'หลักสูตร Wealth Of Wisdom: WOW#2’ สร้างผู้ประกอบการคุณธรรม พัฒนาความยั่งยืน

'หลักสูตร Wealth Of Wisdom: WOW#2’ สร้างผู้ประกอบการคุณธรรม พัฒนาความยั่งยืน

กรุงเทพธุรกิจ ผนึกฐานเศรษฐกิจ เปิด 'หลักสูตร Wealth Of Wisdom: WOW#2’ อบรม Sustainability With Moral สร้างผู้ประกอบการคุณธรรม พัฒนาธุรกิจ ชีวิตสู่ความยั่งยืน

keypoint:

  • หลักสูตร WOW ชวนผู้ประกอบการคุณธรรม ร่วมพัฒนาสู่ความยั่งยืน รับมือความท้าทาย ช่องว่างระหว่างวัย ทำความรู้จักคุณลักษณะเด็กอัลฟ่า
  • ดัชนีชี้วัดคุณธรรมของคนไทย 3 ช่วงวัย ใน 5 ด้าน พบ ด้านกตัญญูความดีที่ไม่ใช่พ่อแม่ได้เกณฑ์มากสุด  วัยทำงานมีปัญหาความมีวินัยความรับผิดชอบ ขณะที่วัยผู้ใหญ่พอเพียงต่ำสุด
  • ผู้ประกอบการคุณธรรม องค์กรคุณธรรมวัดได้ง่ายจากสีหน้า ปฏิกิริยาของคนในองค์กรว่ามีความสุข มีรอยยิ้มหรือไม่ 

เริ่มต้นแล้ว!! สำหรับ ‘หลักสูตร Wealth Of Wisdom: WOW#2’ จัดโดยหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ และหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ซึ่งในครั้งนี้มีผู้ประกอบการ ผู้บริหารเข้าร่วมจำนวนมาก

รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) บรรยายหัวข้อ ‘Sustainability With Moral’ ว่าความท้าทายที่ประเทศไทย กำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้คือ การอยู่ร่วมกันของคนในสังคมที่มีความแตกต่างกันระหว่างคนที่อยู่ในยุคดิจิทัลกับสังคมผู้สูงอายุ และมีความหลากหลาย Gen ทำให้แต่ละคนไม่สามารถพูดคุยกันได้อย่างเข้าใจ  ซึ่งในมุมของหมอเด็ก พบว่า เด็ก 100 เคสที่เข้ามาปรึกษาหมอ ครึ่งหนึ่งไม่ได้รักษาเด็ก แต่เป็นการรักษาคนที่พาเด็กมา นั่นคือ พ่อแม่หรือบริวารในครอบครัว ทำให้คนที่พามาได้ยากลับบ้าน ทั้งที่พาเด็กมาเพราะมองว่าเด็กมีปัญหา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

เปิดตัวยิ่งใหญ่ Wealth of Wisdom (WOW) หลักสูตรเพื่อขุมทรัพย์แห่งปัญญา

เปิดแนวคิด Wealth of Wisdom สร้างองค์กรเติบโตอย่างยั่งยืน

 

7 คุณลักษณะเด็กเจนอัลฟ่าที่ควรรู้

เด็กเจเนอเรชั่นอัลฟ่า (Gen Alpha) หรือเด็กที่เกิดตั้งแต่ปี 2010 เป็นต้นไป มีลักษณะแตกต่างจากเด็กในเจนอื่นๆ  เพราะเด็กรุ่นใหม่นี้เติบโตมาในยุคเทคโนโลยีก้าวหน้า สังคมขับเคลื่อนอย่างรวดเร็ว แรง และขนาดใหญ่ ทำให้เด็กมีลักษณะที่แตกต่างกับเด็กเจนอื่นๆ ดังนี้

1.ใช้ชีวิตอยู่คนเดียว (Individualism) เด็กเจนอัลฟ่าสามารถอยู่ได้ด้วยตัวเอง อาศัยเทคโนโลยีในการใช้ชีวิต ทำให้ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาอาศัยผู้อื่น

