ตลท.เร่งฟื้นเชื่อมั่นตลาดทุนไทย ดึงเม็ดเงินลงทุนไหลกลับ

ตลท.เร่งฟื้นเชื่อมั่นตลาดทุนไทย  ดึงเม็ดเงินลงทุนไหลกลับ

ตลท.เดินหน้าฟื้นความเชื่อมั่นนักลงทุน ยกระดับการกำกับการซื้อขาย หวังดึงเม็ดเงินลงทุนไหลกลับ เดินหน้าดึงบริษัทต่างชาติเข้าจดทะเบียน-หนุนบริษัทสตาร์ทอัป-เอสเอ็มอีเข้าระดมทุนในตลาดทุนไทย พร้อมพิ่มช่องทางบจ.ระดมทุน "อินเวสเมนท์โทเคน-ยูทิลิตี้โทเคน"

กรุงเทพธุรกิจจัดสัมมนา Thailand Economic Outlook 2024 Change the Future Today ซึ่งได้รับเกียรติจาก ภากร ปีตธวัชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.)ให้มุมมองการพัฒนาตลาดทุนไทย ในหัวข้อ Key Developments & Challenges of the Capital Market:พัฒนาตลาดทุนไทยรับความท้าทายใหม่

 ภากร กล่าวว่า ปีนี้ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงมากที่สุดเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องจาก ปี2565ตลาดหุ้นไทยปรับตัวเพิ่มขึ้นดีที่สุด โดยปัจจัยที่เข้ามากระทบนั้นเป็นปัจจัยที่กระทบตลาดหุ้นทั่วโลกไม่ใช่กระทบเฉพาะตลาดหุ้นไทย

ทั้งนี้จากทิศทางดอกเบี้ยอยู่ในระดับสูง เม็ดเงินสภาพคล่องลดลง ทำให้เม็ดเงินลงทุนที่หมุนเวียนในตลาดทุนโลกลดลง และจากปัจจัยดอกเบี้ยสูงนั้นทำให้มีเม็ดเงินลงทุนไหลเข้าลงทุนในตลาดตราสารหนี้ ดังนั้นทำให้สินทรัพย์ลงทุนอื่นๆได้รับผลกระทบ เช่นตลาดหุ้นทำให้ดัชนีปรับตัวลง  ขณะที่มูลค่าการซื้อขายตลาดหุ้นไทยปีนี้ปรับตัวลดลงเหลือเฉลี่ยวันละ 6 หมื่นล้านบาท  

อย่างไรก็ตามหากนักลงทุนมีความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจไทยแข็งแรง บริษัทจดทะเบียน(บจ.)ไทยมีรายได้จากการทำธุรกิจทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ และหากมีความชัดเจนสิ่งที่ภาคธุรกิจจะปรับตัว รวมถึงปัจจุบันนโยบายภาครัฐมีความชัดเจนมากขึ้น ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้นักลงทุนทั่วโลกมีความเชื่อมั่น ก็จะกลับมาลงทุนในตลาดหุ้นไทย ส่งผลให้ดัชนีหุ้นไทยมีการฟื้นตัวได้แข็งแรงขึ้น

"พอมีความชัดเจนเรื่องดังกล่าวนักลงทุนมีความมั่นใจว่าเศรษฐกิจไทยฟื้นตัว ก็จะทำให้ฟันด์โฟลว์ไหลกลับมาลงทุนในตลาดหุ้นไทย ซึ่งต้นปีนี้นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นไทยเยอะมาก แต่พอเดือนมี.ค.ก็มีการเทขายสุทธิ แต่เชื่อว่าเหตุการณ์แบบนั้นจะเกิดขึ้น ที่จะเห็นนักลงทุนต่างชาติกลับมาซื้อหุ้นไทยอีกครั้ง ”

สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่มีผลต่อการลงทุนในตลาดทุนไทยที่ต้องติดตามจากนี้ถึงสิ้นปี2566 คือ ภาวะเศรษฐกิจโลกเป็นอย่างไรบ้าง เพราะความสามารถในการทำกำไรของหลายอุตสาหกรรมของบจ.ไทยขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจโลก อัตราเงินเฟ้อ นโยบายการเงิน ความความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ และความเสี่ยงด้านผลกระทบจากสิ่งแวดล้อม (Climate Risk)

