‘ไทยเบฟ’ ปรับทัพใหม่ยึดอาเซียน ดัน‘เหล้า-เบียร์-นอนแอลกอฮอล์’ ผงาดผู้นำ

‘ไทยเบฟ’ ปรับทัพใหม่ยึดอาเซียน ดัน‘เหล้า-เบียร์-นอนแอลกอฮอล์’ ผงาดผู้นำ

ตลาดเครื่องดื่มอาเซียนทั้งสุรา เบียร์ และเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์มีมูลค่าสูงเกือบ 100,000 ล้านดอลลาร์ และ "ไทยเบฟ" ยังมุ่งมั่นผงาดเป็น "ผู้นำ" ของภูมิภาคอย่างแข็งแกร่ง จึงวางยุทธศาสตร์โตรอบทิศ เขย่าโครงสร้างใหม่วาง 3 กลุ่มสินค้าภายใต้ 3 ซีอีโอนำทัพ

ผ่ายุทธศาสตร์ “ไทยเบฟ” เคลื่อนทัพ เหล้า เบียร์ เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ครองตลาดอาเซียน ชู 3 ประเทศยุทธศาสตร์ ไทย-เวียดนาม อินโดฯ เดินหน้าเขย่าโครงสร้าง-ทรานส์ฟอร์มธุรกิจ เร่งเพิ่มขีดแข่งขัน  ปีหน้าทุ่มงบ 5-8 พันล้านลงทุนปรับปรุงโรงงาน ขยายกิจการ สยายปีกร้านอาหาร ปั้นเรือธงแฟรนไชส์ “โออิชิ บิสโทร” เจาะโอกาสเมกะเทรนด์ “อีวี” ซุ่มปั้นไพลอตโปรเจกต์ สถานีชาร์จควบคู่เชนร้านอาหารในเครือ หนุนโต 2 หลัก

“ไทยเบฟ” ประกาศแผนการดำเนินงานปี 2565-2566 (ปีงบประมาณ ต.ค.2565-ก.ย.2566) สานเป้าหมาย “PASSION 2025” สร้างการเติบโตให้กับธุรกิจเครื่องดื่มและอาหาร ครองความเป็น “เบอร์ 1” ในภูมิภาคอาเซียน

ล่าสุด บริษัทได้ปรับโครงสร้างองค์กรใหม่วาง 3 กลุ่มผลิตภัณฑ์ เป็นเครื่องยนต์สำคัญ พร้อมตั้งแม่ทัพทำหน้าที่ขับเคลื่อนธุรกิจ ผลักดันการเติบโตในภูมิภาค ประกอบด้วย กลุ่มผลิตภัณฑ์สุราหรือเหล้า เบียร์ และเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ (นอนแอลฯ) และกำหนด 5 กลุ่มฟังก์ชัน เช่น ด้านการวางแผนกลยุทธ์และความยั่งยืน การสร้างแบรนด์ ค้าขายหรือคอมเมอร์เชียล เทคโนโลยี ดิจิทัล และด้านทุนมนุษย์เป็นต้น

นายฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ไทยเบฟมีการขยายธุรกิจ สร้างการเติบโตต่อเนื่อง จึงต้องปรับโครงสร้างใหม่ ให้มีกลุ่มซีอีโอ ดูแลขับเคลื่อนแต่ละกลุ่มสินค้า ทั้งเหล้า เบียร์ เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ซึ่งเป็นเครื่องยนต์ผลักดันการเติบโตในภูมิภาคอาเซียน ขณะที่การแบ่งกลุ่มฟังก์ชันทั้ง 5 เป็นการวางแผนกลยุทธ์เสริมสร้างความยั่งยืนให้ธุรกิจ

‘ไทยเบฟ’ ปรับทัพใหม่ยึดอาเซียน ดัน‘เหล้า-เบียร์-นอนแอลกอฮอล์’ ผงาดผู้นำ

ปัจจุบันตลาดเครื่องดื่มทั้งเหล้า เบียร์ และเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ในภูมิภาคอาเซียนมีขนาดใหญ่ ปี 2564 มูลค่ารวมเกือบ 100,000 ล้านดอลลาร์ แต่เจาะลึกเฉพาะประเทศที่อยู่ภาคพื้นดิน(ไม่ใช่เกาะ) ตลาดมีมูลค่าราว 65,000 ล้านดอลลาร์ เช่น ไทยมูลค่า 24,000 ล้านดอลลาร์ แบ่งเป็นเหล้า 21% เบียร์ 30% นอนแอลฯ 49% เวียดนาม 26,000 ล้านดอลลาร์ แบ่งเป็นเหล้า 2% เบียร์ 59% นอนแอลฯ 39% เมียนมา 3,000 ล้านดอลลาร์ แบ่งเป็นเหล้า 21% เบียร์ 43% นอนแอลฯ 36%

มาเลเซีย 6,000 ล้านดอลลาร์ แบ่งเป็นเหล้า 11% เบียร์ 44% นอนแอลฯ 45% กัมพูชา 2,000 ล้านดอลลาร์ แบ่งเป็น เหล้า 4% เบียร์ 64% นอนแอลฯ 32% และลาว 1,000 ล้านดอลลาร์ แบ่งเป็นเบียร์ 58% และนอนแอลฯ 42%

นอกจากธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หลายปีที่ผ่านมา ไทยเบฟมุ่งขยายตลาดเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์มากขึ้น แม้อัตราการทำกำไรจะต่ำกว่าเหล้า เบียร์ แต่ปริมาณการบริโภคต่อปีถือว่าสูงมาก เช่น ตลาดอินโดนีเซียอยู่ที่ 19,000 ล้านลิตรต่อปี สูงกว่าไทยที่บริโภค 15,400 ล้านลิตรต่อปี

“แพชชั่น 2025 หรือภายในปี 2568 ไทยเบฟยังเดินหน้าสร้างธุรกิจ เสริมแกร่งในตลาดอาเซียนย้ำภาพผู้นำเครื่องดื่มครบวงจรในภูมิภาค รวมถึงการปลดล็อกคุณค่า เสริมศักยภาพให้ธุรกิจ ลุยทรานส์ฟอร์ม สร้างแพลตฟอร์มเพื่อเชื่อมโลกการค้าในเอเชียแปซิฟิก”

นายฐาปน กล่าวอีกว่า หลังสถานการณ์โควิดคลี่คลาย บริษัทได้เดินหน้าขยายการลงทุนในทุกธุรกิจ รวมถึงพัฒนานวัตกรรมด้านช่องทางจำหน่ายร้านค้าทั่วไป โลจิสติกส์ ฯ ซึ่งทั้งปีวางงบลงทุนราว 5,000-8,000 ล้านบาท

เหล้าเล็งลงทุน 6,000 ล้านใน 3 ปี

ธุรกิจสุราหรือเหล้า ถือเป็นพอร์ตโฟลิโอสำคัญของกลุ่มไทยเบฟ ที่ทำรายได้สูงสุด 70-80% มาอย่างยาวนาน ยิ่งกว่านั้นทำ “กำไร” เกือบ 100% หรือมากกว่าในบางปี เนื่องจากกิจการบางหมวดขาดทุน เช่น อาหาร แต่หลังการซื้อหุ้นซาเบโก้ เบอร์ 1 เบียร์ในเวียดนาม ทำให้สัดส่วนรายได้เปลี่ยนแปลง โดย 6 เดือน(ต.ค.64-มี.ค.65)ยอดขายรวมมูลค่า 142,942 ล้านบาทเติบโต 8.9% สัดส่วนรายได้แบ่งเป็น กลุ่มเครื่องดื่มสุรา 45.6% เบียร์ 43.3% เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ 5.8% และอาหาร 5.4% 

ขณะที่กำไรสุทธิ 6 เดือน มูลค่า 18,365 ล้านบาท เติบโต 14.2% แบ่งสัดส่วนจากสุราสูงถึง 75.3% เบียร์ 21.1% เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ 2.6% อาหารเพียง 1% เท่านั้น

‘ไทยเบฟ’ ปรับทัพใหม่ยึดอาเซียน ดัน‘เหล้า-เบียร์-นอนแอลกอฮอล์’ ผงาดผู้นำ โครงสร้างรายได้-กำไรไทยเบฟช่วง 6 เดือนแรก(ต.ค.64-มี.ค.65)

ดังนั้น แนวทางการขยายธุรกิจสุราจึงมีความสำคัญต่อเนื่อง เพื่อรักษาความแข็งแกร่งทางด้านการเงิน ซึ่งนายประภากร ทองเทพไพโรจน์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด กลุ่มธุรกิจสุรา กล่าวว่า แนวทางการขยายธุรกิจสุราใน 2-3 ปี วางงบลงทุนไว้เกือบ 6,000 ล้านบาท แบ่งเป็นงบลงทุนปกติเพื่อปรับปรุงโรงงาน ปรับไลน์การผลิต เพิ่มความเร็วในการผลิตสินค้าสุราฯ อยู่ที่ 600-800 ล้านบาท

ปีหน้ายังวางแผนขยายการลงทุนอีก 1,200 ล้านบาท และจะสร้างโรงงานผลิตบรั่นดีใหม่คาดการณ์ใช้เงินลงทุนอีก 2,000 ล้านบาท รวมถึงการสานภารกิจธุรกิจยั่งยืน มุ่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้มากขึ้น การใช้พลังงานแสงอาทิตย์(โซล่าร์เซลล์) นำพลังงานก๊าซชีวภาพหรือไบโอแก๊สมาใช้ เป็นต้น ซึ่งถือเป็นกรีน อินเวสท์เมนท์คาดว่าจะใช้เงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 2,000 ล้านบาท

“เดิมเราจะลงทุนสร้างโรงงานผลิตบรั่นดีแบรนด์เมอริเดียนแห่งใหม่ แต่มีการทบทวนแผน โดยเปลี่ยนเป็นการปรับปรุงโรงงานเดิม ขยายไลน์การผลิตแทน”

รักษาแชมป์ตลาดเหล้าไทย ลุยเจาะอาเซียน

ขณะที่การปรับโครงสร้างองค์กร และเหล้าเป็นหนึ่งในกุญแจสำคัญสร้างการเติบโต จึงมองการขยายตลาดไปยังภูมิภาคอาเซียนมากขึ้น โดยเฉพาะประเทศเมียนมา ฟิลิปปินส์ กัมพูชา เนื่องจากเป็นตลาดใหญ่ มีอัตราการบริโภคสูง รวมถึงประเทศเวียดนาม เพราะถือเป็นฐานทัพสำคัญของธุรกิจ จากปัจจุบันมีโครงสร้างพื้นฐาน สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆจากซาเบโก้ ที่จะซีนเนอร์ยีทำงานร่วมกัน ต่อยอดการเติบโตได้

‘ไทยเบฟ’ ปรับทัพใหม่ยึดอาเซียน ดัน‘เหล้า-เบียร์-นอนแอลกอฮอล์’ ผงาดผู้นำ

ประภากร ทองเทพไพโรจน์

“ปัจจัยสร้างการเติบโต ก่อนโควิดเรามองตลาดเมียนมา ต้องการเข้าไปขยายเพิ่ม จากปัจจุบันมีวิสกี้ของแกรนด์ รอยัลกรุ๊ป เป็นผู้นำตลาดอยู่แล้ว ส่วนเวียดนามต้องการเข้าไปเจาะตลาด เพราะเป็นประเทศหลักในเชิงยุทธศาสตร์ของกลุ่ม”

สำหรับช่วงโควิด-19 ระบาด ตลาดสุราเมียนมาได้รับผลกระทบเช่นเดียวกับทั้งโลก โดยยอดขายของแกรนด์ รอยัลกรุ๊ปหดตัวลง 10% แต่ปัจจุบันสถานการณ์คลี่คลาย ตลาดฟื้นตัวสร้างยอดขายได้ 10 ล้านลัง เหมือนภาวะปกติแล้ว รวมถึงความสามารถในการทำกำไรดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม ภารกิจสำคัญของกลุ่มธุรกิจสุรา ในประเทศไทยต้องรักษาบัลลังก์เบอร์ 1 ทั้งเหล้าขาว และเหล้าสี ซึ่ง 2 หมวดนี้ครองส่วนแบ่งตลาดกว่า 90%

นอกจากตลาดอาเซียน บริษัทยังนำสุราไทยขยายสู่ตลาดโลกมากขึ้น เช่น เหล้ารัมแบรนด์ PHRAYA โดยปัจจุบันบริษัท อินเตอร์เบฟเวอเรจ ส่งสินค้าไปขายกว่า 80 ประเทศทั่วโลก

ช่วงโควิดการจำหน่ายสุราในต่างประเทศ ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะในพื้นที่การค้าปลอดภาษีหรือดิวตี้ฟรี แต่ปัจจุบันฟื้นตัวแล้ว ยิ่งการขายสก๊อตวิสกี้เป็นบัลก์ขนาดใหญ่เติบโต 150% สอดคล้องกับตลาดสุราในประเทศไทยการบริโภคกลับมาราว 80% ภาพรวมเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาการเติบโต 23% สูงกว่าเดือนกรกฎาคมและมิถุนายนที่เติบโต 12%(ที่มา : นีลเส็น)

“เราต้องรักษาเสถียรภาพของธุรกิจสุรา โดยเฉพาะการเติบโตของกำไร”

นอนแอลกอฮอล์ เล็งสร้างรง.เพิ่มต่างแดน

นายโฆษิต สุขสิงห์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด กลุ่มธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ และผู้บริหารสูงสุด กลุ่มงานดิจิทัลและเทคโนโลยี กล่าวว่า ธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์เป็นอีกกลุ่มที่จะผลักดันไทยเบฟให้เติบโตเป็นผู้นำในภูมิภาค โดยเป้าหมายของบริษัทต้องการเห็นการขยายตัวในอัตรา 2 หลัก

‘ไทยเบฟ’ ปรับทัพใหม่ยึดอาเซียน ดัน‘เหล้า-เบียร์-นอนแอลกอฮอล์’ ผงาดผู้นำ

โฆษิต สุขสิงห์

ทั้งนี้ กลยุทธ์การทำตลาด ได้มองโอกาสในการสร้างฐานผลิตหรือตั้งโรงงานในต่างประเทศเพิ่มเติม โดยเฉพาะในอาเซียน จากปัจจุบันมีการนำสินค้าส่งออกไปจำหน่ายตอบโจทย์ผู้บริโภค รวมถึงสร้างแบรนด์ และตั้งสำนักงานขายในแต่ละประเทศ

ปัจจุบันตลาดเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ที่ใหญ่สุดของไทยเบฟ มีทั้งประเทศไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์ ซึ่งบริษัทมีสินค้าแบรนด์ดัง ครองส่วนแบ่งการตลาดเป็นเบอร์ 1 หลายรายการ อีกด้านบริษัทมองโอกาสในตลาดเวียดนามมากขึ้น เนื่องจากมีฐานธุรกิจที่แกร่งจากซาเบโก้ ซึ่งภายใต้เครือยังมีบริษัทเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์อย่าง CHUONG DUONG BEVERAGES ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เวียดนาม และเป็นผู้ผลิตน้ำอัดลม "ซาสี่" สามารถต่อยอดธุรกิจเครื่องดื่มได้อย่างดี 

"การปรับโครงสร้างองค์กร จัดกลุ่มสินค้าใหม่ ถือเป็นการคิดบริหารพอร์ตโฟสินค้ามากขึ้น มองตลาดไหนที่มีจุดเด่น ตลาดใหญ่ มีโอกาสเติบโตสูง เพื่อเข้าไปบุก ไม่ว่าจะเป็นเวียดนาม อินโดนีเซีย จีน ซึ่งที่ผ่านมาอินโดนีเซียเราส่งสินค้าจากเฟรเซอร์แอนด์นีฟหรือเอฟแอนด์เอ็นเข้าไปจำหน่าย สร้างแบรนด์ มีการตั้งบริษัทเทรดดิ้งในประเทศ ขั้นต่อไปคือการสร้างฐานผลิต ซึ่งจะเห็นในปี 2566

ด้านในประเทศบริษัทวางงบลงทุนราว 300-400 ล้านบาท เพื่อใช้ในปรับปรุง ดูแลโรงงานผลิตสินค้า หลังจาก 2-3 ปีที่ผ่านมา มีการขยายลงทุนไปค่อนข้างมาก สร้างโครงข่ายการกระจายสินค้าเสริมแกร่ง และบริการจัดการต้นทุนให้ต่ำลง

‘ไทยเบฟ’ ปรับทัพใหม่ยึดอาเซียน ดัน‘เหล้า-เบียร์-นอนแอลกอฮอล์’ ผงาดผู้นำ เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ภายใต้ CHUONG DUONG

ขณะเดียวกันได้ศึกษาโอกาสใหม่ๆ เช่น การลงทุนพลังงานสะอาด และอีวี เช่น โครงการสถานีชาร์จรถไฟฟ้าที่สามารถควบคู่ไปกับธุรกิจร้านอาหารในเครือ เช่น เคเอฟซี หรือการประยุกต์ใช้ในระบบโลจิสติกส์ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษาตลาดและโอกาสในการขับเคลื่อนแผนงานต่างๆ 

นอกจากไทยเบฟ มีสินค้าหลากหลายรายการ บริษัทยังมีระบบโลจิสติกส์ของตนเอง หน่วยรถจำนวนมาก จึงมีแผนปรับเปลี่ยนมาใช้รถอีวีด้วย แต่โจทย์ใหญ่คือสถานีชาร์จ และหากมองพฤติกรรมการชาร์จในต่างประเทศ สัดส่วน 95% เป็นการชาร์จที่บ้านหรือที่ทำงาน มีเพียง 5% ที่ใช้บริการสถานีชาร์จ อีกตัวแปรที่ต้องติดตามคือการกำหนดราคาคาร์บอน (Carbon Pricing) จะมีผลต่อการพิจารณาต้นทุนด้วย 

สนซื้อเคเอฟซีจาก RD แม้ยัมฯไม่ขายสิทธิ์ให้

นอกจากสร้างการเติบโตตามธรรมชาติจากศักยภาพภายในองค์กร(organic growth) ไทยเบฟยังให้ความสนใจในการซื้อและควบรวมกิจการอย่างต่อเนื่อง หนึ่งในนั้นคือร้านไก่ทอดแบรนด์ระดับโลก “เคเอฟซี” หลังจาก 1 ใน 3 แฟรนไชส์ที่ได้รับสิทธิ์บริหารร้านเคเอฟซีในประเทศไทย(บริษัท เรสเทอรองตส์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด หรือRD) ต้องการขายกิจการดังกล่าว ซึ่งนายฐาปน กล่าวว่า บริษัทเปิดกว้างการลงทุน และสนใจบริหารต่อ แต่ยัม เรสเทอรองตส์ ฯ ในฐานะเจ้าของแบรนด์ ต้องการให้เกิดการแข่งขัน เพื่อสร้างการเติบโต

“เราอยากได้สิทธิ์บริหารร้านเคเอฟซีเพิ่ม แต่เจ้าของแบรนด์ต้องการให้แฟรนไชส์มีการกระจายตัว เพื่อไม่ให้ติดกับเกมที่จะไม่เติบโต อีกทั้งถ้าไทยเบฟซื้อกิจการมา จะทำให้เราใหญ่เกินไป”

นางนงนุช บูรณะเศรษฐกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด กลุ่มธุรกิจอาหาร ประเทศไทย กล่าวว่า ยัมฯ ต้องการบาลานซ์แฟรนไชส์บริหารร้านเคเอฟซี 3 ราย ขณะที่กลุ่มไทยเบฟซื้อกิจการร้านเคเอฟซีมา 4 ปี สร้างการเติบโตร้านถึง 160 สาขา หรือปัจจุบันมีร้านกว่า 430 สาขา

‘ไทยเบฟ’ ปรับทัพใหม่ยึดอาเซียน ดัน‘เหล้า-เบียร์-นอนแอลกอฮอล์’ ผงาดผู้นำ

นงนุช บูรณะเศรษฐกุล

“เรามองศักยภาพสร้างการเติบโตเองได้ โดยไม่จำเป็นต้องซื้อกิจการ(ร้านเคเอฟซีจาก RD)มา ขณะที่ภาพรวมธุรกิจ บริษัทวางงบลงทุนราว 1,100 ล้านบาท เพื่อขยายร้านอาหารเพิ่มเติม”

รอจังหวะดันเบียร์เข้าตลาดฯ สิงคโปร์

ด้านธุรกิจเบียร์ บริษัทยังมองการปลดล็อกศักยภาพธุรกิจ เพื่อสร้างคุณค่า การเติบโต โดยหนึ่งในแผนสำคัญคือการผลักดัน BeerCo เข้าจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ แต่ปัจจุบันยังไม่ดำเนินการ โดยนายฐาปน กล่าวว่า บริษัทยังมองโอกาสและรอจังหวะสถานการณ์ตลาดทุนเอื้อในการ IPO กลุ่มธุรกิจ BeerCo อีกครั้ง

สอดคล้องกับนายไมเคิล ไชน์ ฮิน ฟา ผู้บริหารสูงสุด กลุ่มธุรกิจเบียร์ กล่าวว่า ธุรกิจเบียร์ของ BeerCo ถือว่ามีมูลค่า เพราะเป็นผู้นำในตลาดเบียร์อาเซียน ดังนั้นบริษัทจะไม่ลดคุณค่า เพื่อให้ได้เข้าตลาดแต่อย่างใด โดยเปรียบเทียบบ้านที่มีมูลค่า 1 ล้านเหรียญ ที่จะไม่ยอมให้ถูกนำเสนอขายในราคาต่ำกว่าราคาตลาด หรือคุณค่าที่ควรจะได้รับ

“เราต้องรอจังหวะตลาดทุนมีความเหมาะสม โดยพิจารณาทั้งจากปัจจัยเศรษฐกิจ การเมืองโลก เช่น สถานการณ์ในทะเลจีนใต้ รัสเซีย-ยูเครน เป็นต้น”