ป่าชุมชนแห่งแรก สู่ตลาดคาร์บอนเครดิต

ป่าชุมชนแห่งแรก สู่ตลาดคาร์บอนเครดิต

ประเทศไทยได้ดำเนินการตามที่ได้ให้คำมั่นในการประชุม COP26 ด้วยการจัดส่งยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำของประเทศ ฉบับปรับปรุง

สอดคล้องกับเป้าหมายการบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี ค.ศ. 2050 และบรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี ค.ศ.2065 รวมทั้ง เพิ่มเป้าหมายการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (NDC) ลดก๊าซเรือนกระจกเป็นร้อยละ 40 ภายในปี ค.ศ.2030 หากได้รับการสนับสนุนระหว่างประเทศ 

“วราวุธ ศิลปอาชา” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(รมว.ทส.) อธิบายว่าได้ส่งเสริมการปลูกป่าเพื่อประโยชน์คาร์บอนเครดิต โดยการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ แต่ในปัจจุบันตลาดคาร์บอนเครดิตของไทยยังมีการซื้อขายเป็นจำนวนน้อย เนื่องจากยังคงเป็นภาคสมัครใจ และมีต้นทุนที่สูง

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา ทส. ได้พยายามขับเคลื่อนการดำเนินงานปลูกป่าเพื่อประโยชน์คาร์บอนเครดิตให้เห็นเป็นรูปธรรม มีการถอดบทเรียน และขยายความร่วมมือจากภาคส่วนต่างๆ อย่างกว้างขวาง ซึ่งได้มีการเปิดกิจกรรม Kick off "ป่าชุมชนแห่งแรก สู่ตลาดคาร์บอนเครดิต” ณ ป่าชุมชนบ้านโค้งตาบาง จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งก็ได้รับความสนใจเป็นอย่างยิ่ง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

กรมป่าไม้ ยก ”บ้านโค้งตาบาง” ป่าชุมชนแห่งแรก สู่ตลาดคาร์บอนเครดิต

มาตรการภาษีสนับสนุนป่าชุมชนลดโลกร้อน

ทส.หนุนเครือข่ายป่าชุมชน สร้างรายได้ มุ่งสู่เศรษฐกิจใหม่ สังคมคาร์บอนต่ำ

ครม.เห็นชอบ 24 พ.ค.ของทุกปีเป็น “วันป่าชุมชนแห่งชาติ”

 

"ป่าชุมชน" เพื่อประโยชน์คาร์บอนเครดิต

การดำเนินงานภาคป่าไม้ในตลาดคาร์บอนเครดิตของไทย นับว่ามีความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง "วราวุธ" เล่าว่าเขาได้ติดตาม และกำหนดแนวทางเชิงนโยบายให้สามารถขับเคลื่อนได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด นอกจากนั้น ได้เร่งรัดบูรณาการ และยกระดับการส่งเสริมหน่วยงานภาคเอกชนในการมีส่วนร่วมดำเนินงาน และพัฒนาศักยภาพชุมชน และประชาชนเพื่อดำเนินการปลูก และดูแลป่าไม้เพื่อประโยชน์คาร์บอนเครดิต สะท้อนเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ของประเทศไทย

"อยากจะย้ำต่อพี่น้องประชาชนถึงความสำคัญในการปลูกป่า นอกจากเพื่อประโยชน์ต่อความสมบูรณ์ และยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังมีประโยชน์ในมิติทางสังคม และเศรษฐกิจอีกด้วย ทส.จะได้เร่งรัดขยายผลการดำเนินงานด้านการป่าไม้เพื่อประโยชน์คาร์บอนเครดิตบนพื้นฐานการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน และการแบ่งปันผลประโยชน์ร่วมกัน" วราวุธ กล่าว

การดำเนินการส่งเสริมภาคประชาชนในการมีส่วนร่วมดำเนินโครงการปลูก และดูแลป่าเพื่อประโยชน์คาร์บอนเครดิต ในรูปแบบ “ป่าชุมชน” ซึ่งปัจจุบันมีการจัดตั้งป่าชุมชนแล้ว 12,117 แห่งทั่วประเทศ รักษาพื้นที่ป่าได้ 6.64 ล้านไร่ หากดำเนินการทุกพื้นที่รวมกันสามารถกักเก็บก๊าซคาร์บอนไว้ได้ 42 ล้านตันคาร์บอน โดยคาดว่าจะสามารถดูดซับก๊าซเรือนกระจกได้ราว 6.27 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า/ปี

 

คนไทยต้องเป็นพลเมืองตื่นรู้ ปลุกพลังสิ่งแวดล้อม

ด้านการบริหารจัดการน้ำ  "วราวุธ" ได้กล่าวไว้ในการประชุม Cop27 ว่าไทยได้มีการหารือร่วมกับราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ ถึงความเป็นไปได้ในการมีความร่วมมือด้านการจัดการน้ำภายใต้ข้อริเริ่ม “Water as Leverage” ซึ่งประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่กำลังประสบปัญหาเรื่องน้ำ โดยเฉพาะพื้นที่ภาคกลาง เป็นพื้นที่ค่อนข้างต่ำ ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ได้รับผลกระทบจากน้ำทะเลหนุนสูงอย่างชัดเจน

นโยบายการจัดการน้ำของเนเธอร์แลนด์หลายประเด็นที่มีความสอดคล้องกับประเทศไทย อีกทั้ง เนเธอร์แลนด์ยังมี แนวคิดการจัดการน้ำ งานวิจัย และนวัตกรรม ด้านการจัดการน้ำที่น่าสนใจหลายโครงการ ซึ่งสามารถนำมาต่อยอดในประเทศไทยได้

“คนไทยต้องเป็นพลเมืองตื่นรู้ ปลุกพลังมาทำงานด้านสิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงเรื่องนี้ไม่สามารถทำได้คนเดียว ขอให้ทุกคนช่วยกัน และเริ่มที่ตัวเราเอง เพราะเวลาเกิดน้ำท่วม น้ำแล้ง เขาไม่ได้เลือกว่ายากดีมีจน หรือเลือกในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง แต่ธรรมชาติสร้างผลกระทบให้แก่ทุกคน ทส.จะเป็นศูนย์กลางในการประสานงาน และผลักดันให้ทุกภาคส่วนทำไปด้วยกัน” วราวุธ กล่าว

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์