อนาคต "ซีรีส์วาย" จะไปทิศทางไหนใน "ตลาดจีน"

อนาคต "ซีรีส์วาย" จะไปทิศทางไหนใน "ตลาดจีน"

ความนิยม "ตานเหม่ย" หรือ "นิยายวาย" ใน "ตลาดจีน" มีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ชาวจีนชื่นชอบ "ซีรีส์วาย" มากขึ้นเช่นกัน แต่ทางการจีนก็พยายามควบคุมและจัดระเบียบเกี่ยวกับประเด็นนี้มาโดยตลอด จึงทำให้น่าจับตามองว่า อนาคตซีรีส์วายนี้จะเป็นเช่นไรกันแน่

耽美 ตานเหม่ย หรือนิยายวาย เป็นนิยายที่มีเนื้อหาแนวชายรักชาย ซึ่งมีจุดกำเนิดที่ญี่ปุ่น ก่อนที่จะเริ่มเข้าสู่ประเทศจีนในยุค 90 (1990) ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับยุคอินเทอร์เน็ตเริ่มแพร่หลายในจีน ทำให้สังคมคนชื่นชอบในนิยายวาย การ์ตูนวาย ซีรีส์วาย ณ ประเทศจีน เริ่มมีการก่อร่างสร้างตัวจนมีความนิยมมากขึ้นอย่างต่อเนื่องจวบจนถึงปัจจุบัน ซึ่งหากดูปริมาณการค้นหาข้อมูลของชาวเน็ตจีนบน Baidu เครื่องมือค้นหาข้อมูลที่คนจีนนิยมใช้ พบว่า ตั้งแต่ปี 2011 เป็นต้นมา มีการค้นหาคำว่า ตานเหม่ย เฉลี่ยวันละ 9,212 ครั้ง เลยทีเดียว

ถ้าดูตามเพศและอายุ จะเห็นได้ว่า ผู้หญิงจีน ค้นหาคำนี้ในสัดส่วนมากกว่าผู้ชาย โดยคิดเป็น 70.47% และ 29.53% ตามลำดับ โดยกลุ่มอายุ 20-39 ปี ครองสัดส่วน 61.74% 

ความนิยมของ ตานเหม่ย เบ่งบานขึ้นพร้อมกับกระแสการเรียกร้องความหลากหลายทางเพศ และความเท่าเทียมกันของทุกเพศในจีน ที่เริ่มกระเพื่อมมากขึ้น จนกลายเป็นคลื่นลูกใหญ่ที่ส่งเสียงให้เราได้ยินอย่างชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน นับตั้งแต่ใช้ชีวิตในประเทศจีน ตัวของ อ้ายจง ก็รับรู้ถึงความเปลี่ยนแปลงนี้อยู่เช่นกัน ทั้งจากการพูดคุยกับเพื่อนชาวจีน รับรู้จากสื่อต่างๆ ทั้งในจีนและนอกจีน ตั้งแต่คนจีนจำนวนไม่น้อยแสดงการยอมรับความหลากหลายทางเพศมากขึ้น ผ่านการสัมภาษณ์ของ Global Times สื่อกระบอกเสียงทางการจีน แม้จะยังมีอีกจำนวนหนึ่งที่ยังคงมีความคิดเชิงลบต่อ LGBT หรือกระแสการเปิดเผย “ฉัน/ผม เป็นกลุ่มหลากหลายทางเพศ” ผ่าน Weibo สังคมออนไลน์จีนยอดนิยม เพื่อเรียกร้องให้ Weibo เลิกแผนที่จะแบนเนื้อหา ความหลากหลายทางเพศ บนแพลตฟอร์ม โดยผลลัพธ์ออกมาก็คือ ชัยชนะ ทำให้เห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์ ผู้หญิงข้ามเพศกับการชนะคดีหลังถูกบริษัทไล่ออก เพียงเพราะลางานไปผ่าตัดแปลงเพศ และใช้ห้องน้ำหญิงของบริษัท โดยถูกกล่าวหาว่าเป็นโรคจิต

จากที่ อ้ายจง เล่ามา ดูเหมือนจะมีแต่สัญญาณเชิงบวกในสังคมความหลากหลายทางเพศ หรือ LGBT ในจีน หลังจากที่ทางการจีนลดระดับการต่อต้านรักเพศเดียวกัน หรือความหลากหลายทางเพศ ตั้งแต่เข้าสู่ยุค 2000 แต่ในความเป็นจริงคือ ก็ยังมีข่าวและสัญญาณออกมาอยู่ตลอดที่สื่อให้เห็นว่า ทางการจีนพยายามควบคุมและจัดระเบียบเกี่ยวกับประเด็นนี้โดยไม่ละสายตา ทั้งข่าวลือว่า จีนเริ่มกวาดล้าง LGBT อีกครั้ง หลังการยกเลิกจัดงาน Shanghai Pride ทั้งที่ดำเนินการมากว่า 11 ปี ในฐานะพื้นที่ใหญ่ในการแสดงออกของกลุ่ม LGBT ทั้งในจีนและนอกจีน รวมถึงการปิดบัญชี WeChat ของกลุ่ม LGBT บางกลุ่มในจีนอีกด้วย

ตัวอย่างการควบคุมและจัดระเบียบของทางการจีน

ประเด็น ปี 2018 ศาลจีนตัดสินจำคุกผู้เขียนนิยายวายคนหนึ่ง เป็นระยะเวลาถึง 10 ปี โดยโลกโซเชียลจีน ณ ขณะนั้นได้วิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่า เป็นการลงโทษที่เกินไป ถ้าหากดูจากมูลเหตุพบว่า นักเขียนคนนี้ได้เขียนฉากการร่วมเพศอย่างเปิดเผยอยู่ในนิยายของเขา ไม่เหมือนกับ นิยายวาย ของนักเขียนคนอื่นๆ ที่เขียนออกมาขาย โดยส่วนใหญ่จะไม่ได้มีฉากเหล่านี้ชัดเจนนัก และในประเด็นนี้ทางการจีนจึงระบุเหตุผลว่า เป็นความผิดในข้ออนาจาร ซึ่งจีนพยายามกวาดล้างสื่ออนาจารอย่างจริงจัง 

ในด้านของเนื้อหาที่เผยแพร่ทางทีวีและรายการออนไลน์ จีนก็แบนเนื้อหาที่เกี่ยวกับความรักของคู่ชายชายมาตั้งแต่ช่วงปี 2016 ทำให้เราได้เห็นคนจีนให้ความสนใจและติดตามชม ซีรีส์วาย จากประเทศไทยเป็นจำนวนมาก เพราะไม่มีข้อจำกัดเหมือนอย่างในจีน ทำให้เขาได้เห็นมุมมองต่างๆ เสมือนเป็นการเปิดโลกมากขึ้น บางสิ่งที่ไม่มีในจีน

บทความที่เกี่ยวข้อง

และเมื่อกันยายน 2021 การเข้มงวดในเนื้อหาละคร ซีรีส์ ภาพยนตร์จีน เด่นชัดมากขึ้น โดยจีนจะไม่ให้มีฉากหวานหวาน รักในเชิงชู้สาวอย่างชัดเจนของคู่ชายชาย ดังนั้น ในปัจจุบันแม้เราจะเห็น ซีรีส์จีน หลายเรื่องที่มีการทำมาจากนิยายตานเหม่ย เราก็เลยจะเห็นการทำออกมาโดยสื่อถึงเรื่องของมิตรภาพ แทนที่จะเป็นเรื่องของความรักแบบชายชายอย่างชัดเจน โดยในภาษาจีนจะเรียกว่า 耽改 (ตานก่าย) ซึ่งหมายถึงการปรับพัฒนาจาก “ตานเหม่ย” นั่นเอง ซึ่งปี 2020 มีซีรีส์จีนที่ดัดแปลงจากนิยายตานเหม่ยถึงกว่า 60 เรื่อง อยู่ในระหว่างถ่ายทำหรือไม่ก็กำลังรอออนแอร์-ออกฉาย

ซีรีส์และภาพยนตร์ที่ดัดแปลงจากนิยายตานเหม่ย มีการแก้ไขเนื้อหาโดยเขียนบทให้สามารถผ่านกองเซนเซอร์จีนได้ โดยสื่อออกมาในมุมมิตรภาพ ความรักแบบผองเพื่อน ตั้งแต่ก่อนที่จะมีประเด็นกันยายน 2021 เสียอีก แต่อาจไม่ได้มีการใช้คำว่า “ตานก่าย” โดยเฉพาะถ้าดูจากปริมาณการค้นหาข้อมูลบน Baidu คนจีนค้นหาคำนี้ มีการค้นหาครั้งแรกในต้นปี 2021 และคำที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ 耽改剧 (ซีรีย์/ละครตานก่าย) และ 耽改剧是什么意思 (ซีรีย์/ละครตานก่าย เป็นอย่างไร/เป็นคำที่หมายถึงอะไรนะ) มีการค้นหาครั้งแรกตั้งแต่ในเดือนมีนาคม 2020 

ช่วงอายุของคนที่ค้นหาทั้งสามคำข้างต้น ยังอยู่ในช่วงอายุ 20-39 ปี เช่นเดียวกับการค้นหา ตานเหม่ย แต่มีสิ่งที่น่าสนใจไม่น้อยคือ ผู้ชายค้นหาคำว่า “ตานก่าย” มากกว่าผู้หญิง ในขณะที่คำเฉพาะเจาะจงว่าเป็นละคร/ซีรีส์ลักษณะตานก่ายทั้งสองคำที่กล่าวมา สัดส่วนการค้นหาเป็นผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย แต่ความแตกต่างของสัดส่วนน้อยลงกว่าการค้นหา ตานเหม่ย ค่อนข้างมาก คือแตกต่างระหว่างหญิงและชาย ไม่ถึง 5%

อ้ายจง ขอยกตัวอย่าง ซีรีส์ดังที่ดัดแปลงจากซีรีย์ตานเหม่ย “The Untamed” หรือชื่อไทย “ปรมาจารย์ลัทธิมาร” เรื่องนี้ถูกดัดแปลงให้เนื้อหาในซีรีส์ไม่วาย เหมือนนิยายต้นฉบับ ไม่มีบทรักใคร่แบบชัดแจ้ง ทำให้สามารถฉายในจีนได้ แถมโด่งดังเป็นพลุแตก ยอดเข้าชมหรือยอดวิวขณะเข้าฉายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ในจีนมากกว่า 5 พันล้านวิว พอเข้าฉายในไทยก็ขึ้นเทรนด์สังคมออนไลน์ตลอด ดังนั้น ถ้าใครบอกว่าซีรีส์เรื่องนี้เป็นซีรีส์วาย ก็ต้องขอยืนยันว่า ไม่ใช่ แค่ดัดแปลงจากนิยายวายเท่านั้น

ทว่า เมื่อช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เริ่มมีกระแสข่าวออกมาจากสื่อจีนภาคเอกชนอย่าง South China Morning Post โดยรายงานว่า ผู้บริหารของสำนักวิทยุและโทรทัศน์เทศบาลนครกรุงปักกิ่ง ระบุว่า ทางหน่วยงานของเขาได้ทำการแบนละครและภาพยนตร์แนว “ตานก่าย” เพื่อจัดระเบียบเรียบร้อย โดยเป็นการแบนที่ปักกิ่ง ไม่ใช่ทั่วทั้งจีน แต่ก็อาจจะมีผลกระทบอยู่ไม่น้อย เพราะแพลตฟอร์มวิดีโอรายใหญ่ทั้ง iQiyi และ Youku ตั้งอยู่ที่กรุงปักกิ่ง เมืองหลวงของจีน อย่างไรก็ตาม เท่าที่ทราบข้อมูลมาตอนนี้ ยังไม่มีสื่อหลักของจีนนำเสนอข่าวเรื่องนี้ 

ทั้งนี้ ก็ต้องติดตามกันต่อไปว่า จีน จะมีประกาศและมีมาตรการอะไรอย่างเป็นทางการต่อเรื่องเหล่านี้ออกมาหรือไม่ เพราะปี 2021 ที่ผ่านมา จีนมุ่งมั่นในการจัดระเบียบเนื้อหาบนโลกออนไลน์ กวาดล้างสิ่งที่พิจารณาแล้วว่า มีผลต่อเยาวชนในทางลบ ไม่ว่าจะเรื่องของแฟนคลับ การลบบัญชีและเนื้อหาของศิลปินดาราคนดังที่มีพฤติกรรมไม่ดี เลี่ยงภาษี และทำผิดกฎหมายเรื่องอื่นๆ ที่ส่งผลต่อภาพลักษณ์และเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีต่อสังคม ซึ่งก็สามารถตั้งข้อสังเกตและคาดได้ว่า ถ้าหากจีนหันมาแบนเนื้อหาตานก่าย ซึ่งเป็นการปรับให้เป็นเนื้อหานำเสนอมิตรภาพแทนเรื่องรักใคร่แบบชัดเจน ก็มีความเป็นไปได้สูงว่าไม่ได้แบนที่เนื้อหาอย่างเดียว แต่ต้องการจัดระเบียบเกี่ยวกับแฟนคลับ เนื่องจากมีเยาวชนและวัยรุ่นจีนจำนวนมากเป็นแฟนคลับและติดตามเนื้อหาทั้ง “ตานเหม่ย” และ “ตานก่าย” โดยเป็นผู้ร้ายในข้อหา “มอมเมาเยาวชน”

ผู้เขียน: ภากร กัทชลี (อ้ายจง) อาจารย์ประจำภาควิชาการตลาด คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่