ขยะ ‘Fast Fashion’ ถล่มโลก สร้างมลพิษในแหล่งน้ำธรรมชาติ ‘กานา’ โดนหนักสุด

ขยะ ‘Fast Fashion’ ถล่มโลก สร้างมลพิษในแหล่งน้ำธรรมชาติ ‘กานา’ โดนหนักสุด

แม้กระแส “Fast Fashion” จะเติบโตไปทั่วโลกเพราะเป็นเสื้อผ้าทันสมัยราคาถูก แต่ก็ส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะแหล่งน้ำธรรมชาติ โดยล่าสุด “Korle Lagoon” ในประเทศกานา เจอมลพิษจากเสื้อผ้าแฟชั่นมากที่สุดในโลก

Key Points:

  • กระแสเสื้อผ้า “Fast Fashion” ได้รับความนิยมไปทั่วโลก เนื่องจากมีความทันสมัย ราคาไม่แพง และหาซื้อได้ง่าย ทำให้มีการผลิตและจำหน่ายในปริมาณมาก 
  • แต่เสื้อผ้า Fast Fashion ก็ส่งผลเสียต่อโลกในวงกว้างเช่นเดียวกัน ตั้งแต่ขั้นตอนการผลิตที่ปล่อย “ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์” เป็นจำนวนมาก ไปจนถึงการทิ้งที่ผิดวิธีจนกลายเป็นขยะล้นโลก
  • หนึ่งในวิธีกำจัดเสื้อผ้าใช้แล้วจำนวนมหาศาลคือ ส่งต่อไปยังประเทศกานาเพื่อให้ชาวบ้านไปขายต่อ แต่ผลที่ตามมากลับเป็นการสร้างขยะจำนวนมหาศาล และทำให้แหล่งน้ำธรรมชาติ “Korle Lagoon” เกิดมลพิษมากที่สุดในโลก

ทุกวันนี้กระแสโลกแฟชั่นเปลี่ยนแปลงไปรวดเร็วมาก แบรนด์เสื้อผ้าทั้งหลาย ต่างออกคอลเลกชันใหม่กันถี่ยิบแบบไม่มีใครยอมใคร เพื่อเอาใจผู้บริโภคสายแฟชั่นที่แต่งตัวตามกระแสนิยม ทำให้เกิดธุรกิจ “Fast Fashion” ขึ้นมาทั่วทุกมุมโลก

แม้ว่า “Fast Fashion” จะเป็นหนึ่งในธุรกิจที่สร้างรายได้ให้กับหลายประเทศ แต่ก็ต้องแลกมาด้วยคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่เลวร้ายลง ด้วยความที่เป็นเสื้อผ้าซื้อง่าย ขายเร็ว มีความต้องการสูงอยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นเมื่อพวกมัน “ตกรุ่น” ก็จะกลายเป็น “ขยะ” ได้เร็วขึ้นเช่นเดียวกัน

ปัญหาขยะที่เกิดขึ้นจาก Fast Fashion เริ่มสร้างความเสียหายให้กับสิ่งแวดล้อมในวงกว้าง ล่าสุด “Korle Lagoon” หนึ่งในแหล่งน้ำธรรมชาติที่มีความสำคัญที่สุดของ “ประเทศกานา” กลายเป็นหนึ่งในแหล่งน้ำที่มีมลพิษมากที่สุดในโลก โดยบางคนมองว่ามันเหมือนกับหลุมมรณะเลยทีเดียว

  • “Fast Fashion” คืออะไร ทำไมจึงได้รับความนิยม?

ก่อนอื่นขออธิบายคร่าวๆ ว่า “Fast Fashion” คือเสื้อผ้าตามกระแส ไม่เน้นคุณภาพมากนัก แต่เน้นว่าต้องอินเทรนด์ ใช้สวมใส่แค่ไม่กี่ครั้ง (บางคนใส่เพียงแค่ครั้งเดียวก็นำไปทิ้งหรือบริจาค) มีกระบวนการผลิตที่รวดเร็ว ใช้ต้นทุนต่ำไม่ว่าจะเป็นค่าจ้างแรงงาน ค่าวัตถุดิบ ฯลฯ เพื่อให้สามารถขายได้ในราคาถูกและเข้าถึงได้ง่าย ผู้บริโภคส่วนมากที่นิยมเสื้อผ้าประเภทนี้จึงให้ความสนใจรูปแบบ ความทันสมัย และดีไซน์ที่แปลกตา มากกว่าจะสนใจเรื่องของคุณภาพ ตามคอนเซปต์ “ซื้อง่าย ขายเร็ว”

