5 หลักปฎิบัติใช้ไกล่เกลี่ย-บำบัดฟื้นฟู เด็กและเยาวชนกระทำผิดซ้ำ

5 หลักปฎิบัติใช้ไกล่เกลี่ย-บำบัดฟื้นฟู เด็กและเยาวชนกระทำผิดซ้ำ

มสด.-รร.นรต. ใช้หลักปฏิบัติ 5 ประการ ในกระบวนการไกล่เกลี่ย-แก้ไขบําบัดฟื้นฟู “เด็ก-เยาวชน” กระทำผิดพร้อมผลักดัน แก้ พ.ร.บ.ไกล่เกลี่ยฯ มาตรา 8

เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ห้องบงกชรัตน์ โรงแรมรอยัล ริเวอร์ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ร่วมกับโรงเรียนนายร้อยตำรวจ จัดประชุมถ่ายทอดผลการวิจัย'การจัดทำแผนแก้ไขบําบัดฟื้นฟูเด็กและเยาวชนที่กระทำผิดซ้ำในคดีอาญาด้วยกระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท' ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565

มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการจัดทำแผนแก้ไขบําบัดฟื้นฟู และวิธีการนำกระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทมาใช้ในการจัดทำแผนแก้ไขบําบัดฟื้นฟูเด็กและเยาวชนที่กระทำผิดซ้ำในคดีอาญา โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมทั้งในระบบออนไลน์และออนไซต์กว่า 180 คน จากหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม สถาบันการศึกษา ภาคเอกชน และผู้สนใจทั่วไป

รศ.ดร.ธนภัทร ปัจฉิมม์ คณบดีโรงเรียนกฎหมายและการเมือง มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ในฐานะหัวหน้าโครงการ กล่าวว่า งานวิจัยนี้ได้ผลผลิตที่เป็นนวัตกรรมยุติธรรมเชิงสมานฉันท์คือ 'คู่มือการไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางอาญาของรัฐในการแก้ไขบําบัดฟื้นฟูเด็กและเยาวชนที่กระทำผิดซ้ำ' โดยได้นำสาระสำคัญของ
การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทมาปรับใช้ในการจัดทำแผนการแก้ไขบำบัดฟื้นฟูเด็กและเยาวชนที่กระทำผิดซ้ำในคดีอาญา

5 หลักปฎิบัติใช้ไกล่เกลี่ย-บำบัดฟื้นฟู เด็กและเยาวชนกระทำผิดซ้ำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

'นวัตกรรมการตรวจสารเสพติดในเส้นผม' เครื่องมือป้องกันยาเสพติดในเด็ก

"ผู้ติดยาเสพติด"วางแนวทางบำบัดฟื้นฟู บูรณาการหน่วยงานในระดับจังหวัด

ค่าบำบัดฟื้นฟู “ผู้เสพยา” แพงจนเอื้อมไม่ถึงจริงหรือ?

 

5หลักปฎิบัติแก้ไขบำบัดฟื้นฟูเด็กและเยาวชนกระทำผิดซ้ำ

การจัดทำแผนแก้ไขบําบัดฟื้นฟูนั้น จะต้องยึดหลักในการปฏิบัติที่สำคัญ 5 ประการ คือ

1) หลีกเลี่ยงการลงโทษที่ทำลายคุณลักษณะประจำตัวหรือลดทอนคุณค่าในตัวของผู้กระทำผิด

2) ใช้วิธีการอื่นแทนการลงโทษจําคุกระยะสั้น

3) โทษต้องเหมาะสมกับการกระทำผิดเป็นรายบุคคล

4) เมื่อผู้กระทำผิดได้แก้ไขฟื้นฟูพฤติกรรมดีแล้วให้หยุดการลงโทษ 

5) ให้มีการปรับปรุงการลงโทษระหว่างที่มีการคุมขัง

5 หลักปฎิบัติใช้ไกล่เกลี่ย-บำบัดฟื้นฟู เด็กและเยาวชนกระทำผิดซ้ำ

ทั้งนี้ หลักเกณฑ์ที่สำคัญของการใช้กระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในแผนแก้ไขบําบัดฟื้นฟูฯ คือ การสำนึกผิดของเด็กและเยาวชน ดังนั้น จึงควรเริ่มต้นด้วยการนําเด็กและเยาวชนซึ่งต้องหาว่ากระทำผิดมาเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยเพื่อจัดทำแผนแก้ไขบําบัดฟื้นฟูก่อน จากนั้นจึงคัดกรองเด็กหรือเยาวชนออกเป็นกลุ่ม ๆ เช่น กลุ่มทดลองเสพ กลุ่มผู้ติด กลุ่มผู้จำหน่าย เป็นต้น แล้วเข้าสู่กระบวนการแก้ไขบําบัดฟื้นฟูโดยการมีส่วนร่วมของหน่วยงานในระดับท้องถิ่นและชุมชน

 

ปรับพ.ร.บ.ไกล่เกลี่ยฯ มาตรา 8ใช้ในเด็กและเยาวชน

นายอุกฤษฏ์ ศรพรหม ผู้จัดการโครงการส่งเสริมกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ จาก ITJ กล่าวว่า หัวใจสำคัญของกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ หรือ RJ อันดับแรกคือ ความยืดหยุ่นในการออกแบบกระบวนการ เพื่อให้สอดคล้องกับความเสี่ยงและก็ปัจจัยของการกระทำความผิดทั้งภายในและภายนอก เช่น สภาพแวดล้อมการอบรมเลี้ยงดู เพศ อายุ การกระทำความผิดครั้งแรก เป็นต้น

อันดับต่อมาคือ การมีส่วนร่วม โดยจะเห็นได้ว่าการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในแบบที่ใช้การประชุมกลุ่มครอบครัวหรือชุมชน ต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของบุคคลที่แวดล้อมตัวเด็กและเยาวชนจำนวนมาก ภาครัฐเองที่มีนักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ พนักงานอัยการ หรือแม้กระทั่งครูที่อยู่ในโรงเรียน ก็ถือว่ามีส่วนสำคัญในการที่จะช่วยกำหนดแผนเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ในการบำบัดฟื้นฟูพฤติกรรมของเยาวชนได้

5 หลักปฎิบัติใช้ไกล่เกลี่ย-บำบัดฟื้นฟู เด็กและเยาวชนกระทำผิดซ้ำ

ด้านนางประกายรัตน์ ต้นธีรวงศ์ ประธานมูลนิธิสถาบันศึกษาและพัฒนาการจัดการ
ความขัดแย้งด้วยสันติวิธี (ส.พ.ส.) กล่าวว่า การขับเคลื่อนเรื่อง RJ ในรูปการจัดทำแผนแก้ไขบำบัดฟื้นฟูมีปรากฏอยู่ใน พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 ซึ่งเป็นมาตรการพิเศษแทนการดำเนินคดีอาญาที่กำหนดไว้ในกฎหมาย มีทั้งก่อนฟ้อง ขณะฟ้อง และหลังฟ้อง ตามมาตรา 86 มาตรา 90 และมาตรา 132 โดยคาดหวังว่ากระบวนการนี้จะขับเคลื่อนได้อย่างถูกต้องชัดเจน

อย่างไรก็ตาม แม้ตอนนี้ พ.ร.บ.ไกล่เกลี่ยข้อพิพาท พ.ศ. 2562 มีผลบังคับใช้แล้ว แต่กรณีของเด็กและเยาวชน มีการกำหนดไว้ในมาตรา 8 ว่าไม่ให้บังคับใช้กับกรณีเด็กและเยาวชน ดังนั้น หากต้องการผลักดันให้มีการนำกระบวนการไกล่เกลี่ยมาใช้ในกรณีเด็กและเยาวชน คงต้องเสนอให้มีการปรับแก้ พ.ร.บ.ไกล่เกลี่ยฯ ในมาตรา 8 โดยให้เปิดกว้างให้ใช้ในกรณีที่เด็กและเยาวชนกระทำความผิดและมีอัตราโทษทางอาญาไม่เกิน 5 ปีด้วย

5 หลักปฎิบัติใช้ไกล่เกลี่ย-บำบัดฟื้นฟู เด็กและเยาวชนกระทำผิดซ้ำ