จับสัญญาณ ‘ดอลลาร์’ สิ้นสุดยุคกระทิง เตรียมเข้าสู่ยุคหมี?

จับสัญญาณ ‘ดอลลาร์’ สิ้นสุดยุคกระทิง เตรียมเข้าสู่ยุคหมี?

จับสัญญาณค่าเงินดอลลาร์ที่กำลังปรับตัวลดลงเรื่อย ๆ สะท้อนว่าภาวะขาขึ้นหรือ “ยุคกระทิง” ของดอลลาร์ได้สิ้นสุดแล้วหรือไม่ พร้อมเปิดมุมมองของตลาดทุนที่มีต่อนโยบายธนาคารกลางสหรัฐ

Key Points

  • ตลาดทุนคาดการณ์ว่า เฟดอาจปรับนโยบายเป็น “ลดดอกเบี้ย” ในช่วงปีหน้า
  • Goldman Sachs มองว่า ดอลลาร์จะอ่อนค่าลงจาก 1.12 ดอลลาร์ สู่ 1.15 ดอลลาร์ต่อ 1 ยูโรในปีหน้า และค่าเงินเยนจะแข็งขึ้นจาก 139 เยนเป็น 125 เยนต่อ 1 ดอลลาร์
  • ค่าเงินดอลลาร์สามารถแข็งค่าขึ้นใน 2 สถานการณ์ คือ เศรษฐกิจโลกกำลังอยู่ในความเสี่ยง และเศรษฐกิจสหรัฐเติบโตอย่างแข็งแกร่งจนทำให้ค่าเงินดอลลาร์แข็งขึ้นได้ 


ช่วงที่ผ่านมา ค่าเงินดอลลาร์ได้อ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง โดยดัชนีค่าเงินดอลลาร์ (US Dollar Index) ของวันที่ 19 ก.ค. 2566 ได้แตะระดับที่ 99.974 ต่ำที่สุดในรอบมากกว่า 1 ปีนับตั้งแต่เดือน เม.ย. ปีที่แล้ว จนทำให้บรรดานักวิเคราะห์ต่างคาดการณ์ว่า “ภาวะกระทิง” ของค่าเงินดอลลาร์ใกล้มาถึงจุดสิ้นสุดแล้วหรือไม่ และหลังจากนี้ ค่าเงินดอลลาร์อาจจะเคลื่อนไหวสู่ทิศทางขาลง

จับสัญญาณ ‘ดอลลาร์’ สิ้นสุดยุคกระทิง เตรียมเข้าสู่ยุคหมี? - ค่าเงินดอลลาร์กำลังทดสอบแนวรับ (เครดิต: TradingView) -

ขณะเดียวกัน เงินเฟ้อสหรัฐประจำเดือน มิ.ย. อยู่ที่ 3% ซึ่งต่ำที่สุดในรอบกว่า 2 ปี นับตั้งแต่เดือน มี.ค. 2564 ที่แตะ 2.6% และเมื่อเทียบเงินเฟ้อกับเดือนก่อนหน้า เงินเฟ้อทั่วไปของสหรัฐเพิ่มขึ้นเพียง 0.2% ต่ำกว่าตัวเลขที่คาดการณ์ไว้ที่ 0.3% สะท้อนทิศทางอันสดใสของเงินเฟ้อ ตลาดทุนจึงคาดหวังว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะผ่อนคลายนโยบายทางการเงินมากขึ้น 

ดังนั้น “ตัวเลขเงินเฟ้อที่ดีขึ้น” กับ “การอ่อนค่าของดอลลาร์” จะเกี่ยวข้องกันหรือไม่ และสาเหตุอะไรที่ทำให้ค่าเงินดอลลาร์อ่อนตัวลง

สำหรับสาเหตุที่ค่าเงินดอลลาร์กลับตัวเป็นอ่อนค่าลง หลังจากที่เคยแข็งค่าขึ้นมาก่อน เป็นเพราะเงินเฟ้อสหรัฐมีแนวโน้มลดลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น จนอาจทำให้เฟด “หยุดขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย” ในเร็ว ๆ นี้ และตลาดยังมองว่าเฟดอาจปรับนโยบายเป็น “ลดดอกเบี้ย” ในช่วงปีหน้า

