ไทยย้ำบทบาทเยาวชน ต่อการพัฒนาที่ยั่งยืนผ่าน ASEAN SDGs Youth Camp

ไทยย้ำบทบาทเยาวชน ต่อการพัฒนาที่ยั่งยืนผ่าน ASEAN SDGs Youth Camp

ไทยย้ำบทบาทเยาวชนต่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในกรอบอาเซียนผ่านโครงการ ASEAN SDGs Youth Camp: Empowering Agents of Change for SDGs เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของเยาวชนในการผลักดันการดำเนินการด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน 

กรมอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศ ร่วมกับศูนย์อาเซียนเพื่อการศึกษาและการหารือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน (ACSDSD) และมหาวิทยาลัยมหิดล ต้อนรับเยาวชนจากประเทศสมาชิกอาเซียน ติมอร์-เลสเต และญี่ปุ่น รวม 32 คน เข้าร่วมโครงการ ASEAN SDGs Youth Camp: Empowering Agents of Change for SDGs เมื่อระหว่างวันที่ 30 ตุลาคม - 3 พฤศจิกายน 2566 เพื่อส่งเสริมบทบาทของเยาวชนทั่วภูมิภาคอาเซียน ในฐานะ Agents of Change แก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงด้านสภาพภูมิอากาศ และส่งเสริมการดำเนินงานตาม Complementarities Initiative ซึ่งเป็นการดำเนินการตาม ASEAN Vision 2025 ควบคู่ไปกับ 2030 Agenda for Sustainable Development ของสหประชาชาติ ไทยย้ำบทบาทเยาวชน ต่อการพัฒนาที่ยั่งยืนผ่าน ASEAN SDGs Youth Camp

โครงการ ASEAN SDGs Youth Camp จัดขึ้นภายใต้การริเริ่มของประเทศไทย ในฐานะที่ไทยเป็นประเทศผู้ประสานงานอาเซียนด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยประเทศไทยดำรงตำแหน่งดังกล่าวตั้งแต่ปี 2559 และได้ดำเนินกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งรวมถึงการจัดตั้งศูนย์ ACSDSD ภายใต้การเป็นประธานอาเซียนของไทยเมื่อปี 2562 เพื่อทำหน้าที่ด้านการศึกษา และการวิจัยด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน อีกทั้งยังเป็นเวทีสำหรับการหารือเชิงนโยบายด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน และระหว่างอาเซียนกับภาคีภายนอก ตลอดจนส่งเสริมการมีส่วนร่วมของเยาวชนในการผลักดันการดำเนินการด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน 

 

ในพิธีปิดโครงการฯ นางอุศณา พีรานนท์ อธิบดีกรมอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศ ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล และนายจิระชัย ปั้นกระษิณ ผู้อำนวยการศูนย์ ACSDSD ร่วมกล่าวแสดงความยินดี และเน้นย้ำบทบาทของเยาวชน ในฐานะ Agents of Change ที่จะช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลงเพื่อโลกที่เท่าเทียม และยั่งยืนต่อไป

ตลอดหนึ่งสัปดาห์ เยาวชนทั้ง 32 คนได้ร่วมกิจกรรม และการฟังบรรยายสรุปเกี่ยวกับแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศในการส่งเสริมการดำเนินการตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) โดยมีวิทยากรจากหน่วยงานต่างๆ รวมทั้งผู้นำชุมชนที่มาให้ความรู้ผ่านการลงพื้นที่ศึกษาดูงาน ไม่ว่าจะเป็น

(1) มูลนิธิเทอร์ราไซเคิล ที่ร่วมแบ่งปันความรู้จากประสบการณ์ในการติดตั้งเครื่องดักขยะในคลองลาดพร้าวเพื่อนำไปรีไซเคิลให้ถูกวิธี 

(2) การสำรวจโครงการ The Forestias โครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่บูรณาการชีวิตคนเมืองเข้ากับธรรมชาติ 

และ (3) การเรียนรู้ผ่านการท่องเที่ยววิถีชุมชนที่บางกระเจ้า อาทิ การทำผ้ามัดย้อมจากวัตถุดิบที่มีในพื้นถิ่น และสูดออกซิเจนจากสถานที่ซึ่งเปรียบเสมือน “ปอดของกรุงเทพฯ” ที่ฟอกอากาศบริสุทธิ์ให้กับกรุงเทพมหานคร

ไทยย้ำบทบาทเยาวชน ต่อการพัฒนาที่ยั่งยืนผ่าน ASEAN SDGs Youth Camp

การเก็บเกี่ยวประสบการณ์ผ่านการเรียนรู้ และการลงพื้นที่จริงนำมาสู่การระดมสมองเพื่อนำเสนอผลงานเกี่ยวกับแนวคิดต่างๆ เพื่อส่งเสริมการดำเนินงานตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของผู้พิการ การจัดการขยะ และการแก้ไขปัญหาด้านสาธารณสุข โดยมีนายพลพงศ์ วังแพน รองอธิบดีกรมอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศ ดร.แอนโทนี่ ประมวญรัตน รองผู้อำนวยการศูนย์ ACSDSD มหาวิทยาลัยมหิดล และ Mr.Charlton Alexander Lim ผู้เชี่ยวชาญจากกองวิเทศสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมให้ข้อเสนอแนะต่อโครงการต่างๆ เพื่อให้สามารถนำไปพัฒนาต่อยอดในบริบทที่ใช้งานได้จริงต่อไป

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์