"The Glory" ภาพสะท้อนเหยื่อการบูลลี่ในโรงเรียน ความสนุกที่แสนเศร้า

"The Glory" ภาพสะท้อนเหยื่อการบูลลี่ในโรงเรียน ความสนุกที่แสนเศร้า

เป็นกระแสสุดๆ สำหรับ "The Glory (2023)" ซีรีส์แนวแก้แค้น  ที่นำแสดงโดย ซงฮเยคโย ในบทบาทที่ไม่เคยเห็นมาก่อน บอกเล่าเรื่องราวความรุนแรง การบูลลี่ในโรงเรียน ความสนุกของนักเรียนกลุ่มหนึ่งที่ได้กระทำต่อนักเรียนคนหนึ่งอย่างโหดร้าย ถือเป็นโศกนาฎกรรมเปื้อนรอยแค้น

"The Glory" เป็นซีรีส์ที่เริ่มต้นมาจากเด็กนักเรียนมัธยมที่ใฝ่ฝันอยากจะมีหน้าที่การงานที่มั่นคง แต่เธอกลับต้องลาออกจากโรงเรียนอย่างกะทันหัน เนื่องจากถูกเพื่อนร่วมชั้นกลั่นแกล้ง

จนกระทั่งหลายปีต่อมา เธอเติบโตเป็นคุณครูประจำชั้นเรียนลูกของผู้ที่สมรู้ร่วมคิดในการกลั่นแกล้งเธอเมื่อสมัยเรียนมัธยม ทำให้เธอคิดวางแผนและมีจุดมุ่งหมายจะแก้แค้นพวกคนที่ทำให้อนาคตอันสดใสของเธอต้องพังทลายเพราะการบูลลี่

โดยในขณะนี้ซีรีส์ ดังกล่าว ได้นำเสนอในพาร์ทแรก ซึ่งมีทั้งหมด 8 ตอน ทาง Netflix และจะต่อด้วย พาร์ทที่ 2 อีก 8 ตอน ในเดือนมีนาคม 2566

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

 

บูลลี่ในโรงเรียนสู่ซีรีส์สะท้อนความรุนแรงเด็ก

จากเรื่องราวเหตุการณ์จริง ที่ได้เกิดขึ้นในปี 2006 ณ โรงเรียนมัธยมหญิงล้วนในเมืองชอนจู เด็กหญิงคิม วัย 15 ปี หัวโจกที่ทำร้ายเด็กหญิงจอง เป็นประจำนานกว่า 1 เดือนด้วยความรุนแรงหลากหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นการใช้ที่หนีบผมนาบไปที่แขนของจอง ใช้กิ๊บติดผมกรีดไปที่หน้าอก ขู่กรรโชกเพื่อไถ่เงิน ใช้ไม้เบสบอล เท้า และกำปั้นในการทำร้ายร่างกาย

แต่เมื่อเรื่องราวทั้งหมดถึงตำรวจ คิมก็ยังไม่วายข่มขู่จอง ให้ใส่ร้ายเพื่อนร่วมชั้น 3 คน ว่าเป็นคนกระทำผิดอีกด้วย โดยสาเหตุที่คิมอ้างเพื่อเอาไว้ทำร้ายร่างกายของจอง คือจองมาสายเวลาที่คิมเรียกหา และไม่รักษาสัญญาที่จะให้เงินกับคิม แต่หลังจากนั้นไม่นานนรกของจอง ก็ได้สิ้นสุดลงเมื่อคิมโดนจับกุมในข้อหาใช้ความรุนแรงจนเป็นนิสัย 

ขณะที่ในเนื้อเรื่องของซีรีส์ The Glory จะเป็นการบอกเล่าเรื่องราวของ มุนดงอึน (รับบทโดย ซงฮเยคโย) นักเรียนสาวมัธยมปลายวัย 18 ปี ที่เคยตกเป็นหนึ่งในเหยื่อการใช้ความรุนแรงในโรงเรียน และมักถูกทำร้ายทั้งร่างกายและจิตใจอย่างเจ็บปวดอยู่บ่อยครั้ง จนเธอต้องลาออกจากโรงเรียนแห่งนั้น

แม้เวลาจะผ่านไปแต่ความเจ็บปวดที่เธอได้รับในความทรงจำอันเลวร้ายเหล่านั้นยังคงฝังลึก จนกระทั่งถึงวันที่เธอสมัครไปเป็นครูประจำชั้นลูก ๆ ของคนที่เคยรังแกเธอไว้ในวัยเด็ก เรื่องราวความแค้นที่รอวันชำระคืนอย่างสาสมจึงเริ่มต้นขึ้น


