นโยบาย ‘เงินดิจิทัล 10,000 บาท’ กับ 3 ความท้าทายใหญ่ของรัฐบาล ‘เศรษฐา’

นโยบาย ‘เงินดิจิทัล 10,000 บาท’ กับ 3 ความท้าทายใหญ่ของรัฐบาล ‘เศรษฐา’

เมื่อนโยบายกระเป๋าเงินดิจิทัล 10,000 บาทของรัฐบาล “เศรษฐา” กลายเป็นกระแสร้อนแรงขณะนี้ ด้วยงบประมาณที่อาจสูงถึง 5.6 แสนล้านบาท พร้อมระบบบล็อกเชน (Blockchain) จึงนำมาซึ่ง “ความท้าทายใหญ่ 3 ข้อ” ที่ทำให้การขับเคลื่อนนโยบายให้สำเร็จไม่ใช่เรื่องง่าย

Key Points

  • หากต้องการเงิน 5.6 แสนล้านบาท หมุนเวียนในมือรายย่อย และลดโอกาสเงินวิ่งกลับไปสู่มือของทุนใหญ่ การกำหนดให้เฉพาะร้านค้ารายย่อยเข้าร่วมโครงการได้เท่านั้น จึงเป็นสิ่งสำคัญ
  • ปัจจุบัน ไทยมีหนี้สาธารณะต่อ GDP ราว 60% โดยกรอบเพดานหนี้สาธารณะต่อ GDP ของไทยอยู่ที่ 70%
  • การใช้ระบบใหม่อย่างบล็อกเชน นำมาซึ่งความท้าทายใหม่คือ ใช้งบประมาณ และเวลาวางระบบใหม่เพิ่มขึ้น อีกทั้งยังมีความไม่แน่นอนของเสถียรภาพระบบที่รอการทดสอบ


นโยบาย “กระเป๋าเงินดิจิทัล 10,000 บาท” ถือเป็นนโยบายแกนหลักของพรรคเพื่อไทยมาตลอดในช่วงหาเสียง และกลายเป็นที่สนใจของประชาชนอย่างกว้างขวางเมื่อพรรคเพื่อไทยขึ้นเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีที่ชื่อว่า “เศรษฐา ทวีสิน

นโยบาย ‘เงินดิจิทัล 10,000 บาท’ กับ 3 ความท้าทายใหญ่ของรัฐบาล ‘เศรษฐา’ - นายกฯเศรษฐา ทวีสิน (เครดิต: เฟซบุ๊ก Srettha Thavisin) -

สำหรับเป้าหมายการออกนโยบายนี้ พรรคเพื่อไทยให้เหตุผลว่า เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่ซบเซาให้ฟื้นกลับมา ด้วยการให้เงินประชาชนคนละ 10,000 บาท กระตุ้นการใช้จ่าย การบริโภค และการค้าขายให้มากขึ้น จนเป็นแรงหนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่จะช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทย

อย่างไรก็ตาม การทำให้นโยบายนี้เกิดขึ้นได้จริง และประสบผลสำเร็จ กลับตามมาด้วย “ความท้าทาย 3 ข้อ” ได้แก่ ความท้าทายด้านการกระตุ้นเศรษฐกิจ การหางบประมาณที่เพียงพอกับโครงการ และระบบบล็อกเชนที่ใหม่ถอดด้าม

  • กระเป๋าเงินดิจิทัล หน้าตาอย่างไร

กระเป๋าเงินดิจิทัลนี้จะมีเงินดิจิทัล 10,000 บาทที่รัฐบาลใส่เข้ามาโดยไม่ต้องลงทะเบียน ประชาชนสามารถใช้จ่ายผ่านแอปพลิเคชัน หรือหากไม่มีแอป ก็สามารถใช้จ่ายผ่านเลขบัตรประชาชน 13 หลักแทนได้

พรรคเพื่อไทย ระบุว่า ประชาชนที่จะได้รับสิทธิในโครงการนี้ ต้องมีอายุ 16 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ไม่ว่าจะเป็นผู้มีบัตรสวัสดิการรัฐ บัตรผู้สูงอายุ เป็นข้าราชการ ก็ได้รับสิทธิในโครงการนี้อย่างถ้วนหน้า โดยคาดว่าผู้มีสิทธิจะอยู่ที่จำนวนราว 50 ล้านคน

เงิน 10,000 บาทที่ได้รับนี้ สามารถใช้จ่ายผ่านร้านค้าแถวชุมชนในรัศมี 4 กิโลเมตร จากที่อยู่ตามทะเบียนบ้าน โดยจะใช้ครั้งเดียว 10,000 บาทหรือทยอยใช้ไปเรื่อยๆ ภายใน 6 เดือน อีกทั้งเงินดิจิทัลที่ได้ไม่สามารถแลกกลับเป็นเงินสดได้

