กรมการแพทย์แผนไทยฯ ย้ำ ร้านขาย 'กัญชา' ต้องส่งรายงานทุกเดือน

กรมการแพทย์แผนไทยฯ ย้ำ ร้านขาย 'กัญชา' ต้องส่งรายงานทุกเดือน

กรมการแพทย์แผนไทยฯ เน้นย้ำ ผู้ประกอบการ "กัญชา" ทั่วประเทศ ต้องส่งแบบรายงานข้อมูลกัญชาทุกเดือน ถ้าไม่ปฏิบัติจะถูกพักใช้ หรือ เพิกถอนใบอนุญาต หลังพบทั่วประเทศ 12,000 ราย ส่งแค่ 100 ราย

เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2566 นายแพทย์ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า ที่ผ่านมา กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ได้ดำเนินการจัดทำแบบรายงานข้อมูลแหล่งที่มา "กัญชา" การนำไปใช้ และ จำนวน ที่เก็บไว้จำหน่าย ณ สถานประกอบการ ผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ สแกนคิวอาร์โค้ด แบบรายงานฯ บันทึกข้อมูล พร้อมนำส่งต่อผู้อนุญาตในท้องที่แต่ละจังหวัด และสำหรับส่วนกลางเขตพื้นที่ กทม.ส่งผ่านทาง E-mail : [email protected] มาที่กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก

ปัจจุบันมีสถานประกอบการจำหน่ายสมุนไพรควบคุม (กัญชา) ยื่นขออนุญาตเพื่อจำหน่ายหรือแปรรูป ส่งออก ศึกษาวิจัย ทั้งเขตกรุงเทพมหานคร และอีก 76 จังหวัด ทั่วประเทศ กว่า 12,000 แห่ง โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพมหานคร ได้ยื่นคำขอ จำนวนกว่า 2,000 แห่ง หลังจากที่เริ่มดำเนินการได้ 3 เดือนที่ผ่านมา และให้ทางร้านแต่ละแห่งได้เตรียมตัว พบว่ามีการส่งรายงาน เพียง 100 กว่าแห่งเท่านั้น จึงต้องมีการเข้มงวดในการบังคับใช้กฏหมาย

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

ดังนั้น เพื่อเป็นการตรวจสอบการใช้ช่อดอกกัญชาในเชิงพาณิชย์ ทางกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก จึงขอความร่วมมือผู้ประกอบการจำหน่ายสมุนไพรควบคุม  ทั่วประเทศ จัดทำแบบรายงานข้อมูลแหล่งที่มากัญชา การนำไปจำหน่าย และจำนวนที่เก็บไว้จำหน่าย ณ สถานประกอบการ (ตามแบบ ภท.27- ภท.32) ตามช่องทางดังกล่าวทุกสิ้นเดือน ถ้าสถานประกอบการจำหน่ายสมุนไพรควบคุม  ใดไม่ให้ความร่วมมือ ทางกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ร่วมกับตำรวจ และหน่วยงานทางปกครอง เพื่อบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด

หากสถานประกอบการจำหน่ายสมุนไพรควบคุม (กัญชา) ใดไม่ส่งรายงานข้อมูลตามแบบที่กำหนดจะถูกพักใช้ หรือ ถูกเพิกถอนใบอนุญาตจำหน่ายกัญชา หากถูกพักใช้ใบอนุญาตแล้ว ผู้ประกอบการยังไปจำหน่ายต่อ จะผิดกฎหมายอาญา โทษจำคุก และปรับ พร้อมถูกเพิกถอนใบอนุญาต แต่ถ้าต้องการขอใบอนุญาตใหม่ ต้องเกินระยะเวลาที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาตไปแล้ว 2 ปี จึงสามารถขอใบอนุญาตประกอบการได้ใหม่

 