ไทยติดอันดับ 2 การบูลลี่ 

ภาพสะท้อนจากความรุนแรง การบูลลี่ในโรงเรียน คงไม่ใช่เรื่องล้อเล่นอีกต่อไป เพราะนั่นไม่ใช่เพียงความสนุกของคนกลุ่มหนึ่ง หรือการแกล้งกันแบบขำๆ แต่ได้ส่งผลต่อการใช้ชีวิต ความฝันของคนๆ หนึ่ง

แม้ปัจจุบันทุกคนได้ยินคำว่า “บูลลี่ (Bully)”  เพราะทุกวันนี้ผู้คนสื่อสารกันผ่านโลกไซเบอร์กันมาก จนคิดว่าเป็นแค่การบูลลี่ในโลกไซเบอร์ แต่ในความจริงแล้ว การ บูลลี่ก็เกิดขึ้นได้ทุกที่ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นในสถานศึกษา หรือที่ทำงาน และเกิดขึ้นมานานแล้ว

ทว่า ข้อมูลจากกรมสุขภาพจิต (อัปเดตล่าสุด) ระบุว่า ประเทศไทยติดอันดับการบูลลี่เป็นอันดับที่ 2 ในโลกในปี พ.ศ. 2563 รองจากประเทศญี่ปุ่น จากข้อมูลการบูลลี่ด้วยการใช้ตัวอักษรผ่านโซเชียลมีเดีย

โดยคำที่คนไทยส่วนมากใช้บูลลี่กันมากที่สุดมักเป็นเรื่องของ รูปลักษณ์ เพศ และความคิดหรือทัศนคติ เช่น ไม่สวย, ไม่หล่อ, ขี้เหร่, หน้าปลอม, ผอม, เตี้ย, ดำ, ขาใหญ่, จอแบน, ตุ๊ด, สายเหลือง, ขุดทอง, กะเทย, กะหรี่, แมงดา, ชะนี, แรด, โง่, สลิ่ม, ควายแดง, ตลาดล่าง และปัญญาอ่อน เป็นต้น

ส่วนใหญ่การบูลลี่จะเกิดขึ้นในนักเรียนชั้นมัธยมมากที่สุด ซึ่งพบได้ตั้งแต่ระดับชั้นมัธยมปีที่ 1 – 6 เรียกได้ว่าเป็นช่วงวัยที่กำลังเริ่มเข้าสู่วัยรุ่นไปจนถึงวัยรุ่นเลยทีเดียว ซึ่งเป็นการกระทำที่ทำไปทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว ส่วนใหญ่แล้วมักจะเป็นการบูลลี่จากเพื่อน

 

แบบไหน? เข้าข่ายบูลลี่ ที่ไม่ควรทำ

บูลลี่ คือ พฤติกรรมรุนแรง กลั่นแกล้ง รังแกผู้อื่นทั้งทางวาจาและร่างกาย หากเกิดในชีวิตจริงมักเป็นการล้อเลียนรูปร่างหน้าตา สถานะทางสังคม รวมถึงการทำร้ายร่างกาย

ส่วนโลกออนไลน์ส่วนใหญ่เกิดจากการประจานกันทางโซเชียลมีเดีย ซึ่งหลายครั้งการบูลลี่สร้างผลกระทบทางด้านความรู้สึกมากมายจนอาจเกิดเป็นแผลทางใจฝังลึกจนยากเยียวยา หรืออาจลุกลามไปจนเกิดการปะทะและสร้างบาดแผลทางกายได้

พฤติกรรมข่มขู่กับการบูลลี่ อาจแยกกันไม่ได้เด็ดขาด ด้วยส่วนใหญ่มักเกิดจากการกระทำของผู้ที่คิดว่าตนมีอำนาจมากกว่ารังแกผู้ที่ด้อยกว่าหรือคนตัวใหญ่ชอบรังแกคนตัวเล็ก พฤติกรรมเหล่านั้นอาจเกิดซ้ำ ๆ  ซึ่งหากต้องเผชิญการทำร้ายครั้งแรก ผู้ถูกกระทำอาจให้อภัยได้ แต่ถ้าเกิดขึ้นบ่อยๆ ซ้ำๆ อาจกลายเป็นความเครียดหรือความแค้นในที่สุด นอกจากนี้ผู้กระทำส่วนใหญ่มีเป้าหมายชัดเจนว่าต้องการให้ผู้อื่นอับอาย เจ็บตัว เสื่อมเสีย หรือด้อยค่าลง

