ข่าวร้ายของภาวะโลกรวน | ธราธร รัตนนฤมิตศร

ข่าวร้ายของภาวะโลกรวน | ธราธร รัตนนฤมิตศร

แนวโน้มระยะยาวตลอดศตวรรษที่ผ่านมา พบว่าการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ทั่วโลกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แม้มีบางช่วงที่มีวิกฤติระดับโลก ทั้งวิกฤติพลังงานหรือวิกฤติการเงินที่ทำให้การปล่อยก๊าซลดลงชั่วคราว

ขณะที่กรณีวิกฤติโควิด-19 ส่งผลให้ประเทศต่างๆ ออกมาตรการปิดเมืองอย่างเข้มงวด ทั่วโลกแทบจะหยุดกิจกรรมตามปกติ แต่พบว่าการปล่อยก๊าซ CO2 ของโลกลดลงเพียง 6% จากปีก่อนหน้า ซึ่งถือว่าลดลงน้อยมาก

สิ่งที่น่ากังวลยิ่งขึ้นก็คือ การลดลงการปล่อยก๊าซ CO2 ในปี 2563 เป็นเพียงการลดลงชั่วคราวเท่านั้น ข้อมูลล่าสุดโดย Zhu Liu และคณะ (2022) ที่ลงในวารสาร Nature Reviews Earth & Environment พบว่าการปล่อยก๊าซ CO2 ทั่วโลกในปี 2564 ได้กลับมาดีดตัวสูงขึ้นจากระดับปี 2563 อีกครั้ง

โดยการปล่อยก๊าซ CO2 ได้เพิ่มขึ้นจากเป็น 34.9 GtCO2 (กิกะตันของคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า) ในปี 2564 หรือเพิ่มขึ้น 4.8% อันเนื่องมาจากนโยบายล็อกดาวน์ที่เข้มงวดลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
 

การดีดกลับมาเพิ่มขึ้นของการปล่อยก๊าซฯ เห็นได้ชัดเจนในภาคส่วนและประเทศที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขนาดใหญ่ โดยเฉพาะภาคพลังงาน ภาคอุตสาหกรรม และภาคการขนส่งทางพื้นดิน ซึ่งเป็นภาคที่มีการปล่อยมากที่สุด ได้เพิ่มขึ้น 5%, 2.6% และ 8.9% ตามลำดับ ภาคส่วนเหล่านี้มีส่วนในการเพิ่มขึ้นของการปล่อยก๊าซเกือบ 90% ของการเพิ่มขึ้นทั่วโลก

ในมุมของประเทศผู้ปล่อยก๊าซฯ พบว่า จีนเพิ่มขึ้น 5.7% สหรัฐเพิ่มขึ้น 6.5% สหภาพยุโรปเพิ่มขึ้น 6.7% อินเดียเพิ่มขึ้น 9.4% และรัสเซียเพิ่มขึ้น 6% โดยมีเพียงประเทศญี่ปุ่นที่ไม่เพิ่มขึ้น แต่ลดปล่อยก๊าซฯ ได้ 4.7%

คำถามสำคัญคือเราจะปล่อยก๊าซ CO2 แบบนี้ไปได้อีกนานเท่าไร?

โชคดีที่มีการสร้างตัวชี้วัดตัวหนึ่งขึ้นมา ชื่อว่า “งบประมาณคาร์บอน” (Carbon budgets) ซึ่งเป็นค่าประมาณการปริมาณสูงสุดของการปล่อยก๊าซฯ ที่ปล่อยโดยมนุษย์ทั่วโลกที่สามารถจำกัดภาวะโลกรวนให้อยู่ในระดับที่กำหนด หรือพูดง่ายๆ ก็คือ เรามีโควตาจะปล่อยได้เท่าไรเพื่อไม่ให้เกินขีดจำกัด 
 

โชคดีที่มีการสร้างตัวชี้วัดตัวหนึ่งขึ้นมา ชื่อว่า “งบประมาณคาร์บอน” (Carbon budgets) ซึ่งเป็นค่าประมาณการปริมาณสูงสุดของการปล่อยก๊าซฯ ที่ปล่อยโดยมนุษย์ทั่วโลกที่สามารถจำกัดภาวะโลกรวนให้อยู่ในระดับที่กำหนด หรือพูดง่ายๆ ก็คือ เรามีโควตาจะปล่อยได้เท่าไรเพื่อไม่ให้เกินขีดจำกัด 