3 ความท้าทายของนโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาท

  • ความท้าทายที่ 1: การใช้เงินกระตุ้นเศรษฐกิจ

เนื่องจากนโยบายนี้ต้องเทเงินมากถึง 5.6 แสนล้านบาทลงสู่ระบบเศรษฐกิจ ซึ่งผู้ได้เงิน 10,000 บาท สามารถเลือกได้ว่าจะทยอยใช้หรือใช้หมดในครั้งเดียว ซึ่ง "การที่สามารถใช้ทั้งหมด 10,000 บาทในครั้งเดียว" อาจทำให้ระยะเวลากระตุ้นเศรษฐกิจหดสั้นลง รวมถึงอาจเกิดการซื้อสินค้าราคาสูงที่ไม่จำเป็นแทน หากไม่กำหนดขอบเขตสินค้าหรือบริการที่ร่วมโครงการให้ชัดเจน

นโยบาย ‘เงินดิจิทัล 10,000 บาท’ กับ 3 ความท้าทายใหญ่ของรัฐบาล ‘เศรษฐา’ - รายละเอียดนโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาท (เครดิต: พรรคเพื่อไทย) -

ยิ่งไปกว่านั้น การที่เงินดิจิทัลไม่สามารถแลกเป็นเงินสดได้ กลายเป็นคำถามว่า ร้านค้าที่รับชำระเงินดิจิทัลแล้ว หากต้องซื้อสินค้ามาขายใหม่ ซึ่งต้องใช้เงินสด จะทำอย่างไร เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาสภาพคล่อง

นอกจากนี้ การกำหนดว่าคุณสมบัติร้านค้าใดที่สามารถเข้าร่วมโครงการได้ก็มีความสำคัญไม่น้อย เพื่อทำให้เงิน 5.6 แสนล้านบาท หมุนเวียนในมือผู้ค้ารายย่อย และลดโอกาสที่เงินจะไหลไปสู่มือทุนใหญ่ ซึ่งรายละเอียดที่ว่า ร้านค้าประเภทใดจะเข้าร่วมโครงการ และเงินดิจิทัลที่ได้มานี้จะนำไปใช้ต่ออย่างไรนั้น คงต้องรอแผนนโยบายที่ชัดเจนกว่านี้จากพรรคเพื่อไทย

  • ความท้าทายที่ 2: การหางบประมาณ

เนื่องจากเงินดิจิทัล 10,000 บาทที่พรรคเพื่อไทยให้ “เป็นแบบถ้วนหน้า” ไม่ว่าผู้มีบัตรสวัสดิการรัฐแล้ว เป็นผู้สูงอายุ ข้าราชการ ล้วนได้รับเงินนี้ทั้งหมด ไม่ต้องแข่งขันกันลงทะเบียน จึงทำให้โครงการนี้ใช้งบประมาณสูง

ยิ่งถ้าหากเป็นการแจกครั้งเดียว 10,000 บาทแทนที่จะแบ่งเป็นเฟส 1, 2, 3 ทางรัฐบาลจำเป็นต้องมีกระแสเงินสดใช้ได้ 5.6 แสนล้านบาทในทันที เพื่อรองรับธุรกรรมซื้อขาย ไม่ให้สภาพคล่องติดขัด

งบประมาณที่สูงเช่นนี้ กลายเป็นความท้าทายในการหาเงิน หากอาศัยเพียงงบฯ เดิมที่มีอยู่อาจไม่เพียงพอ เพราะหลายหน่วยราชการอาจใช้งบประมาณที่เบิกมาให้ครบ ซึ่งหากใช้ไม่หมด จะเป็นฐานที่อาจทำให้ถูกลดงบฯ ลงสำหรับปีงบประมาณหน้า

เมื่อต้องตั้งงบประมาณใหม่สำหรับปีหน้า อาจจำเป็นต้องเกลี่ยงบฯ จากส่วนราชการอื่นเข้ามา ซึ่งมีแนวโน้มลดงบฯ สวัสดิการที่ซ้ำซ้อนและลดการลงทุนของส่วนราชการอื่นลง

ถ้าถึงที่สุดแล้ว งบประมาณที่ตั้งใหม่ไม่เพียงพอ และจำเป็นต้องกู้เงินเพิ่มเติม ก็จะมีปัจจัย “สถานะการคลัง” เข้ามาท้าทายด้วย เพราะในปัจจุบัน ไทยมีหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ราว 60% โดยกรอบเพดานหนี้สาธารณะต่อ GDP ของไทยอยู่ที่ 70% และดอกเบี้ยกู้ยืมขณะนี้อยู่ในช่วงขาขึ้น ธนาคารกลางทั่วโลกกำลังขึ้นดอกเบี้ยให้สูงขึ้นเรื่อยๆ เพื่อปราบเงินเฟ้อ

