‘หุ้น STARK’ กลิ่นแรงเลื่อนส่งงบ ผู้ถือหุ้นเล็งฟ้องร้องหลังพบพิรุธ

‘หุ้น STARK’ กลิ่นแรงเลื่อนส่งงบ ผู้ถือหุ้นเล็งฟ้องร้องหลังพบพิรุธ

หุ้น ‘STARK’ สตาร์ค คอร์ปอเรชั่น ส่งกลิ่นแรง หลังบอร์ด ‘7 ราย’ ยกทีมออก ล่าสุดเลื่อนส่งงบการเงินออกไปอีก ส่งผลหุ้นถูก SP ยาว เผยก่อนหน้านี้พบเพิ่มทุน PP กว่า 5 พันล้าน อ้างนำเงินไปลงทุนต่างประเทศแต่พับแผนในเวลาต่อมา ส่วนหุ้น KBANK และ SCB ร่วงหนักวานนี้ กังวลถูกเบี้ยวหนี้

 Key Points

  • ล่าสุดแจ้งผ่านตลาดหลักทรัพย์ฯ ขอเลื่อนส่งงบปี 65 จากวันนี้ เป็นช่วงเดือนพ.ค.-มิ.ย. 66
  • บอร์ดบริษัทลาออกยกทีม 7 รายผู้ถือหุ้นเล็งฟ้องร้องหลังพบพิรุธ
  •  ก่อนหน้านี้พบเพิ่มทุน PP กว่า 5 พันล้าน อ้างนำเงินไปลงทุนต่างประเทศ แต่พับแผนในเวลาต่อมา
  • หุ้น KBANK-SCB วานนี้กอดคอร่วง ผวาถูกเบี้ยวหนี้ หลังจากที่ไม่สามารถส่งงบการเงินได้ตามกำหนด

กลายเป็นหุ้นที่ ถูกจับตามองมากสุดในชั่วโมงนี้ สำหรับ บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK หลังบริษัทรายงานผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ว่ากรรมการบริษัทยื่นลาออก

ซึ่งจริงๆ แล้วการลาออกของกรรมการไม่ใช่เรื่องใหญ่หรือผิดปกติอะไร หากเป็นการลาออกแค่ 1 คน หรือ 2 คน  แต่กรณีนี้พร้อมใจกันลาออกถึง 7 คน จึงเป็นเรื่องที่วงการตลาดทุนจับตาดูอย่างใกล้ชิด ที่สำคัญการลาออกแบบยกชุดในครั้งนี้ นำทีมโดย "นายชนินทร์ เย็นสุดใจ" ประธานกรรมการบริษัท  ที่ถือเป็นแกนนำคนสำคัญในการบริหารบริษัท

ทั้งหมดนี้จึงนำมาสู่คำถามว่า เกิดอะไรขึ้นกับ STARK ที่มีการแจ้งลาออกของ CEO แบบกระทันหัน รวมถึงผู้ตรวจสอบบัญชีใหม่อีกด้วย

ความสงสัยเดิมของนักลงทุนยังไม่คลายว่า STARK เกิดปัญหาภายในองค์กรอะไร และทำไมยังไม่ส่งงบการเงินประจำปี 2565 เสียที จนทำให้ตลาดหลักทรัพย์หยุดการซื้อขายหุ้น STARK (ขึ้นเครื่องหมาย SP) ไปตั้งแต่ 1 มี.ค. ที่ผ่านมา เนื่องจากไม่สามารถส่งงบการเงินได้ตามเงื่อนเวลาที่กำหนด

 

 

