ปลุกพลังเศรษฐกิจฐานราก | ธราธร รัตนนฤมิตศร

ปลุกพลังเศรษฐกิจฐานราก | ธราธร รัตนนฤมิตศร

ประเทศไทยมีทุน (Capital) ที่มีศักยภาพกระจายอยู่ทั่วทุกพื้นที่ เพื่อรอให้ผู้ประกอบการทางเศรษฐกิจหรือผู้ประกอบการทางสังคม (SE) ที่มองเห็นคุณค่านำทุนต่างๆ มาปลุกปั้นสร้างสรรค์มูลค่าขึ้นมาใหม่

ประเทศไทยจะเปลี่ยนโฉมหน้าไปมากเพียงใด หากเรามีกองทัพผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่สร้างสรรค์เกิดขึ้นทั่วประเทศ พลิกฟื้นผืนแผ่นดินที่อับเฉา ให้กลับมามีชีวิตชีวาและยกระดับทุกท้องถิ่นเข้าสู่โลกยุคดิจิทัล

หากเราเอาพื้นที่ท้องถิ่นสักแห่งมากางออกมา มองผ่านแว่นตาของทุนที่หลากหลาย ทั้งทุนทรัพยากรธรรมชาติ ทุนมนุษย์ ทุนทางสังคม ทุนโครงสร้างพื้นฐานและทุนทางการเงิน เราจะพบว่าแต่ละพื้นที่จะมีทุนบางอย่างหรือหลายอย่างที่มีอยู่แล้วในท้องถิ่นนั้นๆ ในด้านทุนธรรมชาติ (Natural Capital)

ประเทศไทยตั้งอยู่ในพื้นที่แถบศูนย์สูตรซึ่งมีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์และมีความหลากหลายทางชีวภาพอันดับ 8 ของโลก แน่นอนว่าบางพื้นที่อาจมีจุดอ่อนในด้านทรัพยากรธรรมชาติบางประเภท

เช่น แหล่งน้ำธรรมชาติ ซึ่งต้องมีการปรับปรุงสภาพโดยการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านน้ำ การใช้เทคโนโลยีน้ำหยดดังเช่นอิสราเอล หรือการใช้เทคโนโลยีการจัดการทรายเพื่อเปลี่ยนพื้นที่ทรายเป็นพื้นที่เพาะปลูกได้แบบจีน
 

 

ปลุกพลังเศรษฐกิจฐานราก | ธราธร รัตนนฤมิตศร

(ภาพถ่ายโดย Nishant Aneja)

 

นอกจากนี้ ทุกพื้นที่ยังมีทุนมนุษย์ (Human Capital) และทุนทางสังคม (Social Capital) ที่มีศักยภาพในทั่วทั้ง 8,000 ตำบล เรามีปราชญ์ชาวบ้าน ศิลปินท้องถิ่น ครู พระ ข้าราชการ หมอ ผู้นำโดยธรรมชาติ เด็กรุ่นใหม่และผู้คนในท้องถิ่นในทุกพื้นที่อยู่แล้ว

หากสามารถลงทุนในทุนมนุษย์ให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 เสริมด้วยองค์ความรู้จากคนรุ่นใหม่ที่มีความต้องการที่จะกลับไปใช้ชีวิตที่บ้านเกิดจำนวนมาก พร้อมกับยกระดับความสัมพันธ์ (Bonding) ของผู้คนเพื่อเสริมทุนทางสังคมให้แข็งแกร่งขึ้น ก็จะทำให้ทุกพื้นที่ในประเทศไทยมีความพร้อมในการสร้างสรรค์มูลค่าใหม่ให้กับท้องถิ่น

ในช่วงการพัฒนาที่ผ่านมา ภาครัฐหลายยุคหลายสมัยได้ลงทุนในทุนโครงสร้างพื้นฐาน  (Physical Capital) ให้กระจายไปทั่วประเทศ ทั้งถนน ไฟฟ้าและน้ำประปาที่ประชาชนสามารถเข้าถึงแล้วเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์

ล่าสุดอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงได้เชื่อมต่อเข้าไปครอบคลุมทุกชุมชนของไทยแล้ว ความสำคัญจึงอยู่ที่การใช้โครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้ (Utilization) ให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากในทุกตำบลและเชื่อมโยงตนเองผ่านทางประตูดิจิทัลสู่โลกกว้าง

 

ปลุกพลังเศรษฐกิจฐานราก | ธราธร รัตนนฤมิตศร

(ภาพถ่ายโดย Joslyn Pickens)

 

ทุนการเงิน (Financial Capital) ถือเป็นกลจักรสำคัญที่จะช่วยต่อยอดทุนด้านต่างๆ ให้เกิดการพัฒนาเป็นสินค้าและบริการ รวมทั้งสวัสดิการและคุณภาพชีวิตของคนในท้องถิ่น ในมุมของภาครัฐ ได้มีการใช้กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง และธนาคารภาครัฐต่างๆ เป็นเครื่องมือทางการเงินที่สำคัญซึ่งจำเป็นต้องนำมายกระดับให้ทันสมัย ยั่งยืน และโปร่งใส