กรณีนี้สร้างความกังขาให้กับนักเศรษฐศาสตร์บางส่วน ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ บริษัทหลักทรัพย์เกียรตินาคินภัทร แสดงความกังวลต่อการหางบประมาณสำหรับนโยบายนี้ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวเมื่อวันที่ 24 ส.ค.2566 ว่า

“ต้นทุนโครงการนี้มูลค่ากว่า 5.5 แสนล้านบาท คิดเป็นกว่า 3% ของ GDP และกว่า 16% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี ยากมากที่เราจะตัดงบประมาณ หรือขึ้นภาษีมาจ่ายโครงการนี้ได้ทั้งหมด ยังไงก็ต้องมีการขาดดุลงบประมาณเพิ่มเติม”

ดร.พิพัฒน์ เสริมอีกว่า “ในขณะที่งบประมาณปีหน้าที่รัฐบาลที่แล้วอนุมัติก็มีการขาดดุล 3% ของ GDP แล้ว แปลว่ามีช่องว่างให้ขาดดุลเพิ่มได้แค่อีกนิดเดียว และถ้าจะตัดงบก็ติดว่าเรามีงบประจำสูงถึงเกือบ 80% ของวงเงินงบประมาณ จะตัดอะไรได้คงไม่มากนัก”

นโยบาย ‘เงินดิจิทัล 10,000 บาท’ กับ 3 ความท้าทายใหญ่ของรัฐบาล ‘เศรษฐา’

- ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย (เครดิต: บริษัทหลักทรัพย์เกียรตินาคินภัทร) -

  • ความท้าทายที่ 3: ระบบ “บล็อกเชน” ใหม่ถอดด้าม

มีหลายคนตั้งคำถามว่า เหตุใด พรรคเพื่อไทยถึงไม่ใช้ระบบที่มีอยู่นี้ร่วมกับโครงการกระเป๋าเงินดิจิทัล 10,000 บาท ในเมื่อไทยมีโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลที่รองรับไว้แล้วอย่างแอป “เป๋าตัง” และ “พร้อมเพย์” (PromptPay) ที่ผ่านการพิสูจน์มาแล้วว่า “ใช้ได้จริง” จากโครงการต่างๆ ในรัฐบาลชุดก่อน เช่น คนละครึ่ง เราเที่ยวด้วยกัน หมอพร้อม ฯลฯ มีความเสถียร กำหนดเงื่อนไขในแอปได้ และสามารถรองรับธุรกรรมได้มากมาย

ข้อมูลจากธนาคารกรุงไทยระบุว่า แอปเป๋าตังสามารถรองรับการทำธุรกรรมได้จำนวนมากกว่า 50,000 รายการต่อวินาที หรือคิดเป็น 3 ล้านรายการต่อนาที!

เผ่าภูมิ โรจนสกุล รองเลขาธิการและโฆษกคณะกรรมการด้านเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย ชี้แจงว่า เหตุผลที่ใช้ระบบบล็อกเชนแทน ก็เพื่อพาคนไทยไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัลยุคใหม่ “แบบบล็อกเชน” ซึ่งเป็นระบบที่สามารถกำหนดเงื่อนไขได้ โดยสามารถเขียนโค้ดว่า ถ้าเงินที่แจกนี้ถูกใช้ในเมืองรอง จะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นเป็น 13,000 บาท เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวนอกเมืองใหญ่ อีกทั้งระบบบล็อกเชน มีความโปร่งใส และตรวจสอบย้อนหลังได้ด้วย

นโยบาย ‘เงินดิจิทัล 10,000 บาท’ กับ 3 ความท้าทายใหญ่ของรัฐบาล ‘เศรษฐา’

- เผ่าภูมิ โรจนสกุล (เครดิต: พรรคเพื่อไทย) -

อย่างไรก็ตาม การใช้ระบบใหม่อย่างบล็อกเชน นำมาซึ่งความท้าทายใหม่คือ ใช้งบประมาณและเวลาวางระบบใหม่เพิ่มขึ้น อีกทั้งยังมีความไม่แน่นอนของเสถียรภาพระบบที่รอการทดสอบ

หากเป็นบล็อกเชนในรูปแบบของ “บิตคอยน์” (Bitcoin) จะรองรับธุรกรรมได้ 7 ธุรกรรม/วินาที

