ชำแหละ ‘โครงสร้างราคาน้ำมัน’ หากรัฐลดเพียง 1 บาท ต้องแลกกับอะไรบ้าง?

ชำแหละ ‘โครงสร้างราคาน้ำมัน’ หากรัฐลดเพียง 1 บาท ต้องแลกกับอะไรบ้าง?

นโยบายลดน้ำมันของรัฐบาลเศรษฐา ต้องแลกกับต้นทุนอะไรบ้างที่ภาครัฐต้องเสียไป เพื่อกดราคาน้ำมันลง ซึ่งราคาน้ำมัน 1 ลิตรไม่ได้มีเพียงต้นทุนเนื้อน้ำมันอย่างเดียว แต่มาพร้อมต้นทุนอื่นอีกหลายประการ

Key Points

  • ภาษีมูลค่าเพิ่มในน้ำมัน รัฐบาลจะจัดเก็บจากต้นทุนสองส่วน โดยจัดเก็บ 7% ของราคาขายส่งน้ำมัน และจัดเก็บอีก 7% ของค่าการตลาดน้ำมัน
  • ค่าการตลาด เป็นต้นทุนพร้อมกำไรของบริษัทปั๊มน้ำมันต่างๆ ที่มาจากต้นทุนบริหารคลังน้ำมัน ค่าขนส่งน้ำมันมายังปั๊ม ค่าจ้างพนักงานเติมน้ำมัน ค่าบริหารต่างๆ พร้อมส่วนกำไรของธุรกิจปั๊ม
  • หากรัฐบาลลดภาษีสรรพสามิตน้ำมัน 1 บาท/ลิตร จะเสียรายได้เข้ากรมสรรพสามิต ราวเดือนละ 2,000 ล้านบาท และถ้าลดราคาลง 2 บาท/ลิตร รัฐบาลจะสูญเสียรายได้สูงถึงราว 4,000 ล้านบาท


เมื่อไม่นานมานี้ รัฐบาลชุดใหม่ที่นำโดย “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรี ประกาศดำเนินนโยบายเร่งด่วน คือ “ลดราคาน้ำมัน” เพื่อบรรเทาภาระค่าครองชีพของประชาชน ท่ามกลางราคาน้ำมันโลกที่มีแนวโน้มสูงขึ้น จากการที่ซาอุดีอาระเบีย และรัสเซีย สองประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ ขยายเวลาลดการผลิตน้ำมันโดยสมัครใจไปจนถึงสิ้นปีนี้ ซึ่งน้ำมันที่ทางภาครัฐจะช่วย คงหนีไม่พ้นน้ำมันดีเซลเป็นหลัก น้ำมันที่จำเป็นสำหรับรถกระบะ รถบรรทุก และรถประจำทาง

นโยบายใหม่นี้มีวิธีทำให้น้ำมันลงได้อย่างไร และต้องแลกกับต้นทุนอะไรบ้าง เพื่อทำให้ราคาน้ำมันลง

  • โครงสร้างราคาน้ำมันขายปลีก มีอะไรบ้าง

ทุกคนคงเคยสงสัยกันว่า ราคาน้ำมันขายปลีกตามแต่ละปั๊มในไทย มีที่มาที่ไปอย่างไร ทำไมบางวันน้ำมันถูกลง และทำไมบางวันน้ำมันแพงขึ้น อะไรกำหนดราคาขึ้นลงนี้ การจะเข้าใจถึงที่มาที่ไป จำเป็นต้องรู้จัก “โครงสร้างราคาน้ำมันขายปลีก” ก่อน

จากข้อมูลของกระทรวงพลังงาน ราคาน้ำมัน 1 ลิตรที่ขายหน้าปั๊ม ประกอบด้วยต้นทุน 4 อย่างดังต่อไปนี้

1. ต้นทุนน้ำมันหน้าโรงกลั่น (40-60%) เป็นต้นทุนที่เกิดจากการนำเข้าน้ำมันของไทย และกลั่นในประเทศ พร้อมค่าขนส่ง ซึ่งราคาหน้าโรงกลั่นนี้อ้างอิงตามราคาน้ำมันตลาดสิงคโปร์

2. ภาษี 3 ประเภท (30-40%)