2.เชี่ยวชาญเทคโนโลยี (Robust Education Technology Savvy) เทคโนโลยีจะมีบทบาทในชีวิตของเด็กเจเนอเรชั่นอัลฟ่าเป็นอย่างมาก พวกเขาจะเรียนรู้สิ่งต่างๆ ได้ด้วยเทคโนโลยี และให้ความสำคัญเป็นส่วนหนึ่งในชีวิต

3.อาชีพผู้ประกอบการ (Entrepreneurial Generation) เด็กเจเนอเรชั่นนี้จะกล้าลองกล้าทำสิ่งใหม่ๆ ทำให้อาชีพส่วนใหญ่ของคนในเจนนี้เป็นการประกอบธุรกิจ

4.ขาดการปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น (Less of Human Contact or Relationship) เมื่อสามารถอยู่ได้ด้วยตัวเองแล้ว การติดต่อสัมพันธ์กับคนอื่นก็น้อยลง แม้แต่ในครอบครัวของตัวเอง

5.ได้ความรักท่วมท้น (Extreme Coddle) มาจากการที่พ่อแม่ยุคปัจจุบันมีลูกน้อยลง มีหลานน้อยลง ทำให้ทุ่มเทความรักความเอาใจใส่ และความหวังไปที่ลูกมากเกินไป ซึ่งบางครั้งอาจกลายเป็นปัญหาได้ 

6.ขาดความยืดหยุ่น (Less of Resilience) การใช้ชีวิตผูกติดกับเทคโนโลยีมากเกินไป ใช้ชีวิตประจำวันตามโปรแกรมที่พ่อแม่ตั้งให้ไว้ ห่างไกลจากธรรมชาติและสังคม

7.คุณธรรมและจิตวิญญาณลดลง (Moral and Spiritual Weakness) พวกเขาอาจรู้สึกว่าไม่จำเป็นต้องอดทนคอยอะไร ไม่ต้องรู้สึกผิดหวัง หรือเสียใจกับเรื่องอะไร

 

หลักการเลี้ยงลูก สู่หลักการทำธุรกิจ

“หลักในการเลี้ยงลูกของพ่อแม่ผู้ปกครอง ต้องใช้หัวใจในการเลี้ยงลูก เป็นผู้ฟังที่ดี ฟังแล้วสะท้อนความรู้สึกที่ดี ไม่มีอคติ และสะท้อนคิดในมุมกลับ”นพ.สุริยเดว กล่าว

หลายคนมักจะบอกว่า วันไหนที่ท้อขอให้ส่องกระจก และบอกตัวเองว่าเราทำได้ วันที่ดีใจขอให้รู้ว่าความสุขจะอยู่กับเราไม่นาน ขอให้รู้ว่าชีวิตไม่มีทางตัน ถ้าอยากเห็นอนาคตให้กลับมาดูที่มือ เพราะมือนี้ต้องลงมือทำ  โลกจะเป็นอย่างไร สังคมจะเป็นอย่างไร บ้านเมืองจะเป็นอย่างไร อนาคตจะเป็นอย่างไร ขึ้นอยู่กับตัวลูกและคนรุ่นลูกจะเป็นผู้รับผิดชอบ และทำให้สำเร็จ โลกใบใหม่ คนรุ่นลูก จะเป็นคนกำหนดเอง

 ซึ่งถ้าเด็กกำลังอยู่ในชั่วโมงที่เขากำลังทุกข์ หรือกำลังสุข เช่น  เขากำลังร้องไห้ เสียใจ ท้อแท้แล้วบอกให้เขาส่องกระจก และบอกว่าตัวเองทำได้ คงเป็นเรื่องยากที่จะทำ เช่นเดียวกับ คนที่กำลังประสบความสำเร็จ เขากำลังจะไปฉลอง ให้เขาบอกตัวเองว่าความสุขจะอยู่กับเขาไม่นาน คงทำไม่ได้ เป็นต้น

