เข้าใจ "โรคประจำถิ่น" หลัง 3 ประเทศ 1 รัฐ ปรับมาตรการอยู่ร่วมโควิด

เข้าใจ "โรคประจำถิ่น" หลัง 3 ประเทศ 1 รัฐ ปรับมาตรการอยู่ร่วมโควิด

แม้ปัจจุบันการระบาดทั่วโลกของ "โอมิครอน" จะทำให้ผู้ป่วยสูงขึ้น แต่ขณะนี้มี 3 ประเทศ และ 1 รัฐ ที่ได้ปรับโควิดเป็น "โรคประจำถิ่น" และไทยอยู่ระหว่างดำเนินการ

หลังจากที่ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือ ศบค. ไทยอยู่ระหว่างเตรียมปรับมาตรการโควิดเป็น "โรคประจำถิ่น" พร้อมเผย 3 ประเทศ และ 1 รัฐ ปรับเป็นโรคประจำถิ่นแล้ว ได้แก่ สเปน อินเดีย รัฐแคลิฟอร์เนียสหรัฐ และจีน และกำลังจะยกเลิกมาตรการโควิดเป็นศูนย์ หันมาใช้ Living with Covid

 

ทั้งนี้ ตัวอย่าง โรคที่เคยเป็นโรคอุบัติใหม่ในอดีต แต่ปัจจุบันถือเป็นโรคประจำถิ่น คือ  โรคไข้เลือดออกเป็นโรคอุบัติใหม่ เมื่อปี 2500 ปัจจุบันกลายเป็นโรคประจำถิ่นตามนิยามทางระบาดวิทยา และเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังตามนิยามของกฎหมาย โรคเอดส์เป็นโรคอุบัติใหม่เมื่อปี 2527 และมีการระบาดทั่วโลก เมื่อเวลาผ่านไป ตอนนี้ก็จัดเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังเช่นกัน 

 

นิยาม "โรคประจำถิ่น" 

 

สำหรับ นิยาม โรคประจำถิ่น นั้น ทางระบาดวิทยาให้นิยามระยะการระบาดของโรคเป็น 3 ระดับ ประกอบด้วย 

 

การระบาดใหญ่ทั่วโลก (Pandemic) การระบาดที่เพิ่มขึ้นมากอย่างรวดเร็ว ทั้งจำนวนและกว้างขวางทางพื้นที่ ทางภูมิศาสตร์ เช่น ข้ามพรมแดนระบาดหลายประเทศข้ามทวีป จนมีผลกระทบอย่างรุนแรงทั้งสาธารณสุขและสังคม

 

โรคประจำถิ่น (Endemic) การที่มีโรคปรากฎหรือระบาดในพื้นที่ แต่อาจจำกัดในเชิงพื้นที่ภูมิศาสตร์หรือการกระจายและการเพิ่มขึ้น ในจำนวนที่สามารถคาดการณ์ได้

 

โรคระบาด (Epidemic) การที่โรคแพร่ไปสู่ผู้อื่นได้อย่างรวดเร็วและกว้างขวางหรือภาวการณ์เกิดโรคผิดปกติ หรือมากกว่าที่เคยเป็นมา

เกณฑ์”โรคประจำถิ่น”

 

สำหรับ 3 หลักการ "โรคประจำถิ่น" ได้แก่ สายพันธุ์คงที่ ไม่มีการกลายพันธุ์ที่รุนแรงกว่าเดิม อัตราป่วยคงที่ และคาดเดาการระบาดได้ ส่วนเกณฑ์ที่จะถือว่าเข้าข่ายโรคประจำถิ่น อาทิ  

1.ผู้ติดเชื้อรายใหม่ไม่เกิน 10,000 รายต่อวัน 

2. อัตราป่วยเสียชีวิตไม่เกิน 1 ต่อ 1,000  คน 

3. มีการสร้างเสริมให้คนมีภูมิต้านทานจากวัคซีน ในกลุ่มเป้าหมายเสี่ยงสูงรับเข็ม 2 ได้ 80 % 

