สรุป "อาการโอมิครอน" แม้ป่วยไม่หนักแต่ไม่ควรวางใจ เมื่อยอดโควิดพุ่งนิวไฮ

สรุป "อาการโอมิครอน" แม้ป่วยไม่หนักแต่ไม่ควรวางใจ เมื่อยอดโควิดพุ่งนิวไฮ

รวบตึงให้อีกครั้ง! "อาการโอมิครอน" ที่อาจจะดูเหมือนไม่ป่วย หรือป่วยไม่มาก แต่ก็อย่าเพิ่งนิ่งนอนใจ เพราะเมื่อ "ติดโควิด" อาจส่งผลให้มีอาการ Long COVID แม้หลังจากรักษาหายแล้วก็ตาม

ในวันที่ "ยอดโควิด" ในไทยพุ่งสูงทำนิวไฮอีกครั้ง ล่าสุดวันนี้ (4 มี.ค. 65) พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ รวมยอด ATK พุ่งสูงกว่า 5.4 หมื่นราย โดยส่วนใหญ่ผู้ติดเชื้อมี "อาการโอมิครอน" ไม่รุนแรง หรือมีอาการน้อย แต่ถึงอย่างนั้น ก็ไม่ควรไว้วางใจ เพราะการติดโควิดส่งผลเสียระยะยาวต่อร่างกาย

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ สรุปรวบตึง "อาการโควิด" ที่เกิดจากเชื้อไวรัสสายพันธุ์โอมิครอน หรือ "อาการโอมิครอน" มาให้เช็คอีกครั้งว่าคุณมีอาการเข้าข่ายหรือไม่? 

1. "อาการโอมิครอน" 8 อาการที่พบได้ชัด

จากการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับ "อาการโอมิครอน" ตั้งแต่ช่วงที่เริ่มระบาดใหม่ๆ ในปลายปีที่ผ่านมา "กรมการแพทย์" ได้เปิดเผยถึงลักษณะอาการป่วยของผู้ติดเชื้อโอมิครอนส่วนใหญ่ พบมีอาการดังนี้ 

  • ไอ 54%
  • เจ็บคอ 37% 
  • ไข้ 29% 
  • ปวดกล้ามเนื้อ 15% 
  • มีน้ำมูก 12%
  • ปวดศีรษะ 10%
  • หายใจลำบาก 5% 
  • ได้กลิ่นลดลง 2%

ด้าน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ออกมาเตือนว่า หากมีอาการดังต่อไปนี้ มีความเสี่ยงที่จะติดโควิดโอมิครอน คือ แรกเริ่มมีน้ำมูก จาม ปวดหัว ต่อมาอ่อนเพลีย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ เจ็บคอ  บางคนมีเหงื่อออกตอนกลางคืน สำหรับผู้ไปพื้นที่เสี่ยง แม้ฉีดวัคซีนครบ ก็ไม่ควรประมาท ให้หมั่นสังเกตอาการตนเอง หากไม่ดีขึ้น ให้รีบพบแพทย์

อ่านเพิ่ม : "อาการโอมิครอน" อัปเดต 8 อาการที่พบในไทย หากเข้าข่ายต้องทำอย่างไร

 

2. ติดเชื้อ "โควิดโอมิครอน" อาการรุนแรงแค่ไหน?

หากติดโควิดสายพันธุ์โอมิครอน พบว่าความรุนแรงของโรคจะมีไม่มาก ผู้ป่วยบางคนแทบไม่มีอาการ คือ ไม่มีไข้ มีเพียงเจ็บคอและไอเท่านั้น หรือบางคนอาจมีไข้ต่ำๆ และปวดเมื่อยกล้ามเนื้อร่วมด้วย แต่ทั้งหมดคืออาการไม่หนัก

ที่เป็นแบบนี้ก็เพราะว่า เชื้อไวรัสสายพันธุ์โอมิครอนสามารถแพร่กระจายเชื้อไปในระบบทางเดินหายใจและหลอดลมได้ดีกว่าสายพันธุ์เดลตาถึง 70 เท่า อีกทั้ง หากเชื้อแพร่กระจายถึงขั้นลงปอด ก็จะไม่ทำลายปอดเท่ากับเชื้อสายพันธุ์เดลตา เพราะเชื้อไวรัสโอมิครอนมักอยู่บริเวณทางเดินหายใจส่วนบนเท่านั้น คนป่วยส่วนใหญ่จึงมีอาการเจ็บคอและไอ

แต่อย่างไรก็ตาม มีข้อมูลว่าผู้ป่วยโควิดโอมิครอน แม้จะรักษาหายแล้ว ก็อาจมีอาการ Long COVID ต่อเนื่องไปได้ ทำให้ร่างกายไม่แข็งแรงเหมือนเดิม

อ่านเพิ่ม : เช็ค! 10 ข้อต้องรู้ อาการ “โอมิครอน” รุนแรงแค่ไหน? , อาการโควิด-19 "โอมิครอน" VS "เดลตา" ต่างกันอย่างไร ?

