ดาวโจนส์พลิกแดนบวก ท่ามกลางการซื้อขายผันผวน

ดาวโจนส์พลิกแดนบวก ท่ามกลางการซื้อขายผันผวน

ดัชนีดาวโจนส์ ปิดวันจันทร์ (25ก.ย.)พลิกดีดตัวสู่แดนบวก ปรับตัวขึ้น 43 จุด หลังจากร่วงลงกว่า 100 จุดในการซื้อขายช่วงแรก ท่ามกลางความกังวลที่ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะคงอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงเป็นเวลานานเพื่อสกัดเงินเฟ้อ

  • ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์เพิ่มขึ้น 43.04 จุด หรือ 0.13% ปิดที่ 34,006.88 จุด
  • ดัชนีเอสแอนด์พี 500 เพิ่มขึ้น 17.38 จุด หรือ 0.40% ปิดที่ 4,337.44 จุด
  • ดัชนีแนสแด็ก เพิ่มขึ้น 59.51 จุด หรือ 0.45% ปิดที่ 13,271.32 จุด

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์เพิ่มขึ้น 43.04 จุด หรือ 0.13% ปิดที่ 34,006.88 จุดดัชนีเอสแอนด์พี 500 เพิ่มขึ้น 17.38 จุด หรือ 0.40% ปิดที่ 4,337.44 จุด และดัชนีแนสแด็ก เพิ่มขึ้น 59.51 จุด หรือ 0.45% ปิดที่ 13,271.32 จุด

ดัชนีดาวโจนส์ร่วงลงกว่า 100 จุดในการซื้อขายช่วงแรก ท่ามกลางความกังวลที่ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะคงอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงเป็นเวลานานเพื่อสกัดเงินเฟ้อ

คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของเฟด (FOMC) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ระดับ 5.25-5.50% ในการประชุมสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 22 ปี

อย่างไรก็ดี ในการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบาย (dot plot) เจ้าหน้าที่เฟดส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 1 ครั้งภายในสิ้นปีนี้ และส่งสัญญาณปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพียง 2 ครั้งในปี 2567 จากเดิมที่เฟดคาดการณ์ว่าจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยมากกว่า 2 ครั้งในปีหน้า ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณว่าเฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงนานกว่าที่คาดไว้เพื่อสกัดเงินเฟ้อ

นางมิเชล โบว์แมน ซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิกบอร์ดผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐ กล่าวว่า เฟดจำเป็นต้องเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ

"ดิฉันยังคงคาดว่าเฟดจำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปเพื่อให้เงินเฟ้อกลับสู่เป้าหมายในเวลาที่เหมาะสม" นางโบว์แมนกล่าว และเสริมว่า ข้อมูลเศรษฐกิจบ่งชี้ว่ายังคงไม่มีความคืบหน้าที่เพียงพอในการสกัดให้เงินเฟ้อกลับสู่เป้าหมายของเฟดที่ระดับ 2%

ถ้อยแถลงของนางโบว์แมนสอดคล้องกับนางซูซาน คอลลินส์ ประธานเฟด สาขาบอสตัน ซึ่งกล่าวสนับสนุนให้เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป หากเงินเฟ้อยังคงไม่ชะลอตัวลง

"ข้อมูลเงินเฟ้อในช่วงที่ผ่านมาเป็นที่น่าพอใจ แต่ก็ยังคงเร็วเกินไปที่เฟดจะประกาศชัยชนะ ดิฉันคิดว่าเฟดควรที่จะคงอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงและนานกว่าที่คาดไว้ และเฟดไม่ควรตัดทางเลือกในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยรอบใหม่ โดยเจ้าหน้าที่เฟดควรเตรียมพร้อมในการบรรลุภารกิจที่ได้รับมอบหมาย" นางคอลลินส์กล่าว

นอกจากนี้ ตลาดถูกกดดันจากการดีดตัวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ โดยการพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี ซึ่งเป็นพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐที่ใช้อ้างอิงในการกำหนดราคาของตราสารหนี้ทั่วโลก ซึ่งรวมถึงอัตราดอกเบี้ยจำนองของสหรัฐ จะทำให้ผู้บริโภคมีเงินสำหรับการใช้จ่ายลดน้อยลง ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการจ่ายเงินกู้จำนองเพิ่มมากขึ้น และบริษัทต่างๆจะเผชิญกับต้นทุนที่สูงขึ้นจากการชำระหนี้ ทำให้บริษัทเหล่านี้ลดการลงทุน และลดการจ่ายเงินปันผลแก่นักลงทุน

ขณะเดียวกัน นักลงทุนมีความวิตกเกี่ยวกับการปิดหน่วยงานของรัฐบาลสหรัฐ หรือชัตดาวน์ในวันที่ 1 ต.ค. หากสภาคองเกรสยังคงไม่มีความคืบหน้าในการผ่านร่างงบประมาณชั่วคราว และส่งต่อให้ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ลงนามเป็นกฎหมายภายในวันที่ 30 ก.ย.

ผลสำรวจความเชื่อมั่นของสมาคมนักลงทุนรายย่อยอเมริกัน (AAII) พบว่า จำนวนนักลงทุนที่มีความเชื่อมั่นต่อทิศทางในระยะสั้นของตลาดหุ้นวอลล์สตรีทแตะระดับต่ำสุดในรอบ 4 เดือน

ทั้งนี้ ผลการสำรวจพบว่า นักลงทุนที่คาดการณ์ว่าตลาดหุ้นจะปรับตัวขึ้นในช่วง 6 เดือนข้างหน้า มีจำนวนลดลง 3.1% สู่ระดับ 31.3% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. และเป็นระดับต่ำกว่าค่าเฉลี่ยที่ 37.5% เป็นครั้งที่ 5 ในรอบ 6 สัปดาห์

ส่วนนักลงทุนที่คาดการณ์ว่าตลาดหุ้นจะปรับตัวลงในช่วง 6 เดือนข้างหน้า มีจำนวนเพิ่มขึ้น 5.4% สู่ระดับ 34.6% โดยสูงกว่าค่าเฉลี่ยที่ระดับ 31.0% เป็นครั้งที่ 3 ในรอบ 5 สัปดาห์

นอกจากนี้ นักลงทุนที่คาดว่าตลาดหุ้นจะทรงตัวในช่วง 6 เดือนข้างหน้า มีจำนวนลดลง 2.3% สู่ระดับ 34.1% โดยสูงกว่าค่าเฉลี่ยที่ระดับ 31.5% เป็นครั้งที่ 5 ในรอบ 6 สัปดาห์

ส่วนค่า bull-bear spread ลดลง 8.5% สู่ระดับ -3.3% ซึ่งบ่งชี้ว่าจำนวนนักลงทุนที่ไม่เชื่อมั่นต่อแนวโน้มตลาดหุ้นมีจำนวนมากกว่าผู้ที่มีความเชื่อมั่น และมีค่าต่ำกว่าค่าเฉลี่ยที่ระดับ 6.5% เป็นครั้งที่ 5 ในรอบ 6 สัปดาห์