- ภาษีสรรพสามิต หรือในภาษาชาวบ้านคือ “ภาษีน้ำมัน” เป็นภาษีที่เก็บจากสินค้าฟุ่มเฟือยหรือปล่อยมลภาวะอย่างน้ำมัน อันเป็นรายได้สำคัญของรัฐบาล

- ภาษีเทศบาล เป็นภาษีที่เก็บโดยกระทรวงการคลัง และจัดส่งให้กระทรวงมหาดไทย เพื่อพัฒนาส่วนท้องถิ่น

- ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) โดยจัดเก็บ 7% ของราคาขายส่งน้ำมัน และจัดเก็บอีก 7% ของค่าการตลาดน้ำมัน

3. กองทุน (5-20%)

- กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ภาครัฐจัดเก็บเพื่อเป็น “กองทุนรักษาเสถียรภาพน้ำมัน” เปรียบเหมือนกระปุกออมสินพิเศษ เมื่อราคาน้ำมันอยู่ในช่วงขาลงอย่างกรณีการระบาดโควิด-19 ผู้คนอยู่แต่ในบ้าน เงินในกระปุกนี้จะเพิ่มพูน แต่เมื่อใดน้ำมันตลาดโลกกลับมาเป็นขาขึ้น รัฐบาลก็จะแคะเงินกระปุกนี้ออกมาชดเชยส่วนต่าง เพื่อพยุงราคาน้ำมันในประเทศไม่ให้สูงเกินไป

- กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน จัดเก็บเพื่อส่งเสริมพลังงานทดแทน และวิจัยด้านพลังงาน

4. ค่าการตลาด (10-18%) เป็นต้นทุนพร้อมกำไรของบริษัทปั๊มน้ำมันต่างๆ ที่มาจากต้นทุนบริหารคลังน้ำมัน ค่าขนส่งน้ำมันมายังปั๊ม ค่าจ้างพนักงานเติมน้ำมัน ค่าบริหารต่างๆ พร้อมส่วนกำไรของธุรกิจปั๊ม

ตัวอย่างการคำนวณราคาน้ำมันขายปลีก กรณีดีเซล B7 ของวันที่ 6 ก.ย.2566 ที่ราคา 31.94 บาท/ลิตร มีที่มาดังนี้

1. ราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่น 27.1803 บาท

2. ภาษีสรรพสามิต 5.9900 บาท

3. ภาษีเทศบาล 0.5990 บาท

4. กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเข้ามาช่วยอุดหนุน ทำให้ต้นทุนหักลบออก -5.5900 บาท

5. กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน 0.0500 บาท

เมื่อนำทั้ง 5 รายการนี้รวมกันแล้ว จะกลายเป็น “ราคาขายส่งน้ำมัน” ที่ 28.2293 บาท/ลิตร
เท่านั้นยังไม่พอ ภาครัฐจะเพิ่มภาษี VAT 7% ของราคาขายส่งน้ำมัน ที่ 1.9761 บาทเข้ามาด้วย รวมเป็นทั้งหมด 30.2054 บาท/ลิตร

6. ค่าการตลาด 1.6211 บาท และรวมกับ VAT 7% ของค่าการตลาดอีกครั้งที่ 0.1135 เป็น 1.7346 บาท

ขั้นตอนสุดท้ายก็นำราคาขายส่งน้ำมันที่รวม VAT บวกกับค่าการตลาดที่รวม VAT กลายเป็น “ราคาขายปลีกน้ำมัน” ที่ 31.94 บาท/ลิตร

ชำแหละ ‘โครงสร้างราคาน้ำมัน’ หากรัฐลดเพียง 1 บาท ต้องแลกกับอะไรบ้าง?

- โครงสร้างราคาน้ำมัน (เครดิต: กระทรวงพลังงาน) -

  • การตรึงราคาน้ำมัน มาพร้อมความเสี่ยง

น้ำมัน” ถือเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ที่ราคาขึ้นลงตามตลาดโลก โดยเฉพาะน้ำมันที่ไทยใช้ เป็นการนำเข้าจากต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ ต้นทุนเนื้อน้ำมันจึงเป็นส่วนที่รัฐควบคุมได้ยาก

ดังนั้น สิ่งที่รัฐบาลสามารถทำได้คือ การปรับลดรายการภาษีต่างๆ โดยเฉพาะ “ภาษีสรรพสามิต” ซึ่ง พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ให้ข้อมูลถึงแนวทางการลดราคาน้ำมันว่า จะพิจารณาแต่ละรายจ่ายในโครงสร้างน้ำมันว่า สามารถปรับลดข้อใดได้บ้าง และเตรียมเปิดเสรีนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปที่ไม่ต้องมีค่าการกลั่นหรือค่าใช้จ่ายอื่น

ขณะที่ จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ระบุว่า รัฐบาลสามารถลดราคาน้ำมันดีเซลได้ทันที โดยใช้กลไกการปรับลดภาษีสรรพสามิต

ทั้งนี้ จุลพันธ์ประเมินความเป็นไปได้ว่า จะเสนอให้มีการลดภาษีสรรพสามิตดีเซลลิตรละ 2 บาท จากปัจจุบันที่จัดเก็บภาษีลิตรละ 6 บาท เพื่อทำให้ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลในท้องตลาดเหลือที่ไม่เกิน 30 บาทตามนโยบายของรัฐบาล

  • ลดภาษีสรรพสามิต ต้องแลกกับอะไร?

จุลพันธ์ ให้ความเห็นว่า “กรมสรรพสามิตมีการประเมินว่าในการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลิตรทุก 1 บาท จะกระทบการจัดเก็บรายได้ภาษีของกรมฯ เดือนละ 2,000 ล้านบาท แต่หากมีการลดภาษีจริงลิตรละ 2 บาทก็จะทำให้มีรายได้หายไปเดือนละ 4,000 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นระดับที่กรมฯดูแลได้ และน้อยกว่ารัฐบาลชุดก่อนที่มีการปรับลดภาษีดีเซลถึงลิตรละ 5 บาท แต่จะลดกี่เดือนก็ต้องรอฟังจากฝ่ายนโยบายก่อน”

จะเห็นได้ว่า การลดภาษีสรรพสามิตที่เก็บจากน้ำมันลง เพื่อลดราคาน้ำมัน ต้องแลกกับรายได้ของรัฐบาลที่ลดลงตามไปด้วย

ยิ่งไปกว่านั้น การใช้เงินจากกองทุนน้ำมันเข้าอุดหนุนในปัจจุบัน ซึ่งเป็นเงินภาษี สามารถพยุงราคาน้ำมันในระดับไม่สูงได้เพียงช่วงระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น เพราะเมื่อเวลาผ่านไป งบประมาณการคลังที่ลดลงเรื่อยๆ อาจทำให้ภาครัฐลดการอุดหนุนน้ำมันต่อก็เป็นได้

หากเป็นการถอนคันเร่งเงินอุดหนุนที่เร็วเกินไป อาจทำให้ราคาน้ำมันพุ่งเร็วจนประชาชนไม่พอใจ กลายเป็นกระแสประท้วงคล้ายกับกรณีอินโดนีเซียเมื่อเดือนก.ย.2565 ที่รัฐบาลอินโดฯ ไม่เหลืองบประมาณอุดหนุนน้ำมันอีกแล้ว จึงต้องปล่อยราคาน้ำมันแพงขึ้น 30% ทันที สร้างความไม่พอใจจากประชาชนจำนวนมากและเกิดการประท้วงในหลายเมืองทั่วประเทศ

เพราะฉะนั้น “ทุกการอุดหนุนล้วนมีต้นทุนที่ต้องจ่าย” ไม่ว่าการลดภาษีที่แม้ทำให้ราคาน้ำมันลงได้ แต่ก็ลดรายได้ของรัฐลงด้วย และการใช้เงินกองทุนน้ำมันชดเชย ก็ทำให้งบประมาณรัฐน้อยลงตาม จึงจำเป็นต้องใช้มาตรการนี้อย่างระมัดระวัง และไม่ยาวนานจนเกินไป

อีกทั้งควรเพิ่มการสนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่ใช้ไฟฟ้าแทนน้ำมันให้แข่งขันจนราคาเข้าถึงได้ และลงทุนโครงสร้างพื้นฐานการชาร์จรถ EV เพิ่มขึ้น สิ่งเหล่านี้จะเป็นแผนสำรองในการรับมือวิกฤติพลังงานปัจจุบันนี้ได้นั่นเอง  

อ้างอิง: offomatichonyoutubeeppobangkokbiznews

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์