หนุนภาคธุรกิจนำหลัก EPR สร้างบรรจุภัณฑ์รักษ์โลก แก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม

หนุนภาคธุรกิจนำหลัก EPR สร้างบรรจุภัณฑ์รักษ์โลก แก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม

ปี 2564 ที่ผ่านมา ประเทศไทยได้มีการส่งเสริมเรื่องการนำหลักการ Extended Producer Responsibility (EPR) มาใช้เพื่อจัดการบรรจุภัณฑ์หลังจากใช้แล้ว กลับมาใช้ใหม่ ตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)

"PackBack Project…เก็บกลับบรรจุภัณฑ์เพื่อวันที่ยั่งยืน" นับเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่จะทดลองใช้เครื่องมือ EPR ในการจัดการกับบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วประเภทต่างๆ ทั้งแก้ว กระดาษ กระป๋องอลูมิเนียม และพลาสติกโดยได้รับการสนับสนุนจากหลายภาคส่วน

  • ไทยเริ่มหนุนหลักการ "EPR" จัดการบรรจุภัณฑ์

วันนี้ (24 พ.ค.2565) กรมควบคุมมลพิษ ร่วมกับ TIPMSE จัดสัมมนา “EPR ทางรอดของธุรกิจไทย และการมุ่งสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน”

นายอรรถพล เจริญชันษา  อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ  เป็นประธานกล่าวเปิดงาน ตอนหนึ่งว่า EPR เป็นหลักการที่ขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิตในทุกช่วงของวงจรชีวิตของบรรจุภัณฑ์ ตั้งแต่การออกแบบ กระจายสินค้า​ การรับคืน การเก็บรวบรวม การใช้ซ้ำ การนำกลับมาใช้ใหม่ และการบำบัด ซึ่งอยากให้ทุกภาคส่วน โดยเฉพาะกลุ่มภาคเอกชน ได้นำหลักการ  EPR มาใช้ในการออกแบบบรรจุภัณฑ์ โดยคำนึงถึงการรับคืน การใช้ซ้ำ การรีไซเคิล และการกำจัด

“ขณะนี้ในประเทศไทย การจัดการขยะ มีปัญหาและอุปสรรคค่อนข้างมาก เช่น พื้นที่เกาะสมุย  หรือเกาะหลีเป๊ะ ไม่สามารถกำจัดขยะในพื้นที่ของตัวเองได้ เนื่องจากไม่มีแหล่งกำจัดขยะ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาการบริหารจัดการพื้นที่ งบประมาณ และความคุ้มทุนในการสร้างโรงกำจัดขยะ หรือเตาเผา รวมถึงความไม่ต้องการของประชาชนในพื้นที่ที่สามารถยอมรับเทคโนโลยีในการจัดการขยะได้”นายอรรถพล กล่าว

 การนำหลัก EPR มาใช้ จะเป็นอีกหนึ่งโมเดลที่จะช่วยชุมชนท้องถิ่นในการจัดการขยะได้อย่างคุ้มค่า และไม่สูญเสียงบประมาณ แต่ทั้งนี้ ต้องมีการสร้างความเข้าใจ และเริ่มโดยผู้ผลิต และผู้บริโภคที่ร่วมกันสร้างวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์รักษ์โลก

 

  • EPR โอกาส และทางรอดภาคธุรกิจ

ที่ผ่านมา ไทยได้มีการคณะกรรมการในการขับเคลื่อนจัดการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม และตอบโจทย์นโยบายเศรษฐกิจหมุนเวียน  ซึ่งในส่วนของกระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนบรรจุภัณฑ์ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน ซึ่งมี 32 องค์กรเข้ามามีส่วนร่วม เพื่อกำหนดแนวทางและเสนอกลไกด้านเศรษฐศาสตร์ พัฒนากฎหมาย เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน

นายโฆษิต สุขสิงห์ รองประธานสถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม (TIPMSE) กล่าวว่าTIPMSE เป็นตัวแทนของภาคเอกชนที่ได้ร่วมตัวกัน ซึ่งเป็นหน่วยงานที่อยู่ภายใต้สภาอุตสาหกรรม ในเรื่องการจัดการบรรจุภัณฑ์คำนึงต่อสิ่งแวดล้อม และดำเนินการสอดคล้องกับนโยบายของภาครัฐในเรื่องของเศรษฐกิจหมุนเวียน ซึ่งบรรจุภัณฑ์ ถือเป็นอีกหนึ่งปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ก่อให้เกิดขยะจำนวนมาก

