‘ฝรั่งเศส’ จ่อลงดาบ ‘Shein-Temu’ ฐานทำลายสิ่งแวดล้อม

‘ฝรั่งเศส’ จ่อลงดาบ ‘Shein-Temu’ ฐานทำลายสิ่งแวดล้อม

“ฝรั่งเศส” ชงร่างกฎหมายเอาผิดธุรกิจ Fast Fashion บนอีคอมเมิร์ซ โดยการปรับเป็นเงินประมาณ 50% ของสินค้าแต่ละรายการ ฐานทำลายสิ่งแวดล้อม “Shein” และ “Temu” อาจโดนด้วย

KEY

POINTS

  • “Fast Fashion” หนึ่งในธุรกิจอีคอมเมิร์ซมาแรงจนหลายฝ่ายเริ่มกังวลว่าอาจกระทบกับ “สิ่งแวดล้อม” เพราะเสื้อผ้าเหล่านี้จะตกรุ่นอย่างรวดเร็ว
  • “Shein” และ “Temu” แพลตฟอร์มซื้อขายของออนไลน์จากประเทศจีนกำลังได้รับความนิยมในหลายประเทศทั่วโลกทั้งฝั่งอเมริกาและยุโรป
  • “ฝรั่งเศส” เป็นประเทศหนึ่งที่เสนอร่างกฎหมายลงโทษธุรกิจ Fast Fashion ในอีคอมเมิร์ซ โดยการปรับเงินประมาณร้อยละ 50 จากสินค้าแต่ละรายการ ฐานทำลายสิ่งแวดล้อม

“ฝรั่งเศส” ชงร่างกฎหมายเอาผิดธุรกิจ Fast Fashion บนอีคอมเมิร์ซ โดยการปรับเป็นเงินประมาณ 50% ของสินค้าแต่ละรายการ ฐานทำลายสิ่งแวดล้อม “Shein” และ “Temu” อาจโดนด้วย

ยังคงได้รับความนิยมไปทั่วโลกอย่างต่อเนื่องสำหรับ “Fast Fashion” โดยเฉพาะการซื้อขายในรูปแบบ “อีคอมเมิร์ซ” ที่อำนวยความสะดวกให้ทั้งผู้ขาย และผู้ซื้อเป็นอย่างมาก ซึ่งแบรนด์เสื้อผ้ารูปแบบ Fast Fashion ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดก็คือ “Shein” และ “Temu” โดยทั้งคู่มาจากประเทศจีน ทำการซื้อขายผ่านแอปพลิเคชันเป็นหลัก

โดยสาเหตุที่ Shein ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากก็เพราะมีคอลเลกชันใหม่ออกมาตลอดเวลา เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคใหม่ที่ต้องการซื้อเสื้อผ้าใหม่ตามกระแสไปเรื่อยๆ ซึ่งเฉลี่ยแล้ว Shein จะนำเสนอเสื้อผ้ารุ่นมากกว่า 7,200 รุ่นต่อวัน ทำให้ต้องผลิตสินค้าที่แตกต่างกันมากกว่า 470,000 รายการ

ส่วน Temu เป็นแพลตฟอร์มที่มาจาก “Pinduoduo” บริษัทอีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่ของจีนที่เน้น “ขายทุกอย่าง” ในราคาถูก ไม่ว่าจะเป็น เครื่องครัว อุปกรณ์ทำสวน เครื่องเขียน และแน่นอนว่าต้องมี “เสื้อผ้า” แม้ว่า Temu จะมีอายุเพียงแค่ปีกว่า นับตั้งแต่เปิดตัวไปในเดือนกันยายน 2022 และมียอดดาวน์โหลดถล่มทลายจนกลายเป็นที่นิยมในหลายประเทศ

แน่นอนว่าเมื่อธุรกิจ “Fast Fashion” มาแรงแซงโค้ง นอกจากจะสร้างความคึกคักให้กับอุตสาหกรรมแฟชั่นและอุตสาหกรรมสิ่งทอแล้ว ยังมีปัญหาหนึ่งที่ตามมาด้วย นั่นก็คือ ขยะที่เกิดขึ้นจาก Fast Fashion เพราะเป็นเสื้อผ้าที่เน้นคอนเซปต์ “ซื้อง่าย ขายเร็ว” รวมถึงมีจำนวนการผลิตเป็นจำนวนมากต่อครั้งทำให้เริ่มมีคนตั้งคำถามว่าจะส่งผลกระทบต่อ “สิ่งแวดล้อม” ในรูปแบบใดบ้าง

