‘เที่ยวอุดร’ เยี่ยม ‘ครอบครัวสะพานหิน....แห่งท่าลี่’

‘เที่ยวอุดร’ เยี่ยม ‘ครอบครัวสะพานหิน....แห่งท่าลี่’

‘เที่ยวอุดร’ เยี่ยม ‘ครอบครัวสะพานหิน....แห่งท่าลี่’ ชมความมหัศจรรย์ทางธรณี ในพื้นที่ ‘ป่าสงวนแห่งชาติป่าทม’ และ ‘ป่าสงวนแห่งชาติป่าข่า’ สนใจเที่ยวชมติดต่อกลุ่มวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวสะพานหิน มีรถและคนนำเที่ยว และมี โฮมสเตย์ ที่พักอีกด้วย

เที่ยวอุดร ครั้งนี้ ..... นับเป็นความมหัศจรรย์ทางธรณีอีกอย่างหนึ่งที่ผมเห็นภาพแล้ว จึงอยากที่จะไปเห็นกับตา   เพราะเป็น สะพานหิน ที่มีรูปร่างสวยงาม และมีใกล้กัน 2 สะพาน  นั่นคือที่เรียกกันว่า สะพานหินท่าลี่  หรือ สะพานหินเมืองอุดร  จะเรียกแบบนี้ก็ได้ ที่เรียกว่า สะพานหินท่าลี่ เพราะอยู่ในพื้นที่ ต.ท่าลี่ อ.กุมภวาปี จ.อุดรธานี 

ซึ่งถ้าเป็นคนในพื้นที่ ก็คงไม่ยุ่งยากอะไรในการเดินทางไป แต่ถ้าเป็นคนต่างถิ่น แล้วไปตามกูเกิลแมพ เป็นอะไรที่สับสน และหลงทางเอาง่ายๆ   เพราะเป็นทางเข้าไปในหมู่บ้านหลายหมู่บ้าน ซึ่งมันไม่ได้มีป้ายบอกในทุกๆทางแยก   จึงนำมาซึ่งการขับรถวนไปวนมาจนเกือบถอดใจ

ก่อนอื่นผมเล่าที่ตั้งของ สะพานหินท่าลี่ แห่งนี้ก่อน   คือ สะพานหิน นี้จะอยู่ในภูเขาเตี้ยๆ  ที่ว่าเตี้ยๆเพราะจริงๆมันอยู่ในพื้นที่ ป่าสงวนแห่งชาติป่าทม และ ป่าสงวนแห่งชาติป่าข่า  ซึ่งตัวสะพานหินนั้นอยู่ในความดูแลของ วนอุทยานเขาสวนกวาง  (เพราะตรงบริเวณสะพานหินมีป้ายติดไว้แบบนี้)

ซึ่งถ้าเป็น ‘อุดร’ ก็จะขึ้นกับสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ ที่ 10 (อุดรฯ)  แต่ป่าที่ติดๆกัน  ก็อยู่ในความดูแลของ ‘น้ำตกบ๋าหลวง’ (เพราะตอนผมไปขากลับเห็นรถเจ้าหน้าที่วนอุทยานน้ำตกบ๋าหลวงไปตรวจพื้นที่)ซึ่งอยู่ในการดูแลของสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 8 (ขอนแก่น)  ก็ไม่รู้ว่าเขาแบ่งพื้นที่กันอย่างไร แต่เอาเป็นว่าเป็นพื้นที่ป่าสงวนก็แล้วกัน ซึ่งป่าสงวนที่ว่านี้ จะเป็นรอยตะเข็บเขตแดนแบ่งพื้นที่ระหว่างอุดรฯกับขอนแก่นพอดี  

ซึ่งมันตลกตรงที่ป้ายบอกสถานที่ท่องเที่ยวตรงปากทางเข้า ดันบอกว่า ไปวนอุทยานน้ำตกบ๋าหลวง ที่อยู่ในเขตอำเภอกระนวน ขอนแก่นได้ด้วย   ผมก็นึกว่าคงมีทางทะลุได้จริงๆ  พอเข้าไปเจอชาวบ้านที่ไปหาเห็ด ขี่รถสวนออกมา  เขาบอกว่ารถยนต์ไปไม่ได้  แต่ถ้าเดินเท้าข้ามภูเขาไปก็ได้  ไปลงทางกระนวน  

ท่านผู้อ่านเปิดดูกูเกิลแมพที่ตั้ง ไปที่โหมดเลเยอร์ หรือโหมดภูมิประเทศ จะเห็นว่ามันมีแนวภูเขาในแนวรอยต่อจังหวัดพอดี  แล้วจะเข้าใจที่ผมเล่ามา  ครั้นจะบอกว่าป้ายโกหกก็คงไม่ถนัดนัก เพราะเขาไม่ได้บอกว่ารถยนต์ไปได้   แค่การเดินทางก็ชวนสับสนแล้วสำหรับคนจากที่อื่นแล้ว

‘เที่ยวอุดร’ เยี่ยม ‘ครอบครัวสะพานหิน....แห่งท่าลี่’ ป้ายบอกในหมู่บ้าน

สภาพของ ป่าสงวนแห่งชาติป่าทม และ ป่าสงวนแห่งชาติป่าข่า นี้  จะบอกว่าเป็นภูเขาก็ได้แต่มันเป็นภูเขาหินทรายเตี้ยๆ คือไม่ได้มีรูปลักษณ์เป็นภูเขาชัดเจน มีส่วนที่ต่างระดับจากพื้นดินปกติไม่มาก พื้นที่เป็นป่าโปร่งแบบที่ขึ้นใน ป่าหินทราย ทั่วไป มีลานหินสลับ ถ้าไปในช่วงหน้าฝน จะให้บรรยากาศการเข้าป่ามากกว่าไปหน้าแล้ง ซึ่งมันจะดูโปร่งมากเกินไป

‘เที่ยวอุดร’ เยี่ยม ‘ครอบครัวสะพานหิน....แห่งท่าลี่’

ป้ายตรงทางเข้า ที่ชวนสับสน และงุนงงอย่างมาก

        ผมเดินทางโดยการใช้ถนนหมายเลข 2 จากขอนแก่น มุ่งหน้าไปทางอุดรฯ พอเลยที่ว่าการอำเภอเขาสวนกวางไปไม่ไกลนักก็ยูเทิร์นกลับ แล่นลงมาไม่ไกล จะมีทางเล็กๆเข้า ปากทางบอกว่าไปวนอุทยานเขาสวนกวาง ก็เข้ามาตามทาง  ไปทางบ้านทมนางาม ราว 10 กิโลเมตรถึงบ้านทมนางาม

‘เที่ยวอุดร’ เยี่ยม ‘ครอบครัวสะพานหิน....แห่งท่าลี่’ จากจุดจอดรถตรงสะพานหิน ยังมีที่ไปได้อีก

ที่นี่จะมีทางเลี้ยวขวาเข้าไป วนอุทยานเขาสวนกวางได้ (ที่นี่มีที่กางเต็นท์ด้วย) ถึงทมนางาม ก็ไปตามทางหลักจะไปบ้านทมป่าข่าแล้วไปบ้านเหล่าหมากจันทร์ จนไปถึงบ้านสวรรค์ราษฎร์(ตามในกูเกิลแมพ)  นี่ผมสรุปเส้นทางมาให้แล้ว ถ้าจะตั้งในกูเกิลแมพให้ตั้งทีละหมู่บ้านอย่างที่ผมบอก อย่าตั้งว่า สะพานหินท่าลี่ ไม่เช่นนั้นมันจะพาเราวนไปวนมาแบบที่ผมเจอ แล้วให้ถามชาวบ้านเป็นระยะส่วนใหญ่ชาวบ้านจะรู้  ย้ำเลยครับว่าอย่าเชื่อกูเกิลแมพทั้งหมด ให้ประกอบๆกัน

‘เที่ยวอุดร’ เยี่ยม ‘ครอบครัวสะพานหิน....แห่งท่าลี่’ บรรยากาศในบริเวณ

         พอไปถึงบ้านสวรรค์ราษฎร์   จะเจอป้ายอย่างใหญ่อย่างในภาพประกอบซึ่งเขียนว่าราษฎร์สมบูรณ์  ก็ยังงงว่า ตกลงมันชื่อไหน  แล้วจะมีซอยเข้า ซึ่งมีป้ายเล็กๆ  เป็นทางเดียวกันกับเข้าวัดป่าสิริสัมปันโน(ถ้ำผาสวรรค์) ก็เข้าไปตามทางดิน ทางจะผ่านท้ายบ้าน ผ่านทุ่งนา แล้วมีแยกเข้า วัดป่าสิริสัมปันโน แล้วเข้าป่า ซึ่งบอกก่อนว่ารถเก๋งเข้าไม่ได้   

เข้าไปมันก็จะเป็นทางในป่า บางช่วงผ่านลานหิน ลัดเลาะไปตามทางในป่า ซึ่งจะมีป้ายแหล่งท่องเที่ยวเป็นจุดๆ ว่าจุดนี้แวะไปไหน ไปผา ไปน้ำตก ซึ่งผมไม่ได้แวะ เพราะทางเดินเข้าไปไม่ชัดเจน แล้วไม่รู้ว่าไปใกล้-ไกลขนาดไหน ผมไปคนเดียวด้วยไม่รู้จะถามใคร บางที บางจุด ไปถึงแล้ว เรายังไม่รู้เลยว่ามันถึงแล้ว เพราะไม่มีป้าย ไม่มีคนบอก

‘เที่ยวอุดร’ เยี่ยม ‘ครอบครัวสะพานหิน....แห่งท่าลี่’ ไปตามทางเรื่อยๆ จนไปถึงลานจอดในป่า แล้วมีป้ายอธิบายความ เลยเดาว่า น่าจะเป็นตรงนี้  ทั้งที่เส้นทางยังไปต่อได้ และมีป้ายบอกว่าไปหินสามจังหวัด ผาตากโส้ง แต่ผมตั้งใจมาดู สะพานหิน ก็เลยแวะแค่ตรงนี้   ใกล้กันกำลังมีการก่อสร้างคล้ายอ่างเก็บน้ำอยู่    สรุปว่าที่นี่ห่างจากที่ทำการวนอุทยานเขาสวนกวาง ที่ทมนางาม ราวๆ  20 กิโลเมตร

          ตรงที่จอดรถ มีป้ายอธิบายความเล่าถึงที่มาที่ไปของการเกิด ‘สะพานหิน’  ซึ่งที่นี่เป็นหินทรายในหมวดหินพระวิหาร กลุ่มหินโคราช ซึ่งหินทรายท่านผู้อ่านก็รู้แล้วว่าเป็นหินตะกอนชนิดหนึ่งที่เกิดจากการสะสมตัวของดิน ทราย กรวด  ซึ่งเป็นหินที่มาเกิดขึ้นบนพื้นโลกนี่แหละ   

ซึ่งในอดีตกาลเป็นล้านๆปีที่ผ่านมา จะเป็นแม่น้ำกว้างใหญ่ ที่น้ำไหลพัดพาเอาทราย ดิน กรวด  มาสะสม ทับถมกันใช้เวลาเป็นล้านๆปี    จนกลายเป็นหิน ต่อมาก็เกิดการเปลี่ยนแปลงของแผ่นเปลือกโลก เบียดกัน ดันกัน บรรดาแผ่นหินเหล่านี้ก็ถูกยกตัวขึ้นเป็นภูเขา เมื่อสะสมตัวเป็นชั้นๆ เวลาถูกยกตัวขึ้นเป็นภูเขาเราจึงมักเห็นภูเขาทางนี้เป็นหลังแปซึ่งปลายขอบของภูเขาก็จะหักตก เป็นหน้าผา

‘เที่ยวอุดร’ เยี่ยม ‘ครอบครัวสะพานหิน....แห่งท่าลี่’ น่าจะเป็นที่เรียกว่าผาหินสหาย

ส่วนที่หักตกก็จะค่อยๆลาดลงมาเป็นไหล่เขา  นี่เป็นฟอร์มของภูเขาหินทรายเหล่านี้เลย   แผ่นหินทรายที่มีผลจากการกระทำของแผ่นเปลือกโลกก็จะมีรอยแตกตามแนวกระทำ จากนั้น น้ำก็จะเป็นตัวขัดเกลา กัดกร่อนตามแนวแตกก่อน ส่วนที่ผุพังง่ายก็จะผุสลายไป ส่วนที่แข็งแกร่งกว่า(ซึ่งอาจจะมีเหล็กหรือมีแร่ธาตุอื่นๆมาเคลือบ) ก็จะยังคงทนกว่า  

ซึ่ง ก็เป็นเหตุให้มีรูปลักษณ์ต่างๆบนหินทรายก็มาด้วยเหตุแบบนี้    ประกอบกับชนิดของหินทรายที่มีการทับถมกัน ที่มีส่วนประกอบต่างกัน ก็ทำให้หินทรายแต่ละประเภท ผุพังง่าย- ยาก ต่างกันด้วย

‘เที่ยวอุดร’ เยี่ยม ‘ครอบครัวสะพานหิน....แห่งท่าลี่’ สะพานตัวผู้

          สำหรับที่นี่ ที่ผมเรียกว่า ครอบครัวสะพานหิน เพราะมี สะพานหินตัวผู้ และ สะพานหินตัวเมีย ซึ่งว่ากันว่ามีสะพานที่สาม อยู่ย่านนั้นอีก แต่ไม่มีป้ายบอก ไม่รู้ทางไป ก็เลยไม่ได้ไปดู 

          จากจุดจอดรถ เดินขึ้นเนินเล็กๆไปตามทาง จะมีกลุ่มกองหินทรายขนาดใหญ่ๆอยู่ในบริเวณ เดินไปไม่ไกลก็จะเป็นทางแยก ซึ่งไม่มีป้ายบอกว่าแยกไปไหน ผมก็เลยเดินตรงไป จะเห็นกำแพงหินทรายขนาดใหญ่ มีต้นไทรทิ้งรากเกาะมาตามหน้าผา ซึ่งตามแผนที่ในป้ายอธิบายความตรงที่จอดรถ 

‘เที่ยวอุดร’ เยี่ยม ‘ครอบครัวสะพานหิน....แห่งท่าลี่’ สะพานตัวผู้ จะเห็นทางเดนขึ้นไปด้านหลัง ไปยังสะพานตัวเมียได้

น่าจะเป็นผาหินสหาย มันไม่มีป้ายบอก ผมเลยไม่มั่นใจนัก  อีกด้านมีกองหินทรายขนาดใหญ่   เดินตามทางไประหว่างกองหินนิดเดียว ก็เห็นสะพานหินตัวผู้   ที่โค้งสูง ยาวราว 8-10 เมตร  ตรงที่สูงสุดสูงจากพื้นราว 2-3เมตร  มีตัวหนังสือเขียนบนหินด้านล่างว่า ‘สะพานหิน’  ซึ่งไม่ต้องบอกเขาก็ดูออก ทีตามแยก แทนที่จะมีป้ายบอกก็ดันไม่มีซะงั้น

           เดินลอดสะพานหินตัวผู้มา จะเห็นทางเดินขึ้นเนินไปด้านบน  ก็จะเจอลานหินกว้าง ครั้นเดินตามทางไปไม่ไกล   ก็จะเจอทางเดินด้านบนของสะพานหินตัวเมีย   ซึ่งสะพานนี้จะยาวกว่าสะพานแรก ยาวราว 20 เมตร   แต่หลังสะพานไม่โค้งขึ้นเหมือนสะพานแรก 

‘เที่ยวอุดร’ เยี่ยม ‘ครอบครัวสะพานหิน....แห่งท่าลี่’   เดินบนหลังสะพานไปจนสุด จึงเห็นทางลงมาด้านล่าง  ทำให้เห็นว่าสะพานนี้สูงจากพื้นสองเมตรเศษๆ  ไม่ได้สูงเท่าสะพานตัวผู้อันแรก  ครั้นเดินลอดสะพานตัวนี้ออกมา    ก็จะเป็นทางเดิน   ซึ่งพอเดินตามทางมาไม่ถึง 100 เมตร ก็จะมาบรรจบกันตรงด้านหน้าหน้าผาที่มีต้นไทรคลุมรากลงมานั่นเอง

‘เที่ยวอุดร’ เยี่ยม ‘ครอบครัวสะพานหิน....แห่งท่าลี่’ ด้านบนของสะพานตัวเมีย

‘เที่ยวอุดร’ เยี่ยม ‘ครอบครัวสะพานหิน....แห่งท่าลี่’ สะพานตัวเมีย

           เป็นความแปลกประหลาด มหัศจรรย์ในพื้นที่อีกที่หนึ่งของบ้านเรา   เสียแต่ว่า ขาดการสื่อสาร ผ่านป้าย ไม่มีป้ายบอกทาง หรือป้ายบอกแหล่งท่องเที่ยวว่าไปทางไหน ไกลขนาดไหน   นี่อาจจะเป็นความอ่อนด้อยของการจัดการแหล่งท่องเที่ยวในบ้านเราที่ถูกมองข้ามไปก็ได้ ซึ่งเป็นปัญหากับนักท่องเที่ยวมาก

‘เที่ยวอุดร’ เยี่ยม ‘ครอบครัวสะพานหิน....แห่งท่าลี่’ ความสูงของสะพานตัวผู้ที่เป็นแนวโค้ง

‘เที่ยวอุดร’ เยี่ยม ‘ครอบครัวสะพานหิน....แห่งท่าลี่’ ป้ายอธิบายความที่ลานจอดรถ

ใครที่สนใจ อยากไปดู เขามีกลุ่มวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวสะพานหิน ซึ่งมีรถพามา มีคนนำเที่ยวและมี โฮมสเตย์ ที่พักด้วย ลองติดต่อที่ 061-238-9965 

ออกเดินทางไปดูบ้านเมืองของเรากันครับ ยังมีอะไรที่เราไม่รู้อีกเยอะ