เอนไซม์กำลังย่อยลิ้น จึงแสบลิ้น หลังกิน "สับปะรด"

เอนไซม์กำลังย่อยลิ้น จึงแสบลิ้น หลังกิน "สับปะรด"

สับปะรดมีเอนไซม์ที่ย่อยโปรตีน จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้เมื่อกินสับปะรดแล้วรู้สึกแสบลิ้น  แต่เอนไซม์ตัวนี้ในทางการแพทย์แผนไทยฯก็มีประโยชน์ต่อร่างกายหลายเรื่อง

KEY

POINTS

  • สับปะรด มีประโยชน์ต่อร่างกาย อุดมด้วยเบต้าแคโรทีน วิตามินซี และใยอาหาร นอกจากนี้ ตามตำรับยาไทย รวมถึงผลจากการศึกษาวิจัยและพัฒนา พบว่า สับปะรดมีสรรพคุณทางยา
  • ในสับปะรดมีเอนไซม์ ชื่อว่า บรอมีเลน ที่ย่อยโปรตีน  มีมากในส่วนแกนกลาง เมื่อรับประทานสับปะรดจึงรู้สึกแสบลิ้น  เพราะเอนไซม์ตัวนี้ก็กำลังย่อยลิ้น แต่มีวิธีแก้ได้ ช่วยให้กินสับปะรดอร่อยขึ้น
  • ใช่จะทำให้แสบลิ้นเวลากินสับปะรดเท่านั้น แต่เอนไซม์บรอมีเลน ยังมีประโยชน์ต่อร่างกาย และภาคอุตสาหกรรมทั้งอุตสาหกรรมอาหาร อุตุสาหกรรมเครื่องสำอาง 

ประโยชน์สับปะรดต่อร่างกาย

กรมอนามัย ให้ข้อมูลไว้ว่า สับปะรดมีคุณค่าทางโภชนาการ อุดมด้วยเบต้าแคโรทีน วิตามินซี และใยอาหาร ช่วยบำรุงสายตา ต้านการอักเสบ เพิ่มระบบภูมิคุ้มกัน และลดความเสี่ยงมะเร็ง นอกจากนี้ยังมีวิตามินซีช่วยดูดซึมธาตุเหล็ก

สับปะรด 1 ส่วน มี 6-8 ชิ้นคำ ใน 1 วันสามารถกินได้ ปริมาณพอดี 6-8 ชิ้นคำและกินผลไม้อื่นๆเพิ่มให้ได้ครบ 3-5 ส่วนต่อวัน ผลไม้ 1 ส่วนประมาณ 60 กิโลแคลอรี ขึ้นกับความหวานของแต่ละชนิด

ยกตัวอย่างเช่นใน 1 วัน กินกล้วยน้ำว้า 1 ผล ฝรั่ง ½ ผล มะม่วง ½ ผล มะละกอ 6-8 ชิ้นคำ รวมกับสับปะรด ก็จะครบ 5 ส่วนพอดี หรืออาจกินเป็น กล้วย 2 ผล ฝรั่ง 1 ผล รวมกับสับปะรดก็จะครบ 5 ส่วนพอดี ทั้งนี้ในการกินผลไม้ให้หลากหลายชนิดขึ้นกับความสะดวกในการจัดหาของผู้บริโภค ในกรณีผู้สูงอายุ กินผลไม้ได้ วันละ 1-3 ส่วนก็เพียงพอแล้ว

หากเลือกกินสับปะรดให้ได้คุณค่าทางโภชนาการ ควรกินครั้งละ 6-8 ชิ้นคำ หลังมื้ออาหาร แทนขนมหวานที่ทำจากแป้งและน้ำตาล ซึ่งจะทำให้รับวิตามิน แร่ธาตุ ใยอาหาร สารต้านอนุมูลอิสระตามที่ต้องการ หากต้องการดื่มน้ำสับปะรด ควรเลือกแบบที่ปั่นรวมกากไปด้วย ไม่ปรุงแต่งกลิ่น รสชาติ

สับปะรดสรรพคุณทางยา

กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข ระบุเรื่อง สรรพคุณสับปะรด ในเชิงสุขภาพ ซึ่งมีกล่าวและบันทึกไว้ในตำรายาไทย รวมถึงผลจากการศึกษาวิจัยและพัฒนา พบว่า

สับปะรดมีสรรพคุณทางยา คือ มีฤทธิ์ขับปัสสาวะ ลดสาเหตุการเกิดกระเพาะปัสสาวะอักเสบ ลดบวม ช่วยบรรเทาอาการท้องผูก

ส่วนแกนสับปะรดที่คนส่วนใหญ่มักจะไม่กิน มี เอนไซม์บรอมีเลน (BROMELIAN) ช่วยย่อยอาหาร บรรเทาอาการจุกเสียดแน่นเฟ้อได้อย่างดี