TIPMSE มีบทบาทหลักในการส่งเสริม จัดการบรรจุภัณฑ์ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยมีการนำหลัก  EPR เข้ามาขับเคลื่อนให้เกิดสังคมรีไซเคิลในประเทศไทย และตอบรับนโยบายในเรื่องภาครัฐทั้งการจัดการเศรษฐกิจหมุนเวียน และการเป็นพลเมืองที่ดีของโลกนายโฆษิต กล่าว

"TIPMSE" มีตัวแทนผู้ประกอบการในหลายภาคส่วน ซึ่งทุกองค์กรต่างตระหนักถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น เน้นย้ำแนวทางในการปฎิบัติภายใต้กรอบ การมีส่วนร่วมของคนทุกฝ่ายตั้งแต่ปัจจัยการผลิต การกระจาย และการจัดจำหน่าย การกำจัด แนวทางในการดำเนินการของภาคเอกชน 

รวมถึงการสร้างความตระหนักของผลกระทบที่มีจากบรรจุภัณฑ์ที่เกิดจากการบริโภค และสร้างการสื่อสารไปยังกลุ่มผู้บริโภคให้ตระหนัก การบริหารจัดการให้เกิดประโยชน์สูงสุด ไม่ดึงต้นทุน หรือพลังงานที่ไม่จำเป็นในสังคม 

 

 

  • ภาคธุรกิจเตรียมพร้อมรับมาตรฐานบรรจุภัณฑ์ในต่างประเทศ 

นายจิรัตถ์  อิศรางกูร ณ อยุธยา นักวิชาการพาณิชย์ชำนาญพิเศษ รักษาการในตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญด้านเจรจาการค้าภูมิภาค กล่าวว่าการทำการค้าระหว่างประเทศจะมีมาตรการด้านบรรจุภัณฑ์ในต่างประเทศ ซึ่งการกำหนดมาตรฐานด้านบรรจุภัณฑ์ย่อมมีผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทยถึงแม้ขณะนี้จะยังไม่มีการกำหนดในประเทศที่ 3 แต่กลุ่มสหภาพยุโรป เป็นกลุ่มประเทศที่ให้ความสำคัญในการจัดการสิ่งแวดล้อมค่อนข้างสูง 

"คณะกรรมาธิการยุโรปได้เผยแพร่เอกสารข้อเสนอการพัฒนากรอบกฎหมายใหม่ว่าด้วยผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืน(Sustainable Products Initiative: SPI) ตามแผนการหมุนเวียนเศรษฐกิจของสหภาพยุโรป-ครอบคลุมเรื่องการเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมเช่นออกแบบบรรจุภัณฑ์(Eco-Design) พลาสติกและการจัดการกับขยะ เป็นต้น" นายจิรัตถ์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม คณะกรรมาธิการสหภาพยุโรปมีความตั้งใจจะทบทวนPackaging and Packaging Waste Directiveเพื่อให้บรรจุภัณฑ์ทั้งหมดในตลาดสหภาพยุโรปสามารถนามาใช้ซ้ำหรือรีไซเคิลได้ภายในปี2030 และทำให้ข้อกำหนดที่สำคัญของบรรจุภัณฑ์(Essential Requirement) เข้มงวดขึ้น โดยมุ่งเน้น 

  • การลดปริมาณการการใช้บรรจุภัณฑ์และขยะจากบรรจุภัณฑ์
  • การออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
  • ฉลากสำหรับการคัดแยกขยะ
  • การออกระเบียบสำหรับการใช้พลาสติกรีไซเคิลที่ปลอดภัยต่อการบริโภค
  • การเพิ่มคุณภาพน้ำจากก๊อกน้ำให้สามารถดื่มได้เพื่อลดการใช้ขวดพลาสติก
  • การห้ามใช้วัสดุบางประเภทโดยเฉพาะเมื่อมีวัสดุทางเลือกอื่นๆหรือให้สามารถส่งมอบสินค้าให้ผู้บริโภคโดยไม่ต้องใส่บรรจุภัณฑ์

