จุดอันตราย ! ปลดล็อก "กัญชาไทย” เมื่อ“กฎหมายควบคุม”ออกมาไม่ทัน

จุดอันตราย ! ปลดล็อก "กัญชาไทย” เมื่อ“กฎหมายควบคุม”ออกมาไม่ทัน

น่ากังวลและอาจเกิดปัญหาไม่น้อย กับ“กัญชาไทย” หลัง“ปลดล็อกกัญชา”จากยาเสพติดตั้งแต่ 9 มิ.ย.2565  ขณะที่กฎหมายที่จะนำมาใช้ในการควบคุมการใช้ในทางที่ผิดๆหรือไม่เหมาะสม “ยังไม่ผ่านสภา” และออกมาบังคับใช้ไม่ทัน

       ก่อนหน้านี้มีเสียงทักท้วงจากนักวิชาการขอให้มีการ “ชะลอ”การปลดล็อก ออกไปก่อน จนกว่า “ร่างพ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ...”จะมีผลบังคับใช้ เนื่องจากกังวลเรื่อง “อันตรายจากการใช้กัญชา ที่ไม่เหมาะสม” แต่ท้ายที่สุดก็ยังคงมีการบังคับใช้ตามเดิมในวันที่ 9 มิ.ย.2565 ส่งผลให้ทุกส่วนของกัญชา กัญชง  ไม่เป็นยาเสพติด ยกเว้นสารสกัดที่มีสารTHC เกิน 0.2 %
         ซึ่งค่า THC ไม่เกิน 0.2 % เป็นค่าที่องค์การอนามัยโลกหรือ WHO กำหนดว่า “ไม่เป็นยาเสพติด”

        แต่หากตีความตามกฎหมายไทยเท่าที่มีอยู่ในตอนนี้ หลังการ “ปลดล็อก”เท่ากับว่า “ส่วนอื่นๆของกัญชา แม้มีTHC เกิน 0.2 % แต่ไม่ใช่สารสกัด ก็สามารถใช้ได้ ไม่ผิดกฎหมาย”!!!  

      การจะนำไปใช้ในเชิงธุรกิจ ด้วยการใช้ในผลิตภัณฑ์ต่างๆ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่ต้องขออนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) คือ ยา อาหารสำเร็จรูป เครื่องสำอาง แม้ร่างพ.ร.บ.กัญชา กัญชง ออกมาไม่ทัน แต่ยังมีพ.ร.บ.ของผลิตภัณฑ์แต่ละชนิดกำหนดไว้  รวมถึง การออกประกาศ อย.กำหนดปริมาณกัญชาเป็นส่วนผสมในแต่ละผลิตภัณฑ์  ซึ่งผลิตภัณฑ์เหล่านี้จะต้องขออนุญาตอย.และมีการตรวจสอบก่อนออกสู่ตลาด 

     ทว่า ปัญหาอยู่ที่ “ช่อดอก” ที่จะมีการสุ่มเสี่ยงและอันตรายจากการใช้กัญชา ที่จะนำไปใช้ในทางที่ไม่เหมาะสม  เพราะจะสามารถซื้อ ขายได้โดยไม่ผิดกฎหมาย และแน่นอนว่า หากไม่ได้นำ “ช่อดอก”ไปใช้ในรูปแบบของสารสกัดเพื่อเป็นส่วนผสมในยา อาหาร หรือเครื่องสำอาง  หรือมากกว่ารูปแบบของการกิน ดื่ม ทาในปริมาณที่เหมาะสม ก็ย่อมเป็นการนำไปใช้ในทางที่ไม่เหมาะสม สุ่มเสี่ยงก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย

        ข้อมูลจากเครือข่ายนักวิชาการและภาคประชาชนต้านภัยยาเสพติด ระบุว่า ช่อดอกมีสาร THC  สูงถึง 10-20 % เกินกว่าที่กำหนดไว้ในกฎหมายที่กำหนดค่าไว้ที่ 0.2 % ไปถึง 50-100 เท่า !!   
       หรืออาจจะมีการนำส่วนอื่นของกัญชา มาผสมในอาหาร ก็สุ่มเสี่ยงที่จะมี “สารTHC  เกิน 0.2 %"

ข้อมูลจากศูนย์วิจัยยาเสพติด วิทยาลัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รายงานผลการวิจัยวิเคราะห์ปริมาณสาร THC(Tetrahydrocannabinol) ของกัญชาเกินมาตรฐานในอาหารคาวหวาน อาหารแห้ง และเครื่องดื่มหลายชนิด พบว่า หลายผลิตภัณฑ์ไม่ผ่านเกณฑ์คือมี THC เกินมาตรฐาน ซึ่งถือเป็นยาเสพติด ได้แก่ บางตัวของเครื่องดื่มผสมสมุนไพรและผงชากัญชามี THC  0.214-0.231%  และคุกกี้มี THC 0.498  % 

       ทั้งนี้ ราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย ให้ข้อมูลข้อควรรู้ว่า
1.สาร THC ซึ่งมีมากในช่อดอกมีฤทธิ์เสพติดและทำให้เสียสุขภาพได้ 