สับปะรด 100 กรัม ให้พลังงาน 50 กิโลแคลลอรี่ การรับประทานสับปะรด ควรหั่นเนื้อและแกนกลางด้วย จะได้รับประโยชน์สูงสุด

ข้อควรระวังในการรับประทานสับปะรด

1. ไม่ควรรับประทานขณะท้องว่าง เพราะอาจจะทำให้ระคายเคืองกระเพาะอาหาร

2. ไม่ควรรับประทานสับปะรดดิบ เพราะมีฤทธิ์เป็นยาถ่ายอย่างแรง

กินสับปะรดแสบลิ้น เพราะเอนไซม์ย่อยโปรตีน

อย่างไรก็ตาม ในการกินสับปะรดแต่ละครั้ง มักจะเกิดอาการแสบลิ้น  สาเหตุก็เพราะในสับปะรดมีเอนไซม์บรอมีเลน ซึ่งมีหน้าที่ช่วยย่อยโปรตีน ได้ย่อยเนื้อเยื่อในปากของเรา รวมถึง ลิ้น เมื่อกินสับปะรดมากๆ จึงทำให้รู้สึกแสบคันบริเวณลิ้นได้

สับปะรดนั้นมีสารสำคัญ คือ บรอมีเลน เอนไซม์ในกลุ่มซิสเตอีนโปรติเอส เป็นเอนไซม์ธรรมชาติ พบในสับปะรด ส่วนเนื้อเยื่อ ลําต้น ผล และใบของสับปะรด แต่จะพบมากที่สุด คือส่วนแกนกลาง

สำหรับวิธีกินสับปะรดไม่ให้แสบลิ้น

  • แช่น้ำเกลือ โดยหั่นเป็นชิ้นและแช่ทิ้งไว้ 10 นาที เพื่อลดความเป็นกรดและเอนไซม์ลง ช่วยให้สับปะรดขับความหวานได้มากขึ้น
  • ตัดแกนกลางทิ้ง บริเวณแกนกลางจะมีปริมาณเอนไซม์มาก หากตัดทิ้งแล้วจะช่วยลดปริมาณของเอนไซม์ลงได้
  • แช่เย็น การแช่เย็นช่วยทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของเอนไซม์ลดลง
  • นำไปปรุงสุก เอนไซม์จะเสื่อมสภาพที่อุณหภูมิ 80 องศาเซลเซียส ดังนั้นการนำไปปรุงอาหารประเภทอื่น ๆ จะช่วยให้ลดการระคายเคืองได้

โปรโยชน์เอนไซม์บรอมีเลนในสับปะรด มีประโยชน์ต่อร่างกาย 

1.ช่วยย่อยอาหาร

2.ขับปัสสาวะแก้ขัดเบา

3.แก้ท้องผูก

4.ลดการจับตัวของเกล็ดเลือด

5.ช่วยลดการเกิดโรคหลอดเลือดอุดตัน และป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด

6.เพิ่มภูมิคุ้มกันในร่างกาย   

7.ต้านโรคมะเร็ง

8.มีฤทธิ์เป็นยาฆ่าเชื้อแบบอ่อนๆ

9.ช่วยสมานแผล ลดการอักเสบ

 

ประโยชน์ในอุตสาหกรรม

ปัจจุบันความต้องการเอนไซม์บรอมีเลนเพิ่มสูงขึ้นและมีการใช้อย่างแพร่หลายในอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น

  • อุตสาหกรรมอาหาร ใช้เอนไซม์บรอมีเลนทำให้เนื้อนุ่ม ช่วยในการเร่งกระบวนการหมักน้ำปลาไส้ตัน ใช้ในการผลิตเบียร์ เพื่อช่วยป้องกันการเกิดความขุ่นของเบียร์ในขณะเก็บรักษา
  • อุตสาหกรรมเครื่องสำอาง ใช้เป็นส่วนประกอบในครีมทาผิว ที่ช่วยในการขจัดเซลล์หนังกำพร้า ลดปัญหาริ้วรอย สิว และผิวแห้ง และยังช่วยลดรอยฟกช้ำและความบวมของผิวหลังจากทำทรีตเมนต์
  • อุตสาหกรรมยามีการใช้เอมไซม์บรอมิเลนในตัวยาช่วยย่อยอาหาร
  • อุตสาหกรรมอื่นๆ ยังใช้เอมไซม์บรอมิเลนในการย่อยสลายเส้นใยโปรตีนบางส่วนจากผ้าไหมและขนสัตว์

 

เอนไซม์กำลังย่อยลิ้น จึงแสบลิ้น หลังกิน \"สับปะรด\"

 

อ้างอิง : กรมอนามัย ,กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก,ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา,กรมวิทยาศาสตร์บริการ,รพ.พญาไท