ห้าม! จัดจุดสูบ "ช่อดอกกัญชา"ในร้านขาย หลังเป็นสมุนไพรควบคุม

ห้าม! จัดจุดสูบ "ช่อดอกกัญชา"ในร้านขาย หลังเป็นสมุนไพรควบคุม

ประกาศสธ.เรื่องช่อดอกเป็นสมุนไพรควบคุม หมายรวมทั้งของกัญชากัญชง ข้อสำคัญ กำหนดต้องขออนุญาต ห้ามขายกลุ่มเปราะบาง ห้ามโฆษณา ห้ามสูบในร้านที่ขาย

     ที่ผ่านมาประกาศให้ “กัญชา”ทั้งต้นเป็นสมุนไพรควบคุม แต่การคุม “ช่อดอก” ส่วนที่เป็นปัญหาที่สุด นับว่าเป็นช่องโหว่ที่ประกาศกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ยังไม่เฉพาะเจาะจง ในการควบคุมไม่ให้นำไปใช้ในทางที่ผิดวัตถุประสงค์ จนล่าสุด ออกประกาศ “เฉพาะช่อดอก”เท่านั้น
        ส่วนของกัญชาที่เป็นปัญหาที่สุด คือ “ช่อดอกกัญชา” เนื่องจากมีปริมาณ THC สูง ซึ่งเป็นสารที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท โดยมีสูงถึง 10-20 % ขณะที่กฎหมายกำหนดสารสกัดจากกัญชาต้องมีไม่เกิน 0.2 % จึงจะไม่ถือเป็นยาเสพติดช่อดอกกัญชาเป็นสมุนไพรควบคุม
    เมื่อร่างพรบ.กัญชากัญชง ยังไม่ผ่านสภาผู้แทนราษฎร จึงมีเพียงประกาศกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ในเรื่องต่างๆเท่านั้นที่ใช้ควบคุมกำกับการใช้กัญชา หลังมีการปลดล็อกจากยาเสพติด ทั้งการผลิตและการจำหน่าย รวมถึง การประกาศให้ “กัญชา”เป็นสมุนไพรควบคุม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : 
อัปเดต สิ่งทำได้-ไม่ได้ เมื่อเฉพาะ"ช่อดอกกัญชา"เป็นสมุนไพรควบคุม

อนุทิน ลงนามประกาศ "ช่อดอกกัญชา" เป็นสมุนไพรควบคุม

กางกฎหมายสธ.คุม “กัญชา” ยังมี “จิ๊กซอว์”ที่ขาดหายไป
จุดอันตราย ! ปลดล็อก "กัญชาไทย” เมื่อ“กฎหมายควบคุม”ออกมาไม่ทัน

  เมื่อวันที่ 11 พ.ย.2565 อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข ลงนามในประกาศกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เรื่อง สมุนไพรควบคุม (กัญชา) พ.ศ.2565 โดยกำหนดให้เฉพาะส่วนของ “ช่อดอก”เท่านั้นเป็นสมุนไพรควบคุม และมีผลบังคับใช้ในวันถัดจากวันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา
นี่จึงเป็นเหมือนการ“ตีกัน”ไว้ เพราะดูท่าแล้วร่างพรบ.กัญชากัญชงเป็นไปได้สูง ที่จะไม่ผ่านสภาฯ เมื่อมีการหยิบมาเข้าวาระประชุมอีกครั้ง ที่คาดว่าจะเป็นหลังการประชุมเอเปก

นพ.ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก อธิบายว่า ประกาศนี้จะหมายรวมถึงช่อดอกของกัญชาและกัญชง แต่หากเป็นในร่างพรบ.กัญชากัญชงจะแยกส่วนกัน โดยใช้ปริมาณTHCในช่อดอก เป็นตัวระบุว่ากัญชาหรือกัญชง  

   ข้อกำหนดตามประกาศ ประกอบด้วย 1.ผู้ที่จะนำช่อดอกกัญชากัญชงไปใช้เพื่อการศึกษาวิจัย ส่งออก จำหน่าย หรือแปรรูป ต้องขออนุญาตก่อน และหากจะนำไปทำเป็นผลิตภัณฑ์ต้องไปขออนุญาตตามกฎหมายผลิตภัณฑ์นั้นด้วย 2.ผู้รับใบอนุญาตต้องปฏิบัติตามเงื่อนไข ดังนี้ คือ ต้องจัดทำและรายงานข้อมูลเกี่ยวกับแหล่งที่มา การนำไปใช้ จำหน่ายให้ใครและจำนวนที่เก็บไว้ ณ สถานประกอบการให้เจ้าหน้าที่ ซึ่งกรมจะจัดทำเป็นฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ทั้งระบบ รวมถึง ต้องแจ้งรายละเอียดการส่งออกต่อผู้อนุญาตเป็นรายครั้ง ตามแบบที่อธิบตีประกาศกำหนด

