27 ก.ย. 'วันท่องเที่ยวโลก' เที่ยวอย่างไร ให้ยั่งยืน ดีต่อใจ ดีต่อโลก

27 ก.ย. 'วันท่องเที่ยวโลก' เที่ยวอย่างไร ให้ยั่งยืน ดีต่อใจ ดีต่อโลก

27 กันยายน ‘วันท่องเที่ยวโลก’ การท่องเที่ยวถือเป็นอุตสาหกรรมที่สำคัญของประเทศไทย ขณะเดียวกันเมื่อนักท่องเที่ยวหลั่งไหลเข้ามา ก็ตามมาด้วยความเสื่อมโทรมของธรรมชาติ การท่องเที่ยวยั่งยืน จึงเป็นทางออก ในการคงไว้ซึ่งวัฒนธรรม และธรรมชาติของไทยให้อยู่ได้อย่างยาวนาน

Key Point : 

  • การท่องเที่ยว เป็นอุตสาหกรรมที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทย โดยในช่วงก่อนโควิด-19 มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามากว่า 40 ล้านคนทั่วโลก 
  • หนึ่งในความท้าทาย คือ เราจะทำอย่างไรที่จะยังคงทรัพยากรสิ่งแวดล้อม สังคม และวัฒนธรรมอันดีของไทย ควบคู่ไปกับเศรษฐกิจ 
  • การท่องเที่ยวยั่งยืน จึงเปรียบเสมือนทางออก ที่จะช่วยสร้างประสบการณ์อันดีให้แก่ผู้มาเยือน และคงไว้ซึ่งทรัพยากรอย่างยั่งยืน

 

ประเทศไทยขับเคลื่อนเศรษฐกิจจากการท่องเที่ยวด้วยความหลากหลายของวัฒนธรรม และทรัพยากรธรรมชาติอย่างต่อเนื่องมาหลายทศวรรษ จนถึง พ.ศ. 2562 ช่วงก่อนวิกฤตการณ์โควิด 19 มีผู้เยี่ยมเยือนกว่า 40 ล้านคนจากทั่วทุกมุมโลกมายังประเทศไทย นับเป็นจุดสูงสุดของประวัติศาสตร์ด้านการท่องเที่ยวที่สร้างความมั่งคั่งและผาสุกแก่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

 

สถาบันเทคโนโลยีและสารสนเทศเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (สทสย.) เผยว่า ในขณะที่การท่องเที่ยวเติบโตถึงขีดสุด ปัญหาที่ฝังรากลึกมานานถูกเปิดเผยพร้อมกับความเสื่อมโทรมของธรรมชาติที่เห็นเด่นชัดมากขึ้น เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การกัดเซาะชายฝั่ง ขยะพลาสติก ฝุ่นละอองที่มีขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน (Particulate Matter หรือ PM 2.5) ความสะอาดของแหล่งน้ำสาธารณะ การเสื่อมของความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งนำไปสู่การสูญเสียคุณค่าด้านการท่องเที่ยว ดังนั้น การมุ่งสู่การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนคือทางรอดของสังคมไทย

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

 

 

 

วันท่องเที่ยวโลก

27 กันยายนของทุกปี เป็น ‘วันท่องเที่ยวโลก’ โดยในปี 2566 นี้ จัดขึ้นที่ เมืองริยาด ประเทศซาอุดิอาระเบีย ภายใต้หัวข้อ การท่องเที่ยวและการลงทุนสีเขียว (Tourism and Green Investment) โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมการทำงานร่วมกันระดับโลกในการสำรวจโอกาสการลงทุน เพื่อเสริมสร้างความยืดหยุ่นของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว นำไปสู่อนาคตที่มุ่งเน้นการลงทุนและความยั่งยืน

 

สำหรับ ความเป็นมาวันท่องเที่ยวโลก องค์การการท่องเที่ยวโลกแห่งสหประชาชาติ (UNWTO) ได้กำหนดให้วันที่ 27 กันยายนของทุกปีเป็น ‘วันท่องเที่ยวโลก’ โดยได้มีการจัดงานเฉลิมฉลองขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2523 จากมติเห็นชอบของที่ประชุมเมื่อวันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2522 ซึ่งมีวัตถุประสงค์ให้ทุกคนได้ตระหนักถึงบทบาทและความสำคัญของการท่องเที่ยว ที่ส่งผลกระทบต่อสังคม วัฒนธรรม และมูลค่าทางเศรษฐกิจที่มีต่อการท่องเที่ยวทั่วโลกอันนำไปสู่การกำหนดบทบัญญัติแผนการพัฒนาด้านการท่องเที่ยวสากลในอนาคต

 

เมื่อครั้งที่มีการจัดงานเฉลิมฉลองเนื่องในวันท่องเที่ยวโลกครั้งที่ 12 ณ เมืองอิสตันบูล ประเทศตุรกี ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2540 สมัชชาใหญ่องค์การการท่องเที่ยวโลก แห่งสหประชาชาติ (the UNWTO General Assembly) ได้พิจารณากำหนดให้แต่ละประเทศเป็นเจ้าภาพ ในการจัดงานเฉลิมฉลองวันท่องเที่ยวโลกในแต่ละปี เพื่อเป็นการแสดงถึงความสัมพันธ์อันดีของประเทศสมาชิก

 

กระทั่งมาถึงการจัดงานเฉลิมฉลองวันท่องเที่ยวโลกครั้งที่ 15 ณ เมืองปักกิ่ง ประเทศจีน ในเดือนตุลาคม 2546 สมัชชาใหญ่องค์การการท่องเที่ยวโลกแห่งสหประชาชาติได้พิจารณากำหนดเปลี่ยนแปลงเจ้าภาพร่วมจัดงานเฉลิมฉลองให้เป็นไปตาม ‘ภูมิศาสตร์โลก’ โดยเริ่มจากยุโรป ในปี 2549 เอเชียใต้ ในปี 2550 อเมริกา ในปี 2551 แอฟริกา ในปี 2552 และ ตะวันออกกลางในปี 2555

 

 

ต่อมา Ignatius Amaduwa Atigbi ชาวไนจีเรีย เป็นหนึ่งบุคคลที่ถูกเลือกให้เป็นสัญลักษณ์แห่งวันท่องเที่ยวโลก ซึ่งตรงกับวันที่ 27 กันยายนของทุกปี เขาได้รับการยอมรับจากผลงานการเขียนหนังสือแนวท่องเที่ยวและงานเขียนชิ้นอื่น ๆ เมื่อปี พ.ศ. 2552

 

สำหรับการจัดงานเฉลิมฉลองเนื่องในวันท่องเที่ยวโลกจะมีรูปแบบการจัดงานที่ถูกคัดเลือก โดยสมัชชาใหญ่องค์การการท่องเที่ยวโลกแห่งสหประชาชาติ โดยมีที่ปรึกษาเป็นสภาองค์การการท่องเที่ยวโลกแห่งสหประชาชาติ คอยให้คำแนะนำ ในขณะเดียวกัน UNWTO จะเชิญชวนประชาชนทุกกลุ่มอายุ จากหลากหลายพื้นที่ให้เข้ามามีส่วนร่วมจัดงาน ตลอดจนเข้าร่วมในงานเฉลิมฉลองด้านการท่องเที่ยวนี้บนพื้นฐานความเข้าใจและความสำคัญของที่แตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ หรือความสำคัญจุดหมายปลายทาง ในการมาพักผ่อน ซึ่งการจัดงานเฉลิมฉลอง วันท่องเที่ยวโลกอย่างเป็นทางการนี้จะจัดขึ้นในแต่ละประเทศสมาชิกของ UNWTO ซึ่งจะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันไปตามทวีปและภูมิภาคของโลก

 

ท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

อย่างที่รู้กันว่า ประเทศไทยมีอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวซึ่งดึงดูดชาวต่างชาติ การหลั่งไหลเข้ามาของนักท่องเที่ยวแม้จะสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่ในด้านสังคม สิ่งแวดล้อม ก็เป็นสิ่งที่เราไม่ควรมองข้าม

 

สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ (สทน.) อธิบายเกี่ยวกับ การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (Sustainable Tourism) ว่า เป็นการดำเนินการด้านการท่องเที่ยวที่คำนึงถึงขีดความสามารถในการรองรับของธรรมชาติ ชุมชน ขนบธรรมเนียมประเพณี และวิถีชีวิตที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว เพื่อปกป้อง สงวนรักษาและพัฒนาสิ่งเหล่านี้ให้อนุชนคนรุ่นหลัง ซึ่งต้องปลูกจิตสำนึกให้แก่ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholders) ทั้ง นักท่องเที่ยว คนท้องถิ่น ผู้ประกอบการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว

 

ในปัจจุบันมีรูปแบบการท่องเที่ยวหลายแบบที่มุ่งส่งเสริมสนับสนุนการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เช่น การท่องเที่ยวเชิงชุมชน (Community based tourism) การท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์(Ecotourism) หรือแม้แต่นโยบายรัฐหรือหน่วยงานท้องถิ่นที่ดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมหรือกำหนดจำนวนนักท่องเที่ยวในแต่ละแหล่งท่องเที่ยว เป็นต้น

 

องค์กรการท่องเที่ยวโลกแห่งสหประชาชาติ (United Nations World Tourism Organization: UNWTO) มีหลักการเบื้องต้นในการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ดังนี้

1. มีการดำเนินการจัดการภายใต้ขีดความสามารถของระบบธรรมชาติ (carrying capacity) และ ตระหนักถึงการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน (local participation) และ ความต้องการของชุมชน (Local needs)

2. มีการกระจายผลประโยชน์อย่างเป็นธรรมสู่ท้องถิ่น (Equity)

3.ให้ประสบการณ์นันทนาการที่มีคุณค่าแก่นักท่องเที่ยว (Quality of experience)

4.เรียนรู้และเข้าใจเกี่ยวกับพื้นที่ ทรัพยากร และวิถีชีวิต (Education and understanding)

5.เน้นการออกแบบที่กลมกลืนกับสถาปัตยกรรมท้องถิ่นและใช้วัสดุในท้องถิ่น (Local architecture and local material)

6.เน้นการผสมผสานการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนสู่แผนพัฒนาระดับท้องถิ่น ภูมิภาค และระดับประเทศ (Integration of sustainable tourism to local, regional and national plans)

7.เน้นข้อมูลพื้นฐานเพื่อเป็นฐานการตัดสินใจและการติดตามตรวจสอบ (Information and monitoring)

 

เคล็ดลับสู่การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

แล้วเราจะเที่ยวอย่างไรให้ดีต่อใจ ดีต่อโลก ?

กรีนพีซ ประเทศไทย แชร์ 5 เคล็ดลับ การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เพื่อให้การเดินทางดีต่อใจและดีต่อโลก ดังนี้

1. ทิ้งรอยเท้า (คาร์บอน) ให้น้อยที่สุด – คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC)ได้ประเมินว่าก๊าซเรือนกระจกที่มาจากภาคคมนาคมขนส่งนั้นคิดเป็น 14% ของปริมาณก๊าซเรือนกระจกทั่วโลก ส่วนในประเทศไทยภาคคมนาคมขนส่งได้สร้างฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) และออกไซด์ของไนโตรเจน (NOX as NO2) มากถึง 13%, 3% และ 30% ตามลำดับ

 

เพื่อให้การท่องเที่ยวของเราดีต่อใจและสิ่งแวดล้อม เราควรจะต้องทำให้การเดินทางของเราสร้างมลพิษน้อยที่สุด วิธีนี้ไม่ยากเพียงเริ่มต้นด้วยการเลือกใช้ระบบคมนาคมที่สะอาดหากเป็นไปได้ เช่น รถไฟฟ้า ใช้ระบบคมนาคมสาธารณะให้มากขึ้น แชร์ยานพาหนะร่วมกับเพื่อน หรือจะลองเดินทางด้วยจักรยานบ้างก็คงจะทำให้การท่องเที่ยวมีรสชาติและเรื่องราวมากขึ้นไม่น้อย

 

2. เก็บไว้เพียงภาพถ่าย หรือขยะเท่านั้น – คงจะไม่เหลืออะไรหากนักท่องเที่ยวทุกคนเก็บของจากธรรมชาติมาเป็นของส่วนตัว แต่จะดีกว่านั้นมากหากทุกคนช่วยกันเก็บขยะที่พบเห็นตามข้างทาง ไม่ว่าจะเป็นขวดน้ำ ถุงพลาสติก หรือ ก้นบุหรี่

 

ข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษ ชี้ว่า ปี 2558 ประเทศไทยมีปริมาณขยะพลาสติกและโฟม มากถึง 2.7 ล้านตัน แบ่งเป็นขยะพลาสติกร้อยละ 80 ซึ่งคิดเป็นน้ำหนักแล้วจะมีมากถึง 5,300 ตันต่อวัน ในแต่ละปีจะขยะพลาสติกหลายล้านตันเล็ดลอดลงไปสู่ท้องทะเลทั่วโลก ซึ่งที่เราเห็นเป็นแพขยะจำนวนมหาศาลในมหาสมุทรหลายแห่งทั่วโลกนั้นถือเป็นเพียงร้อยละ 5 ของขยะในทะเล ส่วนที่เหลือนั้นจมอยู่ใต้ท้องมหาสมุทร

 

เราควรจะลดการสร้างขยะให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยเฉพาะขยะที่มาจากวัสดุที่ยากต่อการย่อยสลายเช่น สไตโรโฟม พลาสติก และทิชชู่เปียก หากทุกคนพกภาชนะส่วนตัว เช่น กระบอกน้ำ และกล่องอาหารให้กลายเป็นนิสัย เราก็จะสามารถลดการสร้างขยะที่ไม่จำเป็นลงไปได้มาก

 

3. เลิกให้อาหารสัตว์ - การให้อาหารสัตว์ส่งผลกระทบหลายอย่างต่อระบบนิเวศ ประการแรกการหาอาหารแบบไม่ต้องใช้ความพยายามทำให้พฤติกรรมการหากินของสัตว์เปลี่ยนไปส่งผลต่อสัญชาติญาณในการระวังภัยตามธรรมชาติ ทำให้สัตว์เสี่ยงต่อการถูกทำร้ายจากสิ่งมีชีวิตชนิดอื่น ๆ ประการต่อมาอาหารจากมนุษย์อาจทำให้สัตว์ขาดสารอาหารที่จำเป็นเนื่องจากมันไม่ใช่อาหารตามธรรมชาติของสัตว์ ประการถัดไปคือผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ

 

ในกรณีของการให้อาหารปลา เมื่อนักท่องเที่ยวให้อาหารจะทำให้ปลานิสัยก้าวร้าวบางชนิด เช่น ปลาสลิดหินมาอยู่รวมเป็นฝูง ทำให้ปลาชนิดอื่นเช่นปลาผีเสื้อ และปลาสินสมุทรต้องย้ายไปอยู่ที่อื่น หนำซ้ำเมื่อโยนอาหารลงในทะเล อาหารจะจับตัวกับคราบน้ำมันที่มากับเรือทำให้ปลาได้รับสารพิษ นอกจากนั้นสิ่งปฏิกูลที่เกิดจากการย่อยสลายของเศษอาหารและการขับถ่ายของปลาส่งผลให้เกิดการเจริญเติบโตของสาหร่ายบางชนิดอย่างรวดเร็วและไปปกคลุมบริเวณปะการังส่งผลให้แนวปะการังเสื่อมโทรมและตายในที่สุด

 

4. สนับสนุนธุรกิจในชุมชน - ลองพักแบบโฮมสเตย์ หรือ โรงแรมขนาดเล็กดูบ้าง นอกจากจะเป็นการกระจายรายได้ให้กับชุมชนแล้ว ที่พักแบบนี้ยังใช้ทรัพยากรน้อยกว่าไม่ว่าจะเป็นน้ำประปา หรือ ไฟฟ้า อีกทั้งยังสร้างขยะน้อยกว่าอีกด้วย โฮมสเตย์จำนวนไม่น้อยเปิดโอกาสให้ได้รู้จักและเรียนรู้วัฒนธรรมและวิถีชีวิตของคนในท้องถิ่นผ่านกิจกรรมที่น่าสนใจมากมายอาทิ เช่น การเกษตร การทำอาหาร และการเดินชมธรรมชาติ

 

นอกจากการเลือกที่พักแล้ว การเลือกซื้อสินค้าและอาหารก็ช่วยสร้างความยั่งยืนให้กับชุมชนและสิ่งแวดล้อมได้เช่นกัน การซื้อสินค้าจากร้านค้าในท้องถิ่นแทนร้านสะดวกซื้อจะช่วยลดมลพิษจากการขนส่งและขยะจากบรรจุภัณฑ์ได้อีกด้วย การกินอาหารพื้นบ้านจะช่วยให้คุณได้สัมผัสกับรสชาติที่แปลกใหม่ และทำให้คุณไม่ต้องกินอาหารขยะจานด่วนที่เต็มไปด้วยเนื้อสัตว์ที่มาจากการผลิตแบบอุตสาหกรรม ทราบหรือไม่ว่าการปศุสัตว์แบบอุตสาหกรรมทั่วโลกนั้นสร้างมลพิษเทียบได้กับปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 7,100 ล้านตัน หรือคิดเป็น 14.5% ของปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่มาจากการกระทำมนุษย์

 

5. แบ่งปันเรื่องราวดี ๆ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจและค่านิยมที่สร้างสรรค์ ที่เราได้มีโอกาสทำอะไรดี เพื่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม

 

 

 

อ้างอิง : กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา , สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ (สทน.) , กรีนพีซ ประเทศไทย , สถาบันเทคโนโลยีและสารสนเทศเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (สทสย.)