ผู้คนในท้องถิ่นในหลายพื้นที่เองก็ได้ร่วมกันพัฒนาเครื่องมือทางการเงินที่ตอบโจทย์ตนเองทั้งธนาคารชุมชนและสหกรณ์สัจจะออมทรัพย์ หากเราสามารถใช้การจัดการสมัยใหม่ที่ได้มาตรฐาน ใช้เทคโนโลยีบล็อคเชนเพื่อให้เกิดความโปร่งใสและตรวจสอบได้

นำเครื่องมือทางการเงินใหม่ๆ เพื่อแปลงสินทรัพย์ให้เป็นหลักทรัพย์ (Securitization) ท้องถิ่นและเมืองสามารถออกพันธบัตรใหม่ๆ เพื่อระดมทุนได้ หนุนเสริมด้วยสถาบันทางการเงินของภาครัฐและภาคเอกชน ก็จะช่วยให้การจัดการสร้างเศรษฐกิจฐานรากขยับไปอนาคตได้เร็วขึ้น

ฉากทัศน์หนึ่งในอนาคตที่น่าจะเกิดขึ้นได้ก็คือ ท้องถิ่นหนึ่งๆ มีสินค้าและบริการที่สร้างสรรค์ ตั้งอยู่บนจุดแข็งของทุนธรรมชาติในพื้นที่เหมือนดังเช่นสินค้าท้องถิ่นของญี่ปุ่น ผู้บริโภคสามารถเข้าไปท่องเที่ยวในพื้นที่ จับจ่ายใช้สอย หรือสั่งซื้อสินค้าผ่านทางแพลตฟอร์มดิจิทัล สินค้าและบริการของท้องถิ่นมีเอกลักษณ์ที่ไม่ซื้อไม่ได้ มีบรรจุภัณฑ์ที่สวยงามและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงมีเรื่องราว (story) ที่น่าดึงดูดและมีเสน่ห์

สินค้าเกษตรมีความปลอดภัยและเป็นออร์แกนิค ซึ่งผู้บริโภคสามารถรู้จักผู้ผลิตและสามารถส่งตรงได้ถึงบ้าน แม้ชาวต่างประเทศก็สามารถเลือกซื้อสินค้าที่ตนสนใจในท้องถิ่นต่างๆ ได้สะดวกง่ายดายที่ปลายนิ้วมือ

นอกจากสินค้าและบริการที่พลิกโฉมแล้ว พื้นที่ต่างๆ ยังมีธุรกิจรูปแบบใหม่ๆ เกิดขึ้น ทั้งการขายคาร์บอนเครดิต (carbon credit) ให้กับภาคอุตสาหกรรมที่ปรับตัวรับโลกร้อน รวมถึงได้รับเงินค่าตอบแทนผ่านระบบ Payment for Ecosystem Services จากธุรกิจที่ได้ประโยชน์ ในฐานะที่ท้องถิ่นช่วยกันดูแลและอนุรักษ์ทรัพยากรเช่นป่าต้นน้ำไว้ให้อุดมสมบูรณ์ ชุมชนสามารถขายพลังงาน

เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ที่ผลิตได้เกินความต้องการผ่านระบบไฟฟ้าแบบกระจายศูนย์ พื้นที่เป็นแหล่งถ่ายทำภาพยนตร์ไทยและฮอลลีวู้ด รวมถึงมีการตั้ง Twin Digital City เพื่อเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจเมตาเวิร์สในอนาคต ฯลฯ

การจะปลุกพลังเศรษฐกิจฐานรากได้นั้น ผู้เขียนเห็นว่าอาจแบ่งเป็น 2 แกนยุทธศาสตร์ที่ต้องทำไปพร้อมๆ กัน แกนยุทธศาสตร์แรก ต้องเน้นการแก้ไขปัญหาปัจจุบัน ปลดล็อคโซ่ตรวนที่ฉุดรั้งผู้คนในท้องถิ่นไว้ โดยเฉพาะปัญหาหนี้สินและรายได้เฉพาะหน้า ซึ่งสามารถใช้ Policy Mix ที่เหมาะสม

เช่น การพักชำระหนี้ระยะยาวอย่างมีเงื่อนไข โดยวางเงื่อนไขให้เกิดจากยกระดับทักษะ ปรับเปลี่ยนวิถีการทำเกษตรและธุรกิจใหม่ๆ สู่ High Value Crop เพื่อให้สามารถสร้างรายได้ใหม่ ซึ่งภาครัฐควรจัดทีมสนับสนุนแบบเป็นองค์รวมและเป็น Mentor ที่ไม่แยกเป็นกรมๆ เชื่อมโยงกับเอกชน เพื่อ Customized ความช่วยเหลือด้านทักษะ เทคโนโลยี และตลาด 

แกนยุทธศาสตร์ที่สอง คือ ต้องลงทุนสร้างเศรษฐกิจฐานรากอนาคตไปพร้อมกัน ผ่านการลงทุนในทุนต่างๆ ที่กล่าวข้างต้น ซึ่งต้องเชื่อมโยงกับแกนยุทธศาสตร์แรก เพื่อให้ท้องถิ่นสามารถเปลี่ยนผ่านและยกระดับสู่อนาคตที่สร้างสรรค์ต่อไป

 

คอลัมน์ คิดอนาคต
ธราธร รัตนนฤมิตศร
สถาบันอนาคตไทยศึกษา (Thailand Future Foundation)
facebook.com/thailandfuturefoundation