ทำไม ‘จีน’ ไม่แจกเงินทั้งประเทศ แม้เผชิญเศรษฐกิจซบเซา

ทำไม ‘จีน’ ไม่แจกเงินทั้งประเทศ แม้เผชิญเศรษฐกิจซบเซา

เมื่อจีนเผชิญเศรษฐกิจซบเซาอย่างหนัก หนุ่มสาวตกงานจำนวนมาก แต่ทำไมรัฐบาลจีนถึงไม่ใช้นโยบายแจกเงินทั้งประเทศ เหมือนกับที่ไทยเตรียมแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท หรือสหรัฐในช่วงโควิด-19 เพื่อฟื้นเศรษฐกิจซบเซากลับมา

Key Points

  • กองทุนการเงินระหว่างประเทศ ประเมินว่า หนี้ LGFV ของรัฐบาลท้องถิ่นจีนที่ใช้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน มีสูงถึง 66 ล้านล้านหยวน หรือราว 326 ล้านล้านบาท 
  • เดือนส.ค. ที่ผ่านมา มีกระแสเงินทุนไหลออกจากจีน 49,000 ล้านดอลลาร์ หรือราว 1.7 ล้านล้านบาท สูงสุดนับตั้งแต่เดือนธ.ค.2558
  • รัฐบาลจีนมองว่า รัฐไม่ควรส่งเสริมให้ประชาชนได้เงินง่ายโดยไม่ต้องทำงาน หรือทำให้พวกเขางอมืองอเท้า เพราะจะกระทบต่อการสร้างนวัตกรรม และความมั่นคงทางการคลังในระยะยาว


หลายคนอาจเคยทราบข่าวว่า เศรษฐกิจจีนตอนนี้อาการไม่สู้ดีนัก ซบเซาอย่างหนัก ดังจะเห็นจากหนุ่มสาวในจีนตกงานสูงถึง 21.3% เป็นประวัติการณ์ การส่งออกจีนติดลบติดต่อกัน 4 เดือนติด อีกทั้งเงินเฟ้อจีนกลายเป็นติดลบ 0.3% ในเดือน ก.ค. และบวกเพียง 0.1% ในเดือน ส.ค ซึ่งสิ่งที่รัฐบาลจีนทำคือ การลดดอกเบี้ยสินเชื่อลง และลดอัตราเงินสำรองขั้นต่ำของธนาคาร เพื่อให้สถาบันปล่อยกู้ง่ายขึ้น แต่ตลาดทุนยังมองว่า เป็นมาตรการที่ “น้อยเกินไป”

คำถามสำคัญคือ ในเมื่อเศรษฐกิจจีนซบเซาอย่างหนักเช่นนี้ เหตุใดรัฐบาลจีนถึงยังไม่อัดฉีดเงินจำนวนมากเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ไม่แจกเงิน “ถ้วนหน้า” ทั้งประเทศ เหมือนที่สหรัฐทำในช่วงโควิด-19 หรือที่ไทยเตรียมแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาทให้ 50 ล้านคน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

ทำไม ‘จีน’ ไม่แจกเงินทั้งประเทศ แม้เผชิญเศรษฐกิจซบเซา - จีนกำลังเผชิญวิกฤติใหญ่อสังหาฯ ในขณะนี้ (เครดิต: AFP) -

ที่ผ่านมา จีนมีเพียงแจกเงิน “เฉพาะจุด” อย่างการแจกเงินหยวนดิจิทัลในกรุงปักกิ่ง และเสิ่นเจิ้น จำนวนราว 30-40 ล้านหยวน ผ่านการจับรางวัลลอตเตอรี่ เพื่อทดลองใช้งานหยวนดิจิทัล (e-CNY) หรือเมื่อเดือนส.ค.ที่ผ่านมา รัฐบาลท้องถิ่นมณฑลเจ้อเจียง ออกมาตรการแจกเงินเฉพาะกลุ่ม ให้เจ้าสาวอายุไม่เกิน 25 ปี คนละ 1,000 หยวน หรือราว 4,800 บาท เพื่อกระตุ้นคนอายุน้อยรีบแต่งงานสร้างครอบครัว ท่ามกลางความวิตกกังวลเกี่ยวกับอัตราการเกิดที่ลดลงเรื่อยๆ

สิ่งเหล่านี้สะท้อนว่า ช่วงที่ผ่านมา จีนไม่ได้มีนโยบายแจกเงินขนานใหญ่เหมือนไทย และสหรัฐ ทั้งที่เศรษฐกิจซบเซาอย่างหนักในเกือบทุกภาคอุตสาหกรรม อะไรเป็นสาเหตุที่จีนไม่อัดฉีดเงินมหาศาลเข้ากระเป๋าประชาชนโดยตรงแบบถ้วนหน้า