2.กัญชาอาจก่อให้เกิดผลเสียร้ายแรงต่อประชาชนหลายกลุ่ม โดยเฉพาะ เด็กและวัยรุ่น  สตรีตั้งครรภ์และให้นมบุตร

3.การใช้ปริมาณทำให้เกิดภาวะ “กัญชาเป็นพิษ”ได้ เช่น อารมณ์ครื้นเครง หูแว่ว ระแวง หัวใจเต้นเร็ว การเคลื่อนไหวไม่ประสาน สูญเสียการตัดสินใจที่ดี เป็นต้น

4.การใช้มากและนานทำให้เกิดการเสพติดได้

และ5.การเสพติดกัญชาในระยะยาว ทำให้เกิดปัญหาสุขภาพร้ายแรงได้ เช่น เชาวน์ปัญญาลดลง และเสี่ยงต่อการป่วยเป็นโรคจิต โรคไบโพลาร์ และโรคหัวใจและหลอดเลือด เป็นต้น 

จุดอันตราย ! ปลดล็อก "กัญชาไทย” เมื่อ“กฎหมายควบคุม”ออกมาไม่ทัน

       ขณะที่กลไกของการนำไปใช้  “ถูกปลด”ให้นำไปใช้ได้แบบไม่ผิดกฎหมาย แต่ฟากฝั่งของ “กลไกการควบคุมไม่ให้นำไปใช้ในทางที่ผิดๆ หรือไม่เหมาะสม” กลับยังไม่มีออกมาดำเนินการ

ทั้งที่ “กระทรวงสาธารณสุข(สธ.)” ย้ำเสมอถึงการ “ปลดล็อกกัญชาเสรีทางการแพทย์” 

      แม้ว่าสธ.จะมีการหยิบเอาข้อกำหนดเรื่อง “เหตุรำคาญ”ตามพรบ.การสาธารณสุข มาใช้ในระหว่างที่ “ร่างพ.ร.บ.กัญชา กัญชง” ยังไม่เป็นกฎหมายออกมาบังคับใช้ โดยกำหนดให้ “กลิ่นควันกัญชากัญชงเป็นเหตุรำคาญ” มีโทษจำคุก 3 เดือน ปรับไม่เกิน 25,000 บาท หรือทั้งจำและปรับ

     แต่ก็ดูจะมีประโยชน์เพียงการควบคุมกรณี "การจัดปาร์ตี้"เพียงเท่านั้นหรือไม่ 
      รวมถึง การนำข้อกฎหนดที่มีอยู่ใน “ร่างพ.ร.บ.กัญชา กัญชง” มาระบุไว้ในข้อยอมรับของการยจดแจ้งปลูกกัญชา กัญชง ว่า ห้ามจำหน่ายให้ 3 กลุ่ม คือ ห้ามจำหน่ายให้ใช้ในสตรีมีครรภ์  สตรีให้นมบุตร และผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี  ซึ่งผู้ฝ่าฝืนจะโดน “แบล็คลิสต์”ไว้  เมื่อพ.ร.บ.กัญชา กัญชง มีผลบังคับอาจจะส่งต่อการปลูกหรือดำเนินการของบุคคลนั้นเกี่ยวกับกัญชาในอนาคต

     แต่ก็ต้องยอมรับว่า “ดูจะเป็นเรื่องที่อ่อนเกินไป” หากจะนำใช้ควบคุมเรื่องใหม่ที่เพิ่งปลดล็อกจากยาเสพติดอย่าง “กัญชา กัญชง” ที่ไม่อาจปฏิเสธว่าคนจำนวนไม่น้อย “อยากลองของใหม่” 

จุดอันตราย ! ปลดล็อก "กัญชาไทย” เมื่อ“กฎหมายควบคุม”ออกมาไม่ทัน

      นี่เป็นเพียง “จุดอันตราย”ที่อาจจะเกิดขึ้นจากการใช้กัญชาอย่างไม่เหมาะสมที่จะเกิดต่อสุขภาพ ซึ่งสวนทางจากเจตนารมย์ของนโยบาย “ปลดล็อกกัญชาเสรีทางการแพทย์” ไม่นับรวม ในส่วนของความมั่นคง ที่จะต้องดำเนินการ เพราะมีส่วนที่เชื่อมโยงกับ อนุสัญญาระหว่างประเทศ
     ปัจจุบันจึงเหมือนว่าการใช้กัญชาแบบถูกหรือผิด จึงอยู่ที่การให้ความรู้แล้วขึ้นอยู่ที่วิจารณญาณของผู้ใช้เอง  ซึ่งไม่ควรเป็นเช่นนี้ 

     เพราะการปลดล็อกกัญชาออกจากยาเสพติด ยังเป็นเรื่องใหม่ และมีข้อกังวลอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะในวันที่ยังไม่มี “กฎหมายควบคุม” เท่ากับแทบจะ “ไร้กลไก”ที่เข้ามาช่วยกลั่นกรองการนำไปใช้ที่ไม่เหมาะสมให้กับประชาชนอีกขั้นหนึ่ง

       แทนที่จะให้ประชาชนใช้การรู้เท่าทันของตัวเองในการกลั่นกรองเพียงอย่างเดียว