คนเก่ง กับ การวัดผลงาน | วิฑูรย์ สิมะโชคดี

คนเก่ง กับ การวัดผลงาน | วิฑูรย์ สิมะโชคดี

ทุกวันนี้ เราทุกคน (โดยเฉพาะผู้บริหารระดับสูง) ต่างรู้ดีว่า “คน” คือ “ปัจจัยแห่งความสำเร็จ” ที่สำคัญที่สุดขององค์กร

เพราะไม่ว่าจะเป็นเรื่องของต้นทุนสูง  รายได้ต่ำ ของเสียมาก ผลผลิตไม่ได้ตามเป้า และอื่นๆ อีกมากมายที่มีผลกระทบต่อองค์กร จนกลายเป็น “ปัญหาซ้ำซาก” ในการบริหารจัดการตลอดมา  ซึ่งล้วนแต่มีผลต่อ “กำไรขาดทุน” ของกิจการ

โลกของธุรกิจอุตสาหกรรมที่มีการแข่งขันสูงมากในวันนี้  จึงเป็นโลกของการแย่งชิง “บุคลากรที่มีความรู้ความสามารถโดดเด่น” หรือ “คนเก่ง” (Talent People)

พูดง่ายๆ ว่า  ทุกองค์กรต่างแย่ง “คนเก่ง” กันเพื่อเสริมสร้างความเจริญเติบโตขององค์กร ทั้งที่มีปัจจัยต่างๆ มากมายที่แต่ละองค์กรจะสามารถดึงรั้งและสงวนรักษาไว้ซึ่งคนเก่งที่มีอยู่แล้วให้อยู่กับองค์กรนานๆ

สิ่งที่นิยมทำกันในปัจจุบัน ก็คือ “การซื้อตัว” คนเก่งจากองค์กรอื่นๆ ทั้งๆ ที่เราก็สามารถบ่มเพาะและสร้างคนเก่งจากภายในองค์กรของเราเองก็ได้  แต่เห็นว่าการซื้อตัวเป็นการลงทุนน้อยกว่าและใช้เวลาไม่มาก

เรื่องนี้จึงอยู่ที่ “ผู้บริหารระดับสูง” หรือ CEO ของแต่ละองค์กรโดยแท้

“ผู้บริหารระดับสูง” ถือเป็นทรัพยากรบุคคลที่สำคัญยิ่ง เพราะทุกกิจการจะอยู่รอด เจริญรุ่งเรือง หรือ จะล่มสลายต้องปิดกิจการ ก็ขึ้นอยู่กับความรู้ความสามารถของผู้บริหารในความเป็นผู้นำองค์กร

การกำหนดวิสัยทัศน์ วิธีการบริหารจัดการ การประเมินผลการปฏิบัติงาน รวมตลอดถึงเรื่องของจริยธรรมและคุณธรรม ผู้บริหารจะเป็นผู้กำหนดทิศทาง และตัดสินใจเชิงกลยุทธ์

ไม่ว่าจะเป็นด้านการเงิน การตลาด การผลิต การบุคคล การขยายกิจการ ตลอดจนเรื่องของความรับผิดชอบต่อสังคม และการสร้างความสัมพันธ์กับชุมชน

ว่าไปแล้ว หน้าที่ความรับผิดชอบที่สำคัญของ “ผู้บริหารมืออาชีพ” ก็คือ การจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด (ทั้งที่มีอยู่และที่จะแสวงหาเพิ่มเติม)

ด้วยการบริหารจัดการ เพื่อให้การปฏิบัติการต่างๆสามารถตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าได้ตรงจุดตรงประเด็น ซึ่งหนีไม่พ้น “การบริหารคน” เป็นสำคัญ

การประเมินผลการปฏิบัติงาน หรือ “การวัดผลงาน” (Performance Management) ของบุคลากรในองค์กร จึงมีความสำคัญยิ่งต่อความสำเร็จหรือล้มเหลวของทุกองค์กร

การสงวนรักษาไว้ซึ่ง “คนเก่ง” จึงต้องอาศัย “การวัดผลงาน” ที่ชัดเจน เป็นธรรม และรวดเร็วทันการ เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจในการทำงานและสร้างผลงานได้อย่างต่อเนื่อง

ที่จริงแล้ว คำว่า “Performance” เชื่อกันว่ามีต้นกำเนิดในศตวรรษที่สิบห้า อันหมายถึง การละคร และการมหรสพต่างๆ  ซึ่งเรียกผู้เล่นละครว่า Performer 