- สามารถจำแนกการบูลลี่ได้ ดังนี้

1.บูลลี่ทางร่างกาย เป็นการทำร้ายร่างกายอีกฝ่ายให้เกิดการบาดเจ็บ มีบาดแผล ซึ่งสามารถมองเห็นได้จากภายนอก บางกรณีอาจส่งผลต่อจิตใจอีกด้วย

2.บูลลี่ทางวาจา แม้ไม่มีบาดแผลทางกายให้เห็น แต่การพูดส่อเสียด ล้อเลียน ใส่ร้าย การประจานด้วยคำพูดให้ผู้อื่นได้ยิน นอกจากจะสร้างความอับอาย วิตกกังวล อาจสร้างความเครียด เก็บกด ส่งผลถึงขั้นเป็นโรคซึมเศร้า หรือหวาดกลัวสังคม ถือเป็นบาดแผลทางใจที่เจ็บปวดไม่น้อย

3.บูลลี่ทางสังคม เป็นการสร้างกระแสสังคมรอบข้างให้โหมกระหน่ำมายังเหยื่อของการ บูลลี่ เสมือนการยืมมือคนรอบข้างให้ร่วมกันทำร้ายบุคคลเพียงคนเดียว  เช่น การปล่อยคลิปของเหยื่อ  หรือการสร้างข่าวลือ จนผู้เสพหลงเชื่อและพร้อมจะแชร์และกระพือข่าวให้ไปในวงกว้างขึ้น จนกว่าผู้ถูกกระทำไม่มีที่ยืนทางสังคม

 

โรงเรียน ที่ทำงาน สถานที่แห่งการบูลลี่

ส่วนใหญ่การกลั่นแกล้งจะเกิดขึ้นที่โรงเรียน ในช่วงเวลาหลังเลิกเรียนหรือช่วงพักกลางวัน ทั้งในบริเวณที่ลับสายตาและสถานที่เปิดโล่ง การบูลลี่นั้นเป็นส่วนหนึ่งของการนำไปสู่ปัญหาอาชญากรรมในอนาคต โดยผู้ตกเป็นเหยื่อของการบูลลี่มักเป็นเด็กอายุ 12 - 18 ปี

  • การบูลลี่ในโรงเรียน

การที่เด็กถูกบูลลี่อยู่บ่อยครั้ง ทำให้เกิดปัญหาเด็กไม่อยากไปโรงเรียน ส่งผลต่อผลการเรียนและความปลอดภัยของเด็ก เพื่อไม่ให้เด็กเจอปัญหาตามลำพัง

ผู้ปกครองควรหมั่นซักถาม และสังเกตอาการ เมื่อเด็กมีอาการผิดปกติ วิตกกังวล กลัว ไม่อยากไปโรงเรียน ควรรีบปรึกษาครูประจำชั้นหรืออาจารย์ที่ปรึกษาทันที เพื่อช่วยกันแก้ไขและหาทางออกของปัญหาก่อนที่จะบานปลายทำให้เด็กไม่สามารถเข้าสังคมได้เป็นปัญหาเรื้อรังต่อไปในอนาคต

  • การบูลลี่ในที่ทำงาน

ส่วนใหญ่เป็นเนื้อหาเกี่ยวข้องกับรูปร่างหน้าตา และพฤติกรรมของพนักงาน รวมถึงเรื่องชู้สาวที่มีโอกาสเกิดปัญหาคุกคามทางเพศ

อย่างไรก็ตามผู้ที่เผชิญกับเหตุการณ์ถูกบูลลี่จะต้องเตรียมพร้อมรับมือ และเก็บหลักฐานสำหรับชี้แจงต่อหัวหน้าสายงานได้ หากไม่สามารถแก้ไขปัญหาเบื้องต้นได้อาจจะต้องรวบรวมหลักฐานไว้ใช้ในการแจ้งความและมอบให้แก่ทนาย

 

รับมือกับการบูลลี่อย่างไร?

หลายครั้งที่การบูลลี่เกิดขึ้นเพียงเพราะความสนุกชั่ววูบ ความโกรธชั่วคราว หรือเป็นเพียงการตัดสินใจชั่วขณะ แต่ผลที่ตามมาอาจมากมายและส่งผลยาวนานสำหรับผู้ถูกกระทำ ดังนั้นการรู้จักรับมือกับการบูลลี่อาจช่วยหลีกเลี่ยงบาดแผลทั้งทางกาย ใจ และสังคม  ดังนี้

1.ใช้ความนิ่งสยบการบูลลี่ 

การนิ่งเฉยต่อการบูลลี่ช่วยให้เรื่องราวการบูลลี่หายไปอย่างรวดเร็ว เนื่องจากผู้กระทำมักมีเจตนาให้เหยื่อตอบโต้ เพื่อสร้างกระแสความรุนแรง หรือเพิ่มความสะใจ แต่เมื่อผู้ถูกกระทำเลือกที่จะนิ่งเฉย ผู้ลงมือบูลลี่อาจรู้สึกเบื่อและถอยทัพไปเองในที่สุด