ส่วนการพัฒนาเพื่อตอบโจทย์ความท้าทายในตลาดทุนไทยนั้น ซึ่งจากเหตุการณ์เกิดขึ้นในเดือนพ.ย.2565 จนถึงเดือนพ.ค.ปีนี้ ตลาดหลักทรัพย์เห็นว่าตลาดทุนไทยและตลาดทุนทั่วโลกต้องปรับตัวในเรื่องการดำเนินงาน การกำกับดูแลการซื้อขายหุ้น ซึ่งที่ผ่านมาตลาดหลักทรัพย์มีการใช้เกณฑ์การกำกับดูแลที่ทำร่วมกับผู้ที่เกี่ยวข้องมาค่อนข้างนาน จึงจะต้องมีการปรับตัวเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเหมือนที่ผ่านมาอีก

ดังนั้นในฐานะที่ตลาดหลักทรัพย์เป็นด่านหน้าในการกำกับดูแลการซื้อขายเราต้องปรับตัว เรื่องแรก การเข้าจดทะเบียนและการใช้ข้อมูลต้องปรับตัวอย่างไรบ้าง เพราะ ที่ผ่านมานั้นมีตลาดหลักทรัพย์ฯ (SET) ตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอ (mai)และต่อมาก็มีตลาดหลักทรัพย์ไลฟ์เอ็กซ์เช้นจ์ (LiVEx) ทำให้ต้องปรับตัวในการรับแต่ละบริษัทเข้าจดทะเบียนอย่างไร คุณภาพบริษัท สภาพคล่องของบริษัทจะต้องปรับตัวดีขึ้นอย่างไร

ส่วนเรื่องที่สอง คือการกำกับดูแลการซื้อขาย ซึ่งอดีตการซื้อขายในตลาดหุ้นไทยไม่ได้มีผู้ใช้โปรแกรมเทรด ,High Frequency Trading (HFT) และออนไลน์เทรดดิ้งมากเหมือนในปัจจุบัน จึงทำให้การกำกับดูแลต้องเปลี่ยนไปต้องใช้เดต้าเข้ามาในการกำกับการซื้อขายให้มีความเข้มขึ้น และมีความรวดเร็วขึ้น ส่วนเรื่องที่3 คือการการกำกับดูแลผู้ร่วมตลาด จะทำงานร่วมกันอย่างไร

ภากร กล่าวว่า การดำเนินการของตลาดหลักทรัพย์ก็จะทำตั้งแต่ก่อนเข้าจดทะเบียน เข้าจดทะเบียน จะต้องปรับแก้ไข กระบวนการซื้อขายต้องเพิ่มเติมอย่างไร การรายงานข้อมูลอย่างไร เพื่อให้ผู้ที่ใช้ข้อมูลได้ข้อมูลที่รวดเร็วขึ้นและเพียงพอในการตัดสินใจลงทุน และมีการเตือนนักลงทุนให้เร็วขึ้นเมื่อมีข้อมูลหรือเหตุการณ์ที่ไม่ปกติเกิดขึ้น สุดท้ายเรื่องการเพิกถอนหลักทรัพย์ทำให้เร็วขึ้น

โดยจะเห็นว่าสิ่งที่ตลาดหลักทรัพยดำเนินการนั้นเราทำหลายเรื่องประกอบกัน โดยการปรับเกณฑ์ดังกล่าวนั้นปัจจุบันอยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็น(เฮียริ่ง)กับปรึกษาผู้ที่เกี่ยวข้อง เมื่อเสร็จแล้วก็จะเสนอไปยังหน่วยงานกำกับว่าตลาดหลักทรัพย์จะมีการปรับเปลี่ยนการกำกับดูแลอย่างไร

สำหรับการดำเนินงานดังกล่าวของตลาดหลักทรัพย์ เพื่อต้องการสร้างความเชื่อมั่นต่อตลาดทุนไทยกลับมา เพราะส่วนตัวเชื่อว่าถ้าไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นนักลงทุนให้กลับมาสูงขึ้นได้ จะทำให้สิ่งต่างๆที่ตลาดหลักทรัพย์จะทำจากนี้ ประสิทธิภาพ และประสิทธิผลที่ได้จะไม่มากเท่ากับช่วงที่นักลงทุนมีความเชื่อมั่น 

