Trumponomics vs Bidenomics: The good, the bad and the ugly

Trumponomics vs Bidenomics: The good, the bad and the ugly

การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในเดือน พ.ย. นี้ จะเป็นครั้งสำคัญที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ เพราะเป็นการเลือกระหว่างสองขั้วที่สุดโต่ง

ในด้านหนึ่ง ประธานาธิบดีทรัมป์ เป็นผู้นำโลกเสรีคนแรกในประวัติศาสตร์ยุคใหม่ที่นำประเทศไปสู่ความแตกแยก ทั้งใน-ต่างประเทศ เป็นผู้ไม่เคารพกฎเกณฑ์ หลักกฎหมายสากล ก่อข้อพิพาททั้งกับพันธมิตรและคู่แข่ง และนำประเทศถอยออกจากความร่วมมือระหว่างประเทศที่่สหรัฐสร้างขึ้น ทำให้ความเสี่ยงสงครามมีมากขึ้น รวมถึงไม่รัดกุมในการป้องกัน COVID ทำให้ผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตสูงที่สุดในโลก

แต่ก็เป็นประธานาธิบดีที่ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐในยุคก่อน COVID เติบโตอย่างแข็งแกร่ง อัตราการจ้างงานต่ำสุดในรอบกว่า 50 ปี การลงทุนภาคเอกชนขึ้นสูงสุดในรอบทศวรรษ ตลาดหุ้นขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ และสามารถบังคับให้จีนเปิดประเทศและเคารพทรัพย์สินทางปัญญาอย่างที่ไม่เคยมีผู้นำสหรัฐคนใดทำได้มาก่อน

ในอีกฝั่งหนึ่ง โจ ไบเดน ผู้ท้าชิงที่เป็นความหวังใหม่ เป็นผู้ที่ต้องการสร้างความเท่าเทียมกันทั้งในด้านเชื้อชาติ การศึกษา และโอกาสทางเศรษฐกิจ คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม พลิกฟื้นบทบาทของสหรัฐในเวทีโลก และหันกลับไปร่วมมือกับพันธมิตรมากขึ้น แต่ก็เป็นผู้สมัครที่อายุมากที่สุด มีนโยบายที่เป็นลบต่อเศรษฐกิจ เช่น จะขึ้นภาษี ขึ้นค่าแรงขั้้นต่ำ และเพิ่มกฎระเบียบภาคธุรกิจ

ณ ปัจจุบัน ประเด็นหลักที่ทั้ง 2 ฝ่ายตอบโต้กันคือ ประเด็นการบริหารจัดการ COVID รวมถึงประเด็นความขัดแย้งในสังคม แต่ประเด็นที่ทั้ง 2 ฝ่ายไม่ได้ให้ความสำคัญคือประเด็นเศรษฐกิจ ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่า ในช่วง 2 เดือนสุดท้ายก่อนการเลือกตั้ง ทั้ง 2 ฝ่ายอาจนำประเด็นนี้มาหาเสียงก็เป็นได้

ในภาพใหญ่ เศรษฐกิจสหรัฐในปัจจุบันเป็นลบต่อทรัมป์ แทบทุกครั้งในประวัติศาสตร์การเลือกตั้งสหรัฐ หากเศรษฐกิจประสบภาวะถดถอย (เช่นในปัจจุบัน) ประธานาธิบดีที่อยู่ในตำแหน่งจะแพ้การเลือกตั้ง อย่างไรก็ตาม แทบทุกครั้งที่ผู้สมัครชิงตำแหน่งมีข้อเสนอที่จะขึ้นภาษี (แม้ว่าจะเป็นการขึ้นภาษีคนรวยก็ตาม) มักจะพ่ายแพ้การเลือกตั้งเช่นกัน

ฉะนั้น ในประเด็นเศรษฐกิจ อาจต้องพิจารณาในรายละเอียดของผู้สมัครทั้งสอง หรือแนวนโยบาย Bidenomics เทียบกับ Trumponomics

ด้านนโยบาย Trumponomics นั้น ณ ปัจจุบันไม่มีการประกาศแนวนโยบายใหม่อย่างชัดเจน ดังนั้น ผู้เขียนจึงขอสรุปจากประสบการณ์ใน 3 ปีที่ผ่านมา อันได้แก่ (1) การลดภาษี (2) การลดกฎระเบียบ และ (3) นโยบาย “อเมริกามาก่อน” (America First)

การลดภาษีนั้น นับเป็นนโยบายที่ให้แต้มต่อด้านเศรษฐกิจกับทรัมป์เป็นอย่างมาก โดยหลังจากที่ทรัมป์ได้รับเลือกเข้ามา 1 ปี ทรัมป์ก็สามารถลดภาษีนิติบุคคลจาก 35% เป็น 21% ปรับเปลี่ยนขั้นรายได้ของภาษีบุคคลธรรมดา (Tax bracket) และภาษีกิจการเจ้าของคนเดียว (Pass-through) ทำให้ประชาชนและเจ้าของกิจการบางส่วนจ่ายภาษีลดลง รวมถึงสนับสนุนให้ธุรกิจสหรัฐที่อยู่นอกประเทศนำเงินกลับมาในประเทศ ผ่านการลดภาษีด้วย

ทำให้ธุรกิจมีรายได้หลังหักภาษีเพิ่มขึ้น จึงนำเงินได้ส่วนหนึ่งมาลงทุนเพิ่ม (วัดได้ทั้งจากคำสั่งซื้อสินค้าคงทน และอัตราการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรที่เพิ่มขึ้นมากในปี 2018) และเป็นส่วนผลักดันให้ GDP สหรัฐสูงขึ้น