3.ห้ามจำหน่าย ให้กับผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี สตรีมีครรภ์หรือสตรีให้นมบุตร 4.ห้ามจำหน่าย ให้กับนักเรียนนิสิตหรือนักศึกษา 5. ห้ามจำหน่ายสมุนไพรควบคุมเพื่อการสูบในสถานที่ประกอบการ แปลว่าห้ามขายช่อดอกแล้วจัดให้มีพื้นที่สูบในสถานที่ขาย หากสถานประกอบการที่ได้รับใบอนุญาตไปก่อนหน้าประกาศฉบับล่าสุด จัดให้มีพื้นที่สูบในสถานประกอบการไว้ จะต้องปิดทั้งหมด เว้นแต่การจำหน่ายโดยผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยประยุกต์ หมอพื้นบ้านที่ได้รับการรับรอง ผู้ประกอบโรคศิลปะสาขาการแพทย์แผนจีน และผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรม ที่ใช้ในการรักษาผู้ป่วยของตน หรือผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ ที่ใช้ในการรักษาสัตว์

ห้าม! จัดจุดสูบ "ช่อดอกกัญชา"ในร้านขาย หลังเป็นสมุนไพรควบคุม
6.ห้ามจำหน่ายสมุนไพรควบคุม หรือสินค้าที่แปรรูปจากสมุนไพรควบคุมเพื่อการค้าผ่านเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ (Vending Machine) ผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์หรือเครือข่ายคอมพิวเตอร์ 7.ห้ามจำหน่ายสมุนไพรควบคุม หรือสินค้าที่แปรรูปจากสมุนไพรควบคุมเพื่อการค้าในสถานที่ ดังนี้ วัดหรือสถานที่สำหรับปฏิบัติพิธีกรรมทางศาสนา
หอพักตามกฎหมายว่าด้วยหอพัก สวนสาธารณะ สวนสัตว์ และสวนสนุก และ8.ห้ามโฆษณาสมุนไพรควบคุมในทุกช่องทางเพื่อการค้า

“ประกาศนี้จะควบคุมกำกับได้เฉพาะผู้ที่ต้องขออนุญาตใช้ช่อดอกเท่านั้น แต่จะไม่สามารถไปควบคุมการใช้ในครัวเรือนได้ จึงไม่มีเรื่องของการกำหนดจำนวนการปลูกได้ในครัวเรือนและปริมาณการซื้อแต่ละครั้ง ซึ่งเป็นส่วนที่มีการกำหนดไว้ในร่างพรบ.กัญชากัญชงต้องให้พรบ.มีผลบังคับใช้จึงจะสมบูรณ์ อย่างไรก็ตาม เรื่องการใช้สูบในครัวเรือนจำเป็นต้องให้ความรู้ประชาชนเกี่ยวกับผลกระทบควบคู่ไปด้วย”นพ.ธงชัยกล่าว
ด้านนพ.เทวัญ ธานีรัตน์ รองอธิบดีฯ กล่าวว่า ใบอนุญาตการใช้ประโยชน์และการส่งออกจะมีอายุคราวละ 3 ปี โดยคุณสมบัติผู้ขออนุญาตเป็นได้ทั้งบุคคลและนิติบุคคล โดยที่ผ่านมามีการยื่นขออนุญาตราว 5,000 ราย และกรมมีการออกใบอนุญาตไปแล้ว 3,097 ราย สามารถขอได้ที่กรมและสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด(สสจ.)ทั่วประเทศ ทั้งนี้ ผู้ที่ได้รับอนุญาตจะต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดของประกาศนี้ด้วย

ทั้งนี้ ก่อนที่จะมีประกาศเรื่องนี้ ในส่วนของการใช้ประโยชน์จากช่อดอกจะมีกฎหมายของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) กำหนดไว้ว่า “ห้ามนำมาเป็นส่วนผสมในอาหารที่จำหน่ายในร้าน” ส่วนที่นำมาเป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จจะต้องขออนุญาตตามกฎหมายของผลิตภัณฑ์นั้น เช่น พรบ.อาหาร พรบ.เครื่องสำอาง พรบ.ยา เป็นต้น
และกฎหมายของกรมอนามัย ที่กำหนดให้กลิ่นและควันเป็นเหตุรำคาญ หากพบการสูบในที่สาธารณะสามารถร้องเรียนเจ้าหน้าที่เข้าดำเนินการได้ ขณะที่การนำส่วนอื่นๆของกัญชาไปใช้เป็นส่วนผสมในอาหาร ก็มีกำหนดว่าจะต้องมีการแสดงรายการเมนูที่มีกัญชาเป็นส่วนผสมอย่างชัดเจน มีคำแนะนำในการบริโภคอย่างชัดเจนถึงกลุ่มต้องห้ามรับประทาน เช่น หญิงตั้งครรภ์ ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี ผู้ที่มีโรคประจำตัว ผู้ที่มีประวัติแพ้ อาการไม่พึงประสงค์ และการวางขายใบกัญชาตามท้องถนน จะมีการเอาผิดทางร้านฐานไม่ถูกสุขลักษณะ