แต่ในปัจจุบันคำนี้มีความหมายกว้างขวางมากขึ้นอีก คือไม่เพียงแต่ความหมายทางวัฒนธรรมดังกล่าว ยังครอบคลุมถึงการแสดงคอนเสิร์ต และการแข่งขันกีฬาด้วย

ในการแข่งขันกีฬานั้น นอกจากจะรู้ว่าใครชนะใครแพ้ (ทีมชนะ และทีมแพ้) ในทันทีที่จบเกมส์การแข่งขันแล้ว การวัดผลการแข่งขัน ยังแสดงให้เห็นถึงเป้าหมายที่อยู่เบื้องหลังการแข่งขันกีฬาด้วย เช่น สุขภาพและความแข็งแรงของนักกีฬา กฎกติกามารยาท เป็นต้น

ดังนั้น การแข่งขันกีฬาใดๆ ไม่ว่านักกีฬาจะวิ่งแข่ง ยกน้ำหนัก ว่ายน้ำ ตีเทนนิส เล่นฟุตบอล หรือการแข่งขันใดๆ ก็จะต้องมีการวัดผลงาน  เพื่อหานักกีฬาหรือทีมที่เก่งกว่า ดีกว่า 

คนเก่ง กับ การวัดผลงาน | วิฑูรย์ สิมะโชคดี

โดยวัดด้วยการจับเวลา ระยะทาง ประตูที่ยิงได้ แต้ม คะแนน หรือตัวแสดงผลอื่นๆ ซึ่งแสดงว่าการวัดผลงาน นอกจากจะแสดงให้เห็นถึงเป้าหมายหลัก (แพ้ชนะ) ยังแสดงให้เห็นถึงเป้าหมายที่อยู่เบื้องหลัง (สุขภาพ) ควบคู่กันไปด้วย

การแข่งขันกีฬาสามารถให้ผลลัพธ์เป็นคะแนนตอบสนองกลับมาอย่างชัดเจนได้ทันทีว่า ใครแพ้ใครชนะ ใครเก่งกว่าใครแค่ไหนเพียงใด และอย่างไรบ้าง  รวมตลอดถึงการแสดงให้เห็นว่า  ใครมีร่างกายที่แข็งแรง  ใครเหมาะสมกว่า  ความมีน้ำใจนักกีฬา  และการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมกับคนอื่นๆ

แต่ในการทำงานนั้น  เรามักจะไม่ได้รับรู้ผลลัพธ์ของ “การวัดผลงาน” ที่ตอบกลับมาอย่างรวดเร็ว และตรงเป้าตรงประเด็นว่า เราทำงานได้ดีมากน้อยเพียงใดตามเป้าหมาย และไม่ได้บอกชัดเจนว่า เราเหมาะสมกับงานที่ทำหรือไม่

อย่างไรบ้าง เรามีจุดแข็งจุดอ่อนอย่างไรในงานที่ทำ เราจะต้องปรับปรุงตัวเองในเรื่องใดอย่างไรบ้างจึงจะทำงานได้สำเร็จตามเป้าหมาย เป็นต้น ซึ่งควรรวมอยู่ในวิธีการประเมินหรือวัดผลงานอย่างครอบคลุมทั้งเป้าหมายหลักและเป้าหมายเบื้องหลังเช่นเดียวกับการแข่งขันกีฬาที่กล่าวข้างต้น

ทั้งหมดทั้งปวงนี้  เพียงต้องการเน้นย้ำว่า การวัดผลงานที่ดี จะต้องชัดเจน เป็นธรรม และรวดเร็ว เพื่อสร้างขวัญกำลังใจ ความพึงพอใจ  และสร้างความฮึกเฮิมที่จะทำงานบรรลุเป้าหมายต่อไปได้

(เช่นเดียวกับการรู้ผลของการแข่งขันกีฬาในทันทีที่จบเกมส์) ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับการวัดผลงานของคนเก่ง ที่ต้องการรู้ว่าเขาเก่งแค่ไหน และเขาเหมาะที่จะอยู่กับองกรค์ต่อไปหรือไม่

ทุกวันนี้ เราต่างรู้ดีว่า “คน” มีความสำคัญยิ่งยวดต่อองค์กร  แล้วเราได้ทำการพัฒนาคนตามที่บอกว่าสำคัญ จริงหรือไม่และมากน้อยเพียงใด ครับผม !