72 องค์กร PackBack ใช้หลัก EPR จัดการขยะบรรจุภัณฑ์สร้างศก.ยั่งยืน

72 องค์กร PackBack ใช้หลัก EPR จัดการขยะบรรจุภัณฑ์สร้างศก.ยั่งยืน

โลกกำลังส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือ  โดยเฉพาะเรื่องของ “ขยะ” ซึ่งถือเป็นปัญหาที่กำลังล้นโลกอยู่ในขณะนี้ "การจัดการขยะ" จึงไม่ใช่หน้าที่ของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง

ทุกภาคส่วนในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคมล้วนร่วมมือร่วมแรงเพื่อขับเคลื่อนสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียน และหลัก Extended  Producer  Responsibility (EPR)   หรือ การขยายความรับผิดชอบของผู้ลิตสู่การให้ขยะสามารถเข้าสู่วงจรเข้าสู่การรีไซเคิล และการผลิตซ้ำ ลดปัญหาขยะ

 ฃทุกพฤติกรรมของการใช้ชีวิต ของกิน ของใช้ ล้วนอยู่ในบรรจุภัณฑ์ และแม้บรรจุภัณฑ์มีประโยชน์มากมาย แต่เมื่อผ่านการใช้งานแล้วจะกลายเป็นขยะอย่างไม่ตั้งใจ ดังนั้น หากไม่ได้นำมาสู่การผลิตซ้ำก็จะกลายเป็นขยะจำนวนมาก

วันนี้ (29 ก.ย.2565) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กรมควบคุมมลพิษ ร่วมกับ สถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม (TIPMSE) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)  จัดพิธีเชิดชูเกียรติและประกาศเกียรติคุณองค์กรผู้นำแห่งความรับผิดชอบด้านความยั่งยืน ซึ่งจัดขึ้นในงาน Sustainability Expo 2022  หรือ SX 2022 ตามคอนเซ็ปต์ "พอเพียง ยั่งยืน เพื่อโลก" (Sufficiency for Sustainability ระหว่างวันที่ 26 ก.ย.-2 ต.ค.2565

โดย 5 องค์กร ด้านความยั่งยืนของไทย ได้แก่ บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

 

  • สภาพอากาศเปลี่ยน เกิดจากน้ำมือของมนุษย์

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  ปาฐกถา “การขับเคลื่อนแนวทางการจัดการบรรจุภัณฑ์ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนด้วยหลักการ Extended  Producer  Responsibility (EPR) ว่าทั่วโลกกำลังประสบปัญหาที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ อย่าง ขณะนี้เกิดพายุโนรู พายุโซนร้อน ส่วนปากีสถานประสบภัยน้ำท่วมอย่างหนัก แต่ประเทศจีนกลับน้ำแล้ง และน้ำท่วมที่เกิดขึ้นในกทม. มาจากน้ำของกทม.เอง ไม่ใช่น้ำเหนือทะลักเข้ามาอย่างในอดีต ซึ่งฝนตกที่ตกในกทม.วันเดียว ปริมาณน้ำจะเท่ากับฝนตกในเดือนก.ย.ทั้งเดือน  

ทั้งนี้ ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศดังกล่าว ล้วนเกิดจากฝีมือมนุษย์ทั้งนั้น ประเทศไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นลำดับที่ 21 ของโลก หรือ ปล่อยออกมา 0.8% แต่ประเทศไทยกลับเป็นประเทศอันดับที่ 9 ที่จะได้รับผลกระทบมากสุด

รมว.ทส. กล่าวต่อว่าข้อมูลจาก World Economic Forum Global Risks Perceptopn Survey2021-2022 ระบุว่าความล้มเหลวในการจัดการแก้ปัญหาโลกร้อน เป็นความเสี่ยงอันดับ 1 และความแปรปรวนของสภาพอากาศที่รุนแรงมากขึ้นในแต่ละปี เป็นความเสี่ยงอันดับ 2  ซึ่งในทุกปีจะมีความรุนแรงมากขึ้น

ขณะที่มาตรการทางภาษี (Carbon Border Adjustment Mechanism) หรือ CBAMครอบคลุมสินค้าอยู่ 5 ชนิด ได้แก่ เหล็ก-เหล็กกล้า  อลูมิเนียม  ปุ๋ย  พลังงาน และซีเมนต์ ซึ่ง CBAM จะเริ่มทดลองใช้ในปี 2566 และจะบังคับใช้ในปี 2567

นอกจากนั้น ถ้าหากในอนาคต กลุ่มประเทศอื่น อย่างทดลองใช้บ้าง เช่น เกาหลี อเมริกา หรือแคนาดา มีการทดลองใช้อยู่ และกำลังพิจารณาซึ่งมีแนวโน้มจะขยายไปที่ตัวที่ 6 คือสินค้าเกี่ยวกับยานยนต์ หรือขยายอียูอาจขยายกลุ่มสินค้าไปมากกว่านี้ ไปถึงพวกกลุ่มเครื่องดื่มหรือสินค้าเกษตร แล้วภาคเกษตรของไทยจะปรับตัวอย่างไร มาตรการภาษีเหล่านี้เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม

 

  • หลัก EPR จัดการขยะ ช่วยสร้างศก.ยั่งยืน

นายวราวุธ กล่าวต่อไปว่าปัญหาขยะ 30-40% จะมาจากขยะพลาสติกที่มาจากบรรจุภัณฑ์ ซึ่งมีประมาณ 8-10 ล้านตันทั่วประเทศ ซึ่งสินค้าที่มนุษย์ไม่ได้ใช้แล้วกลายเป็นขยะ ทั้งที่สามารถรีไซเคิล อัพรีไซเคิลได้ ดังนั้น แนวทางการจัดการขยะในรูปแบบใหม่ ตามวัฎจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ด้วยหลัก EPR จะเป็นการจัดการขยะตั้งแต่ต้นทาง  กลางทางและปลายทาง โดยทั้งภาคเศรษฐกิจ ภาคประชาชน ภาครัฐ ต้องดำเนินการรวมกันในทุกส่วน

"แนวคิดใหม่การหมุนเวียนวัสดุกลับมาใช้ใหม่ ขยะต้องไม่ใช่ขยะ แต่ขยะคือทรัพยากรที่ต้องนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ เพื่อกลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกและเป็นการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ โดยในปี 2568 ไทยได้กำหนดอย่างชัดเจนว่าจะไม่มีการนำเศษพลาสติกมาสู่ในประเทศไทย ยกเว้นเป็นเศษพลาสติกที่ไม่มีในประเทศ เพื่อเป็นการบังคับให้นำขยะพลาสติกกลับมาได้จริงในปี 2570" นายวราวุธ กล่าว 

  • เงิน เทคโนโลยี ความรู้ ปัจจัยช่วยลดโลกร้อน 

ตามที่ทางรัฐบาล ได้ไปทำข้อตกลงในที่ประชุมCOP26 ที่เมืองกลาสโกว์ ประเทศอังกฤษ ซึ่งพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศที่จะให้ไทยมีความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี ค.ศ. 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้ในปี ค.ศ. 2065 ซึ่งจริงๆ ไทม์ไลน์ที่กำหนดไว้เดิม คือ  2065 กับ2090

นายวราวุธ กล่าวต่อว่า ท่านฑูตของEU 20 ประเทศได้ให้เกียรติมาเยี่ยมตนที่กระทรวง และมีการพูดถึงไทม์ไลน์ของประเทศไทยเพื่อให้ไทยขยับไทม์ไลน์การทำคาร์บอนเป็นกลาง และ Net Zero ของก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ให้สั้นลง ซึ่งมีการเจรจากันว่า หากไทยปรับลดไทม์ไลน์ลงมาเร็วขึ้น จะต้องมีการช่วยเหลือ 3อย่างคือ 1.การได้เงินทุนสนับสนุน 2.การถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับไทย 3.การสอนถ่ายทอดความรู้ให้กับไทย

โดยเมื่อปรับไทม์ไลน์แล้ว ต้องมีการปรับแผนยุทธศาสตร์ระยะยาวในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยก่อนจะมีการประชุม COP 27 ที่ประเทศอียิปต์  แผนยุทธศาสตร์ต้องมีการส่งให้องค์กรที่ดูแลเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

"ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันทำอย่างไรให้ไทย เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาพี่น้องประชาชน ในการปรับปรุงแผนระยะยาว จะมีการปรับเป้าหมายการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด เรากำหนดไว้ว่าการจะก้าวสู่ เป้าหมายคาร์บอนเป็นกลางใน ปี2030 และก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ในปี 2035  ก็ตั้งเป้าที่ต้องลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 40% จากเดิมที่มีเป้าหมายลด 30% ซึ่งการลดอีก 10% ที่เป็นการลดเพิ่มนี้ต้องมาจากการช่วยเหลือนานาประเทศ ทั้งเงิน เทคโนโลยีและความรู้”นายวราวุธ กล่าว

  •  6 แนวทาง ไทยใช้หลัก EPR จัดการขยะบรรจุภัณฑ์

รมว.ทส. กล่าวอีกว่า สำหรับแนวทางการลดก๊าซเรือนกระจกในส่วนของภาคพลังงานและขนส่ง จะต้องมีการเพิ่มใช้พลังงานทดแทน การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการใช้พลังงาน การใช้ยานยนต์ไฟฟ้า

ขณะที่การใช้ปูน  ต้องมีมาตรการทดแทนปูนเม็ด การปรับเปลี่ยนสารทำความเย็น CCUS ในอุตสาหกรรมซีเมนต์ ส่วนภาคการจัดการของเสีย ต้องมีการจัดการขยะและน้ำเสียชุมชน รวมถึงน้ำเสียในอุดตสาหกรรม Waste to Energy ภาคเกษตร ต้องปรับปรุงการทำนาข้าวเพื่อลดการปล่อยมีเทน และผลิตก๊าซชีวภาพจากมูลสัตว์