นอกจากนี้เรื่องที่ตลาดหลักทรัพย์กำลังพิจารณาการสนับสนุนการระดมทุน ซึ่งที่ผ่านมาตลาดหลักทรัพย์ได้มีการดำเนินการให้บริษัทขนาดกลางและขนาดใหญ่เข้ามาจดทะเบียนได้อย่างมีประสิทธิภาพมาตลาอด ซึ่งโจทย์ต่อไปมี 2 เรื่อง คือ จะทำอย่างไรให้บริษัทต่างประเทศเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย ซึ่งก่อนโควิดนั้น มีบริษัทต่างประเทศสนใจที่จะเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยหลายบริษัท หลังจากนี้ก็จะมีการติดตามความคืบหน้าต่อไป และการสนับสนุนให้บริษัทสตาร์ทอัปและบริษัทเอสเอ็มอี เข้าระดมทุนในตลาดทุนไทยมากขึ้น 

ในด้านสินทรัพย์ดิจิทัล ตลาดหลักทรัพย์จะเน้นในส่วนของ อินเวสเมนท์โทเคน (InvestmentToken)และยูทิลิตี้โทเคน(UtilityToken) เพื่อให้เป็บริษัทจดทะเบียนมีช่องทางในการระดมทุนได้หลากหลายมากขึ้น ซึ่งตลาดหลักทรัพย์อยู่ระหว่างการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยที่ผ่านมานั้นโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุนเรียลเอ็กซ์(REALX) เข้าจดทะเบียนในบริษัท ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลไทย จำกัด(TDX)

สำหรับการลงทุนต่างประเทศนั้นมีประเด็นในเรื่องของการเก็บภาษีนั้น ซึ่งตลาดหลักทรัพย์ยังมีโปรดักท์การลงทุนหุ้นต่างประเทศผ่านด้วยสกุลเงินบาท  เช่น ETF,DR,DRX,DW  ซึ่งสินทรัพย์นั้นมีความหลากหลาย  เช่น หุ้นจีน  สหรัฐ เวียดนาม และฮ่องกง  ทองคำ   เพื่อให้นักลงทุนสามารถลงทุนหลักทรัพย์ต่างประเทศได้สะดวกขึ้น ผ่านตลาดหลักทรัพย์และ บริษัทหลักทรัพย์(โบรกเกอร์)

 โดยสิ่งที่ตลาดหลักทรัพย์จะทำให้มากขึ้นคือ การนำโปรดักท์ในอาเซียนมาCross-listing กันมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันตลาดหลักทรัพย์ได้มีการดำเนินการแล้วกับตลาดหุ้นสิงคโปร์  โดยมี DR ของหุ้นไทยไปจดทะเบียนที่ตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์แล้ว 3   บริษัท คือ  AOT CPALL  PTTEP ส่วนDR สิงคโปร์ที่มีจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหุ้นไทย คือ สิงคโปร์แอร์ไลน์ โดยเร็วๆนี้ก็จะมี DR ของหุ้นสิงคโปร์เข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์มากขึ้น 

 สำหรับอีกจุดขายของตลาดหุ้นไทย คือ บจ.ดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนดีติดอันดับต้นๆของโลก โดยบจ.ไทยอยู่ในดัชนี DJSI  จำนวน26 บริษัท อยู่ใน MSCI 42 บริษัท ,FTSE4Good 42 บริษัท  และ Sustainability Yearbook S&PGlobal  12 บริษัท

       

กรุงเทพธุรกิจ

Suwan Khamkhiaw

ข่าวด่วนกรุงเทพธุรกิจ [ KT-ONLINE ]

Section I

Section II

ปกการเงิน

หุ้นการเงิน / การธนาคาร

การเงิน Library

ข้อมูล

HR

New Media

New Media Library

การตลาด

การตลาด Library

Auto

Section พิเศษ