4.ประสิทธิภาพการดูแลรักษาพยาบาล เป็นต้น

 

เมื่อโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น ยังรักษาฟรีหรือไม่

 

ปัจจุบันประชาชนยังสามารถรักษาโรคโควิด-19 ได้ทุกที่ ส่วนในอนาคต ผู้ป่วยโควิด จะรักษาฟรีตามสิทธิของแต่ละคน เช่น ตามสิทธิบัตร 30 บาท หรือสิทธิประกันสังคม เป็นต้น แต่ถ้าใช้บริการนอกเหนือจากสิทธิ หรือ รพ.เอกชน ผู้ป่วยต้องจ่ายเงินเอง เช่น มีสิทธิบัตรทอง แต่รักษาโรงพยาบาลเอกชนต้องจ่ายเงินเอง เป็นต้น

 

อย่างไรก็ตาม หากในอนาคตแม้โควิด-19 จะไม่ได้จัดเป็นโรคผู้ป่วยวิกฤติฉุกเฉินโควิด-19 แล้ว แต่หากมีอาการป่วยเข้าเกณฑ์วิกฤติฉุกเฉิน 6 อาการ ตามที่ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กำหนดไว้เดิมอยู่แล้ว ก็จะสามารถรับบริการที่ใดก็ได้ใกล้บ้านที่สุดตามเดิม ไม่ได้มีการยกเลิกหลักเกณฑ์นี้แต่อย่างใด โดยอาการป่วยเข้าเกณฑ์วิกฤติฉุกเฉิน 6 อาการ ได้แก่

 

1. หมดสติ ไม่รู้สึกตัว ไม่หายใจ
2. หายใจเร็ว หอบเหนื่อยรุนแรงหายใจติดขัดมีเสียงดัง
3. ซึมลง เหงื่อแตก ตัวเย็น
4. เจ็บหน้าอกเฉียบพลัน รุนแรง
5. แขนขาอ่อนแรงครึ่งซีกพูดไม่ชัดแบบปัจจุบันทันด่วนหรือชักต่อเนื่องไม่หยุด
6. อาการอื่นที่มีผลต่อการหายใจ ระบบการไหลเวียนโลหิต และระบบสมองที่เป็นอันตรายต่อชีวิต หากพบอาการที่เข้าข่าย

3 ประเทศ 1 รัฐ ปรับโควิด สู่โรคประจำถิ่น 


เมื่อวันที่ 3 มี.ค.ที่ทำเนียบรัฐบาล พญ.สุมนี วัชรสินธุ์  ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารความเสี่ยง กรมควบคุมโรค เผยว่า จากสถานการณ์แพร่ระบาดโอมิครอนทั่วโลก ที่มีการแพร่ระบาดง่าย แต่อาการไม่รุนแรง เมื่อเทียบกับสายพันธุ์เดลตา ทำให้หลายประเทศมีการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ  แม้จะมีผู้ติดเชื้อสูงก็ตาม โดยปรับไม่มีการล็อกดาวน์อีกต่อไป  ซึ่งมีการจัดการในรูปแบบของการเป็นโรคประจำถิ่น ได้แก่ สเปน อินเดีย รัฐแคลิฟอร์เนีย ของสหรัฐอเมริกา รวมถึง จีน ซึ่งกำลังจะยกเลิกมาตรการโควิดเป็นศูนย์ หันมาใช้มาตรการอยู่กับโรคโควิด (Living with Covid) 


"ส่วนประเทศไทยมีแนวโน้มปรับมาตรการให้โควิด เป็นโรคประจำถิ่น แต่ฝ่ายที่เกี่ยวข้องยังต้องพิจารณาอย่างรอบด้าน คำนึงถึงประชาชนในการเข้าถึงระบบบริการ คู่กับการทำมาหากินแบบวิถีใหม่เพื่อประโยชน์ในการควบคุมโรค และขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปพร้อมๆ กัน ซึ่งต้องติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด" พญ.สุมนี กล่าว