ส่วนด้าน ป่าไม้ ต้องมีการส่งเสริมการปลูกป่าธรรมชาติ ป่าเศรษฐกิจ การเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมืองและชนบท การป้องกันการบุกรุกและการทำราย ซึ่งปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ต้องลดลงเพื่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2065 มีมูลค่าคาร์บอนประมาณ 325,450 ล้านบาท

รมว.ทส. กล่าวด้วยว่า ขณะที่แนวทางในการจัดการขยะบรรจุภัณฑ์ของไทยตามหลัก EPR นั้น จะมี 6 แนวทาง ดังนี้ 

1. กำหนดนโยบายและขยายรับผิดชอบของผู้ผู้ลิต EPR 

2.แอปพลิเคชั่นเพื่อส่งเสริมการนำขยะกลับมาช้ประโยชน์

3.องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  พัฒนาระบบเก็บขยะ แยกประเภท

4.มาตรการและแรงจูงในทางภาษี

5.มาตรฐานการใช้วัสดุรีไซเคิลในการผลิตบรรจุภัณฑ์และผลิตภัณฑ์ต่างๆ

6.ด้านกฎหมาย การจัดการขยะบรรจุภัณฑ์ด้วยหลักการ EPR 

“ไม่มีสิ่งไหนที่คนไทยทำไม่ได้ ซึ่งคนไทยมีศักยภาพอย่างมาก และในการเรื่องการลดก๊าซเรือนกระจก ลดคาร์บอน ลดโลกร้อน ได้มีหลายโครงการในการดำเนินการ ยิ่งในกลุ่มของภาคธุรกิจ เข้ามามีส่วนร่วมจะยิ่งทำให้เกิดการขับเคลื่อนที่เห็นเป็นรูปธรรมชัดเจน อย่างความร่วมมือของ  72 องค์กร เครือข่าย PackBack ที่มีความมุ่งมั่น และตั้งใจจะช่วยแก้ปัญหาจัดการขยะบรรจุภัณฑ์ให้กลับมาใช้ได้ รีไซเคิล และลดจำนวนขยะบรรจุภัณฑ์ลง”รมว.ทส. กล่าว

  • TIPMSE ส.อ.ท. พร้อมเดินหน้าจัดการขยะบรรจุภัณฑ์

นายโฆษิต สุขสิงห์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมและประธานสถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม TIPMSE ส.อ.ท. กล่าวถึงความมุ่งมั่นของภาคเอกชนกับการขับเคลื่อน EPR ว่าการทำงานของภาครัฐในช่วงขณะนี้ไม่ได้มุ่งเรื่องข้อกฎหมายหรือข้อบังคับ แต่เป็นการรับฟังเสียงจากภาคประชาชน ภาคเอกชน และเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนที่มีความตั้งใจจริงในการช่วยบริหารจัดการขยะบรรจุภัณฑ์ทุกประเภทสู่กระบวนการรีไซเคิล สร้างมูลค่าเพิ่มตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน ได้ร่วมขับเคลื่อน สอดรับกับนโยบาย BCG Model ของรัฐบาล

"ผู้ผลิตภาคเอกชนในปัจจุบัน นอกจากมุ่งมั่นการสร้างความเติบโตในธุรกิจแล้ว ยังให้ความสำคัญในการพัฒนาที่ยั่งยืนลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อสังคม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ โดยในปี 2564 TIPMSE มีบทบาทอย่างมากในการส่งเสริม สร้างการมีส่วนร่วมกับภาคส่วนต่างๆทั้งภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้ผลิตเอกชน เพื่อขับเคลื่อนบรรจุภัณฑ์หลักของ EPR เก็บกลับบรรจุภัณฑ์เพื่อวันที่ยั่งยืน"นายโฆษิต กล่าว

สำหรับความร่วมมือของภาคีเครือข่ายในโครงการ "PackBack" เก็บกลับบรรจุภัณฑ์เพื่อวันที่ยั่งยืน ได้ปฎิบัติการภายใต้คณะทำงานเพื่อขับเคลื่อนใน 4 แนวทาง ได้แก่ 1. การศึกษากลไกการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ตามหลัก EPR 2.การดำเนินการสร้างต้นแบบและรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้อง 3.การสร้างการรับรู้ในการจัดการบรรจุภัณฑ์ที่ถูกต้องและความเข้าใจต่อระบบ EPR และ 4. การดำเนินขยายความร่วมมือไปยังภาคผู้ผลิตให้เข้ามามีส่วนร่วมใหม่มากขึ้น เพื่อสร้างกลไกหรือระบบนิเวศที่เหมาะสมและสอดรับกับบริบทของประเทศไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพในการนำขยะจากบรรจุภัณฑ์หลังบริโภคกลับมาหมุนเวียนใช้ใหม่อย่างต่อเนื่อง