คนจนหมดประเทศในปีนี้? | ธราธร รัตนนฤมิตศร

คนจนหมดประเทศในปีนี้? | ธราธร รัตนนฤมิตศร

ในช่วงต้นเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา มีข่าวสำคัญข่าวหนึ่งออกมาว่า รัฐบาลได้ขีดเส้นเป้าหมายว่าจะแก้ไขปัญหาความยากจนให้หมดสิ้นไปภายในวันที่ 30 ก.ย. 2565 นี้ ปฏิกิริยาแรกของคนทั่วไปคือ ไม่น่าเชื่อว่าไทยใกล้จะขจัดความยากจนจนหมดประเทศในเร็วๆ นี้ได้จริง?

หากเข้าไปดูรายละเอียดในข่าวก็จะพบว่า ครัวเรือนยากจนที่อยู่ในเป้าหมายขจัดความยากจนของรัฐบาลมีจำนวนประมาณ 615,128 ครัวเรือน ซึ่งได้ข้อมูลมาจากระบบบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้าของภาครัฐ (TPMAP) คำถามคือ คนจนในไทยมีเพียง 6 แสนครัวเรือนจริงหรือไม่?

ในภาพใหญ่ เมื่อย้อนกลับไปในช่วง 2-3 ปีนี้ นโยบายการแก้ไขปัญหาความยากจนแบบชี้เป้าของรัฐบาลไทย นับว่า ได้แรงบันดาลใจส่วนสำคัญมาจาก ยุทธศาสตร์การขจัดความยากจนแบบตรงจุด (Targeting Poverty Eradication) ของจีน 

 

หัวใจสำคัญของการแก้ปัญหาความยากจนแบบจีนคือ การพัฒนาฐานข้อมูลคนจนรายบุคคลและครัวเรือน มีการส่งทีมข้าราชการเข้าไปฝังตัวอยู่ในชุมชน 2-3 ปีเพื่อเก็บข้อมูล ความต้องการและจัดทำแผนขจัดความยากจนรายบุคคลเพื่อส่งเข้าส่วนกลางในการดำเนินมาตรการช่วยเหลือและพัฒนา

เมื่อรัฐบาลไทยประกาศนโยบายแก้ไขปัญหาคนจนให้หมดไปจากประเทศภายใน 5 เดือนข้างหน้านี้ เสียงตอบรับของคนทั่วไปมักจะไม่เชื่อ

เนื่องจากในชีวิตประจำวันยังเห็นคนจนคนลำบากลำบนในประเทศจำนวนมาก โดยเฉพาะในวิกฤติโควิด-19 ที่ผ่านมา ดังนั้น ก่อนอื่นจึงต้องกลับมาดูข้อมูลก่อนว่าคนจนในนิยามหรือตัวชี้วัดต่างๆ หมายถึงอะไร คนจนในประเทศไทยมีประมาณกี่คน ซึ่งในบทความนี้จะกล่าวถึง 3 นิยามสำคัญที่ใช้กันในประเทศ

 

นิยามแรก คนจนคือผู้ที่อยู่ใต้เส้นความยากจน (poverty line) โดยเริ่มจากการกำหนดเส้นความยากจนขึ้นมา เป็นเส้นที่แสดงค่าใช้จ่ายขั้นต่ำที่สุดที่จะทำให้คนคนหนึ่งดำรงชีวิตอยู่ได้เพื่อให้ได้สารอาหารตามที่ร่างกายต้องการ

ใน พ.ศ.2563 เส้นความยากจนของไทยอยู่ที่ประมาณ 2,762 บาทต่อคนต่อเดือน (เฉลี่ยวันละ 90 บาทหรือ 3 ดอลลาร์)

คนจนหมดประเทศในปีนี้? | ธราธร รัตนนฤมิตศร

เมื่อได้เส้นความยากจนแล้วจะนำไปสำรวจดูว่ามีคนที่อยู่ใต้เส้นความยากจนอยู่กี่คน ซึ่งสำหรับไทยพบว่า จำนวนคนที่ตกอยู่ใต้เส้นความยากจนมีประมาณ 4.8 ล้านคน หรือเป็นครัวเรือนยากจนเท่ากับ 1.4 ล้านครัวเรือน

จำนวนคนจนในไทยตามนิยามเส้นความยากจนนี้มีแนวโน้มลดลงมาโดยตลอด ใน พ.ศ. 2543 จำนวนคนจนในไทยมีสูงถึงจำนวน 25.8 ล้านคน ลดเหลือ 4.8 ล้านคนในปัจจุบัน หรือเมื่อคิดเป็นสัดส่วนคนจนต่อประชากร พบว่าสัดส่วนคนจนได้ลดลงจากร้อยละ 42.3 ใน พ.ศ. 2543 เหลือร้อยละ 6.8 ใน พ.ศ. 2563 