สตีเวน บาร์โรว์ (Steven Barrow) หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์ของธนาคาร Standard กล่าวเมื่อวันศุกร์ (14 ก.ค.) ที่ผ่านมาว่า ดอลลาร์กำลังเข้าสู่ “แนวโน้มขาลง” เป็นเวลาอีกหลายปี จากการที่นโยบายเฟดเริ่มเข้าสู่วัฏจักรผ่อนคลายทางการเงิน

  • ผลกระทบจากดอลลาร์อ่อนค่า

สำหรับผลกระทบจากค่าเงินดอลลาร์ที่ปรับตัวลง จากการที่ตลาดทุนต่างเก็งว่า เฟดอาจหยุดการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในเร็ว ๆ นี้ สามารถส่งผลดังต่อไปนี้

1. ช่วยลดต้นทุนสินค้านำเข้าจากสหรัฐ โดยก่อนหน้านั้น การที่ค่าเงินสหรัฐแข็ง ทำให้สินค้าจากสหรัฐดูราคาสูงในสายตาผู้นำเข้า แต่เมื่อค่าเงินดอลลาร์อ่อนลง ก็ทำให้สินค้าจากสหรัฐในสายตาผู้นำเข้า มีราคาต่ำลง

2. ช่วยทำให้ค่าเงินประเทศอื่นแข็งค่ามากขึ้น เมื่อเทียบกับค่าเงินสหรัฐ โดยเฉพาะค่าเงินเยนที่อ่อนค่าลงมาเป็นเวลาหลายเดือน ต่อไปจะมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์ที่อ่อนตัวลง

3. ช่วยกระตุ้นยอดส่งออกสินค้าจากสหรัฐไปสู่ตลาดยุโรป เอเชียและที่อื่น ๆ มากขึ้น เนื่องจากสินค้าสหรัฐจะมีราคาถูกลงเมื่อแปลงเป็นค่าเงินของประเทศผู้นำเข้า

4. ช่วยให้ความต้องการซื้อสินค้าโภคภัณฑ์ที่ซื้อขายเป็นสกุลดอลลาร์อย่างน้ำมันและทองคำเพิ่มขึ้นด้วย

ปีเตอร์ วาสซัลโล (Peter Vassallo) ผู้จัดการกองทุนของบริษัท BNP Paribas Asset Management ระบุว่า สำหรับทางข้างหน้าที่เป็นไปได้มากที่สุดของค่าเงินดอลลาร์ คือ ดอลลาร์จะยังคงอ่อนตัวลงในหลายเดือนข้างหน้า ขณะเดียวกัน เขายังเก็งว่า ค่าเงินดอลลาร์ออสเตรเลีย ดอลลาร์นิวซีแลนด์และโครนนอร์เวย์จะแข็งค่าเพิ่มขึ้น

ส่วน ไซมอน ไวท์ (Simon White) นักกลยุทธ์ด้านภาพเศรษฐกิจใหญ่ของสำนักข่าว Bloomberg มองว่า แนวโน้มขาลงค่าเงินดอลลาร์จะดำเนินไปพร้อมกับเส้นอัตราผลตอบแทนที่แท้จริงของพันธบัตรระยะสั้นและระยะยาวเริ่มมีตัวเลขผลตอบแทนที่ใกล้เคียงกัน 

จับสัญญาณ ‘ดอลลาร์’ สิ้นสุดยุคกระทิง เตรียมเข้าสู่ยุคหมี? - เงินดอลลาร์ (เครดิต: Freepik) -

  • การเก็งค่าเงิน มาพร้อมความเสี่ยง

อย่างไรก็ตาม ตลอดประวัติศาสตร์ยาวนานที่ผ่านมา มีนักลงทุนหลายคนที่ขาดทุนจากการเก็งว่าค่าเงินดอลลาร์จะร่วงลงเมื่อเฟดจะประกาศลดดอกเบี้ย ซึ่งเหตุการณ์ล่าสุดคือช่วงต้นปีนี้ เมื่อบรรดานักลงทุนต่างคาดการณ์ว่า เฟดจะพักการขึ้นดอกเบี้ย และค่าเงินดอลลาร์จะปรับตัวลง แต่จากตัวเลขเศรษฐกิจที่ออกมา ทำให้เฟดไม่สามารถหยุดการขึ้นดอกเบี้ยได้ และทำให้ดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเรื่อย ๆ แทน

ความเสี่ยงของการเก็งค่าเงินดอลลาร์คือ แนวโน้มของเฟดที่อาจพลิกเป็นการเข้มงวดในนโยบายการเงินมากขึ้นในเดือนนี้ หากตัวเลขทางเศรษฐกิจไม่เป็นไปตามความคาดหวังของเฟด

จอร์จินา เทย์เลอร์ (Georgina Taylor) จากบริษัทบริหารสินทรัพย์ Invesco ระบุว่า เธอยังไม่ได้ลดการถือเงินดอลลาร์ โดยมองว่าศึกการปราบเงินเฟ้อสหรัฐยังคงไม่จบลงง่าย ๆ ที่จะทำให้เฟดประกาศลดดอกเบี้ยในเร็ว ๆ นี้ และย้ำว่า “แม้อัตราดอกเบี้ยช่วงนี้จะผันผวน แต่ฉันก็จะยังไม่ทิ้งเงินดอลลาร์”

ขณะที่ไมเคิล คาฮิลล์ (Michael Cahill) จากธนาคาร Goldman Sachs มองว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ จะเป็นปัจจัยหนุนให้ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าน้อยลงกว่าช่วงวัฏจักรครั้งก่อน อย่างไรก็ตาม มีปัจจัยหนึ่งที่อาจกดดันค่าเงินดอลลาร์ให้ต่ำลง คือ การที่เฟดยุติการสู้เงินเฟ้อหรือผ่อนคลายนโยบายการเงิน

ขณะที่ธนาคารกลางยุโรปขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเชิงรุก ซึ่งคาฮิลล์คาดว่า อาจทำให้เงินทุนไหลออกจากสหรัฐไปสู่ประเทศที่มีดอกเบี้ยขาขึ้นอย่างยุโรปแทน จึงทำให้ค่าเงินสหรัฐอ่อนลงและค่าเงินยุโรปแข็งขึ้น

นอกจากนี้ Goldman Sachs คาดการณ์ว่า ดอลลาร์จะอ่อนค่าลงจาก 1.12 ดอลลาร์ สู่ 1.15 ดอลลาร์ต่อ 1 ยูโรในปีหน้า และค่าเงินเยนจะแข็งขึ้นจาก 139 เยนเป็น 125 เยนต่อ 1 ดอลลาร์

ปาเรช อุปัธยา (Paresh Upadhyaya) ผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์ค่าเงินที่บริษัทบริหารสินทรัพย์ Amundi ให้ความเห็นว่า จากการประเมินมูลค่าเงินดอลลาร์ ดอลลาร์มีมูลค่าสูงเกินพื้นฐานมากเกินไป เขาเชื่อว่า ขณะนี้ตลาดกำลังปรับลดมูลค่าดอลลาร์ลง ขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐกำลังมีปัญหาจากภาวะขาดดุลการคลัง และขาดดุลบัญชีเดินสะพัดในเวลาเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม อุปัธยามีอีกทฤษฎีหนึ่ง เรียกว่า “ทฤษฎีดอลลาร์ยิ้ม” (Dollar Smile Theory) ที่ระบุว่า ค่าเงินดอลลาร์สามารถแข็งค่าขึ้นใน 2 สถานการณ์ สถานการณ์แรก คือ เศรษฐกิจโลกกำลังอยู่ในความเสี่ยง ผู้คนจึงหันมาถือเงินดอลลาร์เพื่อเป็นหลุมหลบภัย

อีกสถานการณ์หนึ่ง คือ เศรษฐกิจสหรัฐเติบโตอย่างแข็งแกร่งจนทำให้ค่าเงินดอลลาร์แข็งขึ้นตาม

หากสหรัฐสามารถ Soft Landing หรือประคองเศรษฐกิจให้ชะลอตัวไปสู่เป้าหมายเงินเฟ้อที่ 2% ได้สำเร็จและไม่เข้าสู่ภาวะถดถอย จะเป็นผลดีที่สุดต่อเศรษฐกิจสหรัฐและค่าเงินดอลลาร์

อ้างอิง: bloombergReuters