พบพิรุธไม่นำส่งงบการเงิน

โดยบริษัทชี้แจงว่า จะส่งงบการเงินภายในวันที่ 31 มี.ค. 66 แต่ขอเลื่อนส่งงบออกไปอีก โดยอ้างว่าข้อมูลบางส่วนอยู่ระหว่างดำเนินการและอยู่ในการตรวจสอบของผู้สอบบัญชี และยืนยันว่าจะส่งงบภายในวันนี้ (21 เม.ย.2566) แต่ก็เป็นอันต้องเลื่อนอีกรอบ เมื่อบริษัทแจ้งผ่านตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่า ไม่สามารถส่งงบการเงินปี 65 ทัน ด้วยการหยิบยกเหตุผลที่มีการเปลี่ยนแปลงกรรมการบริษัทและผู้บริหารชุดใหม่ ทำให้ต้องใช้เวลาตรวจสอบข้อมูลใหม่ จึงขอเลื่อนส่งงบการเงินเป็นช่วงเดือนพ.ค.-มิ.ย. 66

‘หุ้น STARK’ กลิ่นแรงเลื่อนส่งงบ ผู้ถือหุ้นเล็งฟ้องร้องหลังพบพิรุธ

ย้อนความหลังกันเล็กน้อย หุ้น STARK เข้าตลาดหลักทรัพย์โดยวิธีการ Backdoor Listing ซึ่งเกิดจากการเทกโอเวอร์ บริษัท สยามอินเตอร์มัลติมีเดีย จำกัด (มหาชน) หรือ SMM โดยปลายปี 2561 กลุ่ม วนรัชต์ ตั้งคารวะคุณควักเงินซื้อหุ้นเพิ่มทุนที่ขายให้นักลงทุนเฉพาะเจาะจง (PP) ในราคาหุ้นละ 0.60 บาท และขึ้นมาเป็นถือหุ้นใหญ่ในสัดส่วนประมาณ 94% ของทุนจดทะเบียน แต่หลังจากนั้นเดิมเกมทยอยขายหุ้นออกเพื่อแก้ปัญหาสัดส่วนผู้ถือรายย่อย หรือ ฟรีโฟลตน้อยจนล่าสุดปรากฏชื่อ วนรัชต์ถือหุ้นในสัดส่วนเพียง 26.85% ของทุนจดทะเบียน เรียกว่าเก็บกำไรเข้ากระเป๋าเป็นกอบเป็นกำ

สถานการณ์ของ STARK ถือว่าปกติเพื่อแก้ปัญหาฟรีโฟลตผู้ที่ถือหุ้นในมือจำนวนมากก็ต้องขายออกมาเพื่อเพิ่มสภาพคล่อง และด้วยผลประกอบการที่แข็งแกร่ง สะท้อนผ่านปี 2563 มีกำไรสุทธิ 1,608.66 ล้านบาท ปี 2564 มีกำไรสุทธิ 2,783.11 ล้านบาท

 

ล่าสุดงวด 9 เดือน ปี 2565 มีกำไรสุทธิ 2,215.47 ล้านบาท เมื่อผลประกอบการเติบโตเรียกศรัทธาจากนักลงรายใหญ่-รายย่อยแห่เข้ามา เก็งกำไรได้ สะท้อนภาพไปที่ราคาหุ้น STARK ปรับตัวขึ้นตามทิศทางผลประกอบการที่เติบโตแข็งแกร่ง และราคาหุ้นเคยทะยานขึ้นไประดับสูงสุดที่ 5.10 บาท และก่อนขึ้น SP ราคาหุ้นอยู่ที่ 2.38 บาท (28 ก.พ.66)

หุ้น STARK ถูกสร้างภาพให้แข็งแกร่งทั้งในมุมของรายได้-กำไร-ราคาหุ้น นับจาก กลุ่มวนรัชต์เข้ามาบริหาร และ เข้ามาปรับโครงสร้างธุรกิจใหม่ โดยเป็นบริษัทโฮลดิ้ง มีบริษัทลูกประกอบธุรกิจรายใหญ่ในการผลิตสายไฟฟ้าและสายเคเบิล ด้วยการเติบโตต่อเนื่องทำให้ หุ้น STARK เข้ามาติดใน SET 100 ตอกย้ำด้วยบรรดานักลงทุนสถาบันทั้งในและต่างประเทศเข้ามาถือหุ้นจำนวนมาก เมื่อเห็นภาพแบบนี้แล้วนักลงทุนรายย่อยจะไม่ตามแห่เข้ามาเก็งกำไรได้ยังไง