การลดลงของจำนวนคนจนเมื่อวัดจากเส้นความยากจนส่วนหนึ่งเป็นผลจากการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และสวัสดิการจากภาครัฐ อย่างไรก็ตาม จากผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 คาดว่าอาจส่งผลให้จำนวนคนยากจนในประเทศเพิ่มจำนวนขึ้น

คนจนหมดประเทศในปีนี้? | ธราธร รัตนนฤมิตศร

นิยามที่สอง พิจารณาจากความยากจนหลายมิติ เนื่องจากการวัดจากเส้นความยากจนเป็นการประเมินจากรายจ่ายหรือรายได้เพียงมิติเดียว จึงมีการพัฒนาตัวชี้วัดที่ครอบคลุมมิติความยากจนในด้านอื่นๆ อีก ทั้งมิติสุขภาพ การศึกษา การเข้าถึงบริการภาครัฐ ความเป็นอยู่ แล้วมาคำนวณเป็นดัชนีความยากจนหลายมิติ (Multidimensional Poverty Index หรือ MPI) 

ในกรณีไทย เมื่อนำดัชนี MPI มาตรวจวัดคนจนจากกลุ่มคนที่ได้รับการสำรวจจากฐานข้อมูล จปฐ. 36 ล้านคน จะพบว่าเป็นคนจนตาม MPI จำนวน 4.4 ล้านคน หรือประมาณ 1 ล้านครัวเรือน

นิยามที่สาม พิจารณาจากคนไทยที่ไปลงทะเบียนเพื่อได้รับสวัสดิการแห่งรัฐตามเกณฑ์ของกระทรวงการคลัง เช่น รายได้ของครัวเรือนไม่เกินหนึ่งแสนบาทต่อคนต่อปี ร่วมกับเกณฑ์อื่นๆ พบว่า ไทยมีคนจนที่อยู่ในเกณฑ์และไปลงทะเบียนเพื่อขอรับสวัสดิการแห่งรัฐประมาณ 11.4 ล้านคน

ดังนั้น เราจะพบว่านิยามคนจนที่ใช้ในไทยจะทำให้ได้ตัวเลขคนจนที่แตกต่างกัน โดยมีจำนวนตั้งแต่ 4.4 ล้านคนถึง 11.4 ล้านคน

คนจนหมดประเทศในปีนี้? | ธราธร รัตนนฤมิตศร

สำหรับตัวเลขคนจนที่ภาครัฐต้องการขจัดความยากจนให้หมดประเทศในปัจจุบันนั้น เกิดขึ้นจากการพัฒนานิยามที่ 4 ขึ้นมา เรียกว่า “คนจนเป้าหมาย” ซึ่งหมายถึงคนจนที่ต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วน จากการเป็นคนที่ได้รับการสำรวจว่าจนตามดัชนี MPI ในฐานข้อมูล จปฐ. (นิยามที่ 2) และมาลงทะเบียนว่าจนอีกตามข้อมูลผู้ลงทะเบียนสวัสดิการแห่งรัฐ (นิยามที่ 3)

หากเป็นคนจนใน จปฐ. แต่ไม่ไปลงทะเบียนสวัสดิการแห่งรัฐ หรือหากไปลงทะเบียนผ่านเกณฑ์สวัสดิการแห่งรัฐ แต่ไม่ได้เป็นคนจนตาม จปฐ. ก็จะไม่ใช่ “คนจนเป้าหมาย” การที่ต้องเป็นคนจนตามฐานข้อมูลทั้งคู่ จึงส่งผลทำให้คนจนเป้าหมายของภาครัฐเหลืออยู่เพียง 1,025,782 คน

ดังนั้น หากรัฐบาลสามารถแก้ไขปัญหาความยากจนสำเร็จ ก็คือการที่รัฐสามารถช่วยเหลือคนจนประมาณ 1 ล้านกว่าคนนี้ให้พ้นความยากจนได้สำเร็จ ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ควรให้กำลังใจ

อย่างไรก็ตาม แม้รัฐบาลจะสามารถช่วยเหลือคนจนหนึ่งล้านคนนี้ได้สำเร็จ ก็ยังไม่ได้หมายถึงว่าคนจนจะหมดจากประเทศได้ เพราะยังมีคนจนอีกจำนวนหลายล้านคนในประเทศไทย

 

คอลัมน์ คิดอนาคต
ธราธร รัตนนฤมิตศร 
สถาบันอนาคตไทยศึกษา (Thailand Future Foundation)
https://www.facebook.com/thailandfuturefoundation/