อีเธอเรียม (Ethereum) 1.0 รองรับธุรกรรมได้ 30 ธุรกรรม/วินาที ส่วนอีเธอเรียม 2.0 ที่ผู้สร้างคาดว่าจะรองรับได้สูงถึง 100,000 ธุรกรรม/วินาที กำลังอยู่ในระหว่างการพัฒนาในขณะนี้

สำหรับเครือข่ายบล็อกเชนปัจจุบันที่รองรับธุรกรรมได้มาก ใกล้เคียงกับแอปเป๋าตังคือ เครือข่ายโซลานา (Solana) ที่รองรับได้ 65,000 ธุรกรรม/วินาที แต่เครือข่ายนี้เคยล่มกว่า 10 ครั้งตั้งแต่ปี 2563 และแต่ละครั้งนาน 17 ชั่วโมง หรือมากกว่า 24 ชั่วโมง

ส่วนเงินบาทดิจิทัลแบบ CBDC (Central Bank Digital Currency) อยู่ในความดูแลของ “ธนาคารแห่งประเทศไทย” (ธปท.) ซึ่งกำลังอยู่ในระหว่างการทดลอง โดยมีมูลค่าคงที่ คือ 1 CBDC = 1 บาท และไม่ใช่เงินดิจิทัลแบบ Cryptocurrency ที่เป็นระบบบล็อกเชน

ธปท.ให้รายละเอียดว่า เงินดิจิทัลไทย CBDC นี้ อาจจะใช้หรือไม่ใช้เทคโนโลยีจัดเก็บข้อมูลแบบกระจายศูนย์ (DLT) ในการสร้างและประมวลผลก็ได้ ซึ่งระบบบล็อกเชน เป็นเพียงประเภทหนึ่งของเทคโนโลยี DLT

อภิชัย เอี่ยมไพศาล นักวิเคราะห์อาวุโสบริษัท XSpring Digital มองนโยบายกระเป๋าเงินดิจิทัลนี้ว่า การสร้างกระเป๋าเงินดิจิทัลด้วยเทคโนโลยีบล็อกเชนภายใน 6 เดือน เป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก โดยเขาเสนอว่า พรรคเพื่อไทยสามารถใช้โครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่แล้วอย่าง “พร้อมเพย์” หรือ “แอปเป๋าตัง” เพื่อกำหนดเงื่อนไขการใช้กระเป๋าเงินดิจิทัล มูลค่า 10,000 บาทภายในรัศมี 4 กิโลเมตรได้เช่นกัน

ขณะที่ เผ่าภูมิ จากพรรคเพื่อไทยให้รายละเอียดเพิ่มเติมถึงนโยบายเงินดิจิทัลนี้ว่า ไม่ใช่กรณีเดียวกับ Bitcoin, Luna และ USDT แต่เป็นเหรียญ (คูปอง) หรือสิทธิการใช้เงินที่ใช้ในกระเป๋าเงินดิจิทัล ในระบบบล็อกเชน และอยู่ในความดูแลของรัฐบาล รับประกันโดยรัฐบาล

จากข้อมูลข้างต้น เป็นที่น่าติดตามต่อว่า “ระบบบล็อกเชน” ที่พรรคเพื่อไทยกำลังออกแบบ จะมีหน้าตาเป็นอย่างไร และรองรับจำนวนธุรกรรมสูงสุดกี่รายการต่อวินาที สำหรับผู้ใช้งานที่คาดว่าจะมากถึง 50 ล้านคน

โดยสรุป การกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ของพรรคเพื่อไทย ที่มากถึง 5.6 แสนล้านบาท กำลังประสบความท้าทาย 3 ประการ ได้แก่ การกระตุ้นเศรษฐกิจให้ถึงมือรายย่อย และต่อเนื่อง การหางบประมาณมหาศาลให้เพียงพอกับโครงการ เมื่อเทียบกับความเสี่ยงการคลัง และการสร้างระบบบล็อกเชนแบบใหม่ที่รอการทดสอบ

สิ่งเหล่านี้เป็นความท้าทายที่รัฐบาลจำเป็นต้องอุดช่องโหว่ เพื่อให้สามารถรองรับจำนวนธุรกรรมของประชากร 50 ล้านคนได้ และขับเคลื่อนนโยบายไปอย่างราบรื่น

อีกทั้งนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจเช่นนี้ ถือเป็น “การกระตุ้นระยะสั้น” เพราะเงินจำนวน 5.6 แสนล้าน มีเวลาใช้ภายใน 6 เดือนเท่านั้น ดังนั้น การกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน คงหนีไม่พ้นการเพิ่มขีดความสามารถแรงงาน และเพิ่มมูลค่าของสินค้าควบคู่กันไป

อ้างอิง: krungthaithaigovfacebookfacebook(2)boxminingmiamiheraldblockchainbotworkpoint

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์