แต่แล้วเหตุการณ์ที่นักลงทุนเริ่มตั้งข้อสงสัยก็ได้เริ่มต้นขึ้น เมื่อ STARK ประกาศเพิ่มทุนออกหุ้นใหม่ จำนวน 1,500 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท เพื่อเสนอขายแบบเฉพาะเจาะจงให้แก่บุคคลในวงจำกัด (Private Placement) ในราคาหุ้นละ 3.72 บาท มูลค่ารวมกว่า 5,580 ล้านบาท ให้นักลงทุนสถาบันรวม 12 ราย ซึ่งปัจจุบันนักลงทุนบางรายมีการขายหุ้น PP ดังกล่าวออกไปแล้ว 

ระดมทุนแต่ไม่ได้นำไปใช้ตามที่ระบุไว้

สำหรับการเพิ่มทุนครั้งนี้ วัตถุประสงค์เพื่อระดมเงินซื้อหุ้น LEONI AG และ LEONI Bordnetz-Systeme GmbH และหุ้น LEONI Kabel GmbH ซึ่งเป็นบริษัทจำกัดที่จดทะเบียนภายใต้กฎหมายของประเทศเยอรมนี และ LEONIsche Holding Inc ซึ่งเป็นบริษัทที่จดทะเบียนภายใต้กฎหมายของรัฐเดลาแวร์ ในสัดส่วน 100% ของทุนจดทะเบียน มีมูลค่าการซื้อขายรวมทั้งสิ้นไม่เกิน 560 ล้านยูโร หรือประมาณไม่เกิน 20,588.90 ล้านบาท

โดยกลุ่ม LEPNI AG ดำเนินธุรกิจประเภทโซลูชันสายเคเบิลสำหรับยานยนต์ แต่ 13 ธ.ค. ที่ผ่านมา STARK ได้ประกาศยกเลิกสัญญาซื้อขายหุ้น โดยอ้างว่ามีการเปลี่ยนแปลงในเชิงลบหลายด้าน แต่เงินเพิ่มทุนกว่า 5,000 ล้านบาท ยืนยันไม่คืนให้ ผู้ซื้ออ้างเหตุผลว่าจะเก็บไว้ลงทุนในโครงการในอนาคตที่สร้างผลตอบแทนที่ดี ทำให้เกิดคำถามว่าเงินเพิ่มทุนจะนำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์หรือไม่ ? ส่งผลให้หุ้น STARK ถูกถล่มขายต่อเนื่อง

นอกจากนี้ บริษัทได้ออกหุ้นกู้ ครั้งที่ 2/65 โดยจะครบกำหนดไถ่ถอนปี 2567 มูลค่ารวมทั้งสิ้น 3.93 พันล้านบาท กำหนดวัตถุประสงค์การใช้เงินเพื่อชำระเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงิน และเป็นเงินทุนหมุนเวียนในกิจการ หรือชำระคืนหุ้นกู้เดิม หรือตั๋วแลกเงิน ซึ่งทั้งหมดมีกำหนดใช้เงินภายในปี 65 นั้น

แต่การประชุมคณะกรรมการบริษัท ครั้งที่ 8/65 มีมติอนุมัติการเพิกถอนสัญญาซื้อขายหุ้นโดยใช้สิทธิภายใต้สัญญา และกฎหมายกับบริษัท LEONI AG และ LEONI Bordnetz-Systeme GmbH ซึ่งมีผลกระทบกับแผนการนำเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ไปชำระคืนเงินกู้ยืมสถาบันการเงิน บริษัทจึงได้เร่งหารือกับสถาบันการเงินเกี่ยวกับแผนการใช้เงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ชุดดังกล่าวเพื่อชำระคืนเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงิน โดยการเจรจาเพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์และกรอบระยะเวลาการใช้เงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ดังกล่าวนั้นใช้ระยะเวลาเกินกว่าที่บริษัทคาดการณ์ไว้