ปี 2563 IPCC ประมาณการว่า งบประมาณคาร์บอนสำหรับรักษาระดับอุณหภูมิโลกไม่ให้สูงขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส มีค่าประมาณ 400 GtCO2 และสำหรับรักษาอุณหภูมิโลกไม่ให้เกิน 2 องศาเซลเซียส มีค่าประมาณ 1,150 GtCO2

ในปี 2563 ที่มีการล็อกดาวน์จากโควิด-19 ทำให้การปล่อยก๊าซฯ ลดลงจากปีก่อนได้ แต่ก็ยังคงใช้งบประมาณคาร์บอนไปถึง 8.3% และเมื่อการปล่อยก๊าซฯ เพิ่มขึ้นในปีต่อมา ก็ทำให้เราใช้งบประมาณคาร์บอนเพิ่มขึ้นไปอีก 8.7% ของงบประมาณคาร์บอนที่มีอยู่

หากสมมติให้การปล่อยก๊าซยังคงดำเนินต่อไปที่ระดับนี้ โดยไม่มีการลดการปล่อยก๊าซ ก็จะทำให้งบประมาณคาร์บอนที่เหลืออยู่ น่าจะหมดภายใน 6.6-9.5 ปีข้างหน้า เพื่อรักษาอุณหภูมิโลกไม่ให้สูงขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส หรือภายในปี 2571-2574 นี้เอง 

ข่าวร้ายของภาวะโลกรวน | ธราธร รัตนนฤมิตศร

ส่วนในกรณีจำกัดอุณหภูมิโลกไม่ให้เพิ่มขี้นเกิน 2 องศาเซลเซียส งบประมาณคาร์บอนที่เหลือจะใช้หมดภายใน 23.8-31 ปี บทเรียนหนึ่งที่ได้ก็คือ ผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 ดูเหมือนจะไม่มีผลต่อการจำกัดการปล่อยก๊าซฯ ได้อย่างมีนัยสำคัญ

ในปัจจุบัน ประเทศขนาดใหญ่อย่างสหรัฐและสหภาพยุโรปวางแผนที่จะบรรลุคาร์บอนเป็นศูนย์สุทธิภายในปี 2593 จีนและรัสเซียภายในปี 2603 และอินเดียภายในปี 2613

อย่างไรก็ตาม การคำนวณโดยนักวิจัยชี้ว่า แม้การลดการปล่อยก๊าซฯ จะบรรลุตามแผนการเหล่านี้ของแต่ละประเทศได้ แต่ประเทศเหล่านี้ก็จะปล่อยก๊าซฯ สะสมในช่วงปี 2563-2588 มากกว่างบประมาณคาร์บอนที่เหลืออยู่แล้ว

แนวโน้มข้างต้นจึงเป็นข่าวร้ายต่อผู้ที่สนใจในเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่ดูเหมือนการรักษาอุณหภูมิโลกให้ไม่สูงขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส น่าจะเป็นจริงได้ยาก เป้าหมายต่อไปอาจจะต้องขยับไปที่ 2 องศาเซลเซียส

ดังนั้น สิ่งสำคัญที่ประเทศไทยควรจะทำอย่างเร่งด่วนคือ การให้น้ำหนักกับยุทธศาสตร์ด้านการปรับตัวกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Adaptation Strategy) มากขึ้น เราควรต้องสร้างความพร้อมและลงทุนเพื่อการปรับตัวให้กับทุกภาคส่วนอย่างจริงจัง

เพราะแม้แต่เมืองกรุงเทพฯ ที่เพิ่งได้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนใหม่ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่างก็ชี้ว่า กรุงเทพฯ ถือเป็นเมืองที่มีความเสี่ยงสูงที่จะได้รับผลกระทบจากโลกรวน โดยเฉพาะการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลจนส่งผลให้จมน้ำ เช่นเดียวกับเพื่อนบ้านอย่างเมืองจาการ์ต้า โฮจิมินห์ซิตี้ และมะนิลา ซึ่งมีโอกาสสูงที่จะเกิดขึ้นได้ภายในศตวรรษที่ 21.

ข่าวร้ายของภาวะโลกรวน | ธราธร รัตนนฤมิตศร
คอลัมน์ คิดอนาคต
ธราธร รัตนนฤมิตศร
สถาบันอนาคตไทยศึกษา
www.facebook.com/thailandfuturefoundation/