“ไม่ใช่เรื่องง่ายที่เด็กผู้หญิงคนหนึ่งจิตตก และวิตกกังวลเครียดสะสม และให้ไปส่องกระจกและบอกว่าเราทำได้ ถ้ามันง่ายคงไม่มีเด็กฆ่าตัวตาย 2 คนต่อ วัน และปัจจุบันมีเด็กอยากฆ่าตัวตาย 20 เท่า เมื่อเทียบกับอดีต ขณะเดียวกัน 20 ล้านครอบครัว ประมาณ 50% เลี้ยงและตัดสินแทนลูก ส่วน 25% เป็นการเลี้ยงแบบอยากให้ลูกเป็นคนดีแต่ให้ชาวบ้านเลี้ยงลูก พ่อแม่ไม่มีเวลาเลี้ยงลูก เหลือเพียง  25% เท่านั้นที่พ่อแม่เลี้ยงลูกด้วยหัวใจแบบประชาธิปไตย รับฟังลูก และระบบการศึกษาไทยเน่ามาก ใช้ระบบแพ้คัดออก ก็หล่อหลอม  ในชั้นเรียนครูพูดมากกว่าเด็ก สิ่งเหล่านี้ล้วนทำให้เกิดช่องว่างระหว่างวัย และปัญหาสังคม” นพ.สุริยเดว กล่าว

6 ขั้นพฤติกรรมมนุษย์ เช็กมีคุณธรรมหรือไม่?

ทุกวันนี้ในเรื่องของคุณธรรม มีบันไดของการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมมนุษย์ ซึ่งมีทั้งหมด 6 ขั้น ได้แก่

1.ทำเพราะกลัวการลงโทษ

2. ทำเพราะหวังผลทันที (ทั้งดีและไม่ดี แรงมาแรงไปยุติธรรมดี)  

3.ทำเพราะทำให้ตนเองดูดีในสังคม ( มีจริยธรรมแต่ไร้ซึ่งคุณธรรม)

4.ทำเพราะมองว่าเป็นกติกาทางสังคมและบรรทัดฐาน

5.ทำโดยคำนึงความเป็นธรรมทางสังคม  

 6.ทำเพราะจิตสำนึก

ปัจจุบันในการวัดคุณธรรมของคนไทย ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของประเทศ โดยใช้หลักการพฤติกรรม พฤตินิสัย  และให้ประชาชนเป็นคนประเมินตนเอง  ทั้งนี้ดัชนีชี้วัดคุณธรรม มี 5 ด้าน  ได้แก่

1.พอเพียง พิจารณาจากเรื่อง

  • ความพอประมาณ
  • ความมีเหตุผล
  • ภูมิคุ้มกัน

2. วินัยความรับผิดชอบ พิจารณาจากเรื่อง

  • การยอมรับและปฏิบัติตามบรรทัดฐานทางสังคมฯ
  • การควบคุมตนเอง
  • การตั้งใจปฏิบัติหน้าที่
  • การยอมรับผลการกระทำของตน 

3.สุจริต พิจารณาจากเรื่อง

  • การละอายต่อการทำสิ่งที่ไม่ถูกต้อง
  • การไม่เอาเปรียบ และไม่แสวงหาผลประโยชน์
  • ยืนหยัดในความถูกต้อง

4.จิตสาธารณะ พิจารณาจากเรื่อง

  • จิตอาสา
  • สำนึกสาธารณะ
  • เสียสละเพื่อช่วยเหลือผู้อื่น 

5.กตัญญู ซึ่งไม่เกี่ยวกับกตัญญูพ่อแม่

  • การสำนึกในความดี
  • การเคารพความดี
  • การตอบแทนความดี 

โดยในการประเมินดัชนีชี้วัดคุณธรรม ในปี 2565 จะประเมินโดยแบ่ง 3 ช่วงวัย คือ วัยเด็ก และเยาวชน 13-24 ปี  วัยทำงาน 25-40 ปี วัยผู้ใหญ่ 41 ปีขึ้นไป  ใน 6 กลุ่มอาชีพ เกษตรกรรม รับราชการ/พนักงานรัฐ พนักงานเอกชน พนักงานรัฐวิสาหกิจ รับจ้างทั่วไป ธุรกิจส่วนตัว/อิสระ