3 ปัจจัยที่จีนไม่แจกเงินขนานใหญ่กระตุ้นเศรษฐกิจ 

  • 1. จีนแบกหนี้มหาศาล

แม้เศรษฐกิจจีนจะซบเซาอย่างหนักจริง แต่การใช้วิธีแจกเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ก็จะเพิ่มความเสี่ยงภาระหนี้ให้เพิ่มขึ้น เนื่องจากปัจจุบัน จีนเผชิญหนี้ในประเทศสูง โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund) ประเมินว่า หนี้ LGFV (Local Government Financing Vehicle) ของรัฐบาลท้องถิ่นจีนที่ใช้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน มีสูงถึง 66 ล้านล้านหยวนหรือราว 326 ล้านล้านบาท 

ยิ่งไปกว่านั้น จากข้อมูลธนาคารกลางจีน และสำนักงานสถิติแห่งชาติจีน ระบุว่า หนี้รวมของจีนที่ประกอบด้วยหนี้ครัวเรือน หนี้เอกชน และหนี้รัฐบาลในไตรมาสสองปีนี้ เพิ่มขึ้นเป็น 281.5% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) จากเดิมที่ 279.7% ของ GDP ในไตรมาสแรก

ดังนั้น ท่ามกลางความไม่แน่นอนของวิกฤติอสังหาริมทรัพย์จีนขณะนี้ อย่าง Evergrand, Country Garden และล่าสุดบริษัทอสังหาริมทรัพย์ Sunac China Holdings ยื่นล้มละลาย จนอาจล้มเป็นโดมิโนขึ้นได้ รัฐบาลจีนจึงเลือกใช้งบประมาณอย่างระมัดระวังมากขึ้น

  • 2. เสี่ยงกระทบเสถียรภาพค่าเงินหยวน

การอัดฉีดเงินจำนวนมากเข้าสู่เศรษฐกิจ เท่ากับเพิ่มอุปทานเงินในระบบ และจะทำให้ค่าเงินหยวนอ่อนลงได้ โดยเฉพาะค่าเงินหยวนในปัจจุบัน เมื่อเทียบกับดอลลาร์ อ่อนค่าลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 16 ปีที่ 7.30 หยวนต่อ 1 ดอลลาร์

สาเหตุที่ค่าเงินหยวนอ่อนค่าแรงเช่นนี้ เป็นเพราะเงินทุนในจีนไหลออกอย่างต่อเนื่องเป็นจำนวนมาก ตั้งแต่ช่วงการปิดเมืองอย่างเข้มงวด เพื่อควบคุมการระบาดโควิด-19 การจัดระเบียบบริษัทเทคโนโลยีต่างๆ และทำให้ธุรกิจกวดวิชาเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไร ซึ่งค่อนข้างสร้างความลำบากใจต่อตลาดทุน

ทำไม ‘จีน’ ไม่แจกเงินทั้งประเทศ แม้เผชิญเศรษฐกิจซบเซา - ธุรกิจกวดวิชาในจีน (เครดิต: AFP) -

อีกทั้งล่าสุด ดูเหมือนว่าการจัดระเบียบธุรกิจในจีนยังไม่สิ้นสุด ทางการจีนเข้าไปปราบการทุจริตในธุรกิจโรงพยาบาล ส่งผลให้หุ้นโรงพยาบาล และสุขภาพปรับตัวลงแรง เหล่าเศรษฐีด้านธุรกิจสุขภาพสูญความมั่งคั่งไป 17,000 ล้านดอลลาร์หรือราว 610,000 ล้านบาท

นอกจากนั้น จีนยังเผชิญสงครามการค้า และเทคโนโลยีชิปกับสหรัฐ ที่สหรัฐพยายามจำกัด ไม่ให้พันธมิตรสหรัฐส่งออกชิปขั้นสูงไปยังจีน จึงทำให้เดือนส.ค. ที่ผ่านมา มีกระแสเงินทุนไหลออกจากจีน 49,000 ล้านดอลลาร์หรือราว 1.7 ล้านล้านบาท สูงที่สุดนับตั้งแต่เดือนธ.ค.2558 โดยจำนวน 29,000 ล้านดอลลาร์เป็นเงินที่ไหลออกจากตลาดหลักทรัพย์ ตามข้อมูลจากสำนักงานบริหารเงินตราต่างประเทศของจีน (State Administration of Foreign Exchange)