 

  • ผลกระทบหากผู้ประกอบการไทยไม่ปรับตัว

นายจิรัตถ์ กล่าวต่อไปว่าผู้ผลิตต้องมีความรับผิดชอบในเรื่องกระบวนการจัดการขยะ และปรับปรุงบรรจุภัณฑ์ให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และใช้เป็นจุดขาย เป็น     เทรนด์ที่ผู้บริโภค และต่างประเทศให้ความสนใจมากขึ้น ซึ่งกฎระเบียบในปัจจุบัน ไม่ได้มีมิติด้านนี้รองรับ

"ภาคธุรกิจต้องดำเนินการเรื่องนี้อย่างจริงจัง และต้องคำนึงกระบวนการรีไซเคิลในส่วนของบรรจุภัณฑ์ให้กลับมาใช้ได้ และมาตรการต่างๆ ซึ่งอาจเป็นภาระต้นทุนของผู้ผลิต ผู้ประกอบการ แต่ถ้าปฎิบัติได้ดี จะเป็นภาพลักษณ์ ภูมิคุ้มกัน และจุดขายที่จะทำให้ได้เปรียบทางการค้ากับประเทศต่างๆ รวมถึงภาครัฐและเอกชน ควรมีการสื่อสารสองทางอย่างใกล้ชิดในการทำงาน"นายจิรัตถ์ กล่าว

แม้ EPR  ไม่ได้ขยายเกี่ยวกับธุรกิจบรรจุภัณฑ์ในประเทศที่ 3 แต่มุมมองของ EU อยากให้เกิดความเท่าเทียมสินค้าที่จะเกิดในประเทศและสินค้าจากผู้ผลิตในต่างประเทศ  ดังนั้น หลักการของ EPR ผู้ผลิตต้องมีส่วนร่วมในการทำลาย หรือรีไซเคิลขยะ หรือบรรจุภัณฑ์ร่วมด้วย ซึ่งเมื่อ EU ออกนโยบายใหม่ๆ ที่ผ่านมามีกองทุนในการสนับสนุนเพื่อการปรับตัวของผู้ผลิต  และมีการประกาศนโยบายล่วงหน้า

  • EPR ช่วยภาคธุรกิจบรรจุภัณฑ์เติบโตได้

ดร.สุจิตรา วาสนาดำรงดี สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า EPR เป็นหลักการทางนโยบายที่ขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิตไปยังช่วงต่าง ๆ ของวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ของบรรจุภัณฑ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขั้นการรับคืน การรีไซเคิล และการกำจัดซากผลิตภัณฑ์ เพื่อลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมของผลิตภัณฑ์ 

การจัดการ EPR เริ่มตั้งแต่การออกแบบการผลิตบรรจุภัณฑ์ที่ให้สามารถใช้ซ้ำ หรือรีไซเคิลได้ โดยขณะนี้ประเทศพัฒนาแล้ว และในกลุ่มประเทศอาเซียน อย่าง สิงคโปร์ เวียดนาม อินโดนีเซีย มีการดำเนินการเรื่องนี้แล้ว 

"เป้าหมายของ EPR มี 2ด้าน คือการเปลี่ยนแปลงการออกแบบผลิตภัณฑ์เพื่อให้จัดการได้ง่ายขึ้น และการปรับปรุงการจัดการที่ปลายน้ำ เพื่อลดปัญหาการทิ้งขยะที่ไม่เป็นที่ เพิ่มอัตราการเก็บรวบรวมและนำกลับมาใช้ประโยชน์ ดังนั้น หากภาคธุรกิจให้ความสำคัญในการนำหลักการ EPR มาใช้ จะช่วย ลดปริมาณขยะที่ต้องส่งไปกำจัดเพิ่มอัตราการรีไซเคิล และช่วยลดภาระงบประมาณของท้องถิ่นในการจัดการขยะมูลฝอยลงรวมถึง เป็นการช่วยลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการกำจัดขยะด้วย" ดร.สุจิตรา กล่าว