ทั้งนี้ เพื่อให้การนำเงินที่ได้จากหุ้นกู้ได้ถูกใช้ตามวัตถุประสงค์ที่บริษัทได้ระบุไว้ ที่ประชุมบอร์ดครั้งที่ 9/65 เมื่อ 21ธ.ค.65 ได้มีมติอนุมัติการเปลี่ยนแปลงระยะเวลาการใช้เงินจากเดิมภายในปี 65 เป็นภายในปี 66

อย่างไรก็ตาม การที่บริษัทไม่ส่งงบการเงินปี 65 และกรรมการลาออกแบบชุดใหญ่ของ STARK เริ่มเกิดความสงสัยอะไรที่ซ้อนไว้กับหุ้นตัวดังกล่าว และหนักสุดหากไม่ส่งงบการเงินอีกรอบความเสี่ยงที่รออยู่ตรงหน้านักลงทุนอาจะสูญเงินลงทุนไปหรือไม่

ผู้ถือหุ้นเร่งขอความชัดเจน

บลจ.เกียรตินาคินภัทร หนึ่งในผู้ถือหุ้น STARK รายงานว่า ปัจจุบัน บลจ.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังร่วมกันพิจารณาในหลาย ๆ ประเด็นที่เกี่ยวกับ STARK รวมถึงแนวทางดำเนินการ เนื่องจากข้อมูลงบการเงิน ซึ่งเป็นข้อมูลสำคัญ ยังไม่สามารถออกมาได้ตามกำหนดเวลาเดิม

นอกจากนี้ บลจ. พยายามที่จะติดต่อ STARK เพื่อให้ได้ความชัดเจนมากขึ้น หากมีผลสรุปแล้ว จะได้แจ้งข้อมูลเพื่อเป็นประโยชน์ต่อไป

แหล่งข่าวในวงการ บลจ. กล่าวว่า บลจ.ที่ถือหุ้น STARK คงไม่สามารถทำอะไรในตอนนี้ เพราะติด SP ต้องรอวันส่งงบการเงินแต่เมื่อบริษัทไม่สามารถส่งงบการเงินได้ตามกำหนดเดิม และมีประเด็นอื่นๆ เพิ่มเติมในเชิงลบ จึงอยู่ระหว่างหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าจะมีแนวทางไหนให้บลจ.ดำเนินการได้หรือไม่ เช่น การฟ้องร้อง ทั้งนี้ บลจ.ยังคงต้องรอความชัดเจนจากทางบริษัทที่จะต้องชี้แจ้งด้วยเช่นกัน

หุ้น KBANK-SCB กอดคอร่วง

ความกังวลที่มีต่อหุ้น STARK ส่งผลให้ราคาหุ้นที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะ KBANK และ SCB ปรับตัวลดลงแรงในวานนี้(20เม.ย.) โดย KBANK ลดลงกว่า 4.18% มาปิดตลาดที่ระดับ 126 บาท หรือลดลง 5.50 บาท ส่วนหุ้น SCB ลดลง 0.75% มาปิดตลาดที่ 99.75 บาท หรือลดลง 0.75 บาท

นายกิจพณ ไพรไพศาลกิจ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บล.ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เปิดเผย กรุงเทพธุรกิจว่า กรณีหุ้น STARK ส่งผลกระทบต่อหุ้น SCB และ KBANK ปรับตัวร่วงลงมา เนื่องจากนักลงทุนกังวลต่อการคืนเงินกู้ของ STARK หลังจากที่ไม่สามารถส่งงบการเงินได้ตามกำหนดการ

