‘เงินบาท’ อ่อนค่าสุดรอบ 11 เดือน ส่อทำ ‘สถานะการคลังไทย’ เสี่ยง!?

‘เงินบาท’ อ่อนค่าสุดรอบ 11 เดือน ส่อทำ ‘สถานะการคลังไทย’ เสี่ยง!?

เมื่อ “เงินบาท” ทะลุ 37 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าที่สุดในรอบ 11 เดือน สิ่งนี้ทำให้ต้นทุนการกดราคาน้ำมันไม่ให้เกิน 30 บาท/ลิตรสูงขึ้น และอาจเพิ่มความเสี่ยงทางสถานะการคลังด้วย

Key Points

  • ปรากฏการณ์ “เงินบาทอ่อนค่า” มากที่สุดในรอบ 11 เดือนเช่นนี้ จะทำให้ “ต้นทุนการอุดหนุนพลังงาน” ของรัฐบาลไทยสูงขึ้นตามไปด้วย
  • ดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐอยู่ที่ 5.50% ขณะที่ดอกเบี้ยนโยบายไทยยังคงอยู่ที่ 2.50% ทำให้กระแสเงินไหลออกจากไทยไปสู่ประเทศที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า คือ สหรัฐ
  • ในปัจจุบัน ไทยมีหนี้สาธารณะต่อ GDP ราว 60% โดยมีกรอบเพดานหนี้สาธารณะต่อ GDP ของไทยอยู่ที่ 70% สะท้อนว่ามีพื้นที่สำหรับกู้อีกไม่มาก


ล่าสุด “เงินบาทอ่อนค่ามากที่สุดในรอบ 11 เดือน แตะที่ระดับ 37 บาทต่อ 1 ดอลลาร์ อันเกิดจากความแตกต่างที่สูงระหว่าง “ดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐ” ที่อยู่ในระดับสูง 5.50% กับ “ดอกเบี้ยนโยบายของไทย” ยังคงอยู่ที่ 2.50% ทำให้กระแสเงินไหลออกจากไทยไปสู่ประเทศที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า คือ สหรัฐ

นอกจากนี้ ปัจจัยดังกล่าว ยังส่งผลให้เช้าวันนี้ (3 ต.ค.) ดัชนีหุ้นไทยปรับตัวลดลงมาทำจุดต่ำสุดที่บริเวณ 1,443 จุด ลดลง 26.22 จุด ก่อนรีบาวด์ขึ้นเล็กน้อยมาเคลื่อนไหวอยู่ที่บริเวณ 1,448 จุด ลดลง 20.78 จุด ในช่วงเวลาประมาณ 11.00 น. และปิดตลาดช่วงเย็นวันเดียวกัน อยู่ที่ 1,447.3 จุด ลบ 22.16 จุด หรือ 1.51% 

นายวทัญ จิตต์สมนึก ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์กลยุทธ์ บล.พาย ให้ข้อมูลว่า ภาพรวมในวันนี้ (3 ต.ค. 66) ตลาดมีความกังวลหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐที่มีโอกาสจะอยู่ในระดับสูงอย่างนี้ไปอีกสักระยะหนึ่ง เนื่องจากเงินเฟ้อยังไม่ได้เป็นไปตามเป้าหมายที่ประเมินไว้ ทั้งนี้การที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับสูงเป็นระยะเวลานาน ๆ จึงไม่เป็นผลดีกับตลาดหุ้น

สิ่งที่น่ากังวลในขณะนี้คือ ปรากฏการณ์ “เงินบาทอ่อนค่า” มากที่สุดในรอบ 11 เดือนเช่นนี้ จะทำให้ “ต้นทุนการอุดหนุนพลังงาน” ของรัฐบาลไทยสูงขึ้นตามไปด้วย สิ่งนี้อาจจะทำให้สถานะการคลังไทยอยู่ในความเสี่ยงอย่างไร

  • ดันต้นทุน “อุดหนุนพลังงาน” สูงขึ้น

เมื่อรัฐบาลชุดใหม่นำโดยนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน ประกาศอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซล ไม่ให้เกิน 30 บาท/ลิตร จากเดิม 32 บาทต่อลิตร ตั้งแต่วันที่ 20 ก.ย. – 31 ธ.ค. 2566 หรือราว 3 เดือนเศษ การอุดหนุนนี้ย่อมมีผลกระทบต่อต้นทุนของงบประมาณกลางอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ระบุเมื่อเดือน ก.ย.ว่า “ในการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลิตรทุก 1 บาท จะกระทบการจัดเก็บรายได้ภาษีของกรมสรรพสามิต เดือนละ 2,000 ล้านบาท แต่หากมีการลดภาษีจริงลิตรละ 2 บาท ก็จะทำให้มีรายได้หายไปเดือนละ 4,000 ล้านบาท”

