"สินสอด" หนึ่งในปัญหา "การแต่งงาน" ที่ชวนปวดหัวใน "จีน"

"สินสอด" หนึ่งในปัญหา "การแต่งงาน" ที่ชวนปวดหัวใน "จีน"

หนึ่งในปัญหาการแต่งงานที่คนจีนก็ปวดหัวไม่แพ้ในไทยรับ "วันแห่งความรัก" นั่นก็คือเรื่องของ "สินสอด" ซึ่งถือเป็นเรื่องกดดันไม่น้อยในสังคมจีน อ้ายจงจึงอยากมาเล่าเรื่องนี้ในมุมมองของคนจีนให้ได้อ่านกัน

ใกล้จะถึง "วันวาเลนไทน์" หรือที่ทุกคนถือว่าเป็น "วันแห่งความรัก" ซึ่งแม้ว่าจะเป็นวันสำคัญของทางศาสนาคริสต์ และไม่ใช่วัฒนธรรมดั้งเดิมในจีน แต่ปัจจุบันวันวาเลนไทน์มีความสำคัญกับคนจีนไม่น้อย โดยเฉพาะในกลุ่มคนจีนรุ่นใหม่ โดย อ้ายจง ได้วิเคราะห์ข้อมูลพฤติกรรมการค้นหาคำที่เกี่ยวข้องกับวันวาเลนไทน์ หรือ 情人节 ในภาษาจีน พบว่า การค้นหาคำนี้ในช่วงใกล้ถึง วันวาเลนไทน์ 14 กุมภาพันธ์ ของแต่ละปี เฉลี่ยอยู่ที่ 8,000- 10,000 ครั้งต่อวัน โดยกลุ่มอายุ 20-29 ปี จะค้นหามากที่สุด รองลงมาคือ กลุ่ม 30-39 ปี ซึ่งสอดคล้องกับการค้นหาคำว่า 七夕 เทศกาลชีซี (ชีซี่เจี๋ย) วันแห่งความรักของจีน อย่างแท้จริงตามความเชื่อและวัฒนธรรมจีน ตรงกับคืน 7 ค่ำ เดือน 7 ตามปฏิทินจีน (เป็นวันที่เกี่ยวข้องกับตำนานหนุ่มเลี้ยงวัวกับสาวทอผ้าที่หลายคนน่าจะเคยได้ยิน)

เมื่อพูดถึงเรื่องความรัก ทำให้อ้ายจงนึกถึงเรื่องราวของการแต่งงานที่เพื่อนคนจีนเคยเล่าให้ฟังว่า การแต่งงานในจีน ถือเป็นความกดดันไม่น้อยเลย โดยเฉพาะสำหรับผู้ชาย เพราะมีเรื่องสินสอด หรือค่าใช้จ่ายทั้งก่อนแต่งงาน จัดงาน และหลังแต่งงานมาเกี่ยวข้อง ซึ่งมันก็ใกล้เคียงกับของบ้านเราเลย อ้ายจงจึงขอถือโอกาสเล่าเรื่องสินสอดกับมุมมองของคนจีน ให้ทุกท่านได้ทราบ ต้อนรับ วันแห่งความรัก ที่กำลังจะมาถึง

ในจีนมีเรื่องราวของ สินสอด คล้ายๆ กันกับที่ประเทศไทยเหมือนกัน อย่างคลาสสิคมากเลยก็ ผู้ชายที่จะแต่งงานได้ ขั้นพื้นฐานต้องมีบ้าน (คอนโด) และรถยนต์ แต่ถ้าอยู่ในเมืองใหญ่ที่ขนส่งมวลชนสะดวก มีบ้านก็ถือว่าเพียงพอแล้ว เพราะบ้านในเมืองใหญ่ค่อนข้างแพงมาก ทำให้เราได้เห็นปัญหาอย่างหนึ่งของชีวิตคู่จีนคือ แม้เลิกราไปแล้ว บางคนยังต้องอาศัยอยู่รวมชายคาเดียวกัน เพราะทั้งฝ่ายหญิงฝ่ายชาย ไม่มีเงินพอที่จะไปหาที่อยู่อาศัยใหม่แล้ว ฝ่ายชายก็ทุ่มเงินซื้อบ้านที่พักอาศัยสำหรับแต่งงานไปหมดแล้ว

เมื่อราว 4-5 ปีที่แล้ว สมัยที่อ้ายจงใช้ชีวิตในจีน ขณะนั่งรถแท็กซี่ไปทำธุระนอกบ้านเฉกเช่นทุกวัน ได้เจอกับคุณลุงขับรถแท็กซี่ท่านหนึ่ง ที่เปิดบทสนทนาว่า "พ่อหนุ่มแต่งงานแล้วหรือยัง?" คำถามยอดนิยมในการเริ่มการพูดคุยกันเวลาที่คนจีนเจอหน้าคนที่คิดว่าน่าจะอยู่ในช่วงวัยแต่งงานมีครอบครัวได้แล้ว ก็มักจะถามว่า "แต่งงานหรือยัง?" จะเรียกว่าเป็นประโยคเริ่มบทสนทนา สร้างความคุ้นเคยกันก็ว่าได้

คุณลุง ชาวเขตผิงกู่ ชานเมืองของกรุงปักกิ่ง ห่างจากตัวเมืองหลวงราว 100 กิโลเมตร ผู้มีลูกสาวและแต่งงานออกเรือนไปแล้ว พูดถึงประเด็น สินสอดและการแต่งงานของคนจีนด้วยการเล่าว่า ทุกคนต้องแต่งงาน ต้องมีลูก ใครไม่แต่งงานหรือไม่มีลูก ถือว่าไม่ดี เป็นความคิดที่อยู่คู่คนจีนมานานแล้ว แต่ต้องยอมรับนะ การแต่งงานมีเงินเข้ามาเกี่ยวข้อง ผู้ชายต้องมีบ้านและรถ พร้อมเงินจำนวนหนึ่งที่มากเพียงพอที่ฝ่ายหญิง หรือพ่อแม่ฝ่ายหญิงพึงพอใจ ถึงจะสามารถแต่งด้วยกันได้

บทความที่เกี่ยวข้อง

คุณลุงท่านนี้คิดว่า "ความคิดและความเชื่อของคนจีนในข้างต้น เป็นการเชื่อแบบผิดๆ" อ้ายจง จำประโยคหนึ่งได้แม่นยำเลยว่า หลังจากคุณลุงเล่ามาสักพัก คุณลุงยิงคำถามแบบจุกสุดๆ ว่า "คิดว่า การแต่งงาน จะแต่งกับคน หรือแต่งกับเงินล่ะ?"

คุณลุงเล่าต่อว่า เขตชานเมืองหรือชนบทอย่างบ้านของคุณลุง แรงกดดันก็มีมากเหมือนกันในประเด็นพวกนี้ เงินที่ต้องให้ทางบ้านฝ่ายหญิงก็เยอะเช่นกัน ขึ้นอยู่กับว่าฐานะของฝ่ายชาย ฝ่ายหญิง และความพึงพอใจของทั้งสองฝ่ายด้วย ลูกสาวลุงที่แต่งงานไปแล้ว ลุงไม่ได้เอาอะไรเลย แถมลุงช่วยออกค่าจัดงานเลี้ยงแต่งงานด้วย จ่ายไปราว 50,000 บาท ลุงขอแค่ว่าหลังพวกเขาแต่งกันไปให้ช่วยกันทำมาหากินเท่านี้ก็เพียงพอแล้ว 

"เห็นไหมว่า แต่งกับคนมันก็ได้คนมาช่วยกันทำมาหากิน แต่ถ้าแต่งกับเงิน มันอาจไม่ได้แบบนี้นะ" คุณลุงพูดทิ้งท้ายแบบจุกๆ อีกประโยคหนึ่ง

ภาระอันหนักอึ้งเรื่อง สินสอด ของฝ่ายชาย และตัวครอบครัวฝ่ายชายที่ต้องรับผิดชอบ ก็เป็นหนึ่งในปัจจัยทำให้คนจีนยุคใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มสาวจีน เริ่มแต่งงานช้าลง ไม่สนใจเรื่องเวลา แต่งเมื่อไหร่ก็ได้ อายุเกิน 25 ก็ไม่กังวลเท่ากับเมื่อก่อน แต่คนรุ่นใหม่กลับมีแนวคิดเกี่ยวกับการทำงานหาเงิน สร้างฐานะ ซื้ออสังหาริมทรัพย์เก็บไว้ เพื่อจะได้ไม่ต้องพึ่งพาแต่ฝ่ายชายเพียงอย่างเดียว ทำให้ปัจจุบัน อัตราส่วนการซื้อบ้านของหญิงจีนยุคใหม่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างน้อยก็ตั้งแต่ปี 2018 ที่เริ่มมีการเผยแพร่ผลสำรวจการซื้ออสังหาริมทรัพย์ของผู้หญิงจีน

สำหรับพฤติกรรมการค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับ "สินสอด" ในจีน ผ่านแพลตฟอร์มค้นหาข้อมูลยอดนิยมอย่าง Baidu พบว่า คนจีนมักจะค้นหาเพื่อให้ได้ข้อมูลว่า ปกติแล้วมณฑลหรือเมืองนั้น "สินสอดที่ให้กันอยู่ที่เท่าไหร่" โดยพื้นที่มณฑล หูหนาน กว่างตง (กวางตุ้ง) ซื่อชวน (เสฉวน) และ ซานตง เป็น 4 มณฑลที่คนจีนค้นหาเพื่อถามถึงสินสอดทองหมั้นในย่านพื้นที่นั้นมากที่สุด 4 อันดับแรก การสอบถามถึงจำนวนสินสอดว่าเท่านั้นเท่านี้เพียงพอหรือไม่ เหมาะสมไหม ก็ถือเป็นหนึ่งในคำค้นหาที่คนจีนจะค้นบน Baidu และโลกออนไลน์จีน เมื่อต้องการทราบเกี่ยวกับสินสอด โดยระดับที่ “1 แสนหยวน” หรือราว 5 แสนบาท เป็นระดับที่ค้นหามากที่สุด  

ทั้งนี้ เป็นที่น่าสนใจว่า คำค้นหา “ฝ่ายหญิงไม่คืนสินสอดทองหมั้นถือว่าผิดกฎหมายหรือไม่” เข้ามาเป็นหนึ่งในคำค้นหาที่เกี่ยวข้องกับประเด็นนี้ด้วย ซึ่งเป็นไปได้ว่า อาจสอดคล้องกับอัตราการหย่าร้างในประเทศจีนที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนเมื่อปี 2564 ที่ผ่านมา จีนมีการออกกฎหมายกำหนดให้มีระยะเวลารอคอย 30 วัน ถึงจะได้รับการอนุมัติหย่าร้าง เพื่อให้ไปทบทวนอีกครั้งว่าอยากหย่าแน่นอนหรือไม่ และสามารถถอนคำร้องการหย่าในช่วงเวลานี้ได้ด้วย ทำให้เห็นอัตราการหย่าร้างลดลงอย่างมาก แต่ก็ไม่ใช่ว่าทุกคนเห็นด้วยกับกฎหมายนี้ เพราะคนไม่มีใจ ยื้อกันไป ก็มีแต่เจ็บทั้งคู่

ผู้เขียน: ภากร กัทชลี (อ้ายจง) อาจารย์ประจำภาควิชาการตลาด คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่