'ซาอุฯ' ลงสนามลุยตลาดรถยนต์อีวี 'บีโอไอ'ชวนใช้ไทยฐานผลิตอาเซียน 

'ซาอุฯ' ลงสนามลุยตลาดรถยนต์อีวี  'บีโอไอ'ชวนใช้ไทยฐานผลิตอาเซียน 

“BOI”เผยไทยทาบ 2 ค่ายรถ EV ซาอุฯ “Ceer” – “Lucid” ลงทุนไทยเป็นฐานการผลิตของอาเซียน “เศรษฐา” ตั้งทีมตามการลงทุน หลังจากคุยกับรัฐบาล-ซาอุฯสั่งสรุปความคืบหน้าทุกสองสัปดาห์หวังเกิดการลงทุนโดยเร็ว

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ในฐานะกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) เปิดเผยว่าประเทศไทยได้มีการหารือกับประเทศซาอุดีอาระเบียถึงความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการลงทุนในหลายด้าน รวมทั้งความร่วมมือในด้านการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) หลังจากที่ซาอุดีอาระเบียมีนโยบายที่มุ่งมั่นในการส่งเสริมการผลิตรถอีวีในประเทศโดยตั้งเป้าจะมีแบรนด์รถอีวีที่สามารถผลิตรถอีวีภายในประเทศให้ได้โดยเร็ว

ทั้งนี้ ที่ผ่านมากองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติของประเทศซาอุดีอาระเบีย (PIF) ได้มีการประกาศการลงทุนใน 2 บริษัทรถอีวีที่สำคัญ ได้แก่ “Ceer” และ “Lucid” โดย Ceer นั้น PIF ได้เข้าร่วมทุนกับบริษัท ฟ็อกซ์คอนน์ (Foxconn) ของไต้หวันเพื่อพัฒนา และผลิตแบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าประจำประเทศ รวมทั้งได้ร่วมมือกับบริษัท BMW ในการนำนวัตกรรม และเทคโนโลยีเกี่ยวกับรถยนต์ไฟฟ้า และอื่น ๆ มาปรับใช้กับรถยนต์ไฟฟ้าแบรนด์นี้ โดยมีการตั้งเป้าว่าภายในปี 2025 จะสามารถผลิตและส่งมอบรถอีวีให้กับลูกค้าได้

ผุดโรงงานอีวีสหรัฐในซาอุฯ 

ขณะที่ Lucid นั้น PIF ของซาอุดีอาระเบียได้เข้าซื้อหุ้นกว่า 60% ในบริษัท Lucid Motor ของสหรัฐ เพื่อก่อตั้งโรงงานผลิตรถอีวี ใน ซาอุดีอาระเบีย ได้การประกาศเปิดโรงงานแห่งแรกนอกประเทศในเมืองเขตเศรษฐกิจพิเศษ King Abdullah (King Abdullah Economic City)เมื่อปลายเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ในการหารือกันระหว่างสองประเทศในเรื่องความร่วมมือเรื่องของอุตสาหกรรมยานยนต์และอีวีนั้นประเทศไทยได้เชิญชวนให้ซาอุดีอาระเบียขยายการลงทุนรถอีวีของแบรนด์ที่มีการลงทุนมายังประเทศไทยโดยเสนอให้ใช้ไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออกรถอีวีไปยังภูมิภาคอาเซียนเหมือนกับการลงทุนของหลายค่ายรถอีวีในไทยก่อนหน้านี้  ขณะที่ซาอุดีอาระเบียก็เชิญชวนให้ผู้ประกอบการไทยไปเปิดตลาดชิ้นส่วนรถยนต์และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องในตลาดของซาอุฯด้วย

\'ซาอุฯ\' ลงสนามลุยตลาดรถยนต์อีวี  \'บีโอไอ\'ชวนใช้ไทยฐานผลิตอาเซียน 

นายนฤตม์ กล่าวด้วยว่ามาตรการการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมาได้ผลการตอบรับที่ดีทั้งจากผู้บริโภคและผู้ผลิตจากทั่วโลกโดยในปี 2565 – 2566 ที่ผ่านมาซึ่งประเทศไทยใช้มาตรการสนับสนุน EV 3.0 มีผู้ผลิตรถอีวีเข้าร่วมมาตรการสนับสนุนฯ แล้ว รวมทั้งสิ้น13แบรนด์ จาก15บริษัท ทั้งในประเภทรถยนต์นั่งไฟฟ้า รถกระบะไฟฟ้า และรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า โดยภายในปี 2567 จะมีผู้ที่เริ่มผลิตรถอีวีในประเทศไทยอย่างน้อย 6 ราย ตามเงื่อนไขที่จะต้องมีการผลิตรถอีวีในประเทศเพื่อทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศ

อุตฯอีวีในไทยเติบโตโดดเด่น

ขณะที่ในช่วง9เดือนแรกของปีนี้ ( ม.ค.-ก.ย.2566) มียอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าใหม่ในประเทศไทยจำนวน50,340คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง7.6เท่า และนับตั้งแต่มีการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าตั้งแต่ปี 2560 ได้ก่อให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า มูลค่ารวม61,425 ล้านบาท จากโครงการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (BEV) รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ การผลิตชิ้นส่วนสำคัญ รวมถึงสถานีอัดประจุไฟฟ้าด้วย

ก่อนหน้านี้นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ระบุว่าหลังจากที่ได้เดินทางกลับมาจากต่างประเทศโดยพบกับผู้นำประเทศและบริษัทเอกชนหลายราย ได้มีการติดตามการทำงานทุกๆ 2 สัปดาห์เกี่ยวกับความร่วมมือที่ได้มีการหารือกัน โดยเมื่อวันศุกร์ที่ 3 พ.ย.ที่ผ่านมาได้สนทนาทางวีดีโอคอนเฟอร์เรนซ์กับตัวแทนรัฐบาลและคณะทำงานของซาอุดีอาระเบีย ซึ่งเป็นการทำงานต่อเนื่องหลังจากที่ก่อนหน้านี้ ได้มีการเดินทางไปเยือนซาอุดีอาระเบีย อย่างเป็นทางการ

นายกฯสั่งรายงานคืบหน้าทุก2สัปดาห์

สำหรับประเด็นการหารือคือการติดตามความคืบหน้าในการทำงานทุกๆ สองสัปดาห์ ซึ่งซาอุดีอาระเบียเป็นตลาดที่สำคัญ และไทยได้กลับไปฟื้นฟูความสัมพันธ์กับซาอุฯ อีกครั้ง ส่วนในการหารือกับบริษัทเอกชนที่มีขนาดใหญ่หลาย ๆ บริษัท ไม่ว่าจะเป็นด้านอาหาร ปศุสัตว์ รวมทั้งด้านพลังงาน  เช่น  ซาอุดี อารัมโก บริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่แห่งซาอุดีอาระเบีย ซึ่งถือว่าเป็นเอกชนของซาอุดีอาระเบียให้ความสนในการลงทุนในไทยเป็นอย่างมาก ซึ่งจะได้มีการพูดคุยกันอย่างต่อเนื่องต่อไปเพื่อให้เกิดความร่วมมือระหว่างสองประเทศอย่างเป็นรูปธรรม

ข้อมูลจากกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยถึงสถิติเดือนก.ย. 2566 มียานยนต์ประเภทไฟฟ้า (BEV : Battery Electric Vehicleคือ รถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่) จดทะเบียนใหม่มีจำนวน 8,904 คัน เพิ่มขึ้น 302.90 % [yoy] เดือนม.ค.-ก.ย. 2566  BEV จดทะเบียนใหม่สะสมมีจำนวน 67,929 คัน เพิ่มขึ้น 411.40% [AOA] 

ส่วนยอดสะสมณ วันที่ 30 ก.ย. 2566 ยานยนต์ไฟฟ้าจดทะเบียนสะสมประเภท BEV มีจำนวนทั้งสิ้น 99,736 คัน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 305.93%