 

3. แม้ "อาการโอมิครอน" ไม่รุนแรง แต่ก็ไม่ควรติดเชื้อ

บางคนมองว่าเมื่อฉีดวัคซีนครบแล้ว แม้จะติดเชื้อโอมิครอนก็ไม่น่าห่วง เพราะป่วยไม่รุนแรง ไม่เสี่ยงต่อการเสียชีวิต เลยอาจเผลอการ์ดตกและไม่ป้องกันตนเอง แต่อย่าลืมว่าหากคุณติดเชื้อ ย่อมส่งผลเสียต่อระบบสาธารณสุขในภาพรวมมากกว่าที่คิด 

โดย พญ.สุมนี วัชรสินธุ์ ผอ.สำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้ให้ข้อมูลเรื่องนี้ไว้ว่า แม้ติดโอมิครอนอาการไม่รุนแรง ก็ไม่ควรปล่อยให้ตนเองติดเชื้อ เพราะจะเกิดผลเสียดังนี้

3.1) เชื้อแพร่ระบาดในวงกว้าง : สายพันธุ์โอมิครอนเป็นเชื้อไวรัสที่แพร่กระจายเร็ว ถ้าผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเร็วในเวลาอันสั้น อาจทำให้ระบบสาธารณสุขรองรับไม่ทัน

3.2) คนไทยอีกมากที่ยังไม่ได้รับวัคซีน : แม้คนไทยส่วนใหญ่จะได้รับวัคซีนโควิด-19 ครบ 2 เข็ม แต่ยังมีอีกหลายล้านคน ที่ไม่ได้รับวัคซีนแม้แต่เข็มที่ 1 ซึ่งหากคุณติดเชื้อและเป็นพาหะนำไปแพร่ต่อ กลุ่มคนที่ยังไม่ได้วัคซีนก็จะเสี่ยงติดเชื้อ อาการหนัก และอาจเสียชีวิตได้

3.3) ผู้ป่วยอาจมีอาการ Long Covid : โอมิครอนเป็นสายพันธุ์กลายพันธุ์ใหม่ แม้อาการไม่รุนแรง ไม่เสียชีวิต แต่อาจทำให้ผู้ป่วยมีภาวะ Long Covid เช่น ระบบหายใจ หรือระบบอื่นๆ ในร่างกายแย่ลง สุขภาพในระยะยาวอาจไม่แข็งแรง

3.4) หากคนติดเชื้อเยอะ เชื้อจะยิ่งกลายพันธุ์ : การปล่อยให้มีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก จะยิ่งเป็นการส่งเสริมเชื้อให้กลายพันธุ์มากขึ้น และยิ่งอันตรายได้มากขึ้นอีก

อ่านเพิ่ม : "อาการโอมิครอน" ไม่หนัก ไม่ตาย แต่ไม่ใช่ทุกคนอาการโอมิครอนไม่รุนแรง แต่ไม่ควรปล่อยติดเชื้อ

 

4. ติดโควิดโอมิครอน อาการแบบไหนต้องรีบพบแพทย์?

สำหรับผู้ที่มีอาการเข้าข่าย และตรวจยืนยันแล้วพบว่า "ติดโควิด" จริง แม้อาการน้อย หรือป่วยไม่มาก ก็ต้องเข้าระบบการดูแลแบบ Home Isolation หรือ Community  Isolation เพื่อรักษาตามมาตรการ แต่ถ้าอาการรุนแรงขึ้น ต้องรีบแจ้งแพทย์ในระบบที่ดูแล โดยลักษณะอาการที่รุนแรงขึ้น ได้แก่

  • เมื่อมีไข้สูง จนรู้สึกว่าไม่ไหวแล้ว ให้ติดต่อโรงพยาบาล
  • เมื่อมีอาการหายใจเร็วขึ้น เกิน 25 ครั้ง/นาที (โดยปกติผู้ใหญ่จะหายใจประมาณ 16-20 ครั้ง/นาที)
  • มีอาการหอบเหนื่อย เริ่มหายใจแรง เริ่มใช้กล้ามเนื้อช่วยหายใจ หายใจแล้วตัวโยกๆ
  • มีอาการท้องร่วง ท้องเสียหลายครั้งต่อวัน จะสูญเสียน้ำและเกลือแร่
  • ถ้ามีเครื่องวัดออกซิเจนติดปลายนิ้ว ให้นำมาตรวจวัด หากพบค่าออกซิเจนในเลือดลดลงน้อยกว่า 94% ให้ติดต่อแพทย์ผู้ดูแลในระบบทันที 

อ่านต่อ : ติดเชื้อ "โอมิครอน" หมอวีแนะนำวิธีรักษาตัวที่บ้าน