เช็ค “อาการโควิดโอมิครอน" และระยะฟักเชื้อ “ตรวจ ATK" ตอนไหนแม่นยำสุด

เช็ค “อาการโควิดโอมิครอน" และระยะฟักเชื้อ “ตรวจ ATK" ตอนไหนแม่นยำสุด

อัปเดตล่าสุด อาการโอมิครอน และ ระยะฟักเชื้อ จะเริ่มมีอาการตอนไหน และควร “ตรวจ ATK" เมื่อไร ถึงได้ผลแม่นยำ และมีประสิทธิภาพมากที่สุด

ช่วงต้นเดือน มี.ค. 65 จำนวนผู้ติดเชื้อ "โควิด-19" ในประเทศไทย กลับมาติดเชื้อรายวันหลัก 2 หมื่นราย ยอดตรวจ ATK อีกราว 4 หมื่นรายต่อวัน ทำให้สถานการณ์โควิดในไทยมาอยู่ในจุดที่น่าเป็นห่วงอีกครั้ง สำหรับสายพันธุ์ที่พบมากที่สุดในประเทศ ณ เวลานี้ คือสายพันธุ์ "โอมิครอน"

การตรวจ "ATK" นับเป็นตัวช่วยในการหาเชื้อโควิด-19 เบื้องต้นได้ ทว่า โอกาสที่จะพบเชื้อจากการตรวจแบบ ATK จะแม่นยำ และมีประสิทธิภาพหรือไม่ ขึ้นอยู่กับระยะฟักเชื้อของโอมิครอนด้วย 

ข้อมูลจาก ศูนย์ข้อมูล COVID-19 และ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้ระบุถึงระยะฟักเชื้อโอมิครอนที่ต้องระวัง และช่วงตรวจ ATK ที่แม่นยำโดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้

  •  ผู้มีประวัติเสี่ยง ควรตรวจวันไหน นับจากวันที่มีความเสี่ยงได้รับเชื้อ 

จากข้อมูลของ กรมควบคุมโรค เผยว่า ระยะฟักเชื้อของโควิดสายพันธุ์ "โอมิครอน" จะอยู่ที่ 5-14 วันนับจากวันที่ติดเชื้อจนถึงมีการอาการ

พร้อมระบุว่า หากนับจากวันที่สันนิษฐานว่าได้รับเชื้อมา ส่วนใหญ่ในช่วง 10 วันแรก การตรวจ ATK จะไม่พบเชื้อ 

ส่วนระยะที่ตรวจ ATK แล้วมีโอกาสพบเชื้อมากที่สุดคือ ช่วงวันที่ 11 หลังจากที่สันนิษฐานว่ารับเชื้อ

บทความที่เกี่ยวข้อง : ตรวจ ATK พบติดโควิด หาเตียงไม่ได้ เข้าบริการ "เจอแจกจบ" ทำอย่างไร

หมายความว่า ผู้มีประวัติสัมผัสเชื้อกับผู้ป่วยโควิด-19 ในกรณีที่ทราบวันที่ความเสี่ยงแน่นอน จะต้องเฝ้าติดตามอาการหลังจากนั้นไป 14 วัน และตรวจ ATK ในช่วงวันที่ 11-14 จะได้ผลการตรวจที่ค่อนข้างแม่นยำ 

อย่างไรก็ตาม เมื่อรู้ว่าสัมผัสเสี่ยงสูง แม้ไม่มีอาการ ควรสังเกตตัวเอง เลี่ยงพบปะผู้คน โดยเฉพาะผู้มีความเสี่ยงป่วยหนักเป็นเวลา 14 วัน เพื่อให้ผ่านระยะฟักเชื้อที่อาจแพร่เชื้อได้ 

  •  กลุ่มผู้มีอาการเข้าข่ายสงสัยว่า ติดเชื้อโควิด 

สำหรับผู้ที่มีอาการป่วยใกล้เคียงกับ "อาการโควิด" ตามที่กระทรวงสาธารณสุขระบุไว้ ควรตรวจ ATK ทันทีหลังมีอาการไม่เกิน 7 วัน เนื่องจากเป็นระยะที่ตรวจ ATK และได้ผลแม่นยำที่สุดนั่นเอง

ระยะฟักเชื้อของ โอมิครอน

สำหรับ อาการที่มักพบบ่อยในผู้ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ส่วนใหญ่ "กรมการแพทย์" ได้เปิดเผยอาการต่างๆ ดังนี้ 

  • ไอ 54%
  • เจ็บคอ 37% 
  • ไข้ 29% 
  • ปวดกล้ามเนื้อ 15% 
  • มีน้ำมูก 12%
  • ปวดศีรษะ 10%
  • หายใจลำบาก 5% 
  • ได้กลิ่นลดลง 2%

พร้อมกันนี้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ออกมาเตือนว่า หากมีอาการดังต่อไปนี้ ถือว่า มีความเสี่ยงที่จะติดโควิดสายพันธุ์โอมิครอน

อาการโควิดโอมิครอน คือ แรกเริ่มมีน้ำมูก จาม ปวดหัว ต่อมาอ่อนเพลีย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ เจ็บคอ บางคนมีเหงื่อออกตอนกลางคืน สำหรับผู้ไปพื้นที่เสี่ยง แม้ฉีดวัคซีนครบ ก็ไม่ควรประมาท ให้หมั่นสังเกตอาการตนเอง หากไม่ดีขึ้น ให้รีบพบแพทย์

-------------------------------------------------

อ้างอิง: กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข, กรุงเทพธุรกิจศูนย์ข้อมูล COVID-19