เมื่อเงินหยวนปัจจุบันอ่อนค่าแรงเช่นนี้ หากจีนออกนโยบายแจกเงินก็จะยิ่งซ้ำเติมค่าเงินให้อ่อนลงไปกว่าเดิม ค่าเงินอ่อนจะทำให้ต้นทุนนำเข้าของจีนแพงขึ้น และมูลค่าหนี้ต่างประเทศสูงขึ้นได้ รัฐบาลจีนจึงเลือกใช้เงินที่มีอยู่ รักษาเสถียรภาพหยวนแทนการใช้แจก

  • 3. จีนไม่สนับสนุนการแจกเงิน โดยไม่ต้องทำงาน

หลังจากรัฐบาลจีนบรรลุเป้าหมายขจัดความยากจนในจีนแล้ว ด้วยการยกระดับชีวิตคนจนราว 100 ล้านคนให้อยู่เหนือเส้นแบ่งความยากจนได้สำเร็จ

จีนจึงดำเนินนโยบายต่อไปคือ พาประเทศสู่ “ความรุ่งเรืองร่วมกัน” (Common Prosperity) ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ซึ่งรัฐบาลจีนย้ำว่าไม่ใช่การสร้างรัฐสวัสดิการ โดยมองว่าการพึ่งพาสวัสดิการมากเกินไปจะทำให้ผู้คนขี้เกียจ และไม่ค่อยต้องการทำงาน ซึ่งจะกระทบการสร้างนวัตกรรม และความคิดริเริ่มใหม่ อีกทั้งสวัสดิการระดับใหญ่ยังเพิ่มภาระทางภาษีให้สูงขึ้นด้วย

หาน เหวินซิ่ว (Han Wenxiu) รองผู้อำนวยการของคณะกรรมาธิการการเงิน และเศรษฐกิจกลางจีน กล่าวว่า “พวกเราไม่ควรตกอยู่ในกับดักรัฐสวัสดิการ (Welfare Trap) และพวกเราไม่ควรส่งเสริมให้ประชาชนได้เงินโดยไม่ต้องทำงานหรือทำให้พวกเขางอมืองอเท้า”

“เพื่อทำให้ความรุ่งเรืองร่วมกันเกิดขึ้นจริง ประเทศควรทำให้เค้กใหญ่ขึ้น และดีขึ้นเป็นอันดับแรกก่อน และจากนั้นค่อยกระจายเค้กนี้อย่างเหมาะสม” หานกล่าว

ด้วยเหตุนี้ ทางรัฐบาลจีนจึงสนับสนุนการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ และส่งเสริมให้ประชาชนหารายได้จากการทำงาน แทนการรอคอยความช่วยเหลือจากรัฐอย่างเดียว เพื่อเสถียรภาพทางการคลังในระยะยาว โดยเฉพาะในช่วงที่จีนกำลังเผชิญกับสังคมผู้สูงอายุ

3 ปัจจัยเหล่านี้ ทั้งระดับหนี้ที่สูง ความเสี่ยงค่าเงินหยวน และรัฐบาลไม่สนับสนุนการได้เงินโดยไม่ต้องทำงาน จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่จีนไม่เลือกใช้วิธีแจกเงินกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งประเทศ แต่ใช้วิธีประคองเศรษฐกิจ และกระตุ้นเฉพาะจุดแทน

โดยโจทย์ใหญ่ของจีนคือ หนี้อสังหาริมทรัพย์ และหนี้ของรัฐบาลท้องถิ่นจีนที่สูงมาก อีกทั้งมีความท้าทายการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่ไม่ค่อยมีลูก และการเป็นฐานผลิตราคาถูกก็ถูกแทนที่โดยอินเดียและเวียดนามแทน

ดังนั้น สิ่งที่อาจช่วยให้สถานการณ์ของจีนดีขึ้น รวมไปถึงการจัดการงบประมาณรัฐที่จำกัดอย่างระมัดระวัง บริหารความเสี่ยงภาคอสังหาริมทรัพย์ไม่ให้ลุกลามกว่านี้ ฟื้นความเชื่อมั่นการใช้จ่ายของประชาชน และเร่งพัฒนานวัตกรรมของตัวเองให้ทัดเทียมตะวันตก ก็อาจช่วยให้จีนผ่านวิกฤติเศรษฐกิจซบเซานี้ไปได้

อ้างอิง: reutersreuters(2)cnnscmpbloombergbloomberg(2)cnbccnchinadaily

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์