'ฮีทสโตรก'ไม่เสียชีวิตทันที เว้นมีปัจจัยร่วม - 6 กลุ่มเสี่ยงต้องระวัง

'ฮีทสโตรก'ไม่เสียชีวิตทันที เว้นมีปัจจัยร่วม - 6 กลุ่มเสี่ยงต้องระวัง

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเผยความต่างฮีทสโตรก-เป็นลมธรรมดา ย้ำโรคฮีทสโตรก ไม่ทำให้เสียชีวิตทันทียกเว้นมีปัจจัยร่วม  6 คนกลุ่มเสี่ยงมาก แนะเลี่ยงทำกิจกรรมกลางแจ้ง ดื่มน้ำมากกว่าปกติ ข้อมูลสธ.พบเสียชีวิตปีละ 100 กว่าราย

เมื่อวันที่ 31 มี.ค.2566 ที่สถาบันประสาทวิทยา นพ.ธนบูรณ์ วรกิจธำรงค์ชัย นายแพทย์ชำนาญพิเศษ อายุกรรมสมองสถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์  กล่าวถึงภาวะฮีทสโตรกับการเป็นลมทั่วไปว่า ฮีทสโตรก หรือโรคลมแดด เกิดจากการที่อยู่ที่ร้อนมากๆหรือทำกิจกรรมกลางแดดเป็นเวลานานๆ คนที่มีอาการจะมีอุณหภูมิร่างกายที่ค่อนข้างสูง

หลังจากนั้นจะมีอาการทางระบบประสาทผิดปกติ เช่น สับสน หรือพฤติกรรมเปลี่ยนแปลง ก้าวร้าวเกิดขึ้นได้โดยไม่เคยเป็นมาก่อน เกิดการชักได้ และหมดสติจนต้องนำคนไข้ส่งรพ. หลักๆคือ จะต้องมีอุณหภูมิร่างกายที่ค่อนข้างสูง แต่ถ้าเป็นลมธรรมดา อาจจะแยกยาก บางครั้งอาจจะอยู่กลางแดดแล้วเป็นลมก็ได้ หรืออยู่ในร่มแล้วเป็นลมก็ได้

“อย่างน้อยหากทราบว่า คนไข้ไม่มีอุณหภูมิร่างกายที่สูงมากๆ ถือเป็นโรคลมธรรมดา และดูว่ามีปัจจัยอะไรหรือไม่ เช่น ดื่มน้ำน้อย อดอาหารหรือมีร่างกายที่ไม่แข็งแรงอยู่แล้ว ก็จะมีอาการเรื่องของเป็นลม ส่วนใหญ่จะไม่มีไข้ อุณหภูมิร่างกายไม่สูง แต่ถ้าเป็นฮีทสโตรก อุณหภูมิร่างกายจะ 40 -40.5 องศาเซลเซียส ก็จะเป็นจุดที่แยกได้”นพ.ธนบูรณ์กล่าว

      นพ.ธนบูรณ์ กล่าวอีกว่า  ถ้าพบผู้ป่วยที่สงสัยเป็นฮีทสโตรก จะต้องดูก่อนว่าตอนนั้นมีอุณหภูมิร่างกายมากหรือไม่ เช่น 40  องศา แต่หากไม่มีปรอทวัดไข้ อาจจะใช้วิธีจับร่างกายผู้ป่วยแล้วตัวร้อน และหมดสติแล้ว อาจจะต้องช่วยเรื่องของการระบายความร้อนของร่างกาย อาจจะปลดเสื้อผ้าที่หนา อาจจะใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดร่างกาย ซับไว้ซอกคอ รักแร้ หรือขาหนีบ พยายามระบายความร้อนให้เร็วที่สุด หากมีพัดลมก็จะดีมาก ไม่ให้คนมุก ให้มีลมระบายอากาศได้ดี และติดต่อเรื่องการนำส่งรพ. อย่างไรก็ตาม การอยู่นอกรพ.แล้วปฐมพยาบาลนานๆ อาจจะไม่ได้ประโยชน์มากเท่ากับปฐมพยาบาลไปด้วยและนำส่งรพ.