แม้ว่าเสื้อผ้า Fast Fashion กำลังเป็นที่นิยมในหมู่ผู้ชื่นชอบแฟชั่น แต่พวกมันกลับส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทั่วโลกเป็นอย่างมาก

ไม่ใช่เฉพาะปัญหาที่เสื้อผ้าเหล่านี้กลายเป็นขยะอย่างรวดเร็วเท่านั้น แต่ในอุตสาหกรรมเสื้อผ้าก็พบว่ามีสัดส่วนการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ประมาณร้อยละ 8-10 ของอัตราการปล่อยคาร์บอนทั่วโลก รวมถึงปล่อยน้ำเสียเกือบร้อยละ 20 จากปริมาณน้ำเสียทั่วโลกทั้งหมด

รวมๆ แล้วอุตสาหกรรมเสื้อผ้าเหล่านี้ใช้พลังงานมากกว่าอุตสาหกรรมการบิน และการขนส่งทางเรือรวมกันเสียด้วยซ้ำ

นอกจากปัญหาที่เกิดตั้งแต่กระบวนการผลิตแล้ว การกำจัดเสื้อผ้าที่กลายเป็นขยะจำนวนมากเหล่านี้ก็สร้างปัญหาไม่แพ้กัน หนึ่งในสถานที่ที่กำลังเผชิญปัญหาอย่างหนักจากขยะจำนวนมหาศาลอันเป็นผลพวงมาจาก “Fast Fashion” ก็คือ “Korle Lagoon” ในประเทศกานา ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นแหล่งน้ำธรรมชาติที่มีความสะอาดบริสุทธิ์ และมีความสำคัญต่อสภาพแวดล้อมโดยรวมของประเทศ แต่ปัจจุบันกลับกลายเป็นแหล่งน้ำที่มี “มลพิษ” มากที่สุด

  • “Korle Lagoon” จากแหล่งน้ำบริสุทธิ์ สู่แหล่งรวมมลพิษ

ทะเลสาบ Korle Lagoon คือแหล่งน้ำตามธรรมชาติที่ตั้งอยู่ในใจกลางกรุงอักกรา เมืองหลวงของประเทศกานา เป็นหนึ่งในทะเลสาบที่มีบทบาทสำคัญต่อประวัติศาสตร์ของเมือง มีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่าพื้นที่บริเวณนี้ก่อตั้งขึ้นโดยกลุ่มนักล่า ทำให้มีความเชื่อว่าภายในทะเลสาบนี้มีวิญญาณอาศัยอยู่

หลังจากนั้นพื้นที่ดังกล่าวก็เริ่มมีคนมาตั้งรกรากจนกลายเป็นชุมชน และขยายเป็นเมืองที่ชื่อว่า “Jamestown” ในที่สุด ย้อนกลับไปในอดีต ด้วยความที่ Korle Lagoon เป็นแหล่งน้ำธรรมชาติที่มีความสะอาด ทำให้เป็นที่อยู่อาศัยของปลาหลายชนิดจนถึงช่วงปี 1950 แต่หลังจากปี 1990 เป็นต้นมา สถานที่ดังกล่าวกลับกลายเป็นที่รู้จักในนามของเมืองที่มีมลพิษสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก

หนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้กานาต้องเผชิญปัญหามลพิษอย่างหนักก็คือ กานากลายเป็นแหล่งทิ้งขยะขนาดใหญ่ของโลก โดยเฉพาะ “ขยะเสื้อผ้า” ที่มาจาก “Fast Fashion” ที่ แม้ว่าส่วนหนึ่งชาวบ้านจะนำไปขายต่อเป็นสินค้ามือสอง แต่ก็ไม่ได้ช่วยให้ปัญหาขยะลดลง แถมยังสร้างปัญหาให้ยุ่งเหยิงมากกว่าเดิม เพราะไม่ใช่สินค้าทุกอย่างจะสามารถขายต่อได้

  • เมื่อ “กานา” กลายเป็นสุสานของเสื้อผ้า Fast Fashion

ประเทศกานานำเข้าเสื้อผ้ามือสองประมาณ 15 ล้านชิ้นต่อสัปดาห์ มีภาษาเรียกกันในท้องถิ่นว่าเป็นเสื้อผ้าคนขาวที่ตายแล้ว ในปี 2021 กานานำเข้าเสื้อผ้ามือสองรวมทั้งหมดมูลค่า 214 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 7,832,614,000 บาท ทำให้กานากลายเป็นตลาดเสื้อผ้ามือสองที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก

นอกจากนี้กานายังได้รับบริจาคเสื้อผ้ามาจากประเทศต่างๆ เพิ่มอีกด้วย เช่น สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา และจีน หลังจากนั้นก็นำเสื้อผ้าเหล่านั้นไปขายต่ออีกทอดหนึ่ง แต่สินค้าบางชิ้นก็ไม่สามารถขายต่อได้เนื่องจากหมดสภาพไปแล้ว

ภายในตลาดเสื้อผ้ามือสองของกานามีแผงขายของมากกว่า 1,000 แผง และมีผู้ค้ามากถึงประมาณ 30,000 คน แต่ในบางครั้งเมื่อได้รับเสื้อผ้ามาพ่อค้าแม่ขายบางคนก็ต้องผิดหวัง เมื่อแกะห่อพลาสติกมาแล้วกลับพบว่ามีเพียงเสื้อผ้าเปื้อนๆ เสื่อมสภาพ ที่แทบนำไปขายต่อไม่ได้ แม้จะซื้อสินค้าเหล่านั้นมาด้วยราคาสูง แต่ก็ต้องนำไปทิ้งอยู่ดี ทำให้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของขยะและมลพิษ

ข้อมูลจาก The Guardian ระบุว่า ประมาณร้อยละ 40 ของเสื้อผ้าจากตลาดมือสองในกาตากลายเป็น “ขยะ” แม้ว่าบางส่วนถูกรวบรวมโดยบริการจัดเก็บขยะ แต่ก็ยังมีบางส่วนถูกนำไปเผาทิ้ง หรือกลบฝังแบบผิดวิธี

ห่างจากตลาดค้าเสื้อผ้ามือสองไปประมาณ 3 กิโลเมตร เป็นที่ตั้งของ “Old Fadama” ชุมชนที่เคยเจริญรุ่งเรือง มีชีวิตชีวา และมีความเป็นธรรมชาติ แต่ปัจจุบันกลับมีสภาพไม่ต่างจากดินแดนขยะขนาดใหญ่ เนื่องจากเป็นสถานที่ทิ้งเสื้อผ้ามือสองที่หมดสภาพ โดยพื้นที่นี้มีผู้คนอาศัยอยู่ประมาณ 80,000 คน และบ้านของพวกเขาตั้งอยู่บนกองขยะมหึมาเนื่องจากเป็นกลุ่มที่อพยพมาภายหลัง

ไม่ใช่แค่มนุษย์เท่านั้นที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาเหล่านี้ แต่แหล่งอาหารของสัตว์หลายชนิดก็ถูกแทนที่ด้วยขยะเช่นกัน นอกจากนี้ยังประสบปัญหาหมอกควันที่เกิดจากการเผาขยะอีกด้วย

ปัญหาของ Korle Lagoon ไม่ได้มีแค่มลพิษสะสมให้แหล่งน้ำเท่านั้น เพราะเหล่าขยะและสารพิษต่างๆ ที่เกิดจากการกำจัดขยะผิดวิธี ได้ถูกพัดพาลงสู่ทะเล และไปติดค้างอยู่บริเวณชายหาดรวมถึงหน้าผาบริเวณใกล้เคียง จนกลายเป็นพื้นที่ที่เต็มไปด้วยขยะจากเสื้อผ้าเหลือทิ้งและขยะอื่นๆ อีกมากมาย จึงไม่แปลกที่เราจะมองเห็นเสื้อผ้าโดดเด่นมากกว่าหาดทราย

แม้ว่าเสื้อผ้าแบบ “Fast Fashion” จะหาซื้อได้ง่าย มีราคาถูก ดีไซน์ไม่ตกกระแส แต่ก็ส่งผลเสียตามมาไม่น้อยเช่นกัน ซึ่งจะโทษผู้บริโภคฝ่ายเดียวก็คงไม่ถูกต้องนัก เพราะเหล่าผู้ผลิตทั้งหลายก็ควรจะมีมาตรการจัดการปัญหาขยะล้นโลกที่กำลังลุกลามเป็นวงกว้าง

อย่างไรก็ตาม ในมุมผู้บริโภคเองก็สามารถช่วยแก้ปัญหานี้ได้เช่นกัน ด้วยการหันมาใส่เสื้อผ้าแบบหมุนเวียน นำสิ่งที่มีอยู่มามิกซ์แอนด์แมตช์เพื่อจะได้ไม่ต้องซื้อใหม่ตามกระแสบ่อยๆ ก่อนที่สิ่งแวดล้อมทั่วโลกโดยเฉพาะ “แหล่งน้ำธรรมชาติ” จะทยอยหายไปจนไม่เหลือให้คนรุ่นหลังได้ใช้ประโยชน์

อ้างอิงข้อมูล : The Guardian และ Green Network