กางกฎหมายสธ.คุม “กัญชา” ยังมี “จิ๊กซอว์”ที่ขาดหายไป

กางกฎหมายสธ.คุม “กัญชา” ยังมี “จิ๊กซอว์”ที่ขาดหายไป

เมื่อสภาผู้แทนราษฎรมีมติยังไม่หยิบร่างพรบ.กัญชากัญชงมาพิจารณา จึงไม่มีกฎหมายเฉพาะมาควบคุม ส่งผลให้ฝ่ายไม่สนับสนุน “นโยบายกัญชา” เรียกร้องให้นำกลับไปเป็นยาเสพติด ขณะที่ฝ่ายผลักดัน ระบุว่า ประกาศสธ.ที่มีอยู่นั้น เพียงพอต่อการควบคุม  แล้วเป็นเช่นนั้นจริงหรือไม่?

ตามกฎหมายของประเทศไทยในปัจจุบัน ส่วนของกัญชามีเฉพาะสารสกัดTHC เกิน 0.2 %เท่านั้นที่ยังเป็นยาเสพติด และประกาศต่างๆภายใต้สธ.ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมกัญชา  อาทิ
 

อาหารที่มีกัญชาที่จำหน่ายในร้าน

ประกาศสธ. เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ การควบคุมคุณภาพและการจัดการสุขลักษณะของการจำหน่ายอาหารประเภทปรุงสำเร็จ ในสถานที่จำหน่ายอาหาร (ฉบับที่ 2)พ.ศ.2565 กำหนดให้อาหารปรุงสำเร็จที่นำกัญชาหรือกัญชงมาใช้เป็นส่วนประกอบ ต้องแสดงข้อความหรือป้ายที่ระบุว่าเป็นสถานที่จำหน่ายอาหารที่มีการใช้กัญชา รวมถึง แสดงรายการอาหารที่มีกัญชาทั้งหมด

และแสดงข้อแนะนำความปลอดภัยในการบริโภค เช่น  บุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี สตรีมีครรภ์และสตรีให้นมบุตร ควรงดเว้นรับประทาน ,ถ้ามีอาการผิดปกติควรหยุดรับประทานทันที และถ้ามีอาการรุนแรงให้ปรึกษาหรือพบแพทยืโดยเร็ว ,ผู้ที่แพ้ควรงดรับประทาน และรับประทานแล้วเกิดอาการง่วงซึม ให้หลีกเลี่ยงการขับขี่ยานพาหนะหรือทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรกล เป็นต้น

ผลิตภัณฑ์

ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนของกัญชา ทั้งผลิตภัณฑ์อาหาร สมุนไพร และยา จะต้องขออนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ก่อน และเป็นไปตามข้อบังคับของกฎหมายเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์นั้นๆ และประกาศที่เกี่ยวข้อง เช่น พรบ.ยา พ.ศ.2510 ,พรบ.อาหาร พ.ศ.2522 ส่วนเครื่องสำอางต้องจดแจ้งพรบ.เครื่องสำอาง พ.ศ.2558 เป็นต้น

 

ห้ามสูบ-ห้ามจำหน่าย

ประกาศสธ. เรื่อง สมุนไพรควบคุม(กัญชา) พ.ศ.2565 ห้ามสูบในที่สาธารณะ ห้ามผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี ครอบครอง ใช้ประโยชน์ ดูแล เก็บรักษา ขนย้าย จำหน่ายกัญชา รวมถึง ห้ามใช้ประโยชน์กับสตรีมีครรภ์หรือสตรีให้นมบุตร และห้ามขายให้กับผู้ที่มีอายุต่ำกว่า  20 ปี สตรีมีครรภ์หรือสตรีให้นมบุตร

ประกาศสธ. เรื่อง กำหนดให้การกระทำให้เกิดกลิ่น หรือควันกัญชา กัญชงหรือพืชอื่นใดเป็นเหตุรำคาญ พ.ศ.2565 ตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข 

ทว่าสิ่งที่ฝ่ายไม่สนับสนุนต้องการมากที่สุดในการให้มีกฎหมายควบคุมกัญชา คือ การห้ามใช้แบบนันทนาการ และการป้องกันการเข้าถึงของกลุ่มเด็กเยาวชน

แต่ดูเหมือนกฎหมายที่มีอยู่อาจจะยังไม่เพียงพอ!!!