ทั้งนี้ KBANK มีการปล่อยสินเชื่อให้ STARK ประมาณ 5,000 ล้านบาท ขณะที่ SCB มีการปล่อยสินเชื่อแก่ STARK ราว 2,000 -3,000 ล้านบาท หากสมุมติมีการผิดชำระหนี้ขึ้น ผู้ตรวจสอบบัญชีให้ตั้งสำรองทั้งหมดทันทีจะกระทบกำไรของ KBANK ประมาณ 47% ต่อประมาณการกำไรไตรมาส 1/66 ส่วน SCB คาดว่า จะเพิ่มความเสี่ยงด้านลบ 22% ให้กับประมาณการกำไร 1/66

นายณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด ให้ข้อมูลเพิ่มว่า ธนาคารพาณิชย์ที่มีความเกี่ยวข้องในการปล่อยกู้สินเชื่อให้กับ STARK คือ KBANK และ SCB ทำให้นักลงทุนเกิดความกังวล แต่ทั้งนี้ยังคงต้องรอดูข้อมูลจากผู้บริหารของ 2 ธนาคารอีกที ว่าในแง่ของตัวเลขต่าง ๆ นั้นอยู่ในระดับสูงขนาดไหน และในความเสี่ยงของ STARK ในช่วงถัดไป จะอยู่ในระดับแค่ไหน

ผู้บริหาร TOA ปัดเกี่ยวข้อง STARK

นอกจากนี้ยังพบว่าหุ้น บมจ.ทีโอเอ เพ้นท์(TOA) ระหว่างวันปรับตัวลดลงแรงกว่า 5% ก่อนรีบาวด์ขึ้นมาปิดตลาดที่ระดับ 29.50 บาท ลดลง 0.25 บาท หรือ 0.84% มูลค่าการซื้อขายรวมกว่า 138 ล้านบาท ขณะที่ผู้บริหารของ TOA ออกมาชี้แจงว่า ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องใดๆ กับหุ้น STARK

นายจตุภัทร์ ตั้งคารวคุณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทีโอเอ เพ้นท์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ TOA แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ว่า ตามที่เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2566 มีผู้ลงทุนสอบถามเข้ามายัง บริษัท ทีโอเอ เพ้นท์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เกี่ยวกับกรณีของบริษัท สตาร์ค คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK นั้น

บริษัทฯ ขอเรียนชี้แจงว่าบริษัทฯ ไม่มี หรือเคยมีความเกี่ยวข้องใด ๆ กับ STARK ทั้งในด้านการลงทุน การถือหุ้น หรือการร่วมบริหารงาน อย่างไรก็ดี แม้ว่ากรรมการของบริษัทฯ บางท่าน จะดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการ และผู้บริหารของ STARK การดำรงตำแหน่งดังกล่าวเป็นเรื่องส่วนตัวและไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับบริษัทฯ แต่อย่างใด

ทั้งนี้ บริษัทฯ ในฐานะบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้จัดให้มีระบบควบคุมภายในที่บริษัทฯ เชื่อว่าพอเพียงและมีประสิทธิภาพ เพื่อให้มั่นใจว่าการดำเนินการของบริษัทฯ เป็นไปตามกฎหมายและหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง โดยคณะกรรมการตรวจสอบของบริษัทฯ ได้กำกับดูแลกระบวนการตรวจสอบภายในอย่างใกล้ชิดและมีการประชุมร่วมกับฝ่ายตรวจสอบภายในของบริษัทฯ อย่างเป็นประจำทุกเดือน และประชุมร่วมกับผู้ตรวจสอบบัญชีทุกไตรมาสและปีบัญชี

นอกจากนี้ ผู้สอบบัญชีของบริษัทฯ ยังไม่มีหรือเคยมีความเห็นหรือข้อสังเกตด้านการควบคุมภายในหรือประเด็นใดที่อาจจะผลต่อสินทรัพย์และหนี้สินของบริษัทฯ อย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้บริษัทฯ สามารถนำส่งงบการเงินได้ตรงเวลาทุกไตรมาสและปีบัญชี