ในด้านกฎระเบียบต่างๆ ทรัมป์ตั้งกฎเหล็กตั้งแต่รับตำแหน่งใหม่ๆ ว่า “One-in, Two-out” หรือหากจะเขียนกฎหมายใหม่ 1 ฉบับ จะต้องยกเลิกกฎหมายเก่า 2 ฉบับ ทำให้รัฐบาลทรัมป์ยกเลิกกฎระเบียบที่ล้าหลังไปเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะกฎหมายที่ไม่จำเป็น 16 ฉบับ ไม่รวมกฎระเบียบสถาบันการเงินที่รัดรึงและทำให้สถาบันการเงินทำธุรกิจยากลำบาก

ส่วนนโยบาย America First นั้น เป็นที่ทราบกันดีว่าเป็นนโยบายที่ทำให้โลกปั่นป่วน ทั้งการทำสงครามการค้ากับทุกประเทศโดยเฉพาะจีน การใช้ทุกเครื่องมือที่สหรัฐมีแต้มต่อ เช่น ด้านการเงิน ด้านเทคโนโลยี ด้านการเป็นผู้นำในองค์กรระหว่างประเทศต่างๆ กดดันทุกประเทศโดยเฉพาะจีน ซึ่งถึงแม้ว่าจะทำให้โลกและแม้แต่ธุรกิจในสหรัฐเองปั่นป่วน แต่ก็ทำให้สหรัฐได้ผลประโยชน์ในสิ่งที่ต้องการ

ในส่วน Bidenomics นั้น ผู้เขียนขอสรุปหลักปรัชญาใหญ่ 3 ประการ อันได้แก่ (1) เพิ่มความเท่าเทียม (2) สร้างสาธารณูปโภค และ (3) เน้นนโยบายอุตสาหกรรม

ในประเด็นแรก การเพิ่มความเท่าเทียมนั้น สิ่งที่ไบเดนเสนอ คือ การขึ้นภาษีนิติบุคคล จาก 21% เป็น 28% (อัตราสูงสุด) ขึ้นภาษีบุคคลธรรมดาจาก 37% เป็น 39.6% และเก็บภาษีความมั่งคั่ง โดยทีมงานของไบเดนคาดว่า รัฐจะได้รายได้จากการขึ้นภาษีดังกล่าวประมาณ 4 ล้านล้านดอลาร์

เม็ดเงินดังกล่าวนั้น จะนำมาใช้สนับสนุนโครงการสวัสดิการสุขภาพ (โดยจะนำ Obamacare กลับมา) เพิ่มสวัสดิการให้กับผู้มีรายได้น้อย ชาวผิวสี สนับสนุนโครงการด้านการศึกษา การดูแลแม่และเด็ก ซึ่งจะใช้วงเงินรวม 7 ล้านล้านดอลลาร์ในระยะเวลา 10 ปี

นอกจากนั้น ไบเดนจะออกกฎระเบียบเพื่อคุมเข้มสถาบันการเงินและบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เพื่อไม่ให้ภาคธุรกิจใน Wall street “เอาเปรียบ” ประชาชนคนเดินดินหรือ Main street อีกด้วย

ในประเด็นการสร้างสาธารณูปโภค ไบเดนมีแนวคิดจะซ่อม/สร้างสาธารณูปโภคด้านคมนาคม สิ่งแวดล้อม พลังงานทดแทน (ที่เรียกว่า Green new deal) รวมถึงเน้นนโยบายอุตสาหกรรม โดยเฉพาะสนับสนุนงบประมาณแก่ภาครัฐในการซื้อสินค้าที่ผลิตในประเทศ(Buy American) ถึงกว่า 4 แสนล้านดอลลาร์ และให้งบวิจัยพัฒนากับผู้ผลิตของสหรัฐเองถึงกว่า 3 แสนล้านดอลลาร์อีกด้วย

แม้จะเป็นแนวนโยบายที่เป็นความหวังใหม่ แต่ก็ผู้ไม่เห็นด้วยโดยเฉพาะการขึ้นภาษีในปัจจุบันท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ยังตกต่ำ โดยจากการคำนวณพบว่าภาระภาษีที่เพิ่มขึ้นจะตกอยู่กับผู้ที่มีรายได้สูงสุด 2% (Top 2%) ซึ่งส่วนใหญ่จะได้แก่เจ้าของธุรกิจ SMEs และผู้ประกอบวิชาชีพขั้นสูง (Professional) เช่น แพทย์ ทนายความ สถาปนิก วิศวกร เป็นต้น ซึ่งการขึ้นภาษีดังกล่าว ประกอบกับการออกกฎระเบียบใหม่ ๆ จะฉุดรั้งเศรษฐกิจสหรัฐในระยะถัดไป

กล่าวโดยสรุป ผู้นำคนหนึ่งสร้างความแตกแยกทั้งในและต่างประเทศ แต่ก็ทำให้เศรษฐกิจเติบโตได้ต่อเนื่อง ในขณะที่อีกคนหนึ่งก็เสนอจะสร้างความปรองดอง สมานฉันท์ แต่ก็จะกดดันให้เศรษฐกิจที่อ่อนแอเปราะบางยิ่งขึ้น

จากนี้ไปอีกสองเดือน จะเป็นห้วงเวลาสำคัญที่จะตัดสินว่าใครจะกำหนดนโยบายเศรษฐกิจสหรัฐในสี่ปีข้างหน้า นักธุรกิจ นักลงทุน และผู้กำหนดนโยบายทั้งหลาย ห้ามกระพริบตา

[ บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่เกี่ยวข้องใดๆ กับหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัดอยู่ ]