แม้ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข จะระบุว่า  การจะให้กลับไปเป็นยาเสพติด เป็นการแก้ปัญหาแบบกำปั้นทุบดินเกินไป ขณะที่ปัจจุบันกัญชาไม่ใช่ยาเสพติดแล้ว จะไปควบคุมเข้มแบบเดิมมากนักอาจจะไม่ได้

ทว่า  ปัจจุบัน “กัญชา” จัดเป็น “สมุนไพรควบคุม”  เมื่อพรบ.เฉพาะยังไม่มี  จึงอาจจะใช้ช่องทางนี้ในการออกประกาศเพิ่มเติมมาควบคุม โดยเฉพาะในส่วนของ “การกำหนดจำนวนปริมาณครอบครอง” ซึ่งอาจดึงเนื้อหามาจากร่างพรบ.กัญชากัญชง ฉบับที่สภาฯให้กลับไปทบทวน มาใส่ไว้ คือ  ผู้ใดประสงค์เพาะปลูกกัญชา ใช้ประโยชน์ในครัวเรือน กำหนดที่ไม่เกิน 15 ต้น เป็นต้น

เพราะหากเทียบกับ “กวาวเครือ” ที่ไม่เคยเป็นยาเสพติดมาก่อน แต่เป็นสมุนไพรควบคุมเช่นเดียวกัน มีการกำหนดจำนวนปริมาณครอบครองกราวเครือที่มีแหล่งที่มาตามธรรมชาติที่ต้องแจ้งแก่นายทะเบียนไว้อย่างชัดเจน อาทิ  โรงงานอุตสาหกรรม สถานที่ส่งออกหรือนำเข้า กวาวเครือขาว เกิน 120 กิโลกรัมน้ำหนักแห้ง หรือเกิน 1,200 กิโลกรัมน้ำหนักสด  และเกษตรกรและประชาชนทั่วไป  กวาวเครือขาวเกิน 6 กิโลกรัมน้ำหนักแห้ง หรือเกิน 60 กิโลกรัมน้ำหนักสด เป็นต้น

นอกจากนี้ ประเด็นเรื่อง “การโฆษณา” จำเป็นที่จะต้องนำมาพิจารณาด้วย เนื่องจากจะส่งผลอย่างมากต่อการรับรู้และการเข้าถึงของเด็กเยาวชน  ซึ่งแม้กัญชาไม่ใช่ยาเสพติด แต่ก็มีข้อมูลทางวิชาการระบุว่าส่งผลต่อสมองของเด็ก

หากเทียบกับ “บุหรี่” และ “เครื่องดื่มแอลกอฮอล์” ที่ไม่ได้จัดเป็นยาเสพติดตามกฎหมายยาเสพติด แต่ก็มีสารที่ทำให้เสพติดและเป็นอันตรายต่อร่างกายได้ ยังต้องมีการระบุข้อกำหนด ในการ “ห้ามโฆษณา”!!! เป็นการป้องกันนักสูบและนักดื่มหน้าใหม่ 

ฉะนั้นแล้ว “กัญชา”ที่แม้ไม่ใช่ยาเสพติด แต่ “เคยเป็นยาเสพติด”มาก่อน ยิ่งในระยะเปลี่ยนผ่าน ควรที่จะต้องมีการ “จำกัดจำนวนการเข้าถึง”ก่อนหรือไม่  เพื่อดูผลที่เกิดขึ้น   รวมถึง คุม “การโฆษณา” ในส่วนผลิตภัณฑ์กัญชา ที่แยกต่างหากออกจากคุมโฆษณาผลิตภัณฑ์ยา เครื่องสำอาง อาหาร และสมุนไพร โดยเฉพาะผ่านช่องทางออนไลน์ ที่เด็กเยาวชนเข้าถึง

ส่วนเรื่องการใช้นันทนาการ ที่ปัจจุบัน ครอบคลุม “ห้ามในที่สาธารณะ” แต่ฝ่ายไม่สนับสนุน ต้องการให้ห้ามภายในบ้านด้วยนั้น  ยังไม่มีกฎหมายควบคุม

แต่หากเทียบกับบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ก็ไม่ได้มีการห้ามการใช้ในบ้าน มีแต่หารห้ามสูบและดื่มในบางสถานที่ เช่น สถานศึกษา หรือ สถานที่สาธารณะที่ใช้ประโยชน์ร่วมกัน เป็นต้น

เหนืออื่นใด การออกกฎหมายเฉพาะ มาควบคุมกัญชา ยังจำเป็นอย่างยิ่ง แม้ว่าจะไม่ได้เป็นยาเสพติด เพราะยังมีข้อห่วงกังวลของสังคมในหลายส่วน และสภาฯ ควรพิจารณารีบออกกฎหมายโดยเร็ว ซึ่งการมีเพียงกฎหมายสธ.นั้น จะเพียงพอหรือไม่ที่จะบอกว่า “ไม่ขัดอนุสัญญาระหว่างประเทศเรื่องกัญชา เนื่องจากมีกฎหมายควบคุม”