ยันคนวัยทำงานเป็นกลุ่มคนเปลี่ยนสังคมและประเทศ

จากผลการประเมินดัชนีชี้วัดคุณธรรม  พบว่า กลุ่มคนวัยทำงาน 25-40 ปี จะเป็นกลุ่มคนที่จะเปลี่ยนสังคม และเปลี่ยนประเทศได้จริงๆ  ซึ่งการประเมินดัชนีคุณธรรม 5 ด้าน เรื่องของวินัย ความรับผิดชอบมีน้อยสุด ขณะที่ด้านพอเพียง สุจริต จิตสาธารณะ อยู่ในระดับปานกลาง และมีเพียงความกตัญญูความดีที่อยู่ในระดับมาก โดยภาพรวมค่าเฉลี่ย 4.4 เท่านั้น

ขณะที่ผลการประเมินดัชนีชี้วัดคุณธรรม กลุ่มเด็กและเยาวชนอายุ  13-24 ปี กตัญญูความดี การใช้ตอบแทนความดี อยู่ในค่าเฉลี่ย 4.66  ส่วนผู้ใหญ่อายุ 41 ปี ขึ้นไป  ความพอเพียงน้อยที่สุด ขณะที่วินัยรับผิดชอบ สุจริต จิตสาธารณะอยู่ระดับปานกลาง และกตัญญูอยู่ระดับมาก โดยภาพรวมเฉลี่ย 4.62

รศ.นพ.สุริยเดว กล่าวต่อไปว่า ประเด็นที่ซ่อนอยู่ในแต่ละช่วงวัยนั้นแตกต่างกันออกไป โดยวัยเด็ก และเยาวชน  เขาจะไม่กล้าแจ้งตำรวจเมื่อรู้ว่าเพื่อนทำผิดกฎหมาย เพราะไม่ใช่เรื่องของตน  และหลีกเลี่ยงการเป็นอาสาสมัครของสถานศึกษา หรือชุมชน เพราะไม่เกิดประโยชน์กับตนเอง

ส่วนวัยทำงาน ตัดสินใจหรือแก้ปัญหาโดยใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผล ยอมลงมือทำแม้จะขัดกับกฎกติกาสังคมเพื่อมุ่งสู่ความสำเร็จ โต้แย้งทันทีเมื่อมีความคิดเห็นต่างจากผู้อื่น เลือกทำงานกับคนที่ให้ผลประโยชน์กับตน และไม่กล้าร้องเรียนเรื่องทุจริตของเจ้าหน้าที่รัฐเพราะกลัวผลกระทบ

อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบต้นทุนชีวิต 3 ช่วงวัย พบว่า วัยเด็กและเยาวชนต้นทุนชีวิตภาพรวม อยู่ที่ 76.67 ขณะที่วัยทำงาน อยู่ที่ 79.38 และวัยผู้ใหญ่ 78.13

การขับเคลื่อนระบบเครดิตสังคม (Social Credit)3 ระดับ มีดังนี้

1.ระดับบุคคล กำหนดพฤติกรรมเชิงบวกให้เชื่อมโยงกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เช่น ประเด็น zero waste

2.ระดับองค์กร ความร่วมมือระหว่างองค์กรต่อองค์กรเพื่อได้รับสิทธิบางอย่าง  

3.ระดับพื้นที่ หมู่บ้าน/ชุมชน โดยอาศัยกลไกที่มีอยู่เดิม เช่น ธรรมนูญ ชุมชน ธนาคารความดี

3 คำถามที่ควรนำไปใช้ในองค์กร-ครอบครัว

สำหรับ 3 คำถามที่ควรนำไปใช้ในองค์กร หรือครอบครัว หรือ  มีดังนี้  

1.วันนี้เราทำงานมาทั้งวัน รู้สึกอย่างไรบ้าง?

โดยรับฟังเพียงความรู้สึก เช่น  ดีใจ  เสียใจ เศร้าใจ ภูมิใจ  เป็นต้น แต่ทั้งนี้จะตอบหรือไม่ตอบก็ได้ ขณะเดียวกันใครที่ไม่ตอบจะเรียกมาพูดคุย

2.วันนี้เรียนรู้อะไร?

ให้เป็นการตอบแบบเรื่องเล่า ตอบแบบไม่มีถูกผิด 

3.วันนี้พบเจอปัญหาอุปสรรคอะไรบ้าง และมีวิธีแก้อย่างไร

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์