นายแพทย์ธงชัย กล่าวต่อไปว่า กัญชา เหมือนสุรา และบุหรี่ ที่ต้องมีกฎหมายมาควบคุมโดยเฉพาะ จุดประสงค์หลักของกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก คือ เพื่อใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์ ขอเน้นย้ำถึงผู้ประกอบการจำหน่ายสมุนไพรควบคุม (กัญชา) และ ผู้ปกครองที่มีบุตรหลานในความดูแลของท่าน ตามประกาศ “สมุนไพรควบคุม (กัญชา) พ.ศ.2565” ข้อ 3 (3),(4) กำหนดชัดในเรื่อง ห้าม จำหน่ายแก่เด็ก และ เยาวชน ที่อายุต่ำกว่า 20 ปี รวมถึงนักเรียน นิสิต นักศึกษา

ซึ่งการจำหน่ายหมายความรวมถึงการขาย จ่าย แจก หรือแลกเปลี่ยน การกำกับดูแลในประเด็นนี้เป็นไปได้ว่า เด็ก และ เยาวชนนำกัญชามาใช้ในทางที่ไม่เหมาะสม อยู่ 2 กรณี คือ

กรณีที่ 1 คือ ได้รับการจำหน่าย จ่าย แจก ตามข้อนี้ กฎหมายสามารถเอาผิดกับผู้ที่จำหน่าย จ่าย แจกกัญชาให้เยาวชนได้ตามมาตรา 78 ซึ่งต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือ ปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือ ทั้งจำ ทั้งปรับ ถ้าเป็นสถานประกอบการจำหน่ายสมุนไพรควบคุม (กัญชา) จำหน่ายให้เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี ก็จะถูกเพิกถอนใบอนุญาต และห้ามจำหน่ายสมุนไพรควบคุม (กัญชา) อีกด้วย

กรณีที่ 2 คือ เด็ก และเยาวชน ปลูกกัญชาเพื่อไว้ใช้เอง กรณีนี้ ผู้ปกครองที่ดูแลบุตรหลาน ต้องมีการควบคุมดูแล เช่นเดียวกับการห้ามสูบบุหรี่ หรือ ดื่มสุรา ผู้ปกครอง หรือผู้ใกล้ชิด จึงมีบทบาทที่ต้องเข้ามาเฝ้าระวัง และให้แนวทางที่ถูกต้องแก่เด็ก และ เยาวชน เพื่อป้องกันการใช้ในทางที่ผิด

นายแพทย์ธงชัย กล่าวในตอนท้ายว่า ส่วนกรณีที่มีร้านขายช่อดอกกัญชาที่อยู่ใกล้บริเวณโรงเรียนนั้น ตามประกาศฉบับนี้ มีข้อห้ามการจำหน่ายให้เด็ก เยาวชน นักเรียน นิสิต นักศึกษา อยู่แล้ว แต่ก็เข้าใจในข้อห่วงกังวลของสังคม เนื่องจากการจะออกกฎหมายเพื่อห้ามจำหน่ายที่ใกล้กับโรงเรียนนั้น ต้องออกเป็นกฎหมายระดับพระราชบัญญัติที่เคยอยู่ในการพิจารณาในสภาที่ผ่านมา เนื่องจากในรัฐธรรมนูญมาตรา 40 กำหนดไว้ว่าบุคคลย่อมมีเสรีภาพในการประกอบอาชีพ หากจะจำกัดเสรีภาพต้องออกเป็นกฎหมายมาบังคับ

ส่วนกรณีสุราที่มีการห้ามขายใกล้โรงเรียนนั้น ใช้ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ที่มีระดับเทียบเท่าพระราชบัญญัติไปบังคับใช้ อย่างไรก็ตามในร้านจำหน่ายที่อยู่ใกล้โรงเรียนจะถูกตรวจสอบและเข้มงวดในการส่งรายงานและจะถูกพักใช้ใบอนุญาตและดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด และขอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ เทศกิจของกรุงเทพมหานคร ช่วยในการสอดส่องดูแล หากพบการกระทำผิดหรือที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งมาที่กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เพื่อช่วยกันในการกำกับดูแลอย่างเข้มงวด ต่อไป