ขณะเดียวกัน เนื่องจากไทยนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ เมื่อค่าเงินบาทอ่อนลงและดอลลาร์แข็งขึ้น ไทยจึงต้องใช้เงินบาทมากขึ้น เพื่อแลกเป็นดอลลาร์ในการซื้อน้ำมัน ซึ่งกลายเป็นเพิ่มต้นทุนพลังงานให้กับประเทศ

ยิ่งไปกว่านั้น ราคาน้ำมันกำลังอยู่ในช่วงขาขึ้นด้วย เพราะฤดูหนาวกำลังใกล้เข้ามา และกลุ่มตะวันออกกลางกับรัสเซียต่างลดการผลิตน้ำมันของตัวเองลง จึงเป็นปัจจัยหนุนให้ต้นทุนอุดหนุนพลังงานเพิ่มขึ้นอีก

ความเสี่ยงของการแบกรับต้นทุนพลังงานที่สูงขึ้น คือ “งบประมาณการคลัง” เพราะการแบกรับเหล่านี้ทำให้รัฐขาดรายได้จำนวนมาก เพียงการอุดหนุนดีเซล 2 บาท รัฐบาลจะขาดรายได้ถึงเดือนละ 4,000 ล้านบาท

ยิ่งนโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ซึ่งใช้งบประมาณสูงถึง 5.6 แสนล้าน จุดกระแสกังวลว่ารัฐบาลจะหาเงินมหาศาลเช่นนี้จากที่ใด หากใช้การกู้เงินจากต่างประเทศ รัฐบาลก็เผชิญความท้าทายด้านเพดานกู้ เพราะในปัจจุบัน ไทยมีหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ราว 60% โดยมีกรอบเพดานหนี้สาธารณะต่อ GDP ของไทยอยู่ที่ 70% สะท้อนว่ามีพื้นที่สำหรับกู้อีกไม่มาก

ในอีกทางเลือกหนึ่ง หากรัฐบาลเลือกหาเงินด้วยจากการออกพันธบัตรรัฐบาล ซึ่งเป็นการกู้จากประชาชนที่สนใจลงทุน ดอกเบี้ยพันธบัตรที่สูงขึ้นตามเทรนด์ดอกเบี้ยขาขึ้นจะทำให้ภาระรัฐบาลเพิ่มขึ้น และสามารถทำให้ต้นทุนกู้ยืมของบริษัทเอกชนสูงขึ้นด้วย เพราะเอกชนต้องออกหุ้นกู้ด้วยดอกเบี้ยที่สูงขึ้นตาม เพื่อแข่งขันกับพันธบัตรรัฐบาล

ดังนั้น จากปัจจัยที่กล่าวมา เมื่อเงินบาทอ่อนลง ต้นทุนนำเข้าพลังงานและสินค้าต่าง ๆ จึงสูงขึ้น รัฐบาลต้องใช้เงินอุดหนุนที่มากขึ้นตาม ยิ่งอุดหนุนนานก็ยิ่งแบกรับภาระมาก และเมื่อรวมกับงบประมาณ 5.6 แสนล้านซึ่งอาจเป็นเงินกู้ ก็อาจยิ่งเพิ่มความเสี่ยงให้กับสถานะการคลังไทย 

  • ภาค “ส่งออก-ท่องเที่ยว” อาจได้ประโยชน์มากขึ้น

แม้ปัจจุบันเงินบาทอ่อน จะทำให้ต้นทุนการอุดหนุนพลังงานสูงขึ้น กระทบต่องบประมาณการคลัง แต่ก็มีกลุ่มธุรกิจที่ได้ประโยชน์ คือ “การส่งออกและการท่องเที่ยว”

สำหรับ “ผู้ส่งออกไทย” เมื่อเงินบาทอ่อนลง ทำให้ประเทศคู่ค้าใช้เงินต่างประเทศเท่าเดิม แต่ซื้อสินค้าไทยได้มากขึ้น จึงทำให้สินค้าจากไทยดูราคาถูกลงในสายตาประเทศคู่ค้า และกระตุ้นยอดนำเข้าสินค้าจากไทย

ขณะที่ในมุมของ “ผู้นำเข้าสินค้าต่างประเทศ” เมื่อบาทอ่อนค่าลงเช่นนี้ จะทำให้ไทยต้องใช้เงินบาทมากขึ้น เพื่อซื้อสินค้าจากต่างประเทศ จึงทำให้ผู้นำเข้าต้องแบกรับต้นทุนที่สูงขึ้น

ส่วนในอุตสาหกรรม “การท่องเที่ยว” เมื่อบาทอ่อนช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยว เพราะทำให้ชาวต่างชาติที่มายังไทยแลกเงินต่างประเทศเป็นเงินบาทได้มากขึ้น และทำให้สินค้าไทยในมุมมองต่างชาติมีราคาต่ำลง เมื่อคำนวณกลับเป็นสกุลเงินต่างประเทศ

อ้างอิง: ausirisbangkokbiznewsbangkokbiznews(2)