   กลุ่มเสี่ยงในโรคนี้ เกี่ยวข้องกับการมีกิจกรรมกลางแดดและอยู่ในที่มีอุณหภูมิสูงมากๆ และร่างกายปรับเรื่องการระบายความร้อนได้ไม่ดี ซึ่งกลุ่มเสี่ยงที่จะทำให้เกิดโรคฮีทสโตรกได้มาก คือ

1.ผู้สูงอายุ เป็นกลุ่มที่มีโรคประจำตัว

2.กลุ่มเด็ก ที่มีความทนทานต่ออากาศร้อนได้ไม่ดี

3.กลุ่มคนที่มีโรคประจำตัว เช่น ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ  โรคระบบประสาท หลอดเลือดสมอง อัมพฤกอัมพาต

4.กลุ่มที่มีน้ำหนักตัวมาก อ้วนมากๆ เป็นกลุ่มที่ระบายความร้อนได้ไม่ดี

5.กลุ่มคนที่ดื่มสุรา  เพราะเวลาดื่มสุรา หลอดเลือดขยายและเกิดความร้อนในร่างกาย ร่วมกับการทำงานหัวใจผิดปกติ มีการสูบฉีดมาก จะทำให้เกิดฮีทสโตรกได้ง่าย มีความเสี่ยงเกิดโรคและเสียชีวิตได้

และ 6.คนที่มีกิจกรรมกลางแจ้งเป็นเวลานาน

      “การเสียชีวิตจากภาวะฮีทสโตรกเพียงอย่างเดียว เกิดขึ้นน้อย  ส่วนใหญ่จะเป็นการเสียชีวิตที่มีปัจจัยร่วมกับโรคอื่นๆ เช่น โรคหัวใจหรือภาวะความดันโลหิตสูง ซึ่งอาการของฮีทสโตรก จะไม่ได้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วแต่จะค่อยเป็นค่อยไปใช้ระยะเวลาหนึ่ง ร่างกายเริ่มมีอุณหภูมิสูงขึ้น จนส่งผลให้ระบบการทำงานของระบบประสาท เกิดความผิดปกติ เมื่อร่างกายสูญเสียน้ำมากเกิดภาวะตับวายไตวาย กล้ามเนื้อแตก โลหิตเป็นพิษส่วนใหญ่กลุ่มคนเหล่านี้มักพบคนที่มีกิจกรรมกลางแจ้งเป็นเวลานานและสูญเสียน้ำมาก”นพ.ธนบูรณ์กล่าว  

       สำหรับการป้องกัน ทุกครั้งที่ออกไปเผชิญกับแสงแดดควรต้องดื่มน้ำให้มากโดยเฉพาะผู้สูงอายุและเด็กเล็ก ที่สำคัญ หลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแดด โดยเฉพาะในเวลาที่ร้อนจัดตั้งแต่ 10.00-15.00 น. ถ้าจำเป็นต้องออกกลางแดดจะต้องดื่มน้ำสะอาดในปริมาณมากกว่าปกติ ควรสวมเสื้อผ้าที่มีการถ่ายเทอากาศได้ดีเพื่อระบายความร้อนในร่างกาย ใส่หมวก หรือกางร่ม เพื่อป้องกันแสงแดดและใช้ระยะเวลาการทำกิจกรรมการแจ้งให้น้อยที่สุด หากต้องใช้แรงหรือออกกำลังกายกลางแจ้งงดการสวมใส่หน้ากากอนามัย เพราะจะทำให้การหายใจไม่คล่องตัว
     ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรค โดยข้อมูลจากระบบคลังข้อมูลด้านการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข พบว่า ระหว่างปี  2560-2564 มีผู้ป่วยฮีทสโตรก  จำนวน 114,88 ,126,129,94 รายตามลำดับ