 

2.ตอบโต้อย่างสุภาพ 

ด้วยคำพูดและการแสดงออกว่าไม่ได้รู้สึกสนุก หรือไม่ชอบการกระทำรวมถึงวาจาต่างๆ ที่ถูกกล่าวถึงด้วยคำพูดและท่าทีสุภาพ ไม่ตะโกน ขึ้นเสียง หรือใช้คำหยาบคาย รวมถึงชี้แจงอย่างชัดเจนหากเรื่องที่ถูกกล่าวหาไม่เป็นจริง

 

3.พูดคุยกับเพื่อนร่วมชะตากรรมเพื่อช่วยกันแก้ไข 

บางครั้งการถูกบูลลี่ไม่ได้เกิดขึ้นกับบุคคลเพียงคนเดียว การหาผู้ร่วมถูกกระทำจะเป็นการเพิ่มหลักฐานและพยานว่า ผู้บูลลี่สร้างเรื่องขึ้นทำร้ายเหยื่อมากกว่าจะเป็นเรื่องจริง นอกจากนี้เพื่อนร่วมชะตากรรมอาจเป็นที่ปรึกษาคลายทุกข์ได้เป็นอย่างดี

 

4.เปลี่ยนสิ่งแวดล้อม 

หากการบูลลี่นั้นทำร้ายร่างกายหรือจิตใจจนยากยอมรับ การเปลี่ยนที่ทำงาน กลุ่มเพื่อน ก็อาจช่วยฟื้นฟูภาวะบอบช้ำจากการถูกบูลลี่ได้เร็วขึ้น

 

5.ปรึกษานักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์ 

หลายครั้งที่การบูลลี่ล้ำเส้นเหยื่อจนกัดกินจิตใจ สร้างบาดแผล จนผู้ถูกกระทำไม่สามารถอยู่ในสังคมต่อไป บางกรณีอาจกลายเป็นความเครียด ปลีกตัวจากสังคม ไปจนถึงขั้นเก็บกด เป็นโรคซึมเศร้า และจบลงด้วยการฆ่าตัวตาย ดังนั้นทางออกที่ดีคือการพบผู้เชี่ยวชาญไม่ว่าจะเป็นนักจิตวิทยา หรือจิตแพทย์ เพื่อปรึกษา ทำการรักษาอย่างถูกวิธีและมีประสิทธิภาพอ

 

อย่างไรก็ตาม ทุกคนต่างเกิดมาและมีชีวิตในช่วงเทคโนโลยีเจริญก้าวหน้า การบูลลี่ที่ไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นด้วยการเผชิญหน้าเท่านั้น หลายคนอาจตกเป็นเหยื่อการบูลลี่ทางโซเชียลจากผู้ที่ไม่เคยรู้จักกัน หรืออาจตกเป็นเหยื่อร่วมกระทำการบูลลี่บุคคลอื่น แม้กระทั่งเป็นผู้เริ่มบูลลี่โดยไม่รู้ตัว

"ไม่ว่าการกระทำใดๆ ที่ก่อให้บุคคลอื่นรู้สึกด้อยค่า ย่ำแย่ อับอาย เสื่อมเสีย ลองถอยออกมาสักก้าว หายใจเข้าออกอีกหลายๆ ครั้ง ก่อนลงมือแชร์ กดไลค์ หรือเขียน พูดออกไป เพราะสิ่งเหล่านี้เมื่อเกิดขึ้นแล้ว แม้เราจะลบออกสักกี่ครั้ง ก็ยังฝังในจิตใจของผู้ถูกกระทำเสมอ"

 

ขณะเดียวกัน หากต้องเผชิญปัญหาในฐานะ เหยื่อของการบูลลี่ ควรตั้งรับอย่างมีสติ เงียบเฉยบ้าง ตอบโต้ ชี้แจงให้ถูกจังหวะ ไม่คิดแค้น เครียด หรือวิตกกังวลเกินไป รวมถึงเลือกที่จะใช้ชีวิตในสังคมสิ่งแวดล้อมที่ดี เหมาะสมกับตัวเอง ปิดรับเรื่องราวทางโซเชียลบ้าง และข้อสำคัญ หากหาทางออกไม่ได้ ควรรีบพบแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างเหมาะสม

 

 

อ้างอิง:โรงพยาบาลสมิติเวช , กรมสุขภาพจิต