'เงินดอลลาร์-โหวตเลือกนายกฯ' ฉุด 'เงินบาท' ผันผวนสุด ในภูมิภาคเอเชีย

'เงินดอลลาร์-โหวตเลือกนายกฯ' ฉุด 'เงินบาท' ผันผวนสุด ในภูมิภาคเอเชีย

สัปดาห์ที่ผ่านมา 17-21 ก.ค.66 "ค่าเงินบาท" แข็งค่าสูงสุุดรอบ 2 เดือนที่ 34.04 บาทต่อดอลลาร์ พลิกอ่อนค่าลงปิดตลาดวานนี้ ที่ 34.40 บาทต่อดอลลาร์ ผันผวนสุดอันดับ1ทั้งฝั่งอ่อนค่า-แข็งค่า เทียบภูมิภาค เหตุเงินดอลลาร์-โหวตเลือกนายกฯ กดดัน และมีแนวโน้ม แข็งค่า ถึงสิ้นปีนี้

ในสัปดาห์ที่ผ่านมานี้ 17-21 ก.ค. 66 สถานการณ์ "ค่าเงินบาท" ยังคง"ผันผวน" โดยเฉพาะในช่วงที่มีการโหวตเลือกนายกฯ  ที่ผ่านมาช่วงก่อนหน้า 1 วันและวันโหวตเลือกนายกฯ รอบ2 เมื่อวันที่ 19 ก.ค.66  เริ่มกลับมาอยู่ฝั่งแข็งค่าทะลุ 34 บาทต่อดอลลาร์ 

ปัจจัยที่ทำให้ "เงินบาท" แข็งค่าสูงสุดในรอบ 2 เดือน ที่ระดับ 34.04 บาทต่อดอลลาร์ และ ในระหว่างวันแข็งขึ้นต่อเนื่อง นั้น เป็นผลมาจากการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ หลังตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐหลายๆตัวออกมาแย่กว่าที่ตลาดคาดการณ์เอาไว้ และที่สำคัญ การโหวตเลือกนายกฯ รอบ 2 ยังคงทำให้ค่าเงินบาทเผชิญความผันผวน 

ขณะที่ สิ้นสุดสัปดาห์นี้  21 ก.ค.66  "เงินบาท"  ปิดตลาดที่ระดับ 34.40 บาทต่อดอลลาร์ "พลิกอ่อนค่าลง" จากระดับปิดตลาดในวันก่อนหน้าที่ 34.04 บาทต่อดอลลาร์  

"เงินบาทอ่อนค่า" ลงตามทิศทางของสกุลเงินอื่นๆในเอเชีย ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ มีแรงหนนให้ฟื้นตัวจากข้อมูลจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ที่ปรับตัวลง ซึ่งสะท้อนสัญญาณที่แข็งแกร่งของตลาดแรงงานสหรัฐฯ

 


 
 

ลองมาดูกันว่า ค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่นในภูมิภาคเอเชีย เป็นอย่างไรกันบ้าง  วานนี้ (21 ก.ค.66)  ข้อมูลจาก ธนาคารกรุงไทย  พบว่า  ค่าเงินบาท ปรับตัวอ่อนค่า  -1.3%  เท่ากับเงินเยน ญี่ปุ่น  เป็นอันดับ 1 เมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่นในภูมิภาคเอเชีน  ขณะที่ เงินวอน เกาหลีใต้  อ่อนค่าตามมาเป็นอันดับ 2 แข็งที่ -0.5% และ เงินเปโซ ฟิลิปินส์ อ่อนค่าเท่ากับ เงินริงกิต มาเลเซีย  แข็งค่าเป็นอันดับ 3 ที่ -0.4% ตามลำดับ

นับจากต้นปีนี้ถึงวานนี้ "เงินบาท"  แข็งค่าที่ระดับ 0.5%  เป็นอันดับ 5  เมื่อเทียบกับสกุลอื่นในภูมิภาคเอเชีย  โดยค่าเฉลี่ยของบรรดานักวิเคราะห์ตลาดการเงินในประเทศไทย  มองว่า สิ้นปี 2566 เงินบาทยังแข็งค่าที่ระดับ 1.9% หรือ 33.80 บาทต่อดอลลาร์จากปัจจุบัน ถือว่า "เงินบาทไม่แข็งค่ามากนัก" เป็นอันดับ 4 เมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่นในภูมิภาค 

"กาญจนา โชคไพศาลศิลป์"  ผู้บริหารงานวิจัย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย  มองว่า  กรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในสัปดาห์หน้า (24-28 ก.ค.66) คาดไว้ที่ 33.80-34.70 บาทต่อดอลลาร์

ขณะที่ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ผลการประชุมเฟด (25-26 ก.ค.) ECB (27 ก.ค.) และ BOJ (27-28 ก.ค.) สถานการณ์การเมืองไทย และสัญญาณเงินทุนต่างชาติ

ส่วนตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน ยอดขายบ้านใหม่ ยอดทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขาย และ PCE/Core PCE Price Indices เดือนมิ.ย. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนก.ค. ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 2/66 (adv.) และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์

"รุ่ง สงวนเรือง"  ผู้อำนวยการ ฝ่ายส่งเสริมธุรกิจโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา มองว่า  ในวันที่เงินบาทแข็งค่าสุดในรอบ 2 เดือน และอันดับ 1 เมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่นมภูมิภาคเอเชีย จากความหวังภาพทางการเมืองน่าจะชัดเจนมากขึ้นภายในสัปดาห์นี้ ส่งผลบวกต่อบรรยากาศการลงทุน ถ้าปลดล็อคความไม่แน่นนอนได้

แนวโน้มค่าเงินบาทในระยะสั้น กรุงศรี ให้น้ำหนักกับการคาดการณ์ดอกเบี้ยสหรัฐ มองว่าใกล้สุดทางขึ้นดอกเบี้ย กดดันดอลลาร์อ่อนค่า ในส่วนความชัดเจนของการเมืองในประเทศเป็นแรงเสริม ทำให้สิ้นปีนี้ ยังมองเงินบาทแข็งค่าที่ 33.75 บาทต่อดอลลาร์ ตามเดิมก่อน

 

"พูน พานิชพิบูลย์"  นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย มองว่า แนวโน้มค่าเงินบาทหลังจากนี้ เรายังคงมุมมองเดิมว่า เงินบาทจะทยอยแข็งค่าขึ้น จากปัจจัยหนุน ทั้ง ปัจจัยภายนอก คือ การอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ หลังเฟดจบรอบการขึ้นดอกเบี้ย คาดว่า เฟดจะจบรอบการขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมเดือนก.ค.

และปัจจัยภายใน อย่าง แนวโน้มการฟื้นตัวต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยวไทย คาดจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติราว 29-30 ล้านคน ที่หนุนให้ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลซึ่งดีขึ้นชัดเจนจากปีก่อนหน้าที่ขาดดุล

รวมถึง ทิศทางฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติที่จะเริ่มกลับมาซื้อสินทรัพย์ไทยมากขึ้น หากสถานการณ์การเมืองไทยมีความชัดเจนมากขึ้น หรือมีการจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ

    โดยเราประเมินว่า ค่าเงินบาทมีโอกาสแข็งค่าสู่ระดับ 32.50 บาทต่อดอลลาร์ในช่วงปลายปีได้ แต่ควรระวังความผันผวนในช่วงปลายปี เนื่องจากหากเศรษฐกิจสหรัฐฯ และเศรษฐกิจหลักอื่นๆ (ยูโรโซนและอังกฤษ) มีความเสี่ยงเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่ชัดเจนขึ้น ก็อาจทำให้ตลาดการเงินปิดรับความเสี่ยงชัดเจน ซึ่งในภาวะดังกล่าวเงินดอลลาร์มักจะแข็งค่าขึ้นในระยะสั้น กดดันให้เงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าลงได้บ้าง

นอกจากนี้ ปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามใกล้ชิด คือ แนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจจีน ซึ่งหากแย่กว่าคาดและทางการจีนไม่ได้มีการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมตามที่ตลาดคาดหวัง เรามองว่า ตลาดจะกลับมาเทขายสินทรัพย์ฝั่ง EM Asia กดดันให้ สกุลเงินฝั่งเอเชียอ่อนค่าได้มากกว่าคาด

"พิชัย ยอดพฤติการ" ผู้อำนวยการอาวุโส บล.กสิกรไทย  มองกว่า จังหวะที่ค่าเงินบาทพลิกแข็งค่า มีปัจจัยทางเทคนิคจากดอลลาร์อินเด็กซ์ที่อ่อนค่าลงตั้งแต่ต้นเดือนที่ผ่านมา จากปัจจัยตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐที่ปรับลดลง ทำให้ช่วง 2-3 วันนี้ที่ดอลลาร์อินเด็กซ์อยู่ระดับทรงตัวที่ 99.8 

แต่ทั้งนี้  ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นได้ ส่วนหนึ่งมาจากนักลงทุนต่างชาติซื้อสะสมหุ้นไทย และส่วนหนึ่งมีการแลกเงินรอไว้ลงทุน หลังการได้นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 เข้ามาเป็นรัฐบาลบริหารประเทศ คาดว่า น่าแข็งค่าขึ้นต่อมาที่แนวรับ 34.00 บาทต่อดอลลาร์