแรง ไม่ว่าจะท้องไหนๆ ก็เป็นท้องที่มีคุณภาพได้ไม่ยาก”

อ้างอิง: โรงพยาบาลพญาไท ,โรงพยาบาลสมิติเวช