ล่าสุดสภาผู้แทนราษฎร “ฝรั่งเศส” ได้เสนอร่างกฎหมายใหม่ด้วยการพิจารณาลงโทษบริษัท Ultra Fast Fashion ที่มาในรูปแบบอีคอมเมิร์ซ ด้วยการเสนอให้มีบทลงโทษสูง 10 ยูโร หรือประมาณ 389 บาทต่อสินค้าที่ขาย หรือสูงถึงร้อยละ 50 ของราคาขาย ภายในปี 2030 เพื่อชดเชยผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งร่างกฎหมายนี้จะนำเสนอต่อรัฐสภาในช่วงปลายเดือนมีนาคม นี้ ซึ่งแน่นอนว่าแบรนด์ Fast Fashion ที่ได้รับผลกระทบต้องมี “Shein” และ “Temu” ติดโผมาด้วย

สำหรับร่างกฎหมายใหม่ของฝรั่งเศสส่วนหนึ่งระบุว่า “วิวัฒนาการของ Fast Fashion ที่มีจำนวนสินค้าเพิ่มขึ้น แต่ขณะเดียวกับกลับมีราคาขายที่ต่ำ กำลังมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมการซื้อของผู้บริโภค โดยสร้างแรงกระตุ้นในการซื้อ และความต้องการอย่างต่อเนื่อง แน่นอนว่าต้องส่งผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ”

ด้านรัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมของฝรั่งเศส คริสตอฟ เบชู (Christophe Bechu) กล่าวว่า หลังจากพูดกับผู้มีบทบาทในอุตสาหกรรม นักเคลื่อนไหว และนักวิจัย ทางกระทรวงก็ได้วางแผนมาตรการต่างๆ เพื่อลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากแฟชั่น

“ฝรั่งเศสวางแผนที่จะห้ามการโฆษณาโดยบริษัทที่เกี่ยวข้องกับ Fast Fashion และจูงใจทางการเงินเพื่อทำให้แฟชั่นเหล่านี้มีราคาแพงกว่า ในขณะที่แฟชั่นที่ยั่งยืนจะมีราคาถูกลง” คริสตอฟ ระบุ

แม้ว่าร่างกฎหมายของฝรั่งเศสจะเพิ่งมีการรายงานผ่านเว็บไซต์ Fast Company เมื่อวันที่ 6 มีนาคม ที่ผ่านมา แต่ทาง “Shein” ก็ได้ส่งแถลงการณ์ไปยังสำนักข่าว AFP ของฝรั่งเศสว่าบริษัทปฏิบัติตามแนวทางระหว่างประเทศที่ดีที่สุดในแง่ของการพัฒนาที่ยั่งยืนและความมุ่งมั่นทางสังคม

ทั้งนี้ความนิยมของ “Fast Fashion” ในรูปแบบ “อีคอมเมิร์ซ” ก็ถือว่าส่งผลกระทบต่อภาคการค้าปลีกด้วยเช่นกัน เพราะมีการดำเนินธุรกิจแตกต่างจากแบรนด์อื่นที่ขายหน้าร้านเป็นหลัก เช่น Zara และ H&M ที่แม้ว่าจะเป็นสินค้ารูปแบบเดียวกัน แต่ก็ยังมีการผลิตที่น้อยกว่าเพราะต้องคาดการณ์จากความนิยมของผู้บริโภค

สุดท้ายนี้แม้ว่าการออกกฎหมายเพื่อเก็บเงินจากบรรดา Fast Fashion บนอีคอมเมิร์ซจะยังไม่มีการประกาศใช้ แต่ก็เรียกได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการกระตุ้นให้ทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคใส่ใจปัญหาด้าน “สิ่งแวดล้อม” เพิ่มมากขึ้นและอาจเป็นขั้นตอนแรกๆ ที่จะพัฒนาไปสู่ธุรกิจที่ยั่งยืนในอนาคต

อ้างอิงข้อมูล : Fast Company และ Forbes

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์