ฮุบที่ดิน ยูเครนกับไทยไม่ต่างกัน | ไสว บุญมา

ฮุบที่ดิน ยูเครนกับไทยไม่ต่างกัน | ไสว บุญมา

ยูเครนอาจทำให้สงครามเย็น เป็นสงครามร้อนขึ้นมาเมื่อไรก็ได้ในช่วงนี้ เนื่องจากรัสเซียกับสหรัฐกำลังขัดแย้งกันรุนแรงจนถึงขั้นสั่งทหารให้เตรียมพร้อม

สหรัฐกล่าวหาว่ารัสเซียเคลื่อนกองทัพนับแสนคน ไปประชิดเขตแดนยูเครนเพื่อจะบุกเข้าไปยึดประเทศยูเครนทั้งหมด หลังจากยึดพื้นที่ในแถบแหลมไครเมียซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของยูเครนไปเมื่อหลายปีก่อน

จึงประกาศว่าจะคว่ำบาตรรัสเซียขั้นสูงสุดด้วยการผนึกกำลังกับภาคีในสนธิสัญญาป้องกันภาคพื้นยุโรปตอนเหนือ (นาโต้)  ส่วนรัสเซียกล่าวหาว่าสหรัฐรุกรานเพราะมีกระบวนการเปิดนาโต้รับยูเครนเข้าเป็นสมาชิก

บทความที่น่าสนใจ : 

เนื่องจากไทยมิได้กำลังตกอยู่บนที่นั่งแนวเดียวกันกับยูเครน จึงอาจมีผู้สงสัยว่าเหตุใดบทความจึงชื่อ “ยูเครนกับไทยไม่ต่างกัน”

คำอธิบายมาจากกระบวนการกว้านซื้อ เช่าระยะยาวจำพวก 99 ปีและฮุบที่ดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ทั่วโลก

ตามเนื้อหาของหนังสือชื่อ The Land Grabbers: The New Fight Over Who Owns the Earth ซึ่งพิมพ์ออกมา 10 ปีแล้ว  ผมเห็นว่าชาวไทยควรเข้าถึงและใส่ใจในเนื้อหากันอย่างกว้างขวาง จึงนำหนังสือมาทำบทคัดย่อภาษาไทยแยกเสนอไว้เป็น 6 ตอนในคอลัมน์นี้ระหว่างวันที่ 24 ส.ค.- 28 ก.ย.2555  (ดาวน์โหลดต้นฉบับได้จากเว็บไซต์ของมูลนิธินักอ่านบ้านนา www.bannareader.com)  

หนังสือถูกรื้อฟื้นขึ้นมาพูดถึงกันอย่างเข้มข้นด้วยความกังวลในช่วงนี้ เพราะซาอุดีอาระเบียเป็นหนึ่งในหัวจักรใหญ่ของกระบวนการฮุบที่ดินและเพิ่งเชิญนายกรัฐมนตรีไทยไปเยือน เพื่อรื้อฟื้นความสัมพันธ์ซึ่งขาดสะบั้นเมื่อ 30 ปีก่อน  

ไทยเป็นหนึ่งในเป้าหมายของกระบวนการฮุบที่ดิน เพราะพื้นที่มีความอุดมสมบูรณ์ประกอบด้วยเนื้อดินดี มีแหล่งน้ำหล่อเลี้ยงเพียงพอ และมีแสงแดดกับอากาศเหมาะแก่การเพาะปลูกพืชอาหาร

ยูเครนก็เช่นกัน  ฉะนั้น เป็นไปได้สูงว่า ต่อไปไทยจะไม่เป็นเฉพาะเป้าหมายในการฮุบที่ดินเท่านั้น หากจะเป็นสนามประลองกำลังของมหาอำนาจด้วย

ยูเครนมีขนาดใหญ่กว่าเมืองไทยเกือบ 20% แต่มีประชากรเพียง 41 ล้านคนและเคยเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต  หลังเป็นเอกราชเมื่อสหภาพโซเวียตแตกสลายเมื่อปี 2532 รัฐบาลยูเครนนำที่ดินส่วนหนึ่งซึ่งเคยเป็นนารวมในระบบคอมมิวนิสต์มาแจกจ่ายให้ประชาชนและปล่อยส่วนที่เหลือไว้ให้ว่างเปล่า

เนื่องจากพื้นที่ว่างเปล่านั้นมีความอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การทำเกษตรกรรม นักฮุบที่ดินจึงดาหน้าเข้าไปหวังจะได้ไว้ในครอบครอง  รัสเซียมองว่าตนจำเป็นต้องปกป้องที่ดินนั้นไว้เพราะอยู่ในเขตอิทธิพลและผลประโยชน์ของตนอยู่แล้ว  ความขัดแย้งจึงเกิดขึ้น

อนึ่ง กระบวนการฮุบที่ดินมีหลากเป้าหมายและหลายรูปแบบ จากการเก็งกำไรไปถึงการเข้าไปทำประโยชน์โดยตรง  เนื่องจากพื้นที่ของไทยเหมาะแก่การปลูกพืชอาหาร เป้าหมายของต่างชาติที่จะเข้ามาจึงมักมุ่งไปในทางนั้น  

แต่จะทำได้มากน้อยเพียงไรขึ้นอยู่กับความร่วมมือของคนไทย ทั้งในด้านการเปิดกว้างทางกฎหมายซึ่งจะต้องทำในระดับผู้นำทางการเมืองและความเต็มใจของคนไทยที่จะขายที่ดินในครอบครองของตนด้วยราคาสูงกว่าราคาที่เคยซื้อขายกันมาก่อน หรือพอใจจะให้เช่าจำพวก 99 ปี

ฮุบที่ดิน ยูเครนกับไทยไม่ต่างกัน | ไสว บุญมา

ไม่ว่าจะขายหรือให้เช่าจำพวก 99 ปี สิ่งที่เกิดขึ้นแล้วในต่างประเทศจะเกิดในเมืองไทยต่อไปหากชาวไทยยินยอมให้นายทุนต่างชาติเข้าครอบครองที่ดิน กล่าวคือ ชาวต่างชาติจะพยายามใช้ที่ดินนั้นทำประโยชน์สูงสุดโดยไม่คำนึงถึงการทำลายเนื้อดิน แหล่งน้ำ ระบบนิเวศ วิถีชีวิตและสิทธิ์ดั้งเดิมตามประเพณีของชาวบ้าน  เมื่อความขัดแย้งเกิดขึ้น 

กระบวนการยุติธรรมทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับประเทศและระดับโลกจะเข้าข้างนายทุน ทั้งนี้เพราะระบบถูกออกแบบมาเช่นนั้นและเงินยังซื้อความยุติธรรมให้พวกเขาได้ในเกือบทุกส่วนของโลก  ด้วยเหตุนี้ ชาวพื้นเมืองดั้งเดิมในหลายประเทศจึงคับแค้นใจถึงกับจับอาวุธขึ้นต่อสู้จนหมู่บ้านถูกเผาและพวกเขาเสียชีวิต  

ณ วันนี้ ผู้ที่คิดว่าภาพดังกล่าวเกิดขึ้นไม่ได้ในเมืองไทย กรุณาจินตนาการต่อไปถึงสิทธิ์การใช้น้ำเพียงเรื่องเดียว  เมื่อเกิดภาวะแห้งแล้งร้ายแรงซึ่งจะเกิดแน่นอนและนายทุนต่างชาติเข้าถึงแหล่งน้ำได้ก่อนคนไทยตามข้อตกลงที่ทำไว้กับรัฐบาล

ชาวบ้านที่ใช้น้ำจากแหล่งเดียวกันจะยอมให้พืชของตนยืนต้นแห้งตายโดยไม่จับอาวุธขึ้นต่อสู้หรือ?