ค่าเงินบาทวันนี้ 18 ก.ย.66 ‘แข็งค่า’ ยังผันผวนตามดอลลาร์ - ราคาทอง - น้ำมัน

ค่าเงินบาทวันนี้ 18 ก.ย.66 ‘แข็งค่า’  ยังผันผวนตามดอลลาร์ - ราคาทอง - น้ำมัน

ค่าเงินบาทวันนี้ 18 ก.ย.66 เปิดตลาด “แข็งค่า”ที่ 35.69 บาทต่อดอลลาร์ “กรุงไทย” ชี้ผันผวนทิศทางของเงินดอลลาร์ และโฟลว์ธุรกรรมทองคำ แต่ยังเผชิญแรงกดดันการปรับขึ้นต่อเนื่องของราคาน้ำมันดิบ ทำให้ยังมีโอกาสอ่อนค่าได้ มองกรอบเงินบาทวันนี้ 35.40 - 36.00 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์  นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า "ค่าเงินบาทวันนี้" ที่ระดับ 35.69 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น” จากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้า ที่ระดับ  35.82 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 35.40 - 36.00 บาทต่อดอลลาร์ ส่วนกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.60 - 35.80 บาทต่อดอลลาร์

โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนวันศุกร์ของสัปดาห์ก่อนหน้า เงินบาทเคลื่อนไหวทยอยแข็งค่าขึ้น (แกว่งตัวในกรอบ 35.66 - 35.84 บาทต่อดอลลาร์) โดยมีจังหวะแข็งค่าขึ้น ตามการย่อตัวลงของเงินดอลลาร์ (โดยรวมเงินดอลลาร์เคลื่อนไหว sideway) และโฟลว์ขายทำกำไรทองคำ หลังราคาทองคำรีบาวด์ขึ้นทดสอบโซนแนวต้าน

สัปดาห์ที่ผ่านมา เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง จากภาพเศรษฐกิจสหรัฐ ที่ดูดีกว่าฝั่งยุโรป และความกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจยูโรโซน หลัง ECB เดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง +25bps

ค่าเงินบาทวันนี้ 18 ก.ย.66 ‘แข็งค่า’  ยังผันผวนตามดอลลาร์ - ราคาทอง - น้ำมัน

สำหรับ แนวโน้มค่าเงินบาท มองว่า เงินบาทมีโอกาสลุ้นทยอยกลับมาแข็งค่าขึ้นได้บ้าง หากตลาดกลับมาเชื่อว่าเฟดได้จบรอบการขึ้นดอกเบี้ยแล้ว อนึ่ง ปัจจัยกดดันฝั่งอ่อนค่ายังคงอยู่ โดยเฉพาะฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติที่ยังคงผันผวน และไม่แน่นอน อีกทั้ง หากราคาน้ำมันดิบปรับตัวขึ้นต่อเนื่องก็อาจยังเป็นปัจจัยกดดันเงินบาท จากความกังวลแนวโน้มดุลการค้า และดุลบัญชีเดินสะพัด

ในส่วนเงินดอลลาร์นั้น เรามองว่า เงินดอลลาร์อาจย่อตัวลงบ้าง หาก Dot Plot ใหม่ชี้ว่า เฟดได้จบรอบการขึ้นดอกเบี้ยแล้ว ทั้งนี้ เงินดอลลาร์อาจมีแรงหนุนอยู่ หากตลาดยังคงกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจยุโรป จากการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยของ BOE และ ECB ทั้งนี้ ควรระวังความผันผวนของเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ในช่วงทยอยรับรู้ผลการประชุม BOJ ที่อาจส่งผลต่อเงินดอลลาร์ได้

เราคงคำแนะนำว่า ในช่วงนี้ ตลาดการเงินยังอยู่ในช่วงเผชิญความผันผวนสูง จากทั้งความไม่แน่นอนของทิศทางนโยบายการเงิน ความกังวลแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน ทำให้เราคงคำแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และนอกเหนือจากการใช้เครื่องมือดังกล่าว การเลือกทำธุรกรรมในสกุลเงินท้องถิ่น (Local Currency) ก็เป็นอีกแนวทางในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่น่าสนใจ ซึ่งผู้ประกอบการควรเปรียบเทียบต้นทุนในการทำธุรกรรม และแผนการป้องกันความเสี่ยงก่อนตัดสินใจทุกครั้ง

ในสัปดาห์นี้ เรามองว่า ควรจับตา รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญ อาทิ ดัชนี PMI ของบรรดาประเทศเศรษฐกิจหลัก และรอลุ้นผลการประชุมบรรดาธนาคารกลางหลัก (เฟด, BOE และ BOJ) ซึ่งจะมีไฮไลต์สำคัญอยู่ที่ Dot Plot ใหม่ของเฟด

มุมมองเศรษฐกิจทั่วโลก

▪ ฝั่งสหรัฐ - เราประเมินว่า ในการประชุม FOMC ของเฟดในสัปดาห์นี้ เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 5.25 - 5.50% อย่างไรก็ดี ไฮไลต์สำคัญจะอยู่ที่ การปรับคาดการณ์เศรษฐกิจ และคาดการณ์แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Dot Plot) โดยเรามองว่า แนวโน้มการชะลอตัวลงต่อเนื่องของอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอาจทำให้เฟดปรับลดคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core PCE ลงบ้างในปีนี้ และปีหน้า แต่การปรับตัวขึ้นของราคาพลังงานในช่วงที่ผ่านมาอาจทำให้เฟดคงคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไป หรือปรับขึ้นเล็กน้อยในปีนี้ ขณะเดียวกัน รายงานข้อมูลเศรษฐกิจล่าสุดที่ยังคงสะท้อนภาพเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งกว่าคาด อาจทำให้เฟดไม่ได้ปรับเปลี่ยนมุมมองต่อแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจ ทั้งนี้ เราประเมินว่า ในส่วนของ Dot Plot ใหม่ อาจสะท้อนว่า เฟดได้จบรอบการขึ้นดอกเบี้ยไปแล้ว ตามแนวโน้มการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในส่วนการจ้างงาน ซึ่งล่าสุดอาจได้รับผลกระทบจากการหยุดงานประท้วงของสหภาพแรงงานยานยนต์ (United Auto Workers:UAW) อีกทั้งยังมีความเสี่ยงที่รัฐบาลสหรัฐ อาจเผชิญภาวะ Government Shutdown ในช่วงปลายปีได้ ทั้งนี้ เราไม่ปิดโอกาสที่ Dot Plot ใหม่จะยังคงชี้ว่า เฟดมีโอกาสขึ้นดอกเบี้ยต่อได้ 1 ครั้งในปีนี้ ซึ่งจะไม่ต่างจาก Dot Plot ก่อนหน้า เนื่องจากการประท้วงของUAW หากประสบความสำเร็จก็อาจยิ่งทำให้อัตราเงินเฟ้อชะลอลงช้า ตามการปรับเพิ่มขึ้นค่าแรง โดยเฉพาะในช่วงที่ราคาพลังงานก็มีแนวโน้มปรับตัวขึ้น อย่างไรก็ดี เรามองว่า หาก Dot Plot ใหม่ ไม่ได้ชี้ว่า เฟดพร้อมขึ้นดอกเบี้ยมากกว่า 1 ครั้ง ในปีนี้ และลดดอกเบี้ยลง -1% ตามที่ประเมินไว้ใน Dot Plot ครั้งก่อน เงินดอลลาร์ก็อาจไม่ได้แข็งค่าขึ้นมากนักหรืออาจทรงตัว sideway และนอกจากผลการประชุม FOMC ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต และภาคการบริการ (S&P Manufacturing & Services PMIs) เดือนกันยายน ที่อาจยังคงสะท้อนภาพเศรษฐกิจสหรัฐ ที่ไม่ได้ชะลอตัวลงหนักมาก 

▪ ฝั่งยุโรป – ตลาดประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อ CPI ของอังกฤษในเดือนสิงหาคม อาจเร่งขึ้นสู่ระดับ 7.0% ตามการปรับตัวขึ้นของราคาพลังงาน ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core CPI ที่ไม่รวมผลของราคาอาหารและพลังงาน อาจชะลอลงเล็กน้อยสู่ระดับ 6.8% ซึ่งภาพดังกล่าว กอปรกับการเติบโตของค่าจ้าง (Wage growth) ที่รายงานในสัปดาห์ก่อนยังคงอยู่ในระดับสูงกว่า +8.5%y/y ทำให้ เราประเมินว่า ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) จะเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ย+25bps สู่ระดับ 5.50% อย่างไรก็ดี ผู้เล่นในตลาดได้ประเมินว่า BOE อาจเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อในการประชุมครั้งนี้ (โอกาสราว 80%) ทำให้ประเด็นสำคัญจะอยู่ที่ การส่งสัญญาณของ BOE ว่าพร้อมเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อหรือไม่ และ BOE มีมุมมองต่อแนวโน้มเศรษฐกิจอย่างไร หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจในช่วงนี้ยังคงไม่สดใส โดยเฉพาะในฝั่งการจ้างงาน อีกทั้ง รายงานข้อมูลเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้ อย่าง ดัชนี PMI ภาคการผลิต และภาคการบริการ เดือนกันยายน ก็อาจยิ่งชี้ว่า เศรษฐกิจอังกฤษ (รวมถึงยูโรโซน) มีแนวโน้มชะลอตัวลงมากขึ้น

▪ ฝั่งเอเชีย – ไฮไลต์สำคัญจะอยู่ที่ผลการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) โดยเราคาดว่า BOJ อาจคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ -0.10% และยังคงใช้นโยบาย Flexible Yield Curve Control อย่างไรก็ดี การอ่อนค่าต่อเนื่องของเงินเยนญี่ปุ่นกอปรกับแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อที่ยังคงอยู่ในระดับสูง (ตลาดคาดอัตราเงินเฟ้อ CPI ญี่ปุ่นในเดือนสิงหาคม อาจอยู่ที่ระดับ 3.0% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อ Core-Core CPI ที่ไม่รวมผลของราคาอาหารและพลังงาน จะยังคงสูงกว่า 4.3%) อีกทั้งการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อของเฟดก็ยังมีความไม่แน่นอน อาจทำให้ผู้ว่าฯ BOJ ส่งสัญญาณในลักษณะที่มีความ hawkish มากขึ้น เพื่อลดแรงกดดันต่อเงินเยนญี่ปุ่นซึ่งจะช่วยชะลอการปรับตัวขึ้นของอัตราเงินเฟ้อได้บ้าง นอกจาก BOJ ตลาดยังมองว่า บรรดาธนาคารกลางอื่นๆ อาจเลือกที่จะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับเดิมก่อน โดยธนาคารกลางไต้หวัน (CBC), ธนาคารกลางอินโดนีเซีย (BI) และ ธนาคารกลางฟิลิปปินส์ (BSP) อาจคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 1.875%, 5.75% และ 6.25% ตามลำดับ อย่างไรก็ดี เรามองว่า แม้ธนาคารกลางจีน(PBOC) จะคงอัตราดอกเบี้ย MLF 1 ปี ในสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่บรรดาธนาคารพาณิชย์ก็อาจลดอัตราดอกเบี้ยลูกหนี้ชั้นดี (LPR) ระยะ 1 ปี ลง -5bps สู่ระดับ 3.40% เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในส่วนของการบริโภค

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์