เปิดชื่อ '36 ศูนย์เวลเนสอัตลักษณ์ไทย' Soft Power ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ

เปิดชื่อ '36 ศูนย์เวลเนสอัตลักษณ์ไทย' Soft Power ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ

สธ. เปิดตัว ‘ศูนย์เวลเนสอัตลักษณ์ไทย’  36 แห่งผ่านรับรอง ใช้ Soft Power ยกระดับมาตรฐานธุรกิจท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ สร้างความมั่นใจนักท่องเที่ยว พลิกฟื้นตลาดการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับโลก

        เมื่อวันที่ 27 ก.ย.2566 ที่ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข จังหวัดนนทบุรี นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)  กล่าวในการเป็นประธานพิธีเปิดตัวตราสัญลักษณ์  “ศูนย์เวลเนสอัตลักษณ์ไทย” (Thainess Wellness Destination : TWD) พร้อมมอบโล่และประกาศนียบัตรให้กับผู้ที่ได้รับรองเป็นศูนย์เวลเนสอัตลักษณ์ไทย จำนวน 36 แห่งว่า  สธ.ได้ดำเนินการนโยบาย “คนไทยสุขภาพดี เศรษฐกิจมั่งคั่ง” (Health for Wealth) ยกระดับบริการ
       เสริมสร้างสุขภาพประชาชน สนับสนุนการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก สมุนไพร ภูมิปัญญาไทย และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Wellness Tourism) เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ โดยดึง Soft Power อัตลักษณ์ความเป็นไทยและอัตลักษณ์เฉพาะถิ่น ทั้งจากองค์ความรู้การแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้าน สมุนไพร และการแพทย์ทางเลือก เชื่อมโยงกับธุรกิจการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เพื่อเป็นจุดขายดึงดูดนักท่องเที่ยว
      “หนึ่งใน Quick Win นโยบายสาธารณสุขปีงบประมาณ 2567 มีเรื่องเศรษฐกิจสุขภาพ เป็นการนำเรื่องดูแลสุขภาพ มาสู่ภาคเศรษฐกิจ สร้างรายได้  และสร้างความเป็นไทย ซึ่งศูนย์เวลเนสอัตลักษณไทย ตอบโจทย์ในทุกเรื่อง สธ.จะผลักดันให้เป็นจุดเด่นของประเทศ ซึ่งจากศูนย์เวลเนสที่มีการเปิดทั่วประเทศน่าจะกว่า 10,000 แห่ง แต่ที่ผ่านการรับรองมาตรฐานกว่า 400 แห่ง และเป็นศูนย์อัตลักษณ์ไทย 36 แห่ง  จะสร้างความเชื่อมั่นและยอมรับระดับโลก ทั้งการท่องเที่ยว อาหารและภูมิปัญญาไทย นำมาต่อยอดให้เป็นแบรนด์Global สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ”นพ.โอภาสกล่าว   

5 ประเภทศูนย์เวลเนส

     นพ.ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก  กล่าวว่า กรมได้ร่วมมือกับ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ผู้ประกอบการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั่วประเทศ ส่งเสริมรูปแบบการท่องเที่ยวศักยภาพสูงที่หลากหลายและโดดเด่น มุ่งหวังให้มีศูนย์เวลเนส (Wellness Center) ทั่วประเทศ โดยให้สถานประกอบการและแหล่งท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ทั้ง 5 ประเภท ได้แก่

1.ที่พักนักท่องเที่ยว

2.ภัตตาคารหรือร้านอาหาร

3.นวดเพื่อสุขภาพ

4.สปาเพื่อสุขภาพ

และ 5.สถานพยาบาล

เข้ารับการประเมินเป็นศูนย์เวลเนส เพื่อยกระดับมาตรฐานการบริการ มีสถานประกอบการผ่านการรับรองศูนย์เวลเนส 459 แห่ง และได้ต่อยอดเพิ่มเกณฑ์การประเมินให้เป็นศูนย์เวลเนสอัตลักษณ์ไทย ปัจจุบันทั่วประเทศผ่านการรับรองแล้ว 36 แห่ง

       “คาดหวังว่าจะช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศให้เกิดความพึงพอใจในบริการ และพลิกฟื้นตลาดการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของประเทศไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับโลกต่อไป  และสิทธิประโยชน์ของสถานประกอบการที่ผ่านการรับรองนี้ ก็จะมีการพิจารณาต่อไป เช่น มาตรการทางภาษี เป็นต้น ”นพ.ธงชัยกล่าว 

เกณฑ์ศูนย์เวลเนสอัตลักษณ์ไทย
       ในส่วนของเกณฑ์การพิจารณาให้เป็นศูนย์เวลเนสอัตลักษณ์ไทย ต้องโดดเด่นและสะท้อนให้เห็นผ่าน อายตนะ ทั้ง 6  ประกอบด้วย 
1.ตา(ภาพ) สถาปัตยกรรมที่มีทั้งแบบไทยโบราณ หรือไทยโมเดิร์น แต่ยังคงกลิ่นอายของความเป็นไทย การตกแต่งที่อาจใช้ภาพวาดตามผนัง ภาพแขวนต่างๆ  และของใช้ภายในสถานประกอบการที่สื่อถึงความเป็นไทย 
2.หู(เสียง)  ทั้งเสียงที่เกิดขึ้นจากธรรมชาติ เช่น เสียงนก เสียงลมพัด และเสียงดนตรีที่เกิดขึ้นจากมนุษย์ถูกสร้างสรรค์ให้เข้ากับสถานที่นั้นๆ จะช่วยให้เกิดความผ่อนคลาย  สงบสุข
      3.จมูก(กลิ่น) กลิ่นหอมของน้ำมันหอมระเหย สกัดมาจากส่วนต่างของพืช ซึ่งกลิ่นตามพืชแต่ละท้องถิ่นมีเอกลักษณ์เฉพาะ รวมถึง กลิ่นหอมในเครื่องเทศและสมุนไพรในเมนูอาหาร และกลิ่นดอกไม้ที่ปลูกในพื้นที่
4.ลิ้น(รส) อาหารที่มีรสชาติเป็นเอกลักษณ์ และอาหารไทยยังใช้เป็นยาได้ เนื่องจากมีคุณค่าทางโภชนาการสูง ใช้วัตถุดิบที่มีสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย
5.ผิวหนัง(สัมผัส) เป็นสิ่งที่มากระทบผิวหนังจนเกิดความรู้สึก ทั้งความร้อน ความเย็น ช่วยให้ร่างกายเกิดความผ่อนคลาย  
และ6.ใจ(ความคิด) กิจกรรมทางเลือกและรูปแบบการใช้ชีวิตนำไปสู่สภาวะของสุขภาพองค์รวม
        เปิดชื่อ \'36 ศูนย์เวลเนสอัตลักษณ์ไทย\' Soft Power ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ
36 ศูนย์เวลเนสอัตลักษณ์ไทย
       สำหรับ 36 ศูนย์เวลเนสอัตลักษณ์ไทย แยกเป็น  
       ประเภทที่พัก  13 แห่ง  บ้านแมริมน้ำ จ.ชลบุรี ,โรงแรม ณ เวลา ,ไม้แก้ว ดำเนินสะดวก บ้านห้วยลูกนกฟาร์มสเตย์ จ.ราชบุรี ,ภูเรือ แซงค์ฌัวรี รีสอร์ท แอนด์ สปา ,ดิ โอลด์ เชียงคาน บูติกโฮเทล จ.เลย,วังยาวริเวอร์ไซด์ จ.นครนายก ,กิจการน้ำพุร้อนสันกำแพง จ.เชียงใหม่ ,ณ สุข เวลเนส รีสอร์ท,อ่าวนาง ปริ้นซ์วิลล์ วิลล่า รีสอร์ท แอนด์สปา ,รวิวาริน รีสอร์ทแอนด์สปา,วารีรัก ฮอตสปริงสปา จ.กระบี่ ,สุโขเวลเนส แอนด์ สปา รีสอร์ท จ.ภูเก็ต
      ประเภทร้านอาหาร  6 แห่ง สวนนงนุช จ.ชลบุรี ,สองเพ-ลา,ล้านช้าง,ไร่ธารธรรม จ.เลย ,เรือนคำอิน ,ออนใต้ฟาร์ม จ.เชียงใหม่
     ประเภทร้านนวด 4 แห่ง  ญาดานวดเพื่อสุขภาพ จ.นครนายก, ลานตนานวดเพื่อสุขภาพ,ลีลานวดไท ,บ้านท่าแพนวดไทย จ.เชียงใหม่
     ประเภทร้านสปา 10 แห่ง  ลีลาวดีไทยสปา จ.เลย,วังยาวสปา,รอยัลสปา จ.นครนายก ,เดอะเจนเทิล มาสสาจ แอนด์สปา,ชิดา สปา,ปานวิมาน เชียงใหม่ สปา รีสอร์ท,ระรินจินดา เวลเนส สปา,ฟ้าล้านนา สปา,เชียงใหม่ สปา มันตรา,คิรา สปา จ.เชียงใหม่
        คลินิก 3 แห่ง  ชีวาดีคลินิก จ.เลย ,รพ.สต.ดอนแก้ว จ.เชียงใหม่ และอมาตยา เวลเนส จ.กระบี่
Soft Power เพิ่มมูลค่าธุรกิจ
      ขณะที่ กุสุมา กิ่งเล็ก CEO อ่าวนาง ปริ้นซ์วิลล์ วิลล่า รีสอร์ท แอนด์สปา กล่าวว่า  อ่าวนาง ปริ้นซ์วิลล์ฯได้รับการประเมินเป็นศูนย์เวลเนสอัตลักษณ์ไทย 4 จาก 5 ประเภท ยกเว้นเพียงประเภทคลินิก โดยรีสอร์ทนำเรื่องความเป็นไทยและการใช้วัฒนธรรมท้องถิ่นภาคใต้ทั้งการตกแต่ง เช่น การใช้ผ้าปาเตะมาตกแต่งห้องพัก สปา
      รวมถึง  การจัดการเรื่อง Zero Waste  ด้วยการนำผ้าปูเตียงที่ใช้แล้วแต่ยังสะอาด ไม่ได้เปื้อนมาก มีรีดีไซน์แทนที่จะทิ้งมาย้อมโดยสีธรรมชาติแล้วเขียนเพนต์ลายไทยภาคใต้ นำมาทำเป็นหมอนรองมือ หรือลูกประคบจะใช้ผ้าปาเตะห่อด้วย
        นอกจากนี้  กลิ่นจะใช้อโรมาดอกไม้ไทย ซึ่งรีสอร์ทมีการปลูกดอกปีปที่ช่วยเรื่องปอด มีการนำสมุนไพรจากพืชป่าชายเลนมาทำลูกประคบ สบู่จากเหงือกปลาหมอ  และเพลงที่เปิดในส่วนต่างๆจะใช้เพลงไทย การต้อนรับแขกวีไอพีมีการแสดงสะท้อนไทยใต้ เช่น รำมโนราสร้างอัตลักษณ์ในการให้บริการ ทำให้รีสอร์ทมีครบทั้งรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส

เปิดชื่อ \'36 ศูนย์เวลเนสอัตลักษณ์ไทย\' Soft Power ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ

         ผู้มาใช้บริการที่รีสอร์ทมีความหลากหลาย โดย 80 % เป็นชาวต่างชาติ โดยเฉพาะช่วงไฮซีซั่น เดือนพ.ย.-เม.ย. แต่ตลาดเอเชียหรือไทยจะเข้ามาช่วงกรีน เดือนพ.ค.-ต.ค. เช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และนักท่องเที่ยวขาวตะวันออกกลาง ที่เป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูงและรู้จักเรื่องการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ของไทยอยู่แล้ว เมื่อนำเรื่องการท่องเที่ยวเชิงเวลเนสเข้าไปยิ่งสนใจ 
        “การนำอัตลักษณ์ไทยมานำเสนอเป็นสิ่งที่จะทำให้นักท่องเที่ยวกลับมาเที่ยวซ้ำ เพราะชื่นชอบประสบการณ์ต่างๆที่ได้รับ ตอบโจทย์คนทุกคนทุกวัย และการที่ภาครัฐเข้ามารับรอง เป็นการยกระดับบริการ สร้างความมั่นใจ เชื่อถือให้กับนักท่องเที่ยว  ทำให้ผู้ประกอบการขายบริการได้มากขึ้น และ Thainess Wellness Destination มั่นใจว่าจะสามารถเป็นSoft Power ที่ดึงนักท่องเที่ยวเข้ามามากกว่า 1 ครั้ง เพราะข้อดีคือไม่ว่าลูกค้าจะมาช่วงไหนจะมีสมุนไพร ทรีทเมนต์ตามฤดูกาล ที่แตกต่างกันไปในแต่ละภูมิภาค”กุสุมากล่าว 
          กุสุมา กล่าวด้วยว่า ข้อเสนอที่ต้องการให้ภาครัฐสนับสนุนเพิ่มเติม คือ 1.การประชาสัมพันธ์และการตลาด อยากให้เป็นที่รู้จักมากขึ้นนอกจากในประเทศ เอเชียก็ให้เวิลด์ไวด์มากขึ้น และ2.เติมเรื่องของนวัตกรรม เนื่องจากในอนาคต ลูกค้าไม่ได้มองแค่ลูกประคบ น้ำมันหอมระเหย แต่เป็นสินค้าบริการที่มีนวัตกรรมหรือนำเรื่องวิทยาศาสตร์เข้ามาร่วมด้วย รวมถึงเสริมด้วยงานวิจัยต่างๆ ทำให้ลูกค้าเกิดความเชื่อมั่น และเพิ่มให้คนทำบริการ สร้างสินค้าตัวเองและขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้อง  สามารถส่งผลิตภัณฑ์ไปขายได้ด้วย เป็นสินค้า หรือบริการที่เติมเรื่องนวัตกรรม 

          สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจเข้ารับการประเมิน “ศูนย์เวลเนสอัตลักษณ์ไทย” สามารถ ติดต่อได้ที่ กองการแพทย์ทางเลือก กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก 02 591 7007 ต่อ 2603