ค่าเงินบาทวันนี้ 15 ก.ย.66 ‘ทรงตัว’ ยังผันผวนตามดอลลาร์-ราคาทอง-น้ำมัน

ค่าเงินบาทวันนี้ 15 ก.ย.66 ‘ทรงตัว’  ยังผันผวนตามดอลลาร์-ราคาทอง-น้ำมัน

ค่าเงินบาทวันนี้ 15 ก.ย.66 เปิดตลาด “ทรงตัว”ที่ 35.79 บาทต่อดอลลาร์ “กรุงไทย” ชี้ผันผวนทิศทางของเงินดอลลาร์และโฟลว์ธุรกรรมทองคำ รวมถึงเผชิญแรงกดดันการปรับขึ้นต่อเนื่องของราคาน้ำมันดิบ ทำให้ยังมีโอกาสอ่อนค่าได้ มองกรอบเงินบาทวันนี้ 35.65-35.85บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์  นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า  ค่าเงินบาทเปิดวันนี้ ที่ระดับ  35.79 บาทต่อดอลลาร์ “ทรงตัวไม่เปลี่ยนแปลง” จากระดับปิดวันก่อนหน้า มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ35.65-35.85 บาทต่อดอลลาร์ โดยในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบ sideways (แกว่งตัวในช่วง35.72-35.83 บาทต่อดอลลาร์) โดยผันผวนไปตามทิศทางของเงินดอลลาร์และโฟลว์ธุรกรรมเกี่ยวกับทองคำ 

โดยเงินบาทมีจังหวะผันผวนอ่อนค่าไปตามการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยรวมออกมาดีกว่าคาด อย่างไรก็ดี การรีบาวด์ขึ้นบ้างของราคาทองคำ รวมถึงแรงขายเงินดอลลาร์ของผู้เล่นบางส่วนในตลาด ทั้งผู้ส่งออกและผู้เล่นที่มีสถานะ Short THB (ขายทำกำไร) ได้ช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาทให้อยู่ในโซนแนวต้าน 35.80-35.85 บาทต่อดอลลาร์ที่เราได้ประเมินไว้

 

ค่าเงินบาทวันนี้ 15 ก.ย.66 ‘ทรงตัว’  ยังผันผวนตามดอลลาร์-ราคาทอง-น้ำมัน

สำหรับ แนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า ปัจจัยกดดันเงินบาทฝั่งอ่อนค่ายังคงมีอยู่ โดยเฉพาะการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ท่ามกลางภาพรวมเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่แม้ว่าจะส่งสัญญาณการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจ แต่ก็ยังคงออกมาดูดีกว่าประเทศอื่นๆ 

นอกจากนี้ ในช่วงระหว่างวัน เงินบาทยังคงเผชิญแรงกดดันจากการปรับตัวขึ้นต่อเนื่องของราคาน้ำมันดิบ และอาจมีโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัวเข้ามากดดันเงินบาทได้บ้าง ขณะเดียวกัน การอ่อนค่าลงในช่วงที่ผ่านมาของเงินเยนญี่ปุ่น ก็อาจหนุนให้ผู้เล่นในตลาด อย่าง บริษัทข้ามชาติญี่ปุ่น ทยอยเข้าซื้อเงินเยนได้บ้างเช่นกัน

อนึ่ง เรามองว่า ควรจับตาและระวังความผันผวนในตลาดการเงินฝั่งเอเชียในช่วงทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของจีน โดยหากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจจีนส่งสัญญาณว่าเศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นและช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนได้ เรามองว่า ค่าเงินหยวนของจีน (CNY) ก็มีโอกาสกลับมาแข็งค่าขึ้นได้บ้าง ซึ่งจะส่งผลดีต่อบรรดาสกุลเงินฝั่งเอเชีย และอาจช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาทได้

แม้เราประเมินว่า เงินบาทอาจมีแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าอยู่บ้าง แต่การอ่อนค่าอาจจำกัดอยู่ในช่วง 35.80-35.85 บาทต่อดอลลาร์ แต่ก็มีโอกาสที่จะเห็นเงินบาททดสอบโซนแนวต้าน 36 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นจุดอ่อนค่าสุดที่เราเคยประเมินไว้ในวันที่ 28 มิถุนายน หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจจีนออกมาแย่กว่าคาด กดดันบรรยากาศในตลาดการเงินฝั่งเอเชีย ขณะที่รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงออกมาแข็งแกร่ง ส่วนโซนแนวรับ เรามองว่า 35.50-35.60 บาทต่อดอลลาร์ อาจยังเป็นแนวรับแรกของเงินบาทในระยะสั้นนี้

อนึ่ง ในช่วงนี้ เรามองว่า ทุกสินทรัพย์ยังอยู่ในช่วงเผชิญความผันผวนสูง จากทั้งความไม่แน่นอนของทิศทางนโยบายการเงิน ความกังวลแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน ทำให้เราคงคำแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนและนอกเหนือจากการใช้เครื่องมือดังกล่าว การเลือกทำธุรกรรมในสกุลเงินท้องถิ่น (Local Currency) ก็เป็นอีกแนวทางในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่น่าสนใจ ซึ่งผู้ประกอบการควรเปรียบเทียบต้นทุนในการทำธุรกรรมและแผนการป้องกันความเสี่ยงก่อนตัดสินใจทุกครั้ง

ตลาดหุ้นสหรัฐฯ กลับมาอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยงอีกครั้ง หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯล่าสุด ทั้งยอดค้าปลีก (Retail Sales) และยอดผู้ขอรับสวัสดิการ (Jobless Claims) ต่างออกมาดีกว่าคาด ทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างคาดหวังว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจไม่ได้ชะลอตัวลงหนัก หรือ เสี่ยงเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ขณะเดียวกัน รายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าวก็ไม่ได้สะท้อนภาวะเศรษฐกิจขยายตัวร้อนแรง จนทำให้เฟดจำเป็นต้องเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยชัดเจน (สะท้อนผ่านมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ให้โอกาสเฟดขึ้นดอกเบี้ยต่อราว 36% จาก CME FedWatch Tool) นอกจากนี้ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มเทคฯ หลัง หุ้น ARM (ผู้ผลิตและออกแบบชิพ) ปรับตัวขึ้นร้อนแรง +25% ในการซื้อขายวันแรก ทำให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาดราว+0.84% 

ตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี stoxx600 พลิกกลับมาปรับตัวขึ้น +1.52% หนุนโดยการปรับตัวขึ้นของหุ้นเกือบทุกกลุ่มอุตสาหกรรม หลังผู้เล่นในตลาดประเมินว่า ธนาคารกลางยุโรป (ECB) อาจจบรอบการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายแล้วหลังจากที่ล่าสุด ECB ได้ปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Deposit Facility Rate) ขึ้น +25bps สู่ระดับ 4.00% เนื่องจากภาพเศรษฐกิจยูโรโซนโดยรวมยังคงซบเซาอยู่ อีกทั้งอัตราเงินเฟ้อก็มีแนวโน้มชะลอตัวลงมากขึ้นและอาจกลับเข้าสู่เป้าหมายของ ECB ได้

ตลาดบอนด์ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ล่าสุดที่ออกมาดีกว่าคาด และภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงิน ได้หนุนให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ แม้จะเคลื่อนไหวผันผวน แต่ก็สามารถทยอยปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 4.28% ได้อีกครั้ง สอดคล้องกับมุมมองของเราที่ประเมินว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจยังคงแกว่งตัว sideway และถ้าหากจะลุ้นให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จะกลับมาปรับตัวลดลงได้ชัดเจน อาจต้องรอจับตา Dot Plot ใหม่ของเฟดในการประชุมเฟดสัปดาห์หน้า    

ตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ ปรับตัวแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก หนุนโดยรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาดีกว่าคาด และทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจสหรัฐฯนั้น “ดูดีกว่า” ประเทศอื่นๆ ขณะเดียวกัน มุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ประเมินว่า ECB ได้จบรอบการขึ้นดอกเบี้ยไปแล้วนั้น ได้กดดันให้เงินยูโร (EUR) อ่อนค่าลงหลุดโซนแนวรับแรกที่เราประเมินไว้ ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 105.4 จุด (กรอบ 104.6-105.5 จุด) 

ราคาทองคำ แม้ว่า ราคาทอง (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) จะเผชิญแรงกดดันจากการปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ แต่ผู้เล่นในตลาดบางส่วนก็รอเข้าซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว ตามมุมมองที่ส่วนใหญ่คาดว่า บรรดาธนาคารกลางหลักใกล้ถึงจุดยุติการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายแล้ว ทำให้ราคาทองคำรีบาวด์ขึ้นจากโซน 1,922 ดอลลาร์ต่อออนซ์ สู่ระดับ 1,932 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ได้อีกครั้ง 

สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญรายเดือนของจีน โดยบรรดานักวิเคราะห์ต่างมองว่าแม้ภาพรวมเศรษฐกิจจีนอาจยังไม่สดใสนัก แต่เริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัวที่ดีขึ้น หลังทางการจีนออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ สะท้อนผ่านมา ยอดค้าปลีก (Retail Sales) เดือนสิงหาคม ที่อาจขยายตัว +3.0%y/y ส่วนยอดผลผลิตอุตสาหกรรม (Industrial Production) ก็อาจโตได้ราว +3.8%y/y โดยเป็นการขยายตัวที่ดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ขณะที่ยอดการลงทุนสินทรัพย์ถาวร (Fixed Assets Investment) อาจขยายตัวในอัตราชะลอลงต่อเนื่อง+3.3%y/y จากปัญหาหนี้ในภาคอสังหาฯ ที่ยังน่าเป็นห่วงอยู่

ส่วนในฝั่งสหรัฐฯ เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตารายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯ อย่างใกล้ชิด อาทิดัชนีภาคการผลิตโดยเฟดนิวยอร์ก (NY Empire Manufacturing Index) และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค โดยมหาวิทยาลัยมิชิแกน (U of Michigan Consumer Sentiment) ซึ่งในรายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคนั้น ผู้เล่นในตลาดก็จะรอลุ้นว่า คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อระยะสั้นและระยะยาวจะมีการปรับเปลี่ยนอย่างไร