ค่าบำบัดฟื้นฟู “ผู้เสพยา” แพงจนเอื้อมไม่ถึงจริงหรือ?

ค่าบำบัดฟื้นฟู “ผู้เสพยา” แพงจนเอื้อมไม่ถึงจริงหรือ?

หลังมีการเสนอให้ “ผู้เสพคือผู้ป่วย” เพื่อผลักดันผู้เสพยาเสพติดเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษา แต่ยังมีบางกลุ่มมองว่าค่าใช้จ่ายมีราคาสูง ผู้มีรายได้น้อยเอื้อมไม่ถึง

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาอัตราผู้เสพยาเสพติดในประเทศไทยแม้จะเริ่มลดลงแต่ก็ยังถือว่ามีจำนวนผู้ต้องหาคดียาเสพติดค่อนข้างสูง โดยในปี 2563 มีจำนวน 151,345 คดี และปี 2564 มีจำนวน 142,498 คดี ลดลงเพียง 7,847 คดี เท่านั้น และข้อมูลล่าสุด (21 ต.ค. 2565) จากสำนักงานสถิติแห่งชาติร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด กระทวงยุติธรรม ระบุว่า 5 อันดับชนิดสารเสพติดที่มีผู้ต้องหาและคดียาเสพติดสูงสุด ดังนี้

1. เมทแอมเฟตามีน 102,613 คน 99,489 คดี

2. ไอซ์ 22,705 คน 21,040 คดี

3. พืชกระท่อม 8,018 คน 7,629 คดี

4. กัญชาแห้ง 7,070 คน 6,746 คดี

5. เฮโรอีน 1,194 คน 1,112 คดี

ทำให้กระทรวงสาธารณสุขออกนโยบายเร่งด่วน “ผู้เสพคือผู้ป่วย” ให้ทุกภาคส่วนเร่งขับเคลื่อนการแก้ปัญหายาเสพติดด้วยการบำบัดรักษา เปลี่ยนทัศนคติของสังคม สร้างแนวคิดที่ว่า ผู้เสพคือผู้ป่วยที่ควรเข้าถึงการบำบัดได้ 

โดยยืนยันว่า มีความพร้อมในการรองรับการบำบัดรักษา  มีการบูรณาการความร่วมมือทุกภาคส่วน  มีการดูแลช่วยเหลืออย่างรอบด้านและต่อเนื่อง และมีระบบการส่งต่ออย่างไร้รอยต่อ ใช้กลไกบำบัดรักษาแบบสมัครใจเป็นหลักในการบริหารจัดการและแก้ปัญหายาเสพติด 

โดยขยายการบริการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพ “ผู้ติดยาเสพติด” ให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ ในรูปแบบการจัดตั้งคลินิก และ/หรือ หอผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติดในโรงพยาบาลสังกัดกรมสุขภาพจิต กรมการแพทย์ และโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไปทุกแห่ง รวมถึงโรงพยาบาลชุมชนที่มีความพร้อม

แต่ในโลกออนไลน์มีการพูดถึงเรื่องของ “ค่าใช้จ่าย” ในการบำบัดรักษาผู้เสพยาเสพติดว่า หากไม่มีสิทธิประกันสังคมหรือบัตรทอง หรือจำเป็นต้องจ่ายเงินเองเต็มจำนวน ก็ถือว่ามีค่ารักษาที่ค่อนข้างสูงเนื่องจากต้องรักษาต่อเนื่องประมาณ 4-12 สัปดาห์แล้วแต่อาการ และหากเข้ารักษาแบบผู้ป่วยในก็ต้องเสียค่าห้องพักเพิ่มเติมอีก

โดยค่ารักษาในโรงพยาบาลรัฐบาลแห่งหนึ่งมีค่ารักษาแรกรับอยู่ที่ 6,000 บาท แบ่งเป็น

  • ค่าตรวจทางห้องปฏิบัติการพื้นฐาน 
  • ค่าตรวจหาสารเสพติดตามประเภทสารเสพติด
  • ค่าตรวจทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติมกรณีมีโรคร่วม 

หลังจากนั้นผู้ป่วยจะต้องเสียค่ารักษาในสัปดาห์ต่อไป สัปดาห์ละ 5,950 บาท โดยไม่รวมค่ายา นอกจากนี้หากจำเป็นต้องเข้ารักษาตัวเป็นผู้ป่วยใน ก็จะต้องเสียค่าห้องพักอีก 700-2,100 บาท/คืน 

โดยรวมแล้วเฉพาะผู้ป่วยนอกหากใช้เวลารักษาตัวเบื้องต้น 4 สัปดาห์ ก็จะมีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 29,800 บาท (ไม่รวมค่ายา) ซึ่งถือว่าเป็นค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูงหากเทียบกับรายได้ขั้นพื้นฐานของประชากรไทย และคนบางกลุ่มก็เลือกที่จะรักษากับโรงพยาบาลเอกชนเพื่อความสะดวกและลดขั้นตอนต่างๆ แต่ก็ต้องแลกกับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มมากขึ้น

ถ้าหากรัฐบาลมีความตั้งใจจริงและมองว่าปัญหายาเสพติดเป็นเรื่องเร่งด่วนที่จำเป็นต้องรีบแก้ไข ก็อาจจะต้องหาแนวทางลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ที่เข้ารักษาด้วยความสมัครใจด้วยเช่นกัน เพื่อให้ผู้เสพทุกคนสามารถเข้ารับการรักษาบำบัดฟื้นฟูได้อย่างเท่าเทียมและได้กลับออกไปใช้ชีวิตตามปกติในสังคม

------------------------------------------------

อ้างอิงข้อมูล : สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี, โรงพยาบาลมนารมย์ และ กลุ่มคลังข้อมูลสถิติ กองสถิติพยากรณ